วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550

คนไร้บ้าน... ณ วันที่จะไม่ไร้ศักดิ์ศรี

คนไร้บ้าน... ณ วันที่จะไม่ไร้ศักดิ์ศรี

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

“  เราเป็นคนจนจัด  ไม่ใช่จรจัด     เป็นถ้อยคำที่กลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยพื้นที่สาธารณะ   เป็นที่พักพิงใช้เรียกขานและนิยามตัวเอง  ความในประโยคดังกล่าวนอกจากจะเป็นการปฏิเสธต่อทัศนะดูหมิ่นดูแคลนของภาครัฐที่มองว่าพวกเขามีวิถีเสมือนสัตว์ชนิดหนึ่งแล้ว   ยังเป็นการสะท้อนถึงตัวตนความเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจของคนไร้บ้าน  ที่สถานะของพวกเขาดำรงอยู่ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคม  เข้าไม่ถึงทรัพยากรของรัฐ  และอยู่ชายขอบที่สุดของเมือง 


ข้อมูลจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ทำการเดินสำรวจปริมาณคนไร้บ้านร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ใน 13  จุดใหญ่ๆของกรุงเทพฯเมื่อปี 2544  พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านประมาณ  1,500  คน   แต่ทั้งนี้เป็นการสำรวจเฉพาะคนที่หลับนอนตามที่สาธารณะเท่านั้น   ไม่นับรวมกลุ่มคนขอทานที่มีที่พักพิงเป็นหลักแหล่งในตอนกลางคืน
คนไร้บ้านถือกำเนิดมาจากหลายสาเหตุ  พี่น้องบางส่วนออกจากบ้านมาเพราะมีปัญหากับครอบครัว  อยู่บ้านแล้วไม่สบายใจ  ถูกดุด่าถูกทำร้าย หรือถูกมองว่าเป็นภาระโดยเฉพาะในรายที่สูงอายุ  บางส่วนเลือกใช้ชีวิตแบบไร้บ้านเพราะรักอิสระและชอบเดินทางไปตามที่ต่างๆ    คนไร้บ้านด้วยกันมักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า  คนเที่ยว    นอกจากนี้ปัญหาการตกงานภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540  ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านไม่ว่าจะเป็นกรณีคนงานโรงงานที่ถูกปิดกิจการ  หรือกรรมกรก่อสร้างตามแค้มป์ที่ไม่มีงานก่อสร้าง
คนเหล่านี้ยังชีพอยู่ด้วยอาชีพหลากหลาย  ทั้งเก็บของเก่าซึ่งมีทั้งใช้รถเข็น   รถซาเล้ง  รวมถึงใช้ถุงปุ๋ยสะพายหลัง  บางส่วนเร่ขายของตามงานวัดเช่น ขายพลาสติกปูนั่ง ขายลูกโป่ง   รวมทั้งรับจ้างรายวันเป็นต้นว่า  แจกใบปลิวโฆษณาสินค้า รับแสดงเป็นตัวประกอบภาพยนตร์  นอกจากอาชีพทั้งที่ประจำและไม่ประจำแล้ว   คนไร้บ้านยังอยู่รอดด้วยการมีสวัสดิการสังคมนอกภาครัฐรองรับโดยเฉพาะการได้รับบริการอาหารฟรีจากศาลเจ้า  โรงเจ  และสมาคมการกุศลต่างๆ
แม้จะยืนหยัดชีวิตอย่างยากลำบาก   ยามหลับนอนไร้เพิงพักคุ้มแดดฝน   แต่ความโชคร้ายของคนไร้บ้านก็มิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น   หลายต่อหลายครั้งพวกเขาตกเป็นเป้าหมายของการจับกุมไม่ว่าจะโดยกรมประชาสงเคราะห์  ตำรวจ  หรือเทศกิจ   เพื่อนำตัวไปอบรมบ่มนิสัยรวมทั้งฝึกฝนอาชีพที่สถานสงเคราะห์บ้านปากเกร็ดหรือที่ธัญญบุรี
สถาบันของรัฐเหล่านั้นไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่เลิศหรูเพียงใด  หากแต่ในความรับรู้ตามประสบการณ์ตรงของพี่น้องคนไร้บ้านแล้ว   มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าสถานที่กักกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า คุกนั่นเอง   เพียงแต่คุกที่ว่านี้มีไว้คุมขังคนจนเพียงเพราะพวกเขาไร้บ้าน   ไร้ที่ซุกหัวนอน
          ปัญหาคนไร้บ้านเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะมากขึ้น   ก็เนื่องมาจากนโยบายปิดสนามหลวงตั้งแต่เวลา 23.00 05.00 น. ของนายสมัคร  สุนทรเวช  อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   ที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544   มาตรการกีดกันการใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าว   ถือเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของพี่น้องที่ใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่พักพิงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มคนไร้บ้าน


          นโยบายปิดสนามหลวงของกรุงเทพมหานคร   ได้กลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้ความรู้สึกของคนไร้บ้านเดินทางมาถึงจุดที่ทนไม่ได้อีกต่อไป   พวกเขาเข้าร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินขบวนรวมทั้งเรียกร้องสิทธิ์ต่อกรุงเทพมหานคร   จนทำให้นายเกรียงศักดิ์  โลหะชาละ  ปลัดกรุงเทพมหานครในขณะนั้นต้องอนุญาตให้พี่น้องคนไร้บ้านย่านสนามหลวงตั้งเต็นท์พักชั่วคราวที่บริเวณริมคลองหลอดหน้ากระทรวงมหาดไทยได้
          จากความเป็นคนไร้สิทธิ์เสียง   คนไร้บ้าน ณ ที่พักชั่วคราวริมคลองหลอดเริ่มก่อรูปกลุ่มก้อนของตัวเองขึ้น   พวกเขาค่อยๆเรียนรู้   สะสมพลังและความมั่นใจของตนขึ้นเป็นลำดับ   ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ต่อมากลุ่มคนไร้บ้านได้จัดสร้างศูนย์พักขึ้นในชุมชนริมทางรถไฟตลิ่งชัน   โดยมีพี่น้องหมุนเวียนมาพักอาศัยวันละ 30 40 คน ซึ่งถือเป็นศูนย์พักแห่งแรกที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของเมือง

ภาพการร่วมกันก่อสร้างศูนย์พักตลิ่งชัน โดยคนไร้บ้าน

          เมื่อจัดระบบตัวเองได้   คนจนเมืองกลุ่มนี้ก็เดินหน้าแก้ปัญหาของตนอย่างเต็มกำลัง   พวกเขาวิพากษ์และต่อต้านนโยบายกวาดจับคนไร้บ้านไปเข้าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ปี 2546   ทำการสำรวจและขยายงานจัดตั้งคนไร้บ้านไปตามจุดต่างๆเช่นละแวกใต้ทางด่วนแถวอาคารศรีจุลทรัพย์   ย่านหมอชิต สะพานควาย  ไปจนถึงรังสิต   นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพบปะคนไร้บ้านโดยดึงภาครัฐมาให้บริการตรวจสุขภาพแก่พี่น้อง   มีการจัดกลุ่มอาชีพกลุ่มเศรษฐกิจของคนไร้บ้านขึ้น   ท้ายสุดพวกเขาเจรจากับกรุงเทพมหานครให้ขอเช่าที่ดินการรถไฟฯบริเวณบางกอกน้อยเพื่อก่อสร้างเป็นศูนย์พักอาศัยของคนไร้บ้านที่บริหารจัดการโดยกลุ่มคนไร้บ้านเองโดยให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง
          ความพยายามดังกล่าวนำมาซึ่งการได้เช่าที่ดินของการรถไฟฯบริเวณที่หยุดรถจรัญสนิทวงศ์  เขตบางกอกน้อย   และได้งบประมาณการก่อสร้างศูนย์ขนาดพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางวา จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นจำนวนเงิน    2,500,000 บาท
          จากชีวิตแบบปัจเจก   ต่างคนต่างอยู่  มาสู่การรวมตัว  ทำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ  จนท้ายสุดสามารถต่อรองกับทางการให้จัดสร้างศูนย์พักอาศัยได้สำเร็จ   ฉะนั้นเรื่องราวของคนไร้บ้านจึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า   การรวมกลุ่มคือหลักประกันประการเดียวในการอยู่รอดของพี่น้อง   ดังที่ หมี  เกิดเจริญ   สมาชิกกลุ่มคนไร้บ้านได้กล่าวไว้ว่า ก่อนที่ผมจะมาเข้ากลุ่ม  ผมต้องคอยหลบตำรวจ  เทศกิจและหน่วยงานรัฐต่างๆ   การมาเข้ากลุ่มทำให้ผมรู้ถึงสิทธิของตัวเอง  ทำให้ไม่ต้องกลัวกับหน่วยงานต่างๆ   อีกทั้งกลุ่มยังมีกลุ่มอาชีพซึ่งผมอยู่กลุ่มอาชีพเก็บของเก่าและเคยผ่านอบรมเรื่องขยะรีไซเคิลมาแล้ว
            เช่นเดียวกับ สุชิน   เอี่ยมอินทร์   ผู้นำคนไร้บ้านที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค คนปัจจุบัน    ก็ได้แสดงทัศนะไว้อย่างคล้ายคลึงกันว่า ผมไม่อยากจะหนีไปไหนอีกแล้ว   เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็จะโดนหน่วยงานราชการและคนทั่วไปมองในแง่ที่ไม่ดี   ผมจึงต้องรวมกลุ่มกับพี่น้องคนไร้บ้านต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิหรือการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ   และถ้าศูนย์ที่บางกอกน้อยสร้างเสร็จ   คนไร้บ้านประมาณ 50 60 คน ก็จะย้ายเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ใหม่   เราจะอยู่กันแบบพี่แบบน้อง   ทำกลุ่มออมทรัพย์   กลุ่มอาชีพ  เปิดร้านค้าสวัสดิการที่เอากำไรมาเป็นกองทุนปันผลให้สมาชิก   มีธนาคารขยะรีไซเคิลสำหรับพี่น้องที่เก็บของเก่า    และจะใช้ศูนย์นำร่องที่บางกอกน้อยขยายการสร้างศูนย์ใหม่ไว้รองรับพี่น้องคนไร้บ้านย่านอื่นๆด้วยซึ่งขณะนี้กำลังเจรจาเช่าที่ดินการรถไฟฯบริเวณสถานีหมอชิตใหม่อยู่



            วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมปีนี้   เป็นวันที่อยู่อาศัยสากล   กลุ่มคนไร้บ้านและเครือข่ายสลัม 4 ภาค   จะถือโอกาสเอาวันดังกล่าวประกอบกิจกรรมเปิดศูนย์พักอาศัยของพี่น้องคนไร้บ้านที่บางกอกน้อย   ซึ่งเป็นศูนย์พักแห่งแรกที่สร้างขึ้นจากพลังอำนาจการต่อรองของคนจน   แม้ในวันนั้นคนไร้บ้านจะมีได้เพียงแค่ศูนย์พักอาศัย   ยังไม่มีบ้านสำหรับสมาชิกแต่ละครอบครัว   แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆตามความใฝ่ฝันของพวกเขา   และที่สำคัญมันจะเป็นอีกวันหนึ่งที่ชีวิตของคนจนผู้อยู่ชายขอบที่สุดของเมือง   จะเต็มเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...