วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549

คนสลัมเคลื่อนไหว… ในวันที่อยู่อาศัยสากล

คนสลัมเคลื่อนไหว
ในวันที่อยู่อาศัยสากล

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันกว่า 6,000 ล้านคน   ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมือง    และตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ   ในปี 2573 ประชากรในเขตเมืองจะมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก
          ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแบบแผนอุตสาหกรรม   การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว  ได้ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนในชนบทของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาต่างๆต้องล่มสลาย  ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง   ความใฝ่ฝันที่ผู้อพยพเหล่านี้นำติดตัวมาคือ   การมีงานทำ มีรายได้  มีที่พักอาศัย  รวมถึงการมีเงินเก็บเพื่อกลับไปฟื้นฟูชีวิตที่บ้านเกิด  
อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบเจอกลับเป็นชีวิตด้านตรงข้าม   พวกเขากลายเป็นคนจนเมืองผู้ไร้ที่อยู่อาศัย   หรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม  ไม่มั่นคงและผิดกฎหมาย   รวมทั้งเข้าไม่ถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลายๆด้าน อาทิ การศึกษา  สุขอนามัย  สาธารณูปโภคพื้นฐาน  คนยากจนในเมืองเหล่านี้   ก่อรูปขึ้นเป็นปัญหาสลัม ปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัย ตามเมืองต่างๆทั่วโลก   ซึ่งในปัจจุบันประมาณการณ์ว่ามีเกือบ 1,000 ล้านคน
ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับสภาพปัญหาดังกล่าว   ศูนย์การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ( United Nations Centre for Human Settlements – UNCHS / HABITAT )  จึงได้กำหนดให้ปี 2530 เป็นปีสากลแห่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ( International Year of Shelter for Homeless )   และจากนั้นได้ประกาศให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น วันที่อยู่อาศัยสากล / World Habitat Day ”  ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลและภาคประชาสังคมของประชาชาติต่างๆ  ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม  ไม่มั่นคง
ในประเทศไทย  ชาวสลัมในนามของ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มีกิจกรรมในวันที่อยู่อาศัยสากลเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2544   สำหรับในปีนี้แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม    แต่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็มีปฏิบัติการที่เกี่ยวพันกับ สิทธิที่อยู่อาศัย ของคนจนในเมืองมาก่อนหน้านั้นแล้วราวหนึ่งเดือน


วันที่ 27 สิงหาคม 26 กันยายน    เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดการชุมนุมต่อต้านการไล่รื้อที่หน้าทำเนียบ   เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นคนกลางไปเจรจาไกล่เกลี่ยขอชะลอเวลารื้อย้ายกับเจ้าของที่ดินเอกชน 3 ราย   ที่กำลังกดดันชุมชนหวายทอง ชุมชนกิตติ และชุมชนพระราม 3  ราว 200 ครอบครัวให้เร่งรื้อย้าย   เหตุที่ต้องชุมนุมก็เพราะในขณะที่รัฐบาลประกาศ นโยบาย บ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแก่ชาวชุมชนแออัด   ประกาศหลักการ สมานฉันท์และสังคมอยู่เย็นเป็นสุข    แต่ชาวสลัมกลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี   ตำรวจเตรียมออกหมายจับราวกับชาวบ้านเป็นอาชญากร   ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงทางสังคมสวนทางกับนโยบายของรัฐ   จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเป็นคนกลางในการคลี่คลายปัญหา   เพราะปัญหาสลัมไม่ใช่เป็นปัญหาการบุกรุกยึดครองแบบปัจเจกชน   หากแต่เป็นหนึ่งในปัญหาทางความเลื่อมล้ำของสังคมไทย  ที่ท้าทายฝีมือการแก้ไขของทุกรัฐบาล
ผลจากการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม  ท้ายสุดนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้เปิดประชุมที่ทำเนียบ   โดยเชิญเจ้าของที่ดินมาพูดคุย   ซึ่งได้ผลสรุปคือ  ในหลักการ  เจ้าของที่ดิน 2 รายยินยอมผ่อนผันการรื้อย้ายให้กับชุมชน  แต่ขอให้ชุมชนจัดทำแผนที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชัดเจน   ส่วนเจ้าของที่อีกรายไม่ยอมมาเจรจา   ทางรัฐบาลจึงประสานไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งเพื่อขอให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยกับเจ้าของที่ดินทางศาล   การชุมนุมในครั้งนี้จึงเป็นรูปธรรมความสำเร็จของชาวสลัมในที่เอกชนที่ยืนยันปกป้องสิทธิที่อยู่อาศัยของชุมชน


