วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

วันที่อยู่อาศัยโลก ในสถานการณ์ไล่รื้อชุมชนอย่างต่อเนื่อง

วันที่อยู่อาศัยโลก ในสถานการณ์ไล่รื้อชุมชนอย่างต่อเนื่อง

คมสันติ์ จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ยิ่งใกล้วันที่อยู่อาศัยโลกเข้าไปทุกที สถานการณ์การไล่รื้อชุมชนยังคงมีอย่างเข้มข้นทุกวัน  ไม่ว่าจะโดนไล่รื้อจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลเอง  หรือว่าการไล่รื้อจากการลงทุนพัฒนาที่ดินของเอกชนเอง ยังคงประสบกันไม่ว่างเว้น
หากจะดูเพียงในช่วงเดือนกันยายนที่กำลังจะผ่านไปแค่ช่วงเดือนเดียว เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ทราบข่าวชาวบ้านต้องถูกรื้อย้ายกระจัดกระจายกันไปอย่างที่ไม่มีจุดหมาย ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหลังบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ 39 ราว 50 หลังคาเรือน หลังจากแจ้งขอความช่วยเหลือมาไกล่เกลี่ยกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ไม่ถึง 3 อาทิตย์ ชุมชนนี้ก็ได้หายไปแล้วเพราะทนแรงกดดัน ขมขู่จะดำเนินคดีไม่ไหว จำต้องย้ายหนีออกเอาตัวรอดเพื่อไม่ให้โดนดำเนินคดี  ทั้งๆที่ขั้นตอนทางกฎหมายยังคงยืดระยะออกไปได้นาน  แต่ด้วยความไม่รู้ทางกฎหมายของชาวบ้านเอง ทำให้เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มักจะใช้ข้ออ้างนี้ในการขู่ชาวบ้านให้เกรงกลัวแล้วรีบย้ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเพิ่มสิน ซอย 13 เขตสายไหม จำนวน 20 กว่าหลังคาเรือน , ชุมชนหลังหมู่บ้านเปรมฤทัย เขตประเวศ จำนวน 65 หลังคาเรือน , ชุมชนโรงถ่าน เขตจอมทอง จำนวนราว 30 หลังคาเรือน ล้วนแล้วแต่ต้องถูกไล่รื้อไปในเพียงเดือน ก.ย. 58 นี้


