วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนไทยยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง


วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนไทยยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง
นายคมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          องค์การสหประชาชาติประกาศเอาไว้ว่าให้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี  เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก ( World Habitat Day ) เพื่อที่จะให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัยที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติ  แต่กลับมีประชากรโลกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต  มีคนไร้บ้าน ( Homeless ) อยู่ในทุกประเทศทั่วโลก   ที่ดินจากทรัพยากรที่มนุษยชาติควรจะได้ใช้ร่วมกันแต่กลับถูกนำมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว
          ประเทศไทยเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน  และจะรุนแรงหนักขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งจากการรายงานข่าวเมื่อ ปลายปี 2561 ประเทศไทยได้ครองแชมป์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 1 ของโลก  แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ว่านั้นรวมถึง “ที่ดิน” อยู่ด้วย  มหาเศรษฐีและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในประเทศไทยครองที่ดินกว่าครึ่งไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว  ยังไม่นับรวมกลุ่มทุนต่างประเทศที่มีผู้แทนในการเป็นเจ้าของที่ดินอีกจำนวนไม่น้อย   สถานการณ์คนไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจึงถือว่าเป็นขั้นวิกฤตรุนแรงไม่น้อย
          แต่กระนั้นเองรัฐบาลไทยยังคงเหมือนทองไม่รู้ร้อน  ยังคงออกนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor หรือ EEC ) เพื่อผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินได้อย่างน้อย ๆ 99 ปี  มีกฎหมายพิเศษยกเว้นให้นักลงทุนในขอบเจตพื้นที่ดังกล่าว  แต่ยังไม่วายที่จะอ้างเพื่อประโยชน์คนจนย่านนั้นจะมีงานทำไม่ขาดสาย   มันก็คงจะจริงถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวสงวนไว้เพียงเฉพาะคนไทย   แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น   นอกจากจะไม่สงวนแล้วรัฐบาลยังคงส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถจ้างงานชาวต่างชาติมาทำงานได้อย่างเต็มที่  อีกทั้งผ่อนปรนกับแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นดีกว่านอกพื้นที่ EEC เสียอีก   ดังนั้นประเด็นการสร้างงานให้คนไทยในย่านนั้นปิดไปได้เลย

          ยังไม่นับรวมการเตรียมแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ( Transit-Oriented Development หรือ TOD ) ที่หมายถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะมี 170 สถานีทั่วประเทศนำร่องใช้ก่อน   และส่วนใหญ่พื้นที่ที่จำ TOD ก็มักจะมีชุมชนคนจนอยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย  อย่างเช่นย่านสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น  ทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษา TOD ออกมาแจ้งเองว่ามีชุมชนกว่าพันหลังคาเรือนอยู่ในย่านที่จะปรับทำ TOD ซึ่งเป็นเรื่องลำบากหากการปรับลักษณะการอยู่อาศัยให้ทุกคนปรับที่อยู่อาศัยเป็นแนวดิ่งทั้งหมดได้


          การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยแล้วถือว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแล้วไม่ได้  เพราะการดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ   หากคนเมืองที่เป็นแรงงานนอกระบบ เก็บของเก่า ขายอาหารข้างถนน รับงานมาทำที่บ้าน อาชีพเหล่านี้ที่ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินงาน  ส่วนคนชนบทยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากพวกเขาเหล่านั้นจะมีที่ดินเพียงแค่ปลูกสร้างบ้าน  แต่ไม่มีที่ดินสำหรับการทำการเกษตรในการดำรงชีพ  ขณะนี้สภาพการณ์คนจนเมืองถูกขับออกไม่ให้อาศัยอยู่ในเมือง  ใจกลางเมืองถูกสงวนไว้สำหรับกลุ่มคนมีเงิน หรือกลุ่มทำงานออฟฟิศที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัยมากนัก  ส่วนคนจนชนบทกำลังถูกไล่บีบให้ออกจากป่า  หน่วยงานรัฐประกาศเขตป่าคลุมที่อยู่ ที่ทำกินชาวบ้าน  บางส่วนมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับกลุ่มทุน หรือยกเว้นการคลอบครองที่ดินของกลุ่มทุน
          นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นของกลุ่มคนจน และกลุ่มคนจนชนบท ที่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  ต่างวนเวียนอยู่กับคดีความ ถูกฟ้องดำเนินคดีขับไล่  ซึ่งยังเป็นคำถามกันอยู่ว่าหากจับกลุ่มคนเหล่านั้นไปหลายหมื่นคนจะมีที่ใดพอกุมขังพวกเขาไว้ได้บ้าง   กลุ่มคนเหล่านี้นอกจากมีคดีความ  การอยู่อาศัยยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แต่อย่างใดได้  บ้างต้องพ่วงน้ำ พ่วงไฟ จากเอกชนในราคาที่แพงกว่าปกติเป็นเท่าตัว ส่วนสวัสดิการต่าง ๆของรัฐก็เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก
          หากยังมาดูกลุ่มที่ไม่มีแม้แต่หลังคาหลบแดดหลบฝนคือกลุ่มคนไร้บ้าน  จากการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กับภาคีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ 87 องค์กร เมื่อช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านอยู่ราว 7,000 คนทั่วประเทศ ( ทั้งอาศัยอยู่ในศูนย์ต่างๆ และอาศัยนอนตามที่สาธารณะต่างๆ )  แน่นอนกลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆของรัฐแน่ๆ ลำพังแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  คนไร้บ้านเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำพาตัวเองไปรับบัตรดังกล่าวได้ เพราะเงื่อนไขหลายๆอย่างไม่ได้เอื้อให้กับพวกเขาเหล่านั้น
          ยังไม่นับนโยบายร้อนแรงในช่วงนี้ “ชิมช้อปใช้” นโยบายที่เอาเงินภาษีจากคนทั้งประเทศมาให้ตัวแทน 10 ล้านคนมาใช้เงิน “หนึ่งหมื่นล้านบาท”  มีเกณฑ์ง่ายๆในการได้สิทธิ์ใช้เงินนี้คือ  ใครลงทะเบียนได้ก่อนคนนั้นได้ใช้เงิน อันนี้ไม่ต้องคิดซับซ้อน ประชาชนไม่มีแรงในการ “ซื้อ” ของตามห้างร้าง  รัฐเลยขอแทรกแซงช่วยอุ้มกระตุ้นเศรษฐกิจให้โดยผ่านประชาชน  โดยไม่ได้เน้นว่าเป็นกลุ่มใด ใครก็ได้เอาเงินภาษีไปซื้อของกิน ของใช้ เที่ยวเตร่ ได้หมด  แน่นอนกลุ่มคนจนผู้ที่เข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตลำบากก็จะไม่ทันกลับกลุ่มคนที่คลุกคลีกับอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว   ดังนั้นนโยบายนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนจนแต่อย่างใด  แต่เป็นการช่วยเหลือตลาดการค้าที่กลุ่มทุนบ่นอุบว่ามันเงียบ ซบเซามานาน

          นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่กลุ่มคนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงถูกละเลยจากรัฐบาล  แม้นว่ารัฐบาลได้คลอดแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ออกมาแล้ว  แต่ในทางปฎิบัติไม่สามารถทำได้จริงตามที่ได้เขียนไว้
ในวันที่อยู่อาศัยโลกเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล  และนัดหมายรอฟังคำตอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.       ด้านที่อยู่อาศัย
1.1    ให้คณะรัฐมนตรีมีมติอุดหนุนงบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า - ประปา ส่วนต่อขยายในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยของรัฐ
1.2    ให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่นกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หาดใหญ่ - สงขลา โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย  เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การรถไฟแห่งประเทศไทย  กระทรวงคมนาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น
1.3    ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีนโยบายให้กรมกิจการผู้สูงอายุ สนับสนุนการปรับปรุงบ้านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตผู้สูงอายุสำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านมั่นคง
2.       ด้านที่ดิน
2.1    รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อคนจน ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้คนจนเข้าถึงการช่วยเหลือเพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
2.2    รัฐบาลต้องมีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ที่ชัดเจน  การนำที่ดินรัฐมาจัดทำที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น พรบ.สิทธิชุมชน , พรบ.ธนาคารที่ดิน และ พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ที่ภาคประชาชนได้นำเสนอไว้ และให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนมาตรการหรือนโยบาย มติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินโดยเร่งด่วน
2.3    ให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานเจ้าของที่ดิน เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า ป่าชายเลน  และที่ดินรัฐอื่น ๆ ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยเดิม สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง หรือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ของรัฐได้ และเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของรัฐได้ เพื่อให้คนจนสามารถมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงได้
3.       ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.1    ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงสิทธิรักษาสำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์คนไร้สัญชาติ  และผู้ไม่มีสถานะ
3.2    รัฐบาลต้องจัดให้เปิดลงทะเบียนคนไทยตกหล่นและให้มีระเบียบปฏิบัติเดียวกัน
3.3    รัฐบาลต้องสร้างระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นกฎหมาย
3.4    รัฐบาลต้องเปลี่ยนสวัสดิการแบบสงเคราะห์เป็นรัฐสวัสดิการที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า

สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 2,000 คน จะไปติดตามนโยบายทั้ง 3 ด้าน ของภาคประชาชนที่ได้ยื่นไว้กับทางรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562  และคาดหวังว่ารัฐบาลจะหยิบมาผลักดันให้บรรลุผล  อย่างน้อยการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ถูกละเลยมาโดยตลอดจะถูกบรรเทาลงไปได้  และหากรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชน  ความเหลื่อมล้ำ  ช่องว่าง ความจน ความรวย ภายในประเทศก็จะถ่างลดน้อยลงไป

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...