วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย ไม่ได้มาจากฟ้าประทาน


สิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย  ไม่ได้มาจากฟ้าประทาน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

กว่า 4 ปี การต่อสู้เพื่อเอาสิทธิที่ดินที่อยู่อาศัยกลับคืนมาของชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  หลังจากถูกกลุ่มทุนท้องถิ่นในจังหวัดฉะเชิงเทราจับมือกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นคือการรถไฟแห่งประเทศไทยพยายามจะฮุบที่ดินบริเวณตลาดสดบ่อบัวที่ชาวชุมชนเคยเช่ากันมาอย่างยาวนาน  แต่การรถไฟฯมายกเลิกสัญญาเช่า  ไม่เก็บค่าเช่าจากชาวชุมชนอีก  จนได้รู้ข่าวว่าที่ดินผืนนั้นถูกบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งประมูลขอเช่าที่ดินไปเสียแล้ว  และข่าวสารนั้นมาพร้อมกับหมายศาลดำเนินคดีกับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวในทันที
จากความร่วมไม้ ร่วมมือ ของหน่วยงานรัฐท้องถิ่นและบริษัทเอกชน ที่หวังต้องการที่ดินผืนใหญ่บริเวณดังกล่าว  ที่เริ่มกระบวนการทำให้ชาวบ้านจากเดิมที่เป็นผู้เช่าที่ดินการรถไฟฯ  กลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯพร้อมมอบอำนาจโดยสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้กับกลุ่มทุนมาดำเนินคดีกับชาวบ้านหลายหลังคาเรือน  บ้างต้องรื้อบ้านออกโดยที่ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน  บ้างต้องเปลี่ยนอาชีพทำมาหากิน เพราะอาชีพเดิมเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดบ่อบัวนั้นมาหลายสิบปี  การต่อสู้ในพื้นที่ดูเหมือนจะถึงทางตันเพราะคดีสิ้นสุดไปแล้วหลายหลังคาเรือน  รอการบังคับคดี  ในช่วงปี 2557 ก็มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้มาหารือปรึกษากับเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างไร  เนื่องจากแต่เดิมชุมชนตลาดบ่อบัวเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ร่วมกันผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2543  แต่ได้ขาดช่วงการประงานไป  และคิดว่าท้องถิ่นจะดำเนินงานการเช่าที่ดินให้กับชุมชนของตน  แต่กลับกลายเทศบาลท้องถิ่นไม่ได้ดำเนินการใดๆให้กับชุมชน  เป็นที่มาเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนได้เข้ามาประมูลเอาที่ดินไป

กรมบังคับคดีลงพื้นที่ที่จะรื้อชุมชน

เครือข่ายสลัม 4 ภาค หลังจากรับรู้ถึงต้นสายปลายเหตุจึงได้จัดทีมทำงานหยุดไล่รื้อเร่งด่วนลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงของชาวชุมชนอีกครั้งเพื่อรวบรวมความต้องการของชาวชุมชนอย่างแท้จริงก็พบว่ามีกลุ่มชาวบ้าน 3 กลุ่มใหญ่ที่มีความต้องการดังนี้
กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ต้องการรวมกลุ่มกันเช่าที่ดินในพื้นที่ที่เคยเสนอให้ทางเทศบาลมาเช่าเป็นที่อยู่อาศัย เนื้อที่ราว 6 ไร่ เพื่อปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง
กลุ่มสอง คือกลุ่มที่ประสงค์จะเจรจากับทางบริษัทเอกชนเพื่อหาทางแก้ปัญหาเอง
กลุ่มสาม คือกลุ่มที่ไม่ประสงค์เข้ากลุ่มทั้งกลุ่มแรกและกลุ่มสอง
เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงรวบรวมชาวชุมชนในกลุ่มแรกเพื่อไปเจรจากับทางกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับชาวชุมชนจำนวน 99 ครอบครัว  โดยมีการเจรจา 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรก คือ หน่วยงาน โดย การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ฝ่ายที่สองคือ บริษัทเอกชน  ฝ่ายที่สามคือ ชุมชน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เพื่อจะให้ชะลอการดำเนินคดีต่างๆไปเสียก่อนในช่วงระหว่างการเจรจา  ซึ่งการเจรจาในครั้งแรกยังไม่เป็นผล  การดำเนินการต่างๆยังคงเป็นเช่นเดิม  จนเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล


แผนผังพื้นที่การรถไฟฯย่านตลาดบ่อบัว พื้นที่Aคือบริษัทเอกชนเช่า พื้นที่Bคือชุมชนขอเช่า

การไล่รื้อชุมชนตลาดบ่อบัวยังคงไม่เปลี่ยน กลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก  เพราะนอกจากจะมีแค่เจ้าหน้าที่บังคับคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  คราวนี้กลับมีหน่วยงานมาเพิ่มเติมนั้นคือ ทหาร ที่เข้ามาเป็นตัวช่วยในการรื้อบ้านชาวชุมชนอีกหน่วยงานหนึ่งด้วย  เพิ่มดีกรีความรุนแรงในพื้นที่ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
หลังจากการชุมนุมเรียกร้องร่วมกันของเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  จนได้คณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขึ้นมาพร้อมกับ อนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ตามมาด้วย  และเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาของชุมชนตลาดบ่อบัวด้วยเช่นกัน

หน่วยงานต่างๆลงพื้นที่เพื่อจะรื้อบ้านชุมชนตลาดบ่อบัว

เส้นทางการแก้ปัญหาของชุมชนตลาดบ่อบัวไม่ได้ราบเรียบ  ถึงแม้จะมีคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ติดตามอย่างใกล้ชิด  แต่กระนั้นหน่วยงานปฎิบัติคือการรถไฟฯ  ไม่เคยที่จะปฎิบัติตามมติที่ได้ข้อสรุปร่วมกันแต่อย่างใด 4 ปีกว่า กับความไม่คืบหน้าของการรถไฟฯ  ทั้งๆที่ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด   เนื่องจากพื้นที่ที่ชาวชุมชนจะขอเช่าที่ดินการรถไฟฯเนื้อที่ราว 6 ไร่นั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับการประมูลของบริษัทเอกชน  เพราะเป็นพื้นที่ที่ทางเทศเบาลได้แจ้งจำนงที่จะเช่ามาให้ชาวชุมชนทำเป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีตแล้ว  เพื่อที่จะนำบ้านเรือที่อยู่ในแปลงเช่าของบริษัทเอกชนย้ายออกมาอยู่อาศัยในแปลงเช่าของจนเองเพียงเท่านั้น   การรถไฟฯใช้ระยะเวลาในการพิจารณา และดำเนินการถึง 4 ปีกว่า   เครือข่ายสลัม 4 ภาค และชาวชุมชน ติดตามการแก้ปัญหา ทั้งในรูปการประชุมแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ  ชุมนุมติดตามหลายต่อหลายครั้งใน 4 ปีกว่านี้
จนการชุมนุมล่าสุดที่กระทรวงคมนาคม วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 การชุมนุมเพื่อติดตามการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันอังคารที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ไปร่วมน็ประชุม ครม.สัญจร ทำเอาพี่น้องที่ติดตามการแก้ปัญหาแทบจะหาทางออกอย่างไรเนื่องจากคนตัดสินใจด้านนโยบายไม่มีใครอยู่เลย  แต่จากการกดดันที่ชาวชุมชนมีหลากหลายกรณีปัญหามาด้วยกันทำให้ ผู้ช่วยรัฐมนตรี , รองปลัดกระทรวง (ที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง) และโฆษกกระทรวง ลงมาพูดคุยกับชาวชุมชนและติดตามการแก้ปัญหารายกรณีให้   หนึ่งในนั้นคือกรณีปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนตลาดบ่อบัว  หลังการเจรจานานราว 3 ชั่วโมง  ความชัดเจนการแก้ปัญหาของชุมชนตลาดบ่อบัวได้เกิดขึ้นหลังจากรองปลัดกระทรวงคมนาคม   โทรสายตรงให้การรถไฟฯส่งแฟกส์มติคณะกรรมการรถไฟฯเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561  ที่เพิ่งรับรองการประชุมไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เรื่องการเช่าที่ดินของชุมชนตลาดบัวได้ดังนี้คือ