สภาพชาวบ้านและสภาพบ้าน ชุมชนเพิ่มสิน 13 ซึ่งปัจจุบันรื้อย้ายไปหมดแล้ว

คำถามต่อไล่แล้วชาวบ้านเหล่านั้นจะไปอยู่ไหน   ส่วนใหญ่แล้วก็จะหาห้องเช่าราคาถูกที่มีความแออัดมาเช่าอยู่ใกล้ๆบริเวณเดิม   บางครอบครัวที่ไม่มีเงินพอที่จะเช่าก็หาบุกรุกที่ดินว่างเปล่าในที่ใกล้เคียงชุมชนเดิมนั้นละเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่   ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนก็ต้องมานับวันรอถูกไล่หาที่อยู่ใหม่วนเวียนไปมาอย่างไม่จบสิ้นอยู่ดี 
แหละนี่คือโจทย์ใหญ่ที่สังคมโลกได้ตระหนักแล้วว่า “ที่อยู่อาศัย” ที่เป็นสิ่งสำคัญในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จะขาดไม่ได้กำลังเป็นปัญหาต่อสังคมโลก   จึงเป็นที่มาการประกาศเป็นวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นมา  โดยให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่ให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย  ให้รัฐบาลแต่ละประเทศได้ใส่ใจการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง
กลับมาดูประเทศไทยอีกครั้ง   อย่างที่ได้เกริ่นสถานการณ์โดยรวมช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมานั้นคือชุมชนที่ถูกรื้อย้ายไปแล้ว  แต่ชุมชนที่กำลังจะถูกรื้อย้ายละ  ยังคงมีอีกจำนวนมาก   จากการสำรวจร่วมกับทางการเคหะแห่งชาติจะพบว่า ชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์จะต้องถูกรื้อย้ายที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจำนวนมากถึงกว่า 60 ชุมชน และที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงพื้นที่ล่าสุดที่กำลังมีข้อพิพาทกันเริ่มจะเข้าบรรยากาศที่จะรุนแรงกันในพื้นที่นั้นคือ “ชุมชนโรงช้าง”
ชุมชนโรงช้าง เป็นชุมชนขนาดกลางๆ มีประชากรราว 80 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ ซอยรามคำแหง 60 แยก 3 อยู่ในที่ดินที่ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง   กลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาบุกเบิกกลุ่มแรกราว 20 ปีผ่านมาแล้วเล่าว่าที่บริเวณชุมชนเดิมเป็นป่ารกร้าง  แล้วทางกรุงเทพมหานครได้เข้ามาจัดทำเป็นที่เลี้ยงแพะ ทำคอกไว้สำหรับช้าง  มีการวางกองหิน กองดิน จากทางสำนักงานเขตบางกะปิ บางหลังก็มาปลูกอยู่จากคำชวนของพนักงานสำนักงานเขตเองว่าให้มาอยู่ช่วยเฝ้าดูแลของหลวงให้หน่อย แล้วก็เริ่มมีการชักชวนญาติ พี่น้อง คนรู้จัก เข้ามาอยู่กันจนกลายเป็นชุมชนในที่สุด
สถานการณ์ปัจจุบันมีกลุ่มคนได้เข้ามาอ้างตัวเป็นเจ้าของที่ดินที่ชุมชนตั้งอยู่  ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ติดกับชุมชนโรงช้างนั้น  มาแจ้งให้ชาวบ้านรีบย้ายออกจากพื้นที่โดยเร็วหากไม่เช่นนั้นจะทำการดำเนินคดีฟ้องศาล จับกุม  เป็นคำกล่าวสร้างความเกรงกลัวให้กับชาวบ้านซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง ชาวบ้านบางส่วนได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท เป็นค่ารื้อย้ายแล้วไปหาที่อยู่ใหม่เพราะเกรงจะโดนดำเนินคดี   ส่วนกลุ่มที่ไม่มีที่ไปซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ปักหลักจะขอสู้เพื่อบ้านของตัวเอง   เพราะความที่เข้ามาอยู่ในครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นที่หลวงไม่ใช่ที่เอกชน  มีการดำเนินการเรื่องต่างๆโดยหน่วยงานราชการ  จึงปักใจเชื่อว่าที่ตั้งชุมชนส่วนหนึ่งนั้นเป็นที่ของทางราชการ   ดังนั้นความต้องการของชาวบ้านเองต้องการที่จะตรวจสอบขอบเขตที่ดินให้ชัดเจนว่าที่ดินแปลงที่ชุมชนตั้งอยู่เจ้าของที่แท้จริงเป็นใครกันแน่ โดยจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางเข้าร่วมการตรวจสอบด้วย   ทางผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดินไม่ได้คิดที่จะเจรจากับชาวบ้านแต่อย่างไร  กลับนำรถแม็คโครเข้ามาไถ บริเวณชุมชนสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้าขาด ท่อน้ำประปาแตก ต้นไม้ที่ชาวบ้านสู้อุตส่าห์ปลูกไว้ก็ถูกไถกลบไปหมด   ครั้นชาวบ้านไปแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก กลับได้คำกล่าวอย่างไม่เหมาะสมเชิงว่าอยากไปอยู่ที่ของเขาทำไมกันละ แล้วเมื่อไหร่จะออกจากที่เขาไปละ เฉไฉกว่าจะลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้



 ผู้แทนเจ้าของที่ดินนำรถแม็คโครลงมาไถพื้นที่ส่งผลกระทบเกิดความเสียหายต่อชุมชนโรงช้างบางส่วน

แล้วในวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่อ้างเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดิน ที่มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรถแม็คโคร ซึ่งขณะลงไปนั้นแม็คโครยังคงทำงานต่อเนื่อง  ทรัพย์สินชาวบ้านบางส่วนเสียหาย ทางเราพยายามขอดูเอกสารการแสดงตนเป็นผู้แทนเจ้าของที่ดินแต่กลับอ้างว่าไม่มีมา พร้อมกลับบอกปฏิเสธไปว่ารถแม็คโครที่กำลังดำเนินการไม่ใช่ตนว่าจ้างมา  ทำให้คนงานพอรู้ว่ามีการกล่าวเช่นนั้นจึงหยุดการดำเนินการแล้วนำรถแม็คโครออกจากพื้นที่ชุมชนไป
วิธีการแบบนี้ไม่ใช่วิธีการใหม่  แต่เคยมีคนเคยใช้จนเป็นข่าวโด่งดังทั่วไทยมาแล้วคือกรณีรื้อบาร์เบียร์ ย่านสุขุมวิท  ซึ้งใช้หลักการเดียวกันคือรื้อให้จบแล้วให้ผู้เสียหายตามฟ้องร้องเอาทีหลัง  เป็นการใช้อำนาจเถื่อนถือว่ามีเงินพอในการจ่ายค่าเสียหาย  แต่ไม่อยากเสียเวลาในการเจรจาพูดคุย  หากทำสำเร็จผู้ที่เดือดร้อนจะเป็นชาวบ้านทันที เพราะไหนจะต้องเดินทางไปแจ้งความ ขึ้นศาล ในขณะที่บ้านโดนรื้อทำลายไปแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัยกลับต้องมาเดินเรื่องเพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายซึ่งไม่รู้จะได้เท่าไหร่


กลุ่มคนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินลงชุมชนโรงช้างแจ้งให้ย้าย แต่ไม่มีเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของ


นี่คือสถานการณ์การไล่รื้อชุมชนที่มีอยู่เกือบทุกวัน  แต่ไม่เคยที่จะเป็นข่าวทางสื่อด้านใดๆ แต่ทุกข์ชาวบ้านที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัยนั้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือกับกรณีเช่นนี้เลย นี่จึงเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ว่า ต้องมีหน่วยงานในการดูแลชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ถูกไล่รื้อเร่งด่วน โดยเบื้องต้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าควรมีคณะกรรมการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินและชาวบ้านขึ้นมา  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการไกล่เกลี่ย

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

พัฒนาการการไล่รื้อชุมชน กับการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินของชาวสลัม

พัฒนาการการไล่รื้อชุมชน กับการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินของชาวสลัม

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          จากข้อมูลชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ สำรวจร่วมกัน มีชุมชนแออัดจำนวน 6,334 ชุมชน 1,630,447 ครัวเรือน มีผู้เดือดร้อนในที่อยู่อาศัยอยู่ 728,639 ครัวเรือน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550) ขณะเดียวกันเครือข่ายสลัม 4 ภาค กำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อเร่งด่วน   ซึ่งมีชุมชนที่เข้าข่ายอยู่ราว 60 ชุมชน ( สำรวจถึง ณ วันที่ 20 ส.ค. 58 ) ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะริมคูคลอง ที่ดินของวัด  ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามสองข้างทางรถไฟ หรือที่ดินของบริษัท เอกชนต่างๆ


สภาพชุมชนวัดใต้ ที่รอการเจรจาเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ให้ดีขึ้น
          หากดูสถานการณ์การพัฒนาของรัฐที่จะส่งผลกระทบกับชุมชนและจะเป็นคู่พิพาทกันในอนาคต ตามนโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเพื่อการพัฒนาระบบรางทั้งระบบ หรือแม้แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ  โครงการเหล่านี้นอกจากจะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนแออัดแล้วยังสร้างผลกระทบทางอ้อมที่จะทำให้ชุมชนแออัดถูกไล่รื้อตามไปอีกด้วย เพราะบริเวณการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะก่อเกิดมูลค่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล   ทำให้ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อลงทุนของภาคเอกชนมีมากขึ้นตามไปด้วย
          จากรูปการดังกล่าวทำให้ชุมชนแออัดมีโอกาสจะต้องถูกไล่รื้อมีมากขึ้นตามไปด้วย   ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันรูปแบบการไล่รื้อชุมชนแออัดมีหลากหลายวิธีนัก หากจะพบพอจะแยกออกมาคร่าวๆได้ดังนี้
รูปแบบแรก บอกกล่าวแจ้งให้ย้าย  เจ้าของที่ดินในเบื้องต้นจะมีวิธีการแจ้งบอกกล่าวให้ย้ายออกจากวิธีในหลายแบบ เช่น การส่งจดหมายถึงเจ้าของบ้านแต่ละหลัง หรือส่งถึงประธานชุมชน หรือการปักป้ายแจ้งไว้ในที่ๆชุมชนสามารถมองเห็นได้ทั่วถึง หรือไม่ก็ส่งกลุ่มที่มีบุคลิกน่าเกรงขามมาแจ้งบอกกล่าวให้รีบย้ายโดยเร็ว ถือเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วไปในทุกแห่งเพราะสามารถสร้างจิตวิทยาให้กับชาวบ้านเกิดความเกรงกลัวที่จะถูกดำเนินคดี อาจจะมีชาวบ้านบางส่วนรีบรื้อบ้านย้ายออกไปในทันทีตั้งแต่ทราบข่าว

ภาพป้ายการแจ้งให้ย้าย พร้อมข่มขู่ไม่รับผิดชอบ หากทรัพย์สินเสียหาย ของชุมชนเสรีไท 57

รูปแบบที่สอง จ่ายค่าชดเชยแล้วให้ย้ายออกไป  เป็นวิธีที่เจ้าของที่ดินไม่ว่ารัฐ หรือเอกชน  นำมาใช้กันแทบจะทุกชุมชน (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)  หากชุมชนใดไม่มีการจัดตั้งที่ดีก็มักจะจบลงด้วยความรวดเร็ว   แต่หากชุมชนใดมีการจัดตั้งชุมชนที่ดี การเจรจาต่อรองเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นเล็กไปเลย อีกทั้งสร้างเงื่อนไขการต่อรองเจรจาไปในทิศทางที่ชุมชนต้องการได้
รูปแบบที่สาม เข้าโครงการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น โครงการบ้านยั่งยืน(เอื้ออาทรเดิม) , โครงการบ้านมั่นคง ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นจากกลุ่มที่โดนไล่รื้อจากโครงการของรัฐ  เพราะสามารถเชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ง่ายและสะดวก  แต่ทั้ง 2 โครงการก็มีความต่างในความต้องการของชุมชนเอง หากชุมชนที่อยู่กันแบบปัจเจกไม่เป็นกลุ่มก้อนมักจะเลือก โครงการบ้านยั่งยืน เพราะสะดวกในการจัดการ หากชุมชนไหนที่มีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันก็มักจะเลือกโครงการบ้านมั่นคง ที่สามารถแก้ปัญหาร่วมกันทั้งชุมชนในทิศทางเดียวกัน
รูปแบบที่สี่ แจ้งความ ฟ้องศาลขับไล่  เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่นำเสนอทางเลือกต่างๆแล้วยังไม่มีข้อยุติเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งโดยทั่วไปชุมชนจะจบลงด้วยการแพ้คดี
รูปแบบที่ห้า เข้ารื้อทำลายทันที   วิธีการนี้ไม่ค่อยเห็นมานานมากในอดีตจะใช้รูปแบบนี้บ่อยที่จะใช้กำลังกลุ่มคนเข้ารื้อทำลายโดยทันทีไม่มีการแจ้งให้รู้ล่วงหน้านานนัก และจะไม่ใช้ระบบกระบวนการตามกฎหมาย  เจ้าของที่ดินจะใช้เครื่องจักร กำลังคนทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินให้เสียหายทั้งหมด   หรือวางเพลิง  เผาชุมชน ให้หมดสิ้นไป  ในปัจจุบันยังคงมีการใช้วิธีการนี้อยู่ เช่น ชุมชนหลังปั้มเอสโซ่ ย่านพระราม 3 ถูกเผาไล่ที่เมื่อต้นปี 2552 กรณีชุมชนล่าสุดเมื่อปลายปี 2557 ชุมชนเสรีไท 57 เพิ่งถูกดำเนินการไล่รื้ออย่างป่าเถื่อนแบบนี้มา


สภาพบ้านของชุมชนเสรีไท 57 ที่ถูกรื้อทิ้ง โดยที่ชาวชุมชนไม่ทันตั้งตัว

รูปแบบสุดท้าย หาที่ดินใหม่แลก   วิธีนี้เป็นวิธีที่จบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย  ชุมชนและเจ้าของที่ดินเจรจากันจนได้ข้อยุติ เจ้าของที่ดินจะจัดหาที่ดินแปลงใหม่มาเพื่อรองรับชาวชุมชนทั้งหมดในทำเลใหม่ให้ รูปแบบนี้เห็นได้จากกรณีของชุมชนริมทางรถไฟโค้งอโศก และชุมชนบางนา ที่อยู่ในที่ดินของเอกชน และกรณีชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟฯย่านบางกอกน้อย ที่การรถไฟฯหาที่ดินแห่งใหม่ให้กับชาวชุมชนย้ายไปไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากที่เดิม
รูปแบบต่างๆแสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของเจ้าของที่ดินว่าต้องการขับไล่ชาวชุมชนมากน้อยเพียงใด บ้างมีการเจรจากันก่อนดำเนินการ บ้างดำเนินการเลยโดยไม่มีการพูดคุย บ้างมีหน่วยงานรัฐเป็นกลไกกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย   ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเองว่ามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับเรื่องนี้เช่นไร
ส่วนการรื้อย้ายสลัมจะจบลงด้วยวิธีใดก็ตามสิ่งที่จะกระทบตามมาของกลุ่มคนเหล่านั้นคือวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา   ชุมชนที่ถูกไล่รื้อส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีอายุชุมชนไม่ต่ำกว่า 20 ปีทั้งนั้น  บางชุมชนอยู่มากัน 2 – 3 ชั่วอายุคน ทำให้การปักหลักวางฐานของครอบครัว ชุมชน มีความเกี่ยวพันกับสงคมรอบข้างชุมชนเป็นอย่างมาก   ชาวชุมชนจะต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้แน่ๆคือ
1.                 รูปแบบการพักอาศัยที่ต้องเปลี่ยนไป  ชุมชนไหนที่มีความเข้มแข็งก็มักจะสามารถออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ได้ให้เหมาะสมกับสมาชิกชุมชนตนเอง   หากไม่มีความพร้อมของชุมชนถ้าเป็นในอดีตก็จะมีการไปหาที่ว่างแปลงใหม่ในการอยู่อาศัย  แต่เนื่องในปัจจุบันที่ว่างในเมืองหลวงแทบจะไม่มีเหลือหากชาวชุมชนจะไปหาที่ดินว่างเปล่าก็คงต้องขยับไปนอกเมืองมากๆหรืออาจจะต้องเป็นปริมณฑล หากจะหาที่อยู่อาศัยอื่นก็จะเป็นห้องเช่าราคาถูกอยู่กันแบบแออัด   หรือถ้าเป็นที่รัฐจัดให้ก็จะเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยทรงสูง  บางคนไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ เช่น กลุ่มคนเก็บของเก่าขาย , กลุ่มขายอาหาร , กลุ่มอาชีพที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพ
2.                 อาชีพและ การเดินทางที่จะต้องเปลี่ยนไป   เมื่อที่พักอาศัยต้องห่างจาก ทำเล หรือที่ตั้งการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปส่งผลให้การลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่หากชุมชนจะต้องย้ายออกจากชุมชนเดิมมักจะมีที่ตั้งชุมชนใหม่ในพื้นที่ที่ห่างจากที่ตั้งออกไปจากเดิม มากบ้าง  น้อยบ้าง  ตามแต่ที่จะเจรจาต่อรอง หรือการเสาะแสวงหาของชาวชุมชนเอง 
3.                 การศึกษาของบุตรหลาน  พอย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ บุตรหลานจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาใหม่ตามไปด้วย   หากต้องย้ายช่วงระหว่างเรียนจำเป็นต้องเดินทางระยะทางไกลไปก่อนจนกว่าจะปิดเทอม
บทส่งท้ายนี้สังคมเมืองควรจะมีคำตอบให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ว่า  ที่ผ่านมาแรงงานหลักในการสร้างเมืองนั้นเป็นกลุ่มคนใด  ดังเคยมีคำกล่าวไว้ว่า สลัมนั้นเปรียบดัง “โกดังแรงงาน” หากต้องการแรงงานราคาถูกก็มาหาได้ที่นี่ เหมือนกับคำที่อดีตผู้นำชุมชน คุณทวีศักดิ์  แสงอาทิตย์ ได้กล่าวไว้ว่า “เมืองจะเจริญไม่ได้  ถ้าปราศจากคนจน” หลังจากเป็นส่วนในการสร้างเมืองแล้ว จะทำการเบียดขับกลุ่มคนเหล่านี้ออกไปเยี่ยงไร  เพราะเขาคือฟันเฟืองหนึ่งที่ร่วมกันพัฒนาเมือง.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...