วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ภาษีประชาชน สวัสดิการต้องเท่าเทียม


       เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่าสถานการณ์ตอนนี้คือ “รัฐบาลถังแตก”  จากการออกพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เพื่อขอขึ้นภาษีในปีงบประมาณ 2562 จาก 7% เป็น 9%   ถ้าหากสอบถามประชาชนโดยตามความรู้สึก และจากภาพข่าวการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่เน้นหนักไปยังการเสริมยุทโธปกรณ์ของกองทัพเสียส่วนใหญ่   อีกทั้งมีแผนจัดซื้ออีกหลายรายการในอนาคต  เป็นอะไรที่ประชาชนรับไม่ค่อยได้   เนื่องจากสวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ  ราคาพืชผลเกษตรตกลงจนน่าใจหาย  ปัญหาภัยธรรมชาติที่รายล้อม
การใช้จ่ายงบประมาณด้วยภาษีของประชาชนเช่นนี้จึงไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้านที่ได้ทราบข่าวในแต่ละครั้งที่มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ตกมาถึงประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น   สถานการณ์การบริหารที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม   ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการหลายอย่างออกมาที่หวังจะเป็นการช่วยลดภาระประชาชนแต่กลับไม่สามารถได้ตามวัตถุประสงค์นัก
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังกล่าวกันถึงว่ารัฐนี้ข้าราชการเป็นใหญ่  เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆขึ้นมาหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังมีอีกสิ่งที่ประชาชนมีความห่างจากฐานข้าราชการยิ่งขึ้นไปนั้นก็คือ “สวัสดิการ”
ยุคแห่งความต้องการเป็นข้าราชการเพื่อเป็นเจ้าคนนายคนนั้น  เคยเบาบางจางลงไปพักใหญ่  คนส่วนใหญ่เริ่มสร้างอาชีพอิสระ  สร้างงานมากขึ้น  บริษัทเอกชนเริ่มแข่งขันกัน  รับคนมากขึ้นมีเงินเดือน มีสวัสดิการพื้นฐานจนทำให้สังคมส่วนใหญ่เล็งเห็นแล้วว่าอาชีพอื่นที่นอกเหนือจากข้าราชการสามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้   แต่เมื่อมามองดูปัจจุบันเหตุกลับตาลปัตรผู้คนหันกลับมามองยังอาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง  และรายได้ดี



ผลวิจัยของกองวิจัยการตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (ปี 2558) ในหัวข้อเรื่อง การเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียน ม.3 และ ม.6” พบว่า เป้าหมายในอนาคตต้องการรับราชการมากกว่าที่จะเลือกทำงานในบริษัทเอกชน โดยกลุ่มตัวอย่างจากเด็กนักเรียน ม.3 ร้อยละ 36.03 ต้องการทำงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนร้อยละ 15 ต้องการทำงานบริษัทเอกชน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างของนักเรียน ม.6 พบว่าต้องการทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจร้อยละ 47 ขณะที่ทำงานเอกชนร้อยละ 14
นอกจากการปรับฐานเงินเดือนผู้เข้าบรรจุข้าราชการใหม่ให้มีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเอกชนในหลายๆแห่งแล้ว  ถือว่าเป็นการช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เข้าทำงานมาในช่วงค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกขณะ  แต่ค่าแรงในส่วนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือคนงาน หรือแรงงานนอกระบบ ยังคงต้องทนแบกรับค่าครองชีพที่ขยับขึ้นสูงอยู่ทุกวี่วันแล้ว   ยังมีระบบสวัสดิการเข้มแข็ง  ดูแล  ความเป็นอยู่ของข้าราชการเป็นอย่างดี
หากจะมองงบประมาณรวมประเทศที่ประชาชนทุกคนนำเอามากองรวมกันเพื่อนำไปพัฒนาประเทศหรือที่เรียกว่า “ภาษี” ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสัดส่วนตามการแปรญัตติในสภาผู้แทนราษฎร  และส่วนหนึ่งได้ตัดออกมาเป็น “เงินเดือนข้าราชการ”  และมีอีกส่วนนำมาเป็น “สวัสดิการข้าราชการ”  ส่วนที่สองนี่เองที่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ระบบการศึกษา  ข้าราชการมีความมั่นคง  เข้าถึง การศึกษาของลูกตนเอง  มีสวัสดิการอุดหนุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล  ไปจนถึงระดับปริญญาตรี  ถึงแม้ในระบบใหญ่จะเรียนฟรีหรือไม่  ก็ไม่กระทบกับลูกๆของข้าราชการเหล่านี้

ระบบการรักษาพยาบาล   ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา  ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบหลายกลุ่มได้เฝ้าระวังการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ  และการเรียกร้องให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของเหล่าแรงงานในระบบในสำนักงานประกันสังคม  ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลของสองกองทุนยังไม่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงอย่างเท่าที่ควรจะเป็น  ซึ่งแตกต่างจากสวัสดิการของข้าราชการ ที่มีจำนวนคนน้อยกว่าแต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่า  ทั้งนี้สวัสดิการของข้าราชการยังครอบคลุมไปยังพ่อ แม่ ลูก ของตนเองอีกด้วย ดูได้จากแผนภูมิข้างล่างที่แสดงไว้แสดงถึงสัดส่วนจำนวนคนของแต่ละกองทุนได้อย่างชัดเจน (กองทุนของข้าราชการได้รวมจำนวนครบอครัวข้าราชการไว้หมดแล้ว)

ข้อมูลจากโครงการเสริมศักภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.)

ระบบในที่อยู่อาศัย ข้าราชการมีพระราชกฤษฎีกาสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2535   อีกทั้งยังมีสวัสดิการค่าเช่าบ้าน (ตามระเบียบที่ได้วางไว้ตามแต่ละคุณสมบัติของแต่ละหน่วยข้าราชการ)  หรือยังมีบ้านพักข้าราชการที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี  ส่วนประชาชนทั่วไปหากเงินเดือนไม่ถึง  ไม่มีสลิปเงินเดือน  ลำพังบ้านในโครงการของรัฐยังไม่สามารถใช้สินเชื่อได้เลย   ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยที่อยู่ปัจจุบันว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ระบบบำเหน็จ / บำนาญ   สวัสดิการสุดท้ายที่จะกล่าวถึง  เป็นบั้นปลายชีวิตของคน  ประชาชนทั่วไปต้องฝากไว้กับบุตร หลาน และเบี้ยยังชีพอันน้อยนิด   ซึ่งต่างจากสวัสดิการ 2 กองทุนของข้าราชการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการทั่วประเทศถึง 3 เท่า


ข้อมูลจากรายการ Overview ช่อง Voice TV

นั้นคือสวัสดิการหลักๆ ที่ข้าราชการแบ่งเอาเงินงบประมาณจากกอง “ภาษี” แล้วในส่วนของประชาชนละ  ผู้ที่มีส่วนร่วมในการลงขันจ่ายภาษีลงกองกลางได้อะไรกลับมาบ้าง  ควรถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนที่ร่วมกันลงขันมากองเป็น “ภาษี” จะได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกันในทุกกลุ่มคนอย่างทั่วถึง  นี่แหละคือจุดลดความเหลื่อมล้ำโดยแท้จริง  ยังไม่นับสิทธิ หรือโอกาสอื่นๆ  ที่จัดไว้ให้ข้าราชการจะต้อง “ได้ก่อน”
แต่หากมาดูประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ  ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐจากผลวิจัยของธนาคารโลก พบว่าไทยตกจากอันดับ 91 เมื่อสิบปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ หรือถ้าหากดูจากดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ก็ร่วงจากอันดับ 70 เป็นอันดับ 102 จาก 174 ประเทศ World Economic Forum (WEF) จัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92)  ซึ่งดูแล้วสวนทางกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆของข้าราชการ



ประชาชนคงไม่เรียกร้องมากเกินไปสำหรับขอสวัสดิการพื้นฐานให้เท่ากับข้าราชการเพียงเท่านั้น  ในฐานะผู้ร่วมลงขันกองทุนภาษีร่วมกัน   หากงบประมาณไม่พอก็ลองพิจารณาสวัสดิการสักอย่างนำร่องแล้วค่อยขยับไปจนสามารถอุดหนุนสวัสดิการให้เท่าเทียมทุกชนชั้น ทุกอาชีพกัน 
การที่รัฐบาลเตรียมเก็บภาษีเพิ่มกับประชาชนโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไหร่นัก   แต่ที่สำคัญกว่าการขึ้นภาษีนั้นคือ  รายได้กองภาษีที่ได้เพิ่มมาจะมีการจัดสัดส่วนเพื่อใคร กลุ่มใดต่างหาก  เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่มากน้อยเพียงใด


วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แบ่งปันที่ดินเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย



          หลังจากสถานการณ์แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 7 จังหวัดสุดท้าย ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน  ถึงแม้นรัฐบาลจะเพิ่มจำนวนวงเงินในเดือนแรกให้มาชดเชยเนื่องจากได้รับบัตรช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ  แต่ปัญหาการใช้บัตรยังคงเหมือนกันคือ “มีบัตร แต่ไม่มีที่ใช้บัตร” สุดท้ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยเหลือลดค่าครองชีพของคนจนเมืองได้สักเท่าไหร่นัก
          และในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560 ซึ่งถือเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  สถานการณ์ความมั่นคงที่อยู่อาศัยในประเทศไทยก็ยังคงสั่นคลอน  ยังมีการปฏิบัติการรื้อย้ายชุมชนออกนอกเมืองอย่างต่อเนื่อง   จากนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองที่เดินหน้าการย้ายชุมชนออกนอกเมือง  สภาพการณ์นี้เองการช่วยเหลือ ปกป้องชุมชนคงจะเป็นใครไม่ได้ถ้าไม่ใช่ตัวชาวชุมชน ชาวบ้าน  ที่จะต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่มปกป้องที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง
          หากจะพูดถึงชุมชนเมืองโบราณหลายท่านคงจะนึกถึงชุมชนย่านเมืองเก่าต่างๆ เช่น ย่านเยาวราช ที่มีอาคารเก่า ที่สร้างมาอย่างยาวนานจนกระทั่งปัจจุบันยังคงอยู่และเป็นจุดเด่นของย่าน  หรือชุมชนป้อมมหากาฬ  ที่มีการปกป้องชุมชนไม่ให้กรุงเทพมหานครได้เข้ารื้อทำลายชุมชนโบราณแห่งนี้ที่มีสถาปัตยกรรมโบราณภายในชุมชน  และที่ทั้งสองแห่งที่กล่าวมามีเหมือนกันและหากถูกทำลายไปการสร้างขึ้นมาใหม่จะไม่สามารถทำได้อีกนั้นคือ “วิถีชีวิต” ของชุมชนโบราณเหล่านั้น


  
ภาพเหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ
               
          แต่ยังมีชุมชนโบราณที่ไม่คุ้นหู  แต่ก่อตั้งมายาวนาน   ซึ่งแน่นอนพอเวลาผ่าน  สถานที่เริ่มเปลี่ยนแปลง  จากเดิมเป็นป่ารกไม่มีความน่าสนใจ  ในปัจจุบันกลับเป็นทำเลที่สวยงามเพราะมีผู้อยู่อาศัยที่ช่วยกันดูแลรักษาตามที่พวกเขาเหล่านั้นจะทำได้
          ชุมชนบึงลำไผ่  ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแล   เขตมีนบุรี   เป็นชุมชนเล็กๆที่มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมบางส่วน   แต่เนื่องจากการเข้ามาตั้งรกรากสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมายที่ดิน  การประกาศเขตพื้นที่สาธารณะทับแนวเขตชุมชนเกิดปัญหามากมายกับหลายชุมชน หลายหมู่บ้านที่เป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน   และชุมชนบึงลำไผ่นี้ก็เช่นกัน   ชุมชนตั้งมาก่อนการประกาศเขตที่ดินสาธารณะ  เริ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538   จนปัจจุบันข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
          การสู้เพื่อความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยหลักการคิดเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในรูปแบบโฉนดชุมชน   ถึงแม้ชาวชุมชนจะอยากสู้ถึงกรรมสิทธิ์ส่วนตัวแต่ละครอบครัว  แต่กว่า 20 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปไม่ได้ชุมชนจึงตัดสินใจที่จะละทิ้งกรรมสิทธิ์ส่วนตัว  แล้วหันมาสู้รักษาผืนดินร่วมกันโดยใช้กรรมสิทธิ์รวมกลุ่มตามนโยบายโฉนดชุมชน
          ชุมชนท่านเลี่ยม (หลังเทคโนลาดกระบัง)  เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เก่าแก่โบราณอยู่มาตั้งแต่สมัยที่ดินยังเป็นของท่านผู้หญิงเลี่ยม  บุญนาค (บิดาชื่อท่านเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)   ซึ่งได้แบ่งที่ดินให้ชาวบ้านได้เป็นที่อยู่อาศัย  และทำนา   อยู่อาศัยกันมาจนกระทั่งท่านเลี่ยมได้ถึงแก่กรรม   และได้ทำการยกที่ดินกว่า 1,514 ไร่ ให้กับกรมธนารักษ์  เพื่อให้หลวงได้ดูแลรักษาที่ดินต่อไป  และชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพทำนากับทางธนารักษ์กันต่อมา   จากนั้นธนารักษ์ได้ยกที่ดินให้กับทางทบวงมหาวิทยาลัย  เพื่อนำมาสร้าง “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” (สจล.) ในปี 2514  และทางพื้นที่ชุมชนก็ถูกเบียดมาอยู่ในมุมหนึ่งติดทางรถไฟสายตะวันออก ซึ่งใกล้กับสถานีหัวตะเข้
   


ภาพความเป็นอยู่ของชาวชุมชนท่านเลี่ยมในอดีต

          และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนท่านเลี่ยม  ในปี พ.ศ. 2545 ชาวชุมชนเริ่มมีความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำประปา และไฟฟ้า  จึงได้ขอทำสัญญาเช่ากับทาง สจล. ทางชุมชนก็ได้เช่าที่ดินกับทาง สจล. เรื่อยมานับจากนั้น  แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทาง สจล. ได้หยุดเก็บค่าเช่าที่ดินและแจ้งชาวชุมชนให้ย้ายออกไป  เพราะมีเมกกะโปรเจคของทาง สจล. ในเนื้อที่ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ตั้งของชุมชนท่านเลี่ยม
          ปัจจุบันชุมชนท่านเลี่ยมมีจำนวน 132 หลังคาเรือน ราว 500 คน  จากที่เคยอยู่ในสถานะผู้เช่าได้กลายเป็นผู้บุกรุก  หลังจากที่ สจล. ไม่ต่อสัญญาเช่า  และไม่มาเก็บค่าเช่าอย่างที่เคยเป็นทุกปี ก็มีหนังสือแจ้งให้ชาวชุมชนย้ายออกจากพื้นที่   สร้างความกังวลใจต่อพี่น้องชาวชุมชนท่านเลี่ยมเป็นอย่างมาก   เจตนารมณ์การใช้ที่ดินผืนนี้ก็ถูกเปลี่ยนไป  จากการให้ชาวบ้านอยู่อาศัย  ก็กลับกลายเป็นธุรกิจการศึกษา   และที่สำคัญแผนการไล่รื้อชาวชุมชนท่านเลี่ยม   ไม่มีมาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด
          สจล. เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งที่ได้รับความไว้วางใจของหน่วยงานรัฐให้เป็นองค์กรการแบบ  และศึกษาผลกระทบในหลายโครงการ  ซึ่งแต่ละโครงการล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของคนจนทั้งสิ้น อาทิเช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรุงเทพมหาคร หรือ โครงการเขตเศรษฐกิจใหม่ย่านสถานีแม่น้ำ บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เขตยานนาวา  ทั้งสองโครงการใช้งบประมาณในการลงทุนระดับเมกกะโปรเจค  และที่เหมือนกันอีกอย่างคือทั้งสองโปรเจคใหญ่ชุมชนต้องถูกรื้อออกไป
          ชุมชนท่านเลี่ยมเป็นหนึ่งในชุมชนหลายแห่งที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางการกระจุกตัวของที่ดินมาตั้งแต่สมัยโบราณ   จนกระทั่งสถานะที่ดินเป็นของรัฐ  หน่วยงานรัฐก็ยังคงหวงที่ทั้งๆไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่พยายามหาข้ออ้างไม่ให้ประชาชนได้เข้าถึงใช้ประโยชน์ได้
และจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 25 กันยาน พ.ศ. 2558 เกิดพันธกิจร่วมของประเทศ 193 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ร่วมลงนาม คือ Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ 17 เป้าหมาย  แต่เป้าหมายที่ตรงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองใน 17 ข้อนั้น มี เป้าหมายข้อ 11 ที่กล่าวไว้คือ ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม  ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน  สจล. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับสากล  จึงควรคำนึงถึงพันธกิจร่วมกันของสังคมโลกด้วย



          หรืออีกมุมหนึ่ง สจล. ที่ยังอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ  ได้รับการสนับสนุนพัฒนาจากเงินภาษีของประชาชน  รัฐบาลปัจจุบันพยายามสร้างยุทธศาสตร์ชาติ เป้าระยะยาวถึง 20 ปี ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องความมั่นคงที่อยู่อาศัยอยู่ด้วย   ข้อเสนอของชาวชุมชนไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของ สจล. ที่จะรับข้อเสนอนำไปปฎิบัติ  พี่น้องชุมชนท่านเลี่ยมเพียงต้องการแบ่งปันพื้นที่บางส่วนแล้วจัดเป็นโซนที่อยู่อาศัย  ส่วนที่เหลือทาง สจล. ก็ดำเนินโครงการไป (Land Sharing)    แบบนี้จึงจะได้รับชัยชนะกันทุกฝ่าย (Win Win)  การคงอยู่ของ สจล. จึงจะดำรงไปด้วยความภาคภูมิที่เป็นสถาบันสร้างคนมาเพื่อช่วยเหลือคน

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สิทธิที่อยู่อาศัย คือสิทธิมนุษยชน

สิทธิที่อยู่อาศัย  คือสิทธิมนุษยชน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

“นกต้องมีรัง คนต้องมีบ้าน”  นี่คือสัจจธรรมของมนุษย์   ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติ  ทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยไว้พักพิง หลบแดด หลบฝน  ขณะที่สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรที่ดินทั่วทุกมุมโลกกับรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  ส่งผลให้มีคนจำนวนมากไม่มีที่ดินที่เอาไว้สร้างที่อยู่อาศัย  หรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่มีความมั่นคง  เป็นชุมชนแออัด (Slum)  หรือต้องหลับนอนตามข้างทาง ตามที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้าน (Homeless) ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1989 ( พ.ศ. 2532 ) ให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี  เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 องค์การสหประชาติประกาศเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย  ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตทั่วทุกสังคมโลก  ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง หรือสังคมชนบท


หากมองสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  หลังจากที่มีการเข้ายึดอำนาจและบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ลดช่องว่างความห่างระหว่างคนจน กับ คนรวย  แต่นโยบายที่ออกมา  กับการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ กลับสวนทางกัน โดยกลุ่มคนจนชนบทได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. 64/2557 และนโยบายทวงคืนผืนป่า  ที่จะผลักดันผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าออกมา    รวมทั้งการขีดแนวเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดต่างๆ เกิดขบวนการปั่นราคาที่ดิน  กว้านซื้อที่ดิน  เวนคืนที่ดิน  เพื่อให้มีการลงทุนระยะยาวจาทุนใหญ่ในประเทศและทุนข้ามชาติ   นโยบายเหล่านี้ล้วนแล้วส่งผลให้เกิดหมู่บ้านชนบทล่มสลาย  กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆแตกสลาย  ต้องอพยพเข้ามาหาที่อยู่อาศัยในตัวเมืองในหลายจังหวัด  หากจะดูในจังหวัดเชียงใหม่จะพบกลุ่มชนเผ่าต่างๆมาพักอาศัยในชุมชนแออัดในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น
ในส่วนของชุมชนเมือง นโยบายที่อ้างถึงการพัฒนาประเทศ , การจัดระเบียบต่างๆ ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคนจนเมืองเป็นอย่างมาก 
1.     โครงการพัฒนาคมนาคมระบบราง ซึ่งมีหลายโครงการ  แต่ที่กำลังจะดำเนินการและยังไม่ได้ข้อยุติข้อพิพาทด้านผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทาง สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ – สงขลา , โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง สายสีแดง เส้นทาง ศิริราช – ตลิ่งชัน , โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม. – หนองคาย ซึ่งจะมีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ราว 7,000 ครัวเรือน
 



2.      โครงการจัดระเบียบชุมชนริมคลอง , ริมแม่น้ำ  รัฐบาลได้ออกนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าว และริมคลองเปรมประชากร จำนวนกว่า 11,000 หลังคาเรือน และนโยบายการจัดระเบียบชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราว 250 หลังคาเรือน  รวมทั้งออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีบ้านเรือนปลูกสร้างริมน้ำอีกต่อไปในอนาคต  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อชุมชนริมน้ำทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมือง หรือ หมู่บ้านชาวเล ที่จะต้องรื้อย้ายที่อยู่อาศัยออกจากริมน้ำทั้งหมด


3.      โครงการพัฒนาย่านเศรษฐกิจใหม่ โดยมีโครงการเขตเศรษฐกิจย่านสถานีแม่น้ำ โดยใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่กว่า 270 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท และโครงการคลองเตยคอมเพล็กซ์ โดยใช้ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื้อที่กว่า 2,300 ไร่  มูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท โดยการลงทุนทั้งสองโครงการมีแนวโน้มจะเป็นการลงทุนของทุนข้ามชาติเป็นหลัก  ซี่งส่งผลโดยตรงกับชุมชนแออัดที่อยู่บริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นชุมชนย่านคลองเตย , ชุมชนย่านเขตพระราม 3 ล้วนได้รับผลกระทบทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน
4.      การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์  หลังจากที่มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านต่างๆ พาดผ่านตามแนวเส้นทางต่างๆ  ส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงมีการเก็งกำไรด้านอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น  จากชุมชนแออัดที่เคยอยู่กันมานานจากที่ดินไม่มีราคาเจ้าของที่ดินไม่สนใจปล่อยให้อยู่อาศัย    เจ้าของที่ดินเริ่มประกาศขายที่ดิน  หรือไม่ก็จะยกเลิกการให้อยู่อาศัยของชาวชุมชน เพื่อจะนำที่ดินมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เองส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน  มีการแย่งชิงที่ดินรุนแรงขึ้น  ยังไม่นับรวมถึงการใช้ที่ดินของรัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนของเอกชนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สปก. หรือที่ดินสาธารณะ  ในขณะที่คนจนพยายามขอใช้ที่ดินเหล่านั้นเพื่อเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย  กับต้องมาเจอเงื่อไขต่างๆจนไม่สามารถนำมาใช้ได้  ซึ่งจะต่างจากเอกชนรายใหญ่ในการขอใช้ที่ดินที่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า  และสามารถได้กรรมสิทธิที่ดินได้จริง
ดังนั้นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้จัดการเดินรณรงค์เพื่อให้สาธารณะได้เข้าใจถึงความสำคัญต่อที่อยู่อาศัย  พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทุกปี   แต่เนื่องจากในปีนี้เดือนตุลาคม มีพระราชพิธีสำคัญยิ่งที่ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเลื่อนกิจกรรมเดินรณรงค์ไปเป็นวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560  โดยข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย มีดังนี้
1.      รัฐบาลต้องสนับสนุนที่ดินของรัฐนำมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง เช่น ที่ดินสาธารณะ ที่ดินของการรถไฟฯ ที่ดินของการท่าเรือ มาแบ่งปันให้ชุมชนได้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงระยะยาว
2.      รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณ และกระบวนการ ในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง  ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนาชุมชน อย่างต่อเนื่อง
3.      ตั้งกลไกการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามหน่วยงานที่กำกับดูแลระดับนโยบาย เช่น กระทรวงคมนาคม หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
4.      แก้ไข , ยกเลิก , งดเว้น กฎหมายต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และวิถีความเป็นอยู่ของคนจนเมือง เช่น กฎหมายไล่รื้อจาก คณะปฎิวัติที่ 44 ปี 2502 ที่ตัดสิทธิ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชน และคำสั่งจาก คสช. ฉบับต่างๆด้วย
5.      ผ่อนปรน , งดเว้น กฎหมายต่างๆที่ส่งผลต่อการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ของคนจนเมืองในพื้นที่ขนาดเล็ก ตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงที่คนจนมีศักยภาพในการมีที่ดินขนาดเล็ก แต่ทำให้ผิดกฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมการปลูกสร้างอาคาร
6.      การสร้างความมั่นคงในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างสวัสดิการพื้นฐานทางชีวิตของประชาชนให้มั่นคงควบคู่ไปด้วยคือ 
6.1 รัฐบาลต้องสนับสนุนหลักประกันสุขภาพอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ถ้วนหน้า
6.2 รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดบำนาญแห่งชาติ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย
6.3 รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดกองทุนการรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยที่ไม่มีบัตร  อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงเชื่อมั่นในพลังการรวมกลุ่มเพื่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  และจะติดตามการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด  ทั้งนี้หากรัฐบาลมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น  รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย และปฎิบัติการที่ทำได้จริงมาให้ประจักษ์

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...