การชุมนุมเจรจาระหว่างเครือข่ายสลัม4ภาค และกระทรวงคมนาคม

คณะกรรมการรถไฟฯ มีมติเห็นชอบในหลักการให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นองค์กรเช่าที่ดินการรถไฟฯเพื่อนำไปทำเป็นที่อยู่อาศัยให้กับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวจำนวนเนื้อที่ 10,724 ตารางเมตร (6.7025ไร่)  ระยะเวลาเช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 20บาทต่อตารางเมตรต่อปี ปรับอัตราค่าเช่าขึ้น 5% ทุก 5 ปี  โดย 2 ปีแรกจะคิดค่าเช่า 50% ที่อยู่ในช่วงปรับระบบสาธารณูปโภค

นี่จึงเป็นมติที่เป็นทางออกให้กับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เรียกร้องอย่างอดทนมาแรมปี  กว่าจะได้ที่ดินจากหน่วยงานรัฐที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีที่ดินกว่า 2แสนไร่ นอกเหนือจากการใช้ในการพัฒนาระบบรางแล้ว  ที่ดินคงเหลือ หรือ ที่ดินสองข้างทาง ยังใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพานิชย์ได้อีกจำนวนมาก   นี่จึงเป็นโมเดลหนึ่งที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่จะต้องเร่งผลักดันให้การกระจายการถือครองที่ดินที่นอกจากเอกชนแล้ว  ยังมีหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยที่ยังไม่ยอมปล่อยที่ดินออกมาเพื่อจะมาแก้ปัญหาการแย่งชิงที่ดินในสังคมไทย   โดยเฉพาะที่ดินเมืองอันมากมูลค่าทางตลาดการค้าที่ดิน “การปฎิรูปที่ดินรัฐ  เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งด้วยเช่นกัน !!!

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า อีกหนึ่งย่างก้าว ของชาวชุมชน


เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า
อีกหนึ่งย่างก้าว  ของชาวชุมชน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

การไล่รื้อชุมชนแออัด หรือ สลัม มีมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี  บทเรียนต่างๆเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสขับไล่คนจนออกนอกเมือง   ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้ฉุกคิดถึงนโยบาย หรือกฎหมาย ที่จะมาช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น  จึงมีการรณรงค์ผลักดัน “พรบ.ชุมชนแออัด” ขึ้นมา  การช่วยเหลือกันยามลำบากตอนถูกไล่รื้อ “เพื่อนช่วยเพื่อน”  คอยวนเวียนไปเยี่ยมเยียน หรือไปเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อหยุดยั้งการไล่รื้ออันโหดร้ายในยุคนั้น  จนก่อเกิดเครือข่ายชาวบ้านขึ้นมาในนาม “ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน” ที่เป็นต้นแบบในการหนุนช่วยกันระหว่างผู้ถูกไล่รื้อด้วยกันเอง  และขยายตัวรวมกลุ่มจนเป็นหนึ่งในเครือข่ายในการก่อตั้งสร้างเครือข่ายสลัม 4 ภาค ขึ้นมา
ในช่วงหลังรัฐประหาร  ปัญหาการไล่รื้อชุมชนแออัดก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด ( จากบทความ สมการสังคมไทย รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน) ชุมชนเสรีไทย 57 เขตบึงกุ่ม กทม. ที่ถูกไล่รื้อจากอำนาจเถื่อน   ที่รู้จุดอ่อนคนจน  และช่องว่างทางกฎหมาย  โดยการใช้กำลังและเครื่องจักรเข้าทำลายบ้านเรือนโดยไม่มีคำสั่งศาลใดๆ  และชุมชนโรงช้าง เขตบางกะปิ กทม. ที่ถูกไล่รื้อจากกลุ่มทุน  ที่ยังสร้างความเคลือบแคลงใจของชาวบ้านว่า  ที่ที่ชุมชนตั้งอยู่ควรจะเป็นที่สาธารณะของหน่วยงานรัฐ  แต่กลับกลายมาเป็นที่ดินเอกชน  เป็น 2 ชุมชนที่อยู่ในที่ดินเอกชนแล้วถูกไล่รื้อในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
หลังจากเจอปัญหามาพร้อมๆกันการรวมมือ จับมือกันมาเป็นสหกรณ์เคหะสถาน เพื่อหาที่ดินรองรับแห่งใหม่ก็เกิดขึ้น   ทั้งสองชุมชนได้ไปซื้อที่ดินแห่งใหม่บริเวณบึงนายพล ซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร   แม้จะห่างจากที่เดิมที่เคยอยู่อาศัยไปกว่า 20 กิโลเมตร แต่ระบบขนส่งในปัจจุบันยังพอที่จะบรรเทาให้เขาเหล่านั้นยังสามารถดำรงชีพในเมืองหลวงแห่งนี้ต่อไปได้อย่างมั่นคง  แต่กระนั้นยังส่งผลให้สมาชิกออมทรัพย์เดิมหลายคนต้องขอแยกทางกันไปเพราะความที่ไกลจากแหล่งงานเดิม จากเดิมสองชุมชนรวมกันกว่า ๑๐๐ ครอบครัว คงเหลือเพียง ๓๗ ครอบครัว
  