อีกชัยชนะหนึ่งของคนยากจนในเมืองก็คือ การเซ็นสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯเพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัย บ้านมั่นคง  โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายน  กระทรวงคมนาคมได้มีพิธีเซ็นสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯแก่ชุมชนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวน 4 ชุมชน   ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ 1 ชุมชน  และอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น 3 ชุมชน    เป็นสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี 2 ชุมชน  และสัญญาครั้งละ 3 ปี อีก 2 ชุมชน   โดยทั้งหมดเป็นการเช่าอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เดิม
การเซ็นสัญญาดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานสักขีพยาน   โดยสรุป ณ ขณะนี้มีชุมชนที่อยู่ในสังกัดเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เซ็นสัญญาเช่าที่กับการรถไฟฯแล้ว 24 ชุมชน   ครอบคลุมผู้ได้รับประโยชน์ 1,700 ครอบครัว กว่าครึ่งหนึ่งเป็นสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี


แม้ว่าชาวสลัมในที่เอกชน   ในที่ดินการรถไฟฯ   จะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย   แต่ทว่าเพื่อนพ้องคนจนในที่อื่นๆยังเผชิญกับภัยคุกคาม
ขณะนี้วัด 22 แห่ง กำลังขับไล่ชุมชนที่เช่าที่ดินของวัดอยู่โดยต้องการนำที่ดินไปให้ภาคธุรกิจทำประโยชน์   ชุมชนหวั่งหลีอายุกว่า 80 ปี ถูกวัดยานนาวาให้นักลงทุนขับไล่ไปแล้ว  และมีชุมชนในที่วัดอีก 5 แห่ง ประชากรราว 500 ครอบครัวกำลังอยู่ในกระบวนการถูกฟ้องขับไล่ ได้แก่ ชุมชนในที่ดินวัดกัลยาณมิตร  วัดบุปผาราม  วัดใต้  วัดอนงคาราม  และวัดโมลี  ปรากฏการณ์ไล่รื้อชุมชนโดยวัดจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะพระสงฆ์ผู้เป็นสานุศิษย์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ซึ่งควรจะเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา กลับกลายมาเป็นผู้ไล่รื้อชุมชนเสียเอง
ชุมชนริมคลองปากคลองสวน เขตยานนาวา ถูกกรุงเทพมหานครดำเนินคดีเป็นจำนวน 37 ครอบครัว   ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี แล้วรอลงอาญา 2 ราย   แต่ต้องเสียค่าปรับรายละ 25,000 บาท   ขณะที่อีก 35 ราย กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปสอบสวน
คนไร้บ้านในกรุงเทพฯที่พักพิงตามพื้นที่สาธารณะ   ซึ่งมีราว 1,500 คน ต้องคอยหวาดหวั่นกับนโยบายจับกุมพวกเขาไปเข้าสถานบำบัดความประพฤติเป็นเวลา 6 เดือน สถานที่ดังกล่าวมีสภาพคล้ายที่กักกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าสถาบันที่ส่งเสริมการพัฒนา
ปัญหาที่กล่าวมาล้วนเป็นการละเมิดสิทธิที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง   ดังนั้นในวาระวันที่อยู่อาศัยสากล   เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงจัดแถลงข่าวการจัดงานในวันที่ 23 กันยายน   ซึ่งนอกจากจะบอกกล่าวถึงกิจกรรมในวันที่ 1 ตุลาคม แล้ว   ยังใช้เวทีแถลงข่าวเปิดโปงปัญหาการไล่รื้อและการละเมิดสิทธิที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดังกล่าวต่อสื่อมวลชน   เพื่อเป็นการสร้างกระแสสาธารณะก่อนการเดินขบวน


