วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

ชุมชนจักรยาน – ศรีทอง มุมมืดที่สังคมมองไม่เห็น


ชุมชนจักรยาน – ศรีทอง มุมมืดที่สังคมมองไม่เห็น

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ในห้วงเวลาที่สังคมกำลังจับจ้องเรื่องการเมืองที่ผันแปรที่ไม่รู้ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งตามที่โรดแมฟของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติตั้งไว้หรือไม่  ส่วนความชัดเจนอนาคตอันใกล้ยังคงต้องอยู่กับรัฐบาลปัจจุบันไปจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จและประกาศการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ   ซึ่งช่วงปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมติ ครม. มากมายที่จะพยายามกระตุ้นเศษฐกิจโดยผ่านการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย  เช่น การแจกเงินสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ , การช่วยจ่ายค่าน้ำ – ค่าไฟ , การลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าภายในประเทศบางรายการ หรือแม้แต่การประกาศโครงการบ้านล้านหลังให้คนจนผ่อนราคาถูก
แต่นโยบายเหล่านั้นกลุ่มคนจนกลุ่มหนึ่งแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  อย่างที่เคยกล่าวเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่ควรได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่หละหลวม  และบกพร่อง  ทำให้เกิดการผิดฝา ผิดตัว กันมากมายที่เห็นตามหน้าข่าว  เห็นกลุ่มคนมีฐานะบางคนได้บัตร  ส่วนกลุ่มคนจนบางคนไม่ได้บัตร  และนโยบายที่กำหนดมาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่คนยากจนจะได้รับ  เช่น  การช่วยจ่ายค่าน้ำ  ค่าไฟ  นั้นชาวชุมชนแออัด หรือ สลัม หมดสิทธิ์ที่จะได้รับอานิสงส์นี้แน่ๆ เพราะชุมชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองนั้นจะต้องซื้อไฟ ซื้อน้ำ  จากเอกชนข้างเคียงเท่านั้น  ซึ่งเป็นราคาที่แพงมากกว่าปกติ  นี่คือข้อเท็จจริงที่คนจนเมืองกำลังเผชิญอยู่  แต่นโยบายที่ออกมาไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไรกับกลุ่มคนเหล่านี้เลย
จึงขอยกตัวอย่างสักหนึ่งชุมชนให้ได้รู้จักกัน คือ ชุมชนจักยาน – ศรีทอง ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีผู้อยู่อาศัยราว 300 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ติดกับถนนสุขสวัสดิ์  ตำบลในคลองบางปลากด  อำเภอพระสมุทรเจดีย์  จังหวัดสมุทรปราการ  อยู่อาศัยมาแล้วกว่า 30 ปี  โดยไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าของที่ดินตลอดระยะเวลาการอยู่อาศัยมา   แม้หากดูจำนวนหลังคาเรือนที่ดูเยอะ  แต่ชุมชนนี้กลับถูกปิดเงียบในมุมมืดของสังคม  เพราะขนาดหน่วยงานที่ต้องคอยดูแลสารทุกข์ สุขดิบ ของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่เคยที่จะสร้างตัวตนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นประชากรในเขตพื้นที่ของตนเอง


 
สภาพที่อยู่อาศัยชุมชนจักรยาน – ศรีทอง

สภาพความเป็นอยู่ชาวชุมชนไม่มีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเอง  ถึงแม้เขาจะสร้างที่อยู่อาศัยเองแต่พวกเขาจะต้องไปขออาศัยทะเบียนบ้านคนละแวกนั้นอาศัยอยู่ในเล่มทะเบียนด้วย  และแน่นอนเมื่อไม่มีทะเบียนบ้านเป็นของตนเองการขอน้ำประปา และไฟฟ้า เข้ามาใช้ย่อมทำไม่ได้   การแก้ปัญหาของชุมชนจึงต้องไปซื้อไฟฟ้า – ประปา บ้านที่อยู่แถวนั้นพ่วงเข้ามาให้เพื่อนๆในชุมชนได้ใช้ร่วมกัน  และตามเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าที่เป็นแบบระบบก้าวหน้าขั้นบันไดยิ่งใช้เยอะจะต้องเสียค่าบริการต่อหน่วยเยอะตามไปด้วย   ชุมชนจักยาน – ศรีทอง  ต้องแบกค่าน้ำประปาต่อหน่วยอยู่ที่ราคา 25 – 28 บาทต่อหน่วย   ส่วนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราคา 7 – 10 บาทต่อหน่วย  ซึ่งแพงกว่าค่าบริการปกติอยู่ถึง 2 เท่า   แต่เขารักและหวงแหนที่อยู่อาศัยที่เขาอยู่มาที่บางคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เขาเกิด  หัดเดิน  อยู่พื้นที่นี้เอง
แต่ความสุขปนทุกข์ของชาวชุมชนจักรยาน – ศรีทอง ก็มีอันต้องยุติลงเมื่อมีกลุ่มคนที่แสดงตนว่าเป็นตัวแทนของเจ้าของที่ดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา  ปักป้ายประกาศเตือนแจ้งให้ชาวชุมชนย้ายออกภายใน 90 วัน  ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับชาวชุมชน  ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 นี้   ส่งผลให้เกิดความกังวลถึงที่อยู่อาศัยในอนาคต  พวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีที่ไป  ไม่รู้จะไปไหนกัน  เพราะส่วนใหญ่อยู่กันมานานตั้งแต่เกิด  ไม่เคยย้ายไปไหน   นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่จะพลิกเปลี่ยนชาวชุมชนจักรยาน – ศรีทอง


  
สภาพชุมชนจักยาน – ศรีทอง

ปัญหาการไล่รื้อเป็นของคู่กับสลัมมาอย่างช้านานจนถึงปัจจุบัน  แต่ชาวจักรยาน – ศรีทอง ก็มิได้นั่งเฉย  เขาเริ่มรวมกลุ่มกันจากที่เมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่  ตอนนี้เริ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยที่มั่นคงผ่านมา 2 เดือน มีเงินราว 14,200 บาท  แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยนิดถ้าเทียบกับปัญหาอันใหญ่หลวงที่กำลังถาโถมเข้ามานั้น  อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ชุมชนได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง  และเริ่มเคลื่อนไหวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดชอบดูแลสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยนั้นก็คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 ตัวแทนชุมชนราว 10 คนได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อให้เป็นคนกลางในการประสานงานให้เกิดการพูดคุยกับคู่พิพาทที่ดิน ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562  และได้ไปยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายโครงการบ้านมั่นคง


  
ภาพตัวแทนชุมชนยื่นหนังสือถึง รมต.พม. และ ผอ.พอช.

และตามที่รัฐบาลได้มีแผนแม่บทที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  การแก้ปัญหาชุมชนจักรยาน – ศรีทอง จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นกลไกการไกล่เกลี่ยเจรจาในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน   การแบ่งปันที่ดินสำหรับคนที่มีที่ดินเยอะให้กับคนไร้ที่ดินอย่างสมเหตุสมผล  ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่แก้ปัญหาได้ดังที่เห็นในหลายกรณีในที่ดินรัฐ  หรือแม้แต่การซื้อที่ดินแลกเปลี่ยนให้กับชาวบ้านก็สามารถเป็นแนวทางที่ดีที่เจ้าของที่ดินเอกชนเคยทำมาแล้ว เช่น กรณีการย้ายชาวชุมชนริมทางรถไฟโค้งอโศก ที่เจ้าของซื้อที่ดิน 15 ไร่ ให้ชาวชุมชนไปสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่เลย หรือ กรณีชุมชนริมทางด่วนบางนาเองเจ้าของที่ดินก็มีแผนที่จะซื้อที่แลกให้กับชาวชุมชนเช่นกัน  หากเป็นเช่นนี้การแก้ปัญหาพิพาทที่ดินก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจบกันที่ศาลอีกต่อไป


  
ภาพการประชุมชุมชนกันเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา

แต่อนาคตชุมชนจักรยาน – ศรีทอง จะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป   หากสามารถพูดคุยกันได้กับเจ้าของที่ดินดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น  ก็จะได้เป็นบรรทัดฐานที่ดีในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนแออัด   ส่วนอนาคตการปฎิรูปที่ดินให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  ที่จะช่วยแก้ปัญหาถึงต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดการกักตุนที่ดิน เกิดกลุ่มคนไร้ที่ดิน  นั้น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  ยังคงต้องหาแนวร่วมการขับเคลื่อนกันอีกต่อไป

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

เส้นทางการปฏิรูปที่ดินการรถไฟฯ เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจน


เส้นทางการปฏิรูปที่ดินการรถไฟฯ เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจน
คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม4ภาค

          เสร็จสิ้นพิธีการมอบสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  และมอบงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง แก่ชุมชนตลาดบ่อบัว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นผู้มอบ  เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องชุมชนตลาดบ่อบัวหลังจากพิพาทกับกลุ่มทุนใหญ่ที่พยายามจะฮุบเอาที่ดินของการรถไฟฯทั้งโซนตลาดบ่อบัว  แต่กลุ่มชาวตลาดบ่อบัวไม่ได้ยอมจำนนการต่อสู้เรียกร้องจึงเกิดขึ้น และเกิดผลสำเร็จได้ที่ดินกว่า 6 ไร่ มาเป็นที่อยู่อาศัยได้



 
ภาพพิธีมอบสัญญาเช่าที่ดิน และ มอบงบประมาณการพัฒนาชุมชนตลาดบ่อบัว

          เวทีในงานนี้เองไม่ได้มีแค่การมอบสัญญาจากผู้แทนรัฐบาลเท่านั้น  แต่ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกันที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกด้วย  การพัฒนาชุมชนตลาดบ่อบัวด้านที่อยู่อาศัยถึงแม้จะเห็นเส้นทาง แนวทางการเดินไปข้างแล้ว  แต่การพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะตามมาเพื่อให้เท่าทันการเติบโตของเมืองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล้วนแล้วเป็นสิ่งกระตุ้น  ยั่วยุ ให้เกิดการค้าที่ดินเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ เช่น  การลงนามแสดงให้เห็นถึงการสร้างความร่วมมือการพัฒนาชุมชนในทุกด้านของชุมชนตลาดบ่อบัว  เพราะมีทั้งเจ้าของที่ดินคือการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานที่จะคอยสนับสนุนในพื้นที่ท้องถิ่นคือทางจังหวัดและเทศบาล   ในอนาคตหลังจากที่ชุมชนมีที่ดินที่มั่นคงแล้ว  ต้องวางแผนชุมชนในระยะยาวเพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้ให้ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
 


ภาพเวทีสาธารณะพูดคุยการพัฒนาชุมชนในอนาคต และการลงนาม MOU การพัฒนาชุมชนร่วมกัน

          แต่เส้นทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด  ยังคงเหลืออีกหลายชุมชนที่ยังรอการแก้ปัญหาอยู่   ถึงแม้นว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2543 เกือบ 20 ปี บัญชีรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนไว้ 61 ชุมชน ที่ครอบคลุมในการสำรวจเพื่อจะเสนอเช่าในช่วงเวลานั้นชุมชนตลาดบ่อบัวน่าจะเป็นชุมชนสุดท้ายที่ได้รับการเช่าภายใต้มติดังกล่าว  แต่การผลักดันการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังไม่สิ้นสุดตาม   เพราะล่าสุดการประชุมบอร์ดการรถไฟฯเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวที่น่ายินดีของพี่น้องชุมชนหนองยวน 2 จังหวัดตรัง และชุมชนรอบเมือง 1 โซน 2 จังหวัดขอนแก่น  ที่บอร์ดการรถไฟฯมีมติอนุมัติหลักการเช่าให้กับชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้ เหลือติดตามการทำสัญญาเช่าเท่านั้นเอง

 



ภาพการประชุมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินกับกระทรวงคมนาคม

          ส่วนชุมชนอื่นๆที่ยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็ได้เจรจากับทางอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเริ่มมีการสำรวจพื้นที่ชุมชนร่วมกัน   โดยนำร่องจะเริ่มต้นที่จังหวัดตรัง  ที่กำลังประสบปัญหาที่เจ้าหน้าที่ รฟท. ปิดประกาศเตรียมจะดำเนินคดีในหลายพื้นที่ชุมชน การแบ่งปันที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์  ( Land Sharing ) มันจึงเป็นรูปแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ ดังที่ชุมชนตลาดบ่อบัวได้ทำมา

และในช่วงเวลานี้จะเห็นข่าวการใช้พื้นที่ 2 ข้างทางรางรถไฟไปใช้ในเชิงพาณิชย์  รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั่วประเทศ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในสองข้างทางริมทางรถไฟ  ที่ยังพิพาทไม่จบและเริ่มที่จะมีแนวโน้มการไล่รื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็เห็นได้จากรณีชุมชนย่านสถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 1,000 หลังคาเรือน ที่ยังไม่รู้ชะตาชีวิตว่าถ้าหากถูกฟ้องร้องขับไล่แล้วตนเองจะไปอยู่ตรงไหนของผืนแผ่นดินไทย


  
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.newtv.co.th/news/13645

การนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ  เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับประชาชน  เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนที่ได้บริหารทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน   ที่มิใช่การสงเคราะห์แจกจ่ายเป็นรายปัจเจก

การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการปฎิรูปที่ดินในประเทศไทยของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปและไม่ใช่เพียงแค่ที่ดินของการรถไฟฯเท่านั้น  แต่ต้องเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นรูปธรรมและได้ผลจริง  อย่างที่ได้ร่วมรณรงค์ขึ้นมา   อาจจะเป็นเรื่องใหญ่และลำบากที่จะให้เปลี่ยนทัศนคติ “ที่ดินต้องไม่ใช่สินค้า”  ที่ดินต้องนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน  ทุกคนจะต้องมีที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่ากัน   เราจึงยืนยันที่จะเสนอนโยบายเหล่านี้ต่อไปเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  และให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าที่ไม่ใช่เพียงเพื่อเก็งกำไร ค้าขาย
1.        นโยบายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
2.        นโยบายภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า
3.        นโยบายสถาบันธนาคารที่ดิน
4.        นโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน (โฉนดชุมชน)
5.        นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินรัฐเพื่อประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ทั้งนี้หากคนจนสามารถเข้าถึงที่ดินแล้ว  การเขาถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย  หรือแม้แต่ทุนการประกอบอาชีพ  เพื่อดำรงชีพต่อไป  สิ่งเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปด้วยเช่นกัน  รวมถึงสวัสดิการด้านต่างๆที่จะช่วยลดภาระประชาชนลงได้

การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้  เราจะได้เห็นวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรคการเมือง  ที่มองมาต่อประชาชนเป็นลักษณะแบบไหน อย่างไร  การแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ลดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นลักษณะแบบใด  ประชาชนคงต้องใช้การวิเคราะห์ แยกแยะ สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนี้อย่างรอบคอบ  แต่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป  ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม !!!

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...