วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนาประเทศ : การรับผิดชอบผลกระทบต่อคนจนของรัฐบาล (ตอนที่ 2)

การพัฒนาประเทศ : การรับผิดชอบผลกระทบต่อคนจนของรัฐบาล
(ตอนที่ 2)

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          ในตอนที่ผ่านมาเป็นการกล่าวถึงโครงการพัฒนาระบบรางขนาดใหญ่ที่พาดผ่านตัวเมืองขอนแก่น โดยยังไม่รู้ชะตากรรมของชาวบ้านคนจนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟจะเป็นอย่างไร สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้เขียนกำลังนั่งพิมพ์บทความชิ้นนี้ทางกระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผน  การขนส่งและการจราจร (สนข.) ที่ยังยืนยันจะใช้พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ที่จะผ่านตัวเมืองขอนแก่น เต็มพื้นที่ (วัดจากกึ่งกลางรางปัจจุบันออกไปข้างละ 40 เมตร)  ส่งผลกระทบให้ชุมชนริมทางรถไฟกว่า 2,000 หลังคาเรือน ต้องเกิดภาวะหวาดระแวงการพัฒนาในครั้งนี้ว่าพวกตนจะถูกลอยแพด้วยรัฐมักอ้างคำว่า “เสียสละ” ให้กับสังคม อยู่เป็นประจำ นั้น  ยังคงต้องต่อสู้กันด้วยเหตุและผลในการเจรจากันระหว่างผู้ได้รับผลกระทบ กับ ผู้สร้างผลกระทบ ในทางออกที่สามารถไฟด้วยกันได้ทั้งคู่  
หันมองลงมาในส่วนทางภาคใต้เองก็กำลังประสบชะตาเดียวกันกับชาวขอนแก่น  ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ด้านการพัฒนาระบบรางทั้งระบบครั้งนี้ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่สำคัญองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จังหวัดสงขลาเองก็ตอบรับสอดคล้องกันอย่างเต็มที่
จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีชุมชนอยู่ในที่ดินของการรถไฟเป็นจำนวนมากไล่เรียงมาตั้งแต่อำเภอหาดใหญ่ จนถึงอำเภอเมือง มีจำนวน ราว 63 ชุมชน มีบ้านเรือนราว กว่า 4,000 หลังคาเรือน ( ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปี 2554 ) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 15 – 20 ปี โดยการเช่าที่ดินระยะสั้นกับทางนายสถานีมาตั้งแต่อดีต (ข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้จากบันทึก ย่างก้าวการต่อสู้ เพื่อที่อยู่อาศัย .... เครือข่ายสงขลาสามัคคี )  ปัจจุบันจังหวัดสงขลาหากจะเรียกว่าเป็นประตูทางเข้าทางใต้ของประเทศไทยก็ไม่น่าจะผิด ความเจริญที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตึก อาคาร ที่พักอาศัย เริ่มทยอยเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินที่พุ่งสูงจนน่าใจหาย เป็นแหล่งรวมแรงงานจากทุกสารทิศมารวมกันสร้างเมือง


โครงการพัฒนาระบบรางที่เตรียมจะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสงขลานั้นมีอยู่ 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการก่อสร้างโมโนเรล ระบบรางในตัวเมืองหาดใหญ่ และ โครงการฟื้นฟูระบบรางหาดใหญ่ – สงขลา นี่ยังไม่นับรวมการพัฒนาการคมนาคมด้านอื่น เช่น โครงการการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ หรือ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก สงขลา  ที่จะช่วยให้เพิ่มขีดความเจริญของเมืองสงขลา เจริญเพิ่มมากขึ้นไป  แต่ก็นั้นจะต้องแลกกับผลกระทบผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯริมสองข้างรางเดิมที่เลิกใช้ไปนานกว่า 20 ปี  ที่มีขนาดใหญ่ ยาวไปตลอดแนวราง จนบางช่วงแทบจะมองไม่เห็นเค้าโครงรางเดิม   การก่อสร้างโครงการดังกล่าวทั้ง 2 โครงการ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรื้อที่อยู่อาศัยชาวชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย  การจัดระบบโครงการว่าจะมีมาตรการรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ยังไง
หากจะดูสถานการณ์การปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะปลดหนี้สินขององค์กรตนเองโดยส่วนหนึ่งคือการพัฒนาระบบรางที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว  ยังมีการขุดกรุสมบัติที่แท้จริงออกมาของการรถไฟฯคือ “ที่ดิน” จำนวนที่ดินการรถไฟฯที่มีทั่วประเทศมีราว 2 แสนไร่ แต่ถ้าหักส่วนที่ใช้ประโยชน์ระบบรางไปแล้วเหลือที่ดินเปล่าที่เหมาะสมในการใช้เชิงพาณิชย์ ยังคงเหลืออยู่ถึง ราว 4 หมื่นไร่ กระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค เช่น ในกรุงเทพมหานคร  ที่มีแถวย่านมักกะสัน , สถานีแม่น้ำย่านคลองเตย และแถวย่านบ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟเดิม กม.11  ล้วนเป็นทำเลทอง ทำเลเพชร อย่างแท้จริง  ส่วนภูมิภาค ทางเหนือก็จะเป็นย่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ ที่มีพื้นที่ว่างเปล่า เตรียมทำเมกะโปรเจกคอมเพลกซ์ไว้แล้วรอเพียงนักลงทุนมาลงทุน  ทางอีสาน มีทั้งในจังหวัดหนองคาย ย่านสถานีเก่า , ขอนแก่น ย่านสถานีสนามกอล์ฟเดิม , อุบลราชธานี  ย่านสถานีรอบๆสถานีปัจจุบัน ที่ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าทำเลงามขนาดใหญ่อยู่ ส่วนภาคใต้ก็มีทั้งในจังหวัดภูเก็ต , พังงา , สงขลา ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายจากคำให้สัมภาษณ์ในรายการเดินหน้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 โดยผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวุฒิชาติ  กัลยาณมิตร ได้กล่าวไว้


ฟังดูแบบผิวเพลินก็ดูเหมือนเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สินอันมโหฬารของการรถไฟฯเองโดยใช้สิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด  แต่ก็อย่างเคยการกล่าวนโยบายนี้มาไม่ได้กล่าวถึงผู้อยู่อาศัยในที่ดินที่ว่าแม้แต่น้อย   ที่ผู้ว่าฯการรถไฟฯกล่าวมานั้นราวกับว่าเป็นที่ดินแปลงว่าง ไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่แท้จริงนั้นส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีลักษณะเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่กันมายาวนาน ซึ่งหากจะถามกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่แรกๆส่วนใหญ่ก็จะมาเป็นแรงงานให้กับรถไฟในย่านนั้นเอง เช่น มาเป็นคนงานโยนฟืนเข้าหัวรถจักรบ้าง เป็นลูกจ้างของการรถไฟฯบ้าง แล้วได้ชักชวนญาติๆ เพื่อนๆที่รู้จักมาอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชน  และนี่เองเป็นเรื่องที่วัดใจการรถไฟฯและรัฐบาล   ว่าที่ดินเมืองที่มีราคาแสนแพงเหล่านั้น ที่เป็นที่อยู่อาศัยคนจนมาก่อน  จะนำไปให้บริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาพัฒนาเชิงพาณิชย์รูปแบบต่างๆนั้น จะมีการบริหารจัดการอย่างไร   คนจนจะอยู่อย่างไร คนรวยจะได้ใช้ที่ดินอย่างไร  นี่ยังคงเป็นโจทย์ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน




แต่หากจะดูบทเรียนที่ผ่านมา  การรถไฟฯเองก็ใช่ว่าจะไม่เคยนำที่ดินที่มีชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่นำไปให้บริษัทเอกชนเช่าทับที่จนเป็นข้อพิพาทการไล่รื้อระหว่างบริษัทกับชุมชน   ส่วนการรถไฟฯลอยตัวอยู่เหนือปัญหาอ้างเพียงแต่หลักกฎหมายว่าสัญญาเช่าอยู่กับเอกชนแล้วเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมในการขับไล่   แต่ไม่เคยกล่าวถึงจริยธรรม  คุณธรรม  ธรรมาภิบาล  ที่หน่วยงานรัฐควรจะมีเป็นพื้นฐาน   ที่ต้องดูแลทุกข์-สุข ของประชาชน  ดังจะเห็นตัวอย่างจากกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินชุมชนตลาดบ่อบัว จังหวัดฉะเชิงเทรา กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่การรถไฟฯให้เช่าทับที่   หรือกรณีชุมชนหนองยวน 2 จังหวัดตรัง  ที่เกิดข้อพิพาทจนถึงขั้นจับกุมคุมขังชาวบ้านไปหลายราย   ทำให้นโยบายที่ผู้ว่าฯการรถไฟฯที่กล่าวไว้ในรายการเดินหน้าประเทศไทย จะเป็นนโยบายสร้างฝันดีให้การรถไฟฯและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่  แต่จะเป็นฝันร้ายของชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟฯมาตั้งแต่อดีต เป็นผู้บุกเบิกจากป่ามาเป็นเมือง
และนี่เองที่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งในการพัฒนาประเทศที่จะสะท้อนให้เห็นถึง “ความรับผิดชอบ” ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าการจัดการของรัฐบาลนี้จะเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาลต่อประชาชนทุกชนชั้น  หรือเพียงแต่อำนวยความสะดวกต่อบริษัทเอกชน   ทั้งนี้การได้ความธรรมาภิบาลที่ผ่านมาไม่เคยได้จากการร้องขอ แต่มักจะได้มาจากการต่อสู้เรียกร้องจากผู้มีอำนาจเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นเองภาคประชาชนผู้ยากไร้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในนาม เครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขบวนประชาชนกลุ่มอื่นๆ ยังคงต้องเดินหน้าถึงแม้นว่าฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามออกฎหมายลิดรอนการรวมกลุ่มเรียกร้องของประชาชนออกมาก็ตาม.




วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ปฏิบัติการเชิงเดี่ยว

ปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ปฏิบัติการเชิงเดี่ยว

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ในช่วงรอบหลายเดือนที่ผ่านมา   ข่าวการปรับปรุงริมคูคลองในกรุงเทพมหานครเป็นประเด็นที่น่าติดตามเพราะนี่ไม่ใช่เป็นนโยบายระดับท้องถิ่น   แต่เป็นนโยบายระดับชาติที่จะนำไปสู่การจัดระบบจัดการน้ำทั้งระบบ นายกรัฐมนตรีจึงเป็นผู้สั่งดำเนินการ โดยตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองนี้ขึ้นมา มี รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย , กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขาการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งย่อยการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน  คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย  คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์
โครงการนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 9 คลองหลักทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่

สายคลองหลัก
ระยะทาง(กม.)
หลังคาเรือน
ครัวเรือน
ประชากร(คน)
1.คลองลาดพร้าวและคลองสอง
24.50
6,365
9,548
37,524
2.คลองเปรมประชากร
24.72
4,334
6,501
25,549
3.คลองบางเขน
11.26
63
-
307
4.คลองสามวา
12.36
177
37
520
5.คลองลาดบัวขาว
9.55
85
8
258
6.คลองบางซื่อ
8.00
726
486
2,556
7.คลองประเวศบุรีรมย์
13.71
223
234
1,124
8.คลองพระโขนง
10.56
26
15
75
9.คลองพระยาราชมนตรี
13.71
38
52
174
รวม
128.37
12,037
16,881
68,087

โดยจะนำร่องดำเนินการเริ่มต้นจาก ลำดับที่ 1 – 2 ในปี 2558 – 2560 นี้ก่อน  ใช้งบประมาณในสองช่วงนี้รวม 2,598 ล้านบาท มาเป็นงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าชดเชย , ค่าทำสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับใหม่ หากคิดกันหยาบๆก็ตกเฉลี่ยครอบครัวละ 272,000 บาท สำหรับการเตรียมตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่
ข้อสังเกตว่านี่คือโครงการรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก   แต่กระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ส่วนร่วมในการออกความเห็น การออกแบบ ในการดำเนินโครงการนี้ กลับไม่มีเลย มีเพียงเวทีเล็กๆตามเขต ตามพื้นที่ชุมชน ที่ให้ประชาชนมา “รับฟัง” การดำเนินโครงการ เท่านั้น   แล้วก็เข้าสู่โหมดกระบวนการโครงการบ้านมั่นคง ที่มีกรอบใหญ่ของโครงการที่กรอบไว้   ผลสรุปคือ การทำให้ระบบระบายน้ำมีปัญหา หรือถ้าจะมองย้อนหลังไปอีก น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ใน กทม. สาเหตุมาจากชุมชนที่อยู่ริมคูคลองนั้นเอง
การที่หน่วยงานรัฐจะเอาขนาดคลองกว้าง 38 เมตร เท่ากันทั่ว กทม. นั้น มีความจำเป็นขนาดไหน และโดยแท้จริงพื้นคลองดั้งเดิมมีขนาดไหนกันแน่  หากขนาดคลองเดิมมีขนาดไม่ถึง 38 เมตร จะต้องเวนคืนหรือเปล่า  เป็นบทสรุปใช่หรือไม่ว่าชุมชนริมคูคลอง เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาหลัก ในการระบายน้ำ  หรือยังมีเรื่องการจัดระบบประตูระบายน้ำ  การก่อสร้างถนนเส้นทางต่างที่ไปตัดเส้นทางน้ำ   หรือแม้แต่ผังเมืองที่เปลี่ยนไปทำพื้นที่คลองสาธารณะย่อยกลายเป็นที่ดินปลูกสร้างอาคาร  ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีเวทีการอธิบายและเปลี่ยนข้อมูลกัน
รัฐบาลนี้เข้าใจว่าต้องการความรวบรัด  รวดเร็ว  ในการดำเนินการ  จึงได้ข้ามขั้นตอนการรับฟังความเห็นต่างๆ  จึงเห็นเป็นการสั่งการจากระดับบนมายังการปฏิบัติการระดับล่าง  หน่วยงานช่วงท้ายจึงเป็นไปได้แค่ทำตามการสั่งการมาเท่านั้น   หากเป็นสถานการณ์ปกติคงมีการชุมนุมกันเพื่อประกาศความเดือดร้อนของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนกัน  ให้สาธารณชนได้รับรู้ ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลส่วนกลางอย่างเป็นแน่ โครงการนี้จึงเป็นการคิด และดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว
การแก้ปัญหาจากต้นตอคือต้องมาถกจากสาเหตุปัญหาการระบายน้ำอย่างทั่วทุกด้าน   เปลี่ยนมุมมองชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคูคลองที่เป็นปัญหา ให้เป็นทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากชุมชนเหล่านี้ได้  ในการดูแลรักษาริมคูคลอง  ที่มีตัวอย่างให้เห็นกันหลายชุมชน เช่น ชุมชนเพชรคลองจั่น ที่มีกระบวนการรักษาระบบนิเวศทางน้ำโดยการเทน้ำชีวภาพลงคูคลอง  กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเชิงบวกที่ชาวชุมชนริมคลองพยายามที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ “คนกับคลอง  อยู่ร่วมกันได้”


ภาพการพัฒนาชุมชนเพชรคลองจั่น เทน้ำชีวภาพลงคลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ

การลงทุนขนาดใหญ่ในการแก้ปัญหาหนึ่งคือการแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำ ไปสร้างปัญหาใหม่อีกที่หนึ่ง คือปัญหาคุณภาพชีวิตคนจนในที่รองรับใหม่ที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ หางานใหม่ หาโรงเรียนให้ลูกหลานใหม่ หากจะต้องกลับมาทำงาน มาเรียนที่เดิม ค่าเดินทางที่สูงขึ้น จะคุ้มกันหรือไม่   เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการเอ่ยถึง   เพราะยังไม่รู้ว่าจะย้ายชาวชุมชนไปอยู่แห่งไหน  จำนวนเท่าไหร่


 แผนการจัดระเบียบชุมชนริมคลองทั้ง 9 สายคลอง

กระบวนการที่ส่งหน่วยงานลงชุมชนไปเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ก็แยกการทำงานอย่างชัดเจน  ไม่ได้มีความเชื่อมร้อยประสานถึงการทำงานร่วมกันสักเท่าไหร่นัก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่มีหน้าที่จัดกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงให้กับชาวบ้านก็ออกแบบกระบวนการ  วางผัง แบบบ้าน ของชุมชนไป  ไม่มีการแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือในส่วนต่างๆ เช่น ค่ารื้อย้าย ค่าชดเชย ที่ชาวบ้านควรจะได้มาเพื่อจะนำมาเพิ่มเติมการสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่  แต่ก็ไม่มีการกล่าวถึง  ส่งผลให้ชาวบ้านต้องนึกถึงแต่เรื่องที่ต้องรื้อบ้านตัวเองแล้วสร้างใหม่ เกิดหนี้ใหม่ บางหลังเพิ่งทำการสร้างบ้านใหม่ต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดอาการต่อต้านโครงการบ้านมั่นคงอย่างชัดเจน
ส่วนกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่ต้องย้ายชาวบ้านตามอำนาจในการดูแลที่ดินเป็นหลัก แม้จะมีการโต้แย้งเบื้องต้นระหว่างกรมธนารักษ์ หรือ กทม. จะเป็นหน่วยงานดำเนินการโยกย้ายดำเนินการตามกฎหมายกับชุมชน ก็ดำเนินการแปะหมายแจ้งย้าย  บางรายถึงกับโดนจับกุมคุมขัง จ่ายค่าปรับคนละ 20,000 – 40,000 บาท ถึงจะออกจากห้องขังได้ ทำให้บางรายต้องรื้อบ้านย้ายหนีไปก่อนที่จะโดนหมายเพราะไม่อยากจะต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล มีปัญหากับราชการ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากการลงสำรวจชุมชนร่วมกันระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับ การเคหะแห่งแห่งชาติ
นี่อาจจะเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้ส่งความสุขให้กับชาวชุมชนสักเท่าไหร่นัก ชาวบ้านกว่า 68,000 คน ที่กำลังเคว้งคว้างอยู่ในทิศทางที่ขุ่นมัวไม่เห็นจุดหมายที่ชัดเจน   ยังคงต้องต่อสู้อย่างเงียบๆ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวย  ช่วงนี้จึงเป็นบทที่หน่วยงานกระทำกับชุมชนเพียงทางเดียว   ส่วนจะโต้กลับไปอย่างไรนั้นคงต้องจับตาสถานการณ์ต่อไปจากนี้   หากสร้างแรงกดดันให้กับชาวชุมชนมากเท่าไหร่  การเกิดคลื่นกระแสต่อต้านก็อาจจะโต้กลับรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...