กลับมาที่กิจกรรมในวันที่อยู่อาศัยสากล   เช้าวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม   สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ราว 1,500 คน และพี่น้องพันธมิตรจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน รวมตัวกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า   โดยมีเป้าหมายการเคลื่อนขบวนไปยัง 3 จุดสำคัญคือ   อาคารสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  ทำเนียบรัฐบาล   และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 
ก่อนการเคลื่อน  มีการจัดริ้วขบวนและทิวธง  แผ่นผ้าเขียนข้อความรณรงค์ถูกชูขึ้นเหนือหัว  ที่อ่านแล้วสะดุดตาก็เช่น  พระพม่าไล่ทหาร   พระไทยไล่ชาวบ้าน   นโยบายกทม.   ประชาชนต้องมาก่อน  หรือประชาชนต้องมา (เข้าคุก) ก่อน ?”   “หยุดกวาดจับคนไร้บ้าน   เราเป็นคนจนจัดไม่ใช่จรจัด   รวมไปถึงถ้อยคำส่งกำลังใจแก่ผู้รักประชาธิปไตยในพม่าที่ว่า “Stop Evictions in Burma , Stop Military”
          ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ   จดหมายในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค และ LOCOA / Leaders and Organizers of Community Organization in Asia ซึ่งเป็นขบวนการชาวสลัมในภูมิภาคเอเชีย   ได้ถูกยื่นต่อนาย Ravi Ratnayake ผู้อำนวยการฝ่ายความยากจนและการพัฒนา   ที่ประกาศกับผู้ชุมนุมว่าจะนำจดหมายฉบับนี้ส่งถึง Mrs. Anna Tibaijuka  ผู้อำนวยการ UN-HABITAT และนาย Miloon Kothari ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิที่อยู่อาศัย    ส่วนการติดตามผลการดำเนินงานนั้น   คงต้องรอให้องค์การสหประชาชาติ  พิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายรวมทั้งบทบาทขององค์กรตามที่ฝ่ายเราเสนอไปหรือไม่   ซึ่งคงต้องมาติดตามในวันที่อยู่อาศัยสากลปี 2551
          สำหรับสาระสำคัญของข้อเรียกร้องก็คือ   ให้องค์การสหประชาชาติ   เฝ้าติดตามการไล่รื้อชุมชนของประเทศในเอเชียว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่อยู่อาศัยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่   รวมทั้งให้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในประเทศเหล่านั้นว่ามีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจนอย่างเป็นไปตามข้อตกลงที่ประเทศเหล่านั้นลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติหรือไม่  นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ   จะต้องเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้รัฐบาลของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียลงสัตยาบันร่วมกันในการมี นโยบายที่ดินในเมือง สำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจน   ไม่ว่าจะโดยการปฏิรูปที่ดิน   การแบ่งปันที่ดิน  การให้เช่าที่ดินระยะยาว   รวมทั้งการมีมาตรการภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อลดการถือครองที่ดินจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของกลุ่มคนร่ำรวย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  ได้ลงมาพบผู้ชุมนุมพร้อมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการไล่รื้อ  ปัญหาคนไร้บ้าน  รวมถึงอุปสรรคด้านกฎหมายและงบประมาณในการทำโครงการที่อยู่อาศัย   จากนั้นได้นัดหมายให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องการไล่รื้อชุมชน  การหยุดจับกุมคนไร้บ้าน  การปรับปรุงการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง   ในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 ที่ทำเนียบรัฐบาล   โดยนายไพบูลย์  จะเป็นประธานการประชุมเอง
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   ปัญหาการจับกุมชาวบ้านชุมชนริมคลอง  เป็นประเด็นที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ต้องการเจรจากับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   อย่างไรก็ตามรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เป็นผู้มาประชุมแทนและได้ข้อสรุปว่า   กรณีชุมชนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว   รองผู้ว่าฯจะเป็นผู้ไปเจรจาขอชะลอการดำเนินคดีกับทางตำรวจ   เพื่อให้ชุมชนมีเวลาเตรียมการหาที่รองรับใหม่   ส่วนชุมชนริมคลองแห่งอื่นๆ  กรุงเทพมหานครจะมีคำสั่งถึงผู้อำนวยการเขตทุกเขตว่าหากจะมีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกริมคลอง   จะต้องนำเรื่องเสนอต่อ            “ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้พิจารณาก่อนออกคำสั่ง   ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย
สิ่งที่พิเศษกว่าการเคลื่อนไหวในวันที่อยู่อาศัยสากลของทุกๆปีก็คือ   ในปีนี้ชาวเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ได้พาตัวเองไปเชื่อมร้อยจิตใจไว้กับพี่น้องสลัมในต่างแดน   
สลัมริมแม่น้ำปาสิก กลางกรุงมะนิลาซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 94,000 ครอบครัว ถูกทางการขับไล่ที่ด้วยข้ออ้างการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม  การไล่รื้อครั้งนี้เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิที่อยู่อาศัย  ขัดต่อกฎหมายภายในประเทศฟิลิปปินส์และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหา  ดังนั้นในโอกาสวาระสัปดาห์วันที่อยู่อาศัยสากลประจำปี 2550   ในวันที่ 5 ตุลาคม เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงแสดงความสมานฉันท์กับพี่น้องชาวสลัมในกรุงมะนิลา   ด้วยการไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย  เพื่อเสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เคารพต่อสิทธิที่อยู่อาศัยของคนยากจนในเมือง   ด้วยการยุติการไล่รื้อและเปิดโอกาสให้ชาวชุมชนริมแม่น้ำปาสิกเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
กิจกรรมวันที่อยู่อาศัยสากลปีนี้   ที่กินเวลากว่าหนึ่งเดือน   จึงเป็นภารกิจที่แสนจะเหน็ดเหนื่อยสำหรับขบวนการคนจนในเมืองอย่าง เครือข่ายสลัม 4 ภาค   แต่กระนั้นมันก็เป็นภารกิจแห่งศักดิ์ศรีของคนยากจน   ที่กล้ายืนกรานปกป้องสิทธิที่อยู่อาศัยของชุมชนและเชื่อมพลังการต่อสู้กับพันธมิตรคนจนอื่นๆ
ดังคำขวัญของขบวนการที่ว่า สามัคคีคนสลัม  รวมพลังคนจน

                                   “ สามัคคีคนสลัม  รวมพลังสากล

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...