วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

คนไร้บ้านผู้สร้างสิทธิให้กับตนเอง


คนไร้บ้านผู้สร้างสิทธิให้กับตนเอง

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ผ่านพ้นไปด้วยดีกับงานเปิดตัวศูนย์พักคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธานในการเปิดป้าย “บ้านเตื่อมฝัน” หรือชื่อทางการว่า ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งประกาศถึงโมเดลการแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง  และพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาตามแนวทางนี้ต่อไป   ต่อด้วยพิธีมอบเลขที่บ้าน โดยรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับคนไร้บ้าน  ถ้าหากขาดสิ่งนี้แล้วการยืนยันความเป็นคนไทยจะเป็นความยากลำบากยิ่งนัก


           รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมเปิดศูนย์พักคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานเครือข่ายคนไร้บ้านได้ฉายภาพให้เห็นถึงการใช้โอกาสที่ได้มาเกิดประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภายในตัวศูนย์พักโดยกลุ่มคนไร้บ้านเอง  ที่แตกต่างจากศูนย์พักของรัฐที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า “คุก” นอกจากการจัดการภายในตัวอาคาร  การอยู่ร่วมกันเองของคนไร้บ้านแล้ว  กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่นี้ยังคงการมองถึงอนาคตที่จะสร้างขึ้นพร้อมกับโอกาสที่ได้มา  มีการออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย  จัดตั้งกลุ่มสวัสดิการช่วยเหลือกัน   ส่วนในเรื่องอาชีพเพื่อหาราบได้มีความหลากหลาย มีทั้งกลุ่มเก็บของเก่ามารีไซเคิล และอาชีพที่แต่ละคนดำรงอยู่   เนื่องจากศูนย์ที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างมานั้นผู้อยู่อาศัยจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเองในการดูแลตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ – ค่าไฟ หรือแม้แต่หากเกิดการชำรุดทรุดโทรมในอนาคต  กลุ่มคนไร้บ้านจักต้องบริหารจัดการซ่อมแซมกันเอง   ความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ยังเน้นให้เป็นอันดับต้นๆในการใส่ใจโดยได้ทำสวนผักในชั้นบนสุดของตัวอาคาร  เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน  ที่ยังไม่นับรวมแปลงเกษตรที่อยู่นอกตัวเมืองอีกหนึ่งแปลงที่คนไร้บ้านจะผลัดเปลี่ยนเวรกันไปดูแล ช่วยกันปลูก เก็บ  มาจำหน่ายในเมือง กิจกรรมเหล่านี้ทาง องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆได้เห็นความสำคัญพร้อมจะยื่นมือเข้าร่วมสนับสนุน


แปลงเกษตรบนลานดาดฟ้า ศูนย์พักคนไร้บ้านเชียงใหม่

นี่คือตัวอย่างที่เด่นชัดในการสร้างโอกาสขึ้นมาและทำโอกาสที่ได้มาให้เกิดประโยชน์   กว่าจะได้โอกาสนั้นมาเขาเหล่านั้นต้องลงแรงมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้   เครือข่ายคนไร้บ้าน หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวผลักดันการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มาตั้งแต่ต้นการเสนอนโยบายการแก้ปัญหาคนไร้บ้านก็คือหนึ่งในข้อเรียกร้องของ ขปส. ด้วยเช่นกัน
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 คือก้าวแรกของการก่อเกิดนโยบายการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน   ในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องของ ขปส. กว่า 2,000 คน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า  แน่นอนเครือข่ายคนไร้บ้านคือหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องรวมอยู่ด้วยเช่นกัน  และตอกย้ำชัยชนะอีกครั้งในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554 ที่ตั้งกรอบงบประมาณขึ้นมาเพื่อดำเนินการนำร่องแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้านจำนวน 200 หน่วย   แต่กระนั้นกว่าจะได้ใช้งบประมาณเครือข่ายคนไร้บ้านต้องรอถึงปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง  แต่เครือข่ายคนไร้บ้านที่ต่อมาได้ยกระดับการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆมาเป็น “สมาคมคนไร้บ้าน” ขึ้นมา ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดจนมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจำนวน 118.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559
หลังจากมติ ครม. ออกมา  แผนการซื้อที่ดินตามพื้นที่เป้าหมายก็ได้เริ่มขึ้น  แปลงแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 แปลงที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แปลงที่ 3 ที่จังหวัดปทุมธานี วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561  ศูนย์พักคนไร้บ้านที่เชียงใหม่จึงเป็นแห่งแรกที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ  แต่ !!! ไม่ใช่ศูนย์แรกของเครือข่ายคนไร้บ้าน
หากจะย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2544 ที่เป็นจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มของคนไร้ที่อยู่อาศัย  ที่อาศัยหลับนอนในย่านสนามหลวง  เพราะโดนผลกระทบจากนโยบาย “ปิดสนามหลวง” เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มเพื่อนร่วมงาน และนักศึกษาจากชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ลงปูพรมสำรวจผู้อาศัยหลับนอนย่านสนามหลวงและใกล้เคียง  ที่ถือว่ามีผู้อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะเยอะที่สุดแห่งหนึ่ง  ต่อมาขยายเป็นการสำรวจปูพรมทั่วกรุงเทพมหานคร  เพื่อหาจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนมากที่สุด  ที่จะนำไปเจรจาเสนอแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


เวทีเสวนาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาคนไร้บ้านหลังนโยบายปิดสนามหลวง

หลังจากลงสำรวจ ได้พิกัดการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน การพูดคุยเพื่อให้เขาเหล่านั้นรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนไร้บ้าน” แบบหลวมๆ เริ่มพูดคุยปัญหา เริ่มเสนอความต้องการ และสิ่งแรกสำคัญที่สุดที่เขาต้องการคือการหาที่พักที่ไม่โดนเจ้าหน้าที่ตามจับ  และจุดรวมกลุ่มเพื่อจะพบปะพูดคุยกัน  กลุ่มคนไร้บ้านต่อรองกับทางกรุงเทพมหานครเพื่อจะนอนบริเวณเต็นท์พักชั่วคราวแถวศาลแม่หมู  จนกระทั่งไม่สามารถอยู่ได้และได้ความช่วยเหลือจากทางพี่น้องเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตก หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ให้ใช้บ้านในชุมชนเป็นที่พักชั่วคราวไปก่อน  และนี่คือจุดเริ่มต้นคิดในการหาศูนย์พักที่เป็นของคนไร้บ้านเอง  และได้ที่ดินแปลงหนึ่งในชุมชนตลิ่งชัน และเริ่มสร้างศูนย์พักร่วมกันเองได้ศูนย์พักชั่วคราวแห่งแรกขึ้นมา “ศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้านตลิ่งชัน” และเริ่มหาที่ดินที่มั่นคงเพื่อสร้างศูนย์พักอย่างมั่นคง จึงเข้าร่วมเรียกร้องกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านบางกอกน้อยจนได้รับการอนุมัติการเช่ามาและสร้างเป็น “ศูนย์พักคนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู” ขึ้นมา เป็นแห่งที่สอง และเจรจากับกระทรวงคมนาคมจนได้ที่ดินของการรถไฟฯอีกแปลงแถวย่าน หมอชิต มาก่อสร้าง “ศูนย์พักคนไร้บ้านหมอชิต” เป็นแห่งที่สาม  แต่ต้องถูกรื้อถอนไปเพราะต่อมาถูกโครงการก่อสร้างทางด่วน และกระทั่งได้เข้าร่วมเรียกร้องกับ ขปส. ตามข้างต้น


เครือข่ายคนไร้บ้านมิได้เรียกร้องเอางบประมาณและที่ดินอย่างเดียวเท่านั้น  แต่กว่าที่รัฐบาล หน่วยงาน จะรับฟังข้อเรียกร้องเหล่านั้น  เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมากเพราะนอกจากได้ที่ดินแล้วคนไร้บ้านบางส่วนที่พัฒนาตัวเองขึ้นมา  ได้รวมกลุ่มไปเช่าที่ดินในชุมชนย่านสถานีรถไฟพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อสร้าง “ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน” ขึ้นมา  และมีพื้นที่ส่วนกลางในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  และในแต่ละศูนย์ก็มีการรวมกลุ่มทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน   การพิสูจน์ให้รัฐได้เห็นหากคนจนเมืองกลุ่มที่จนไม่มีแม้กระทั่งหลังคากันแดดกันฝนยังลุกขึ้นมาพัฒนาได้เช่นกัน
 

สร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน

“บ้านเตื่อมฝัน” หรือ ศูนย์พักคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่  จึงไม่ใช่การได้มาแบบผู้ใหญ่ใจดีมามอบให้  แต่ผ่านการต่อสู้เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง  ควบคู่ไปกับการพัฒนาตัวเอง  พิสูจน์งานพัฒนาในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เพราะเส้นทางกว่าจะมาถึงศูนย์พักแห่งนี้ได้คนไร้บ้านเชียงใหม่ต้องโยกย้ายศูนย์พักชั่วคราวของตนเองถึงสองครั้ง  หลังจากที่พยายามเช่าอาคารร้างมาปรับปรุงเป็นที่พักให้กับกลุ่มตนเอง  นี่คือการสร้างโอกาสให้กับตัวเองขึ้นมา  และส่งผลเกิดเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่อๆไปอีกด้วย  และจากการพิสูจน์งานพัฒนานี่ทำให้มีการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือองค์กรด้านสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือองค์กรเอกชนอย่าง มูลนิธิ scg ที่ได้เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมบางส่วน
นี่ต่างหากคือโมเดลที่สร้างจากภาคประชาชนโดยแท้จริง  และเพียงรัฐบาลหันมามองให้ความสำคัญก็จะสามารถต่อยอดผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนขึ้นโดยประชาชนลุกขึ้นมาทำเอง !

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โฉนดชุมชน ปฎิรูปที่ดินการรถไฟฯเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (2)


โฉนดชุมชน