ภาพการไล่รื้อชุมชนเสรีไท ๕๗ และชุมชนโรงช้าง
ส่วนชุมชนในที่อยู่ในที่ดินสาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแลก็ถูกดำเนินการขับไล่ให้ย้ายออกจากที่ดินเดิมที่เคยอยู่กันมาอย่างยาวนาน มี 4 พื้นที่ คือ ชุมชนแบนตาโพ  เขตคลองสามวา , ชุมชนคลองเป้ง  เขตวัฒนา , ชุมชนราษฎร์บัวขาว  เขตสะพานสูง และชุมชนอยู่เย็น  เขตลาดพร้าว
ล้วนถูกกรุงเทพมหานคร แจ้งให้รื้อย้ายในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนลำดับที่ 1 – 2 นั้น ที่ถูกไล่รื้อจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม นั้นคือ ปว.44 ที่ประกาศใช้จากคณะปฎิวัติมาตั้งแต่เมื่อปี 2502  ซึ่งเป็นกฎหมายไร้ความยุติธรรม  ไม่เปิดโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  แต่ให้โอกาสหน่วยงานรัฐสามารถรื้อถอนบ้านเรือนได้ตามอำเภอใจ  กฎหมายล้าหลังเช่นนี้ยังคงอยู่และใช้อยู่กับคนจนอยู่เนืองๆ  กระทั่งการเข้ามาให้คำปรึกษาช่วยเหลือจัดตั้งกลุ่มในแต่ละพื้นที่ชุมชน  ขับเคลื่อนเรียกร้องเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร  กระทั่งได้ข้อสรุปคือ ทั้ง 4 ชุมชนสมาชิก รวมเป็นหนึ่งสหกรณ์ เพื่อหาที่รองรับแห่งใหม่  ได้ความช่วยเหลือประสานงานจากชุมชนโรงช้าง  ที่ได้ย้ายมาอยู่ก่อนพักใหญ่แนะนำที่ดินข้างเคียงราคาถูกให้  ทั้ง 4 ชุมชนตกลงกันจะเอาที่ดินแปลงดังกล่าวราว 12 ไร่ รองรับ 145 ครอบครัว มาในนาม ชุมชนภูมิใจ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ในผืนแผ่นดินใหม่   ในซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา  เยื้องๆกับที่รองรับชุมชนโรงช้าง
 


ภาพการยกศาลพระพรหมในพื้นที่รองรับแห่งใหม่ของชุมชนภูมิใจ
นอกจากนั้นยังมีชุมชนตลาดบ่อบัว ที่อยู่กลางเมืองแปดริ้ว  ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ซึ่งโดนกลไกการตลาดค้าที่ดินส่งผลกระทบมายังชุมชน  เดิมทีชุมชนนี้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯมาหลายสิบปี  แต่ต่อมาหยุดให้เช่าไม่กี่เดือนถัดไปก็รู้ถึงสาเหตุที่ไม่ให้เช่าต่อ  เพราะเนื่องจากมีกลุ่มทุนเสนอราคาค่าเช่าที่แพงกว่านั้นเอง  ส่งผลให้ชุมชนนี้กลายเป็นกลุ่มคนอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายทันที
  

ภาพการไล่รื้อชุมชนตลาดบ่อบัว
จึงเกิดการคัดค้าน  เรียกร้องความเป็นธรรมกันใช้เวลากว่า 4 ปี ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค บทสรุปการเรียกร้องและเจรจาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีมติคณะกรรมการรถไฟอนุมัติหลักการเช่าให้กับชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  โดยการรถไฟฯได้แบ่งที่ดินประมาณ 6 ไร่ ให้กับชาวชุมชน 99 ครอบครัว เช่าเป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินในที่บริเวณเดิม
ชุมชนเหล่านี้ประสบปัญหาถูกไล่รื้อชุมชนเหมือนกัน  เป็นคนจนที่มีหัวอกเดียวกัน  เข้าใจถึงปัญหา  เข้าใจถึงความรู้สึก  สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้กลุ่มชุมชนดังกล่าวได้มารวมตัวกัน  ในปี 2560 ในวันสมัชาใหญ่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เขาเหล่านั้นร่วมกันประกาศการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในนาม “เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า”  และได้กลายเป็นเครือข่ายสมาชิกที่ 9 ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค
 



ภาพการประชุมจัดตั้งเครือข่ายชุมชนก้าวหน้า
เครือข่ายชุมชนก้าวหน้าประกอบไปด้วยชุมชนสมาชิกที่มาจาก 7 ชุมชน ดังนี้
1.        ชุมชนเสรีไท เขตบึงกุ่ม
2.        ชุมชนโรงช้าง  เขตบางกะปิ
3.        ชุมชนแบนตาโพ  เขตคลองสามวา
4.        ชุมชนคลองเป้ง  เขตวัฒนา
5.        ชุมชนอยู่เย็น  เขตลาดพร้าว
6.        ชุมชนราษฎร์บัวขาว  เขตสะพานสูง
7.        ชุมชนตลาดบ่อบัว  อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
เป็นความต่างที่เหมือนกัน....ทั้ง 7 ชุมชน ไม่ได้มีรายละเอียดการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน  เนื่องจากที่ตั้งชุมชนเจ้าของที่ดินไม่ได้มีความคล้ายกัน ลำดับที่ 1-2 เจ้าของที่ดินเอกชนไล่รื้อ  ลำดับที่ 3-6 กรุงเทพมหานครเป็นผู้ไล่รื้อ ลำดับที่ 7 การรถไฟฯกับกลุ่มทุนไล่รื้อ  ความเหมือนกันก็คือเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  เขาเหล่านั้นถูกกระทำราวกับเป็นอาชญากร เพียงแค่จนไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้นเอง
การรวมตัวเป็นเครือชุมชนก้าวหน้าไม่ได้เป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อทำความรู้จักกันเท่านั้น  แต่เป็นการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันในทุกด้าน   ที่ผ่านมาการไล่รื้อชุมชนแต่ละครั้ง  สมาชิกในเครือข่ายชุมชนก้าวหน้าก็หมุนเวียนกำลังกันช่วยเหลือ  แลกเปลี่ยนประกสบการณ์กัน เป็นทะแนะ ทนาย ช่วยกันในเครือข่ายชาวบ้าน  โดยใช้ประสบการณ์จริงในการส่งต่อความรู้
และนั้นคือสิ่งที่ท้าทายในอนาคต  หลังจากที่เขาเหล่านั้นได้ที่ดินที่มั่นคง  ได้บ้านที่มั่นคง  ไม่ถูกไล่รื้อ ไม่ถูกรุกรานจากลุ่มทุนแล้ว  การดำรงอยู่ต่อไปข้างหน้าของเครือข่ายจะยังสามารถยกระดับต่อไปในอนาคตได้หรือไม่  นี่คือสิ่งที่ท้าทายกว่าการต่อต้านการไล่รื้อเสียอีก  ดังคำกล่าวของ “สุวิทย์  วัดหนู” นักสู้ของคนจนเคยได้กล่าวไว้ว่า “การต้านการไล่รื้อเป็นเรื่องที่ยากลำบาก  แต่การรักษาที่ดิน รักษาชุมชนที่ได้มาลำบากยิ่งกว่า” 


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...