วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เที่ยวปนงานและการเมืองใหม่

เที่ยวปนงานและการเมืองใหม่

อัพยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          1.. สองสัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 7 ตุลาคม 2551   ผมถือโอกาสเอาช่วงที่ เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยสากล   หลบหนีบรรยากาศแห่งความเคร่งเดรียดทางการเมืองในกรุงเทพฯไปรับลมชมงานและสืบสานมิตรภาพผ่านความเมากับพี่น้องสลัมที่ขอนแก่น  
            เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้บรรลุผลทุกประการ   กระท่อมไม้ไผ่ริมทางรถไฟต้อนรับการมาของผมด้วยสายลมหนาวยามดาวพราวฟ้า   ความเป็นพี่น้องลูกหลานระหว่างเอ็นจีโอกับชาวบ้านถูกตอกย้ำด้วยประเพณีงานบุญทั้งงานกฐินและงานบวชที่ผมมีโอกาสได้ร่วมกุศล   นี่ยังไม่นับสายสัมพันธ์และเรื่องราวชีวิตที่กระชับแน่นผ่านสายน้ำแห่งเมรัยหลายสิบขวด   ส่วนในเชิงหน้าที่การงานนั้น   ชาวสลัมขอนแก่นร่วม 300 คน ได้ลุกขึ้นมาประกาศศักดิ์ศรีกลางเมืองด้วยริ้วขบวนรณรงค์สิทธิของคนยากคนจน
            ถือเป็นครั้งแรกที่คนสลัมขอนแก่นในนาม เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์   ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่สังกัดอยู่กับเครือข่ายสลัม 4 ภาค   มีความมั่นใจพอที่จะจัดกิจกรรมสาธารณะเชิงมวลชนของตนขึ้น   ความเชื่อมั่นของพวกเขามาพร้อมกับการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกเพศวัย   เด็กๆราว 50 คน เดินอยู่ในขบวนแถวหน้า   ถัดมาเป็นกลุ่มก้อนของบรรดาเจ้าของรถซาเล้ง รถสามล้อถีบ ที่แปลงสภาพเครื่องมือทำมาหากินให้เป็นที่ประดับประดาคำขวัญบนธงทิว   คนหนุ่มคนสาวต่างจับถือป้ายผ้ารณรงค์   บนรถเครื่องเสียงแกนนำและโฆษกช่วยกันขับเคลื่อนกิจกรรมที่ไล่ตั้งแต่พิธีกรรมไหว้ศาลขอพรเจ้าพ่อหลักเมือง   การป่าวประกาศจุดประสงค์การรณรงค์ที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้   ไปจนถึงการเคลื่อนพลไปที่ทำการเทศบาลและศาลากลางจังหวัดเพื่อพบปะกับผู้มีอำนาจ   นอกจากบนท้องถนนแล้ว   การมีส่วนร่วมยังเกิดขึ้นในโรงครัว   แม่หญิงแม่ใหญ่ที่เดินไม่ไหว   พร้อมใจกันเป็นกองกำลังหุงหาข้าวปลาอาหารเตรียมไว้สำหรับผู้เดินขบวน


            การเจรจาได้ผลพอควร   นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวประกาศจุดยืนต่อหน้าผู้ชุมนุมว่า  เทศบาลเข้าใจการดำรงอยู่ของชาวสลัมอันมีสาเหตุมาจากการล่มสลายของภาคชนบท   ดังนั้นจะพยายามแก้ไขปัญหาตามที่พี่น้องนำเสนอ  ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนปรนกฏระเบียบในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย  การออกเลขที่บ้านถาวรให้กับชุมชนที่มีสิทธิในที่ดินแล้ว    พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้าราชการฝ่ายทะเบียนในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าเรียกเก็บเงินค่าสมุดสำเนาทะเบียนบ้านฉบับละ 200 บาท   หากพบว่ามีการทำผิดจริงจะดำเนินการตามกฏหมาย   สำหรับทางจังหวัด   มีรองผู้ว่าราชการเป็นตัวแทนออกมารับข้อเรียกร้องและยืนยันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นจะเปิดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองร่วมกับตัวแทนเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ภายใน 30 วัน
          นอกจากปฏิบัติการในเชิงอำนาจการต่อรอง   ขวัญพลังที่มาจากรูปธรรมความสำเร็จของชุมชน   ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในขนบธรรมเนียมการเคลื่อนไหวของขบวนสลัม   ดังนั้นในช่วงบ่ายเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์จึงจัดให้มีพิธีส่งมอบพื้นที่เช่าของการรถไฟฯให้กับชุมชนพัฒนาเทพารักษ์โซน 3   เพื่อที่ชุมชนจะได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงต่อไป   และจากรายงานของเครือข่ายฯ   ขณะนี้มีชุมชนในขอนแก่นที่มีสิทธิในที่ดินการรถไฟฯด้วยการทำสัญญาเช่าแล้ว 6 ชุมชน มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 200 ครอบครัว   โดยเป็นสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี 1 ชุมชน   ส่วนที่เหลือเป็นการเช่าในอายุสัญญาครั้งละ 3 ปี    การมีสิทธิในที่ดินการรถไฟฯในลักษณะดังกล่าว   จึงเป็นหลักประกันว่าถิ่นฐานที่พี่น้องสลัมขอนแก่นบุกเบิกมาจะไม่ถูกขับไล่ไหวคลอนโดยซองประมูลของนายทุน
          การงานเสร็จสรรพลงด้วยบทสรุปร่วมกันว่า   จากนี้ไปพลังของเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์  จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังภาคประชาชนในขอนแก่นอย่างแน่นอน   เพราะพวกเขาพร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นมาประกอบกิจกรรมทั้งในเชิงสิทธิที่อยู่อาศัยและสิทธิด้านอื่นๆนับจากนี้
2..ทีแรกกะว่าจะไปเที่ยวไปเมาไปร่วมงานรณรงค์    แต่ในที่สุดกิจกรรมของชาวบ้านก็ทำให้ผมอดครุ่นคิดถึงเรื่องการเมืองไม่ได้   เราจะเรียกการเคลื่อนไหวในขอนแก่นครั้งนี้ว่าอะไรถ้าไม่ใช่   การเมืองของคนจนที่มีฐานประชาธิปไตยจากข้างล่าง   ซึ่งเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ได้ช่วยกันสร้างทำมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี    แล้วการเมืองแบบที่ว่านี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรกับ การเมืองใหม่ ที่กำลังพูดถึงกันอยู่
          ตามความเข้าใจของผม   ประวัติศาสตร์งานสลัมแยกไม่ออกจากการเมืองแบบประชาธิปไตย   คนสลัมเริ่มเรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญในปี 2526 2527   ซึ่งในช่วงนั้นเกิดการไล่รื้อสลัมในกรุงเทพฯด้วยความรุนแรง   สลัมริมคลองบางอ้อถูกคอมมานโดบุกเข้ารื้อ   จับกุมและสลายการชุมนุม   ส่วนสลัมตรอกไผ่สิงโตต้องเผชิญกับสภาพบ้านเรือนถูกกวาดไถโดยแทรคเตอร์   ในยุคนั้นระบบการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางยังไม่เป็นประชาธิปไตย   กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าฯมาจากการแต่งตั้ง  ปู่เทียม  คือฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้กับพลเรือเอกเทียม   มกรานนท์  ผู้ว่าฯของคนกรุงในขณะนั้นที่ไม่มีผลงานอะไรเลย   ขณะที่ในระดับรัฐบาลพลเอกเปรม   ติณสูลานนท์ ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร   ดังนั้นในยามถูกขับไล่ที่   ชาวสลัมจึงไม่สามารถไปเรียกร้องอะไรกับใครได้เพราะผู้บริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่สนใจฟังเสียงของคนจน
           เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะทำให้สลัมทั้งสองแห่งต้องแตกพ่าย   แต่ก็เกิดคุณูปการจากความสูญเสียเช่นกัน   ชาวสลัมเริ่มรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเพื่อต่อต้านการไล่รื้อในชื่อ ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน     นอกจากจะต่อสู้ในเรื่องไล่ที่แล้ว   องค์กรสลัมในยุคนั้นยังเคลื่อนไหวในประเด็นประชาธิปไตย   พวกเขาสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2528   และรณรงค์เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งในปี 2529 มีนโยบาย บริการน้ำไฟ ไม่ไล่ที่ มีทะเบียนบ้าน  
         ปี 2533 สมัยพลเอกชาติชาย   ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง   เกิดการไล่รื้อสลัมพร้อมใจแถวพระโขนงโดยเจ้าของที่เอกชน   ฉากการไล่รื้อใกล้เคียงกับการขับไล่ในอดีตที่มีการจับกุมและสลายการชุมนุม   แต่ในครั้งนี้เมื่อมีรัฐบาลที่นายกฯมาจากการเลือกตั้งซึ่งอย่างน้อยก็เป็นประชาธิปไตยเต็มใบในทางรูปแบบ    ทำให้คนสลัมมีเป้าหมายในการเรียกร้องที่ชัดเจนขึ้น   พวกเขาพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนจนในท้ายสุดนายบรรหาร  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้นต้องเข้ามาเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าของที่ดิน   มีการหยุดการไล่รื้อ   ชาวบ้านได้รับค่ารื้อถอน   และการเคหะแห่งชาติจัดที่ดินบริเวณเขตประเวศไว้รองรับ   นอกจากจะคลี่คลายปัญหาชุมชนพร้อมใจได้แล้ว   รัฐบาลชาติชาย ยังอนุมัติเงิน 250 ล้านบาทเพื่อเป็นงบประมาณในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแก่ชาวสลัมโดยรวม
         การไล่รื้อสลัมด้วยความรุนแรงในทั้งสองช่วงเหตุการณ์   ทำให้ขบวนการสลัมค้นพบว่า   ในการต่อสู้เรื่องไล่รื้อนั้น    การสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมกว่าซึ่งพิสูจน์ได้จากกรณีชุมชนพร้อมใจ   เพราะถึงอย่างไรนักการเมืองก็ยังต้องฟังเสียงชาวบ้าน   พวกเขาต้องอาศัยประชาชนในฤดูหาเสียง   ผิดกับผู้บริหารที่มาจากรัฐราชการที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคะแนนจากใคร   และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายว่าทำไมเมื่อเกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534   องค์กรสลัมจึงเข้าร่วมคัดค้านเผด็จการทหาร   มีผู้นำชาวบ้าน 2 คน ร่วมอดข้าวประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์และมีผู้แทนสลัมราว 500 คน อยู่ในเหตุการณ์การต่อสู้พฤษภาคม 2535
        อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลของนักการเมืองจะต้องฟังเสียงของประชาชนอยู่บ้างอย่างน้อยก็ในช่วงเลือกตั้ง   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายต่างๆของพวกเขาจะตอบสนองต่อสิทธิประโยชน์ของคนยากจน   ดังนั้นการนำเสนอ  ติดตาม  กดดันให้รัฐบาลเลือกตั้งมีและปฏิบัติตามแนวนโยบายที่เอื้อต่อคนจน   จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขบวนสลัมใช้ในการเคลื่อนไหว   ประสบการณ์ที่เห็นได้ชัดคือการผลักดันให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดการรื้อย้ายชุมชนแออัดพร้อมทั้งให้มีนโยบายแบ่งปันที่ดินของการรถไฟฯมาให้ชุมชนเช่าระยะยาว 30 ปี เพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัย   การชุมนุมกดดันของเครือข่ายสลัม 4 ภาคทำให้การรถไฟฯต้องมีมติออกมาในปี 2543 เพื่อรับรองสิทธิการเช่าของชุมชน    ถือเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งกิจการรถไฟที่คนจนมีสิทธิในการเช่าที่ดิน 30 ปี  เสมอเหมือนตระกูลคนร่ำรวย   หากมองจากตัวอย่างนี้   ประชาธิปไตยของคนสลัมจึงไม่ใช่แค่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน  หากแต่ยังเป็นเครื่องมือในการใช้บรรลุถึงสิทธิบางอย่างของพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม
         นอกจากนี้การตรวจสอบนโยบายของนักการเมืองที่ให้สัญญาประชาคมไว้แต่ไม่ปฏิบัติตาม   ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ชาวสลัมสั่งสมขึ้นเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย   สมัยนายพิจิตต   รัตกุล   เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   ในตอนหาเสียงมีนโยบายด้านการศึกษาไว้ว่า มาตัวเปล่าเข้าเรียนได้เลย   ซึ่งหมายถึงเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพหมานครจะต้องเรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ   ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม  ค่าชุดนักเรียน  ค่าอุปกรณ์  ค่านม  ค่าอาหาร   แต่ในทางปฏิบัติสิ่งที่พบก็คือ   สโลแกนเย้ยหยันของชาวสลัมที่ว่า มาตัวเปล่ากลับบ้านได้เลย  ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองต่างต้องเสียค่าโน่นค่านี่จิปาถะ   ดังนั้นเพื่อให้คำสัญญาของผู้อาสาทางการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการปฏิบัติ   กลุ่มแม่บ้านชาวสลัมจึงรวมตัวกันไปเจรจากดดันกับผู้ว่าฯพิจิตต   จนทำให้นโยบายการเรียนฟรีกลายเป็นความจริงในท้ายสุด
3..ประชาธิปไตยในความคิดและประสบการณ์ของขบวนสลัมนั้น   หากมองในเชิงรัฐศาสตร์แล้วจะมีทั้งมิติประชาธิปไตยแบบตัวแทนและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม   ประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   ซึ่งถือเป็นฐานความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจการปกครองอย่างสันติ   แต่เนื่องจากในระบอบเสรีประชาธิปไตย   นักการเมืองไว้ใจไม่ได้เพราะมักมีวาระของกลุ่มทุนซ่อนเร้นอยู่ในนโยบายสาธารณะเสมอ   ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเชิงการกำกับ  ตรวจสอบ และผลักดันให้ภาครัฐมีนโยบายทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนส่วนใหญ่
        ที่ผ่านมาผลของการปฏิรูปการเมืองอันอวดโฉมอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540   ได้มุ่งเน้นไปที่การตั้งกลไกตรวจสอบนักการเมือง   การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฏหมายและการขยายขอบข่ายสิทธิเสรีภาพของภาคพลเมือง   แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ทางอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหารด้วยเช่นกัน   จนทำให้รัฐบาลทักษิณกลายมาเป็นระบอบทักษิณอันแข็งแกร่งที่สามารถใช้ความเข้มแข็งมากีดกันด้านอื่นๆของการปฏิรูปการเมือง   ทั้งในเชิงการเข้าแทรกแซงองค์กรตรวจสอบอิสระ   การแทรกแซงสื่อ   การนำเอานโยบายประชานิยมในภาคชนบทมาสยบมิติด้านสิทธิเสรีภาพ   เป็นต้นว่า   การฆ่าตัดตอนในประเด็นยาเสพติด   การใช้ความรุนแรงกับผู้คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐดังกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย   รวมทั้งการรวบอำนาจเพื่อเปิดทางสู่การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย   ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงาน   การแก้ไขกฏหมายสรรพสามิตรเพื่อเอื้อต่อธุรกิจครอบครัวและการขายหุ้นด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บริษัทต่างชาติ
         สภาพการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการส่อถึงการปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว   เพราะสิ่งที่ถูกปฏิรูปไม่ใช่สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมการเมืองของภาคประชาชน   หากแต่กลายเป็นประสิทธิภาพในเชิงการบริหารอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลในลักษณะของเผด็จการรัฐสภา   และนี่คือมูลเหตุที่นำไปสู่การคัดค้านต่อต้านระบอบทักษิณจากหลายภาคส่วนตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนถึงการเรียกร้องให้เกิด การเมืองใหม่ ในปัจจุบัน
          แต่อะไรคือความ ใหม่ ของการเมือง    อันนี้คงต้องขึ้นอยู่กับจินตนาการและทัศนะทางชนชั้นที่ใช้ในการมอง    สำหรับขบวนการชาวสลัมอย่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ประเด็นในเรื่องการเมืองใหม่นอกจากจะต้องยืนยันที่มาของรัฐบาลว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้งอันถือเป็นฐานที่มาอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว   อีกประเด็นที่สำคัญคือการเร่งเครื่องปฏิรูปการเมืองเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองของภาคประชาชนรวมถึงการสร้างพลังอำนาจการต่อรองของคนยากคนจนเพื่อเข้าถึงสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ    ผมเห็นคนสลัมพูดถึงการปฏิรูปที่ดิน  การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมด้วยระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า   พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อที่ต้องเปิดทางให้ผู้เสียเปรียบมีช่องทางในการสื่อสารสาธารณะมากขึ้น   พูดถึงเรื่องสิทธิของชุมชนในการตั้งถิ่นฐานอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตและพูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษาที่รัฐต้องจัดการศึกษาฟรีโดยชุมชนมีส่วนร่วม
         มิติทางการเมืองเหล่านี้   หากพูดอย่างตรงไปตรงมา   มันก็คือข้อเรียกร้องที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่เข้มข้นขึ้น   เป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น   เพื่อที่คนยากจนจะได้เข้าไปกำหนดโครงสร้างกฏหมายรวมทั้งนโยบายที่จะเอื้อต่อชีวิตของพวกเขา   ซึ่งถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยของขบวนการสากล   ภาคประชาชนในละตินอเมริกามีการริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมที่จะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทางตรงเพื่อให้เป็นกลไกคู่ขนานในการตรวจสอบถ่วงดุลย์การทำงานของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน    ดังเช่นตัวอย่างการสร้างเขตปกครองตนเองของขบวนการซาปาติสต้าในเม็กซิโก   การมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณเพื่อการจัดการชีวิตสาธารณะของชุมชนในเมืองปอร์โตอเลเกร  ประเทศบราซิล

        นี่คือเนื้อหาการเมืองใหม่ของคนจนกลุ่มหนึ่งที่ผมได้สัมผัสรับรู้มา   คิดว่าคงแตกต่างอย่างแน่นอนกับกระแสการเมืองแบบชนชั้นนำที่ผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังพูดกันอยู่   เพราะมันเป็น การเมืองใหม่ ที่อยู่บนเส้นทางของ...  การปฏิรูปการเมืองไทยสู่ประชาธิปไตยทางตรง   มิใช่ทางลัดที่นำการเมืองกลับคืนสู่ระบอบอมาตยาธิปไตย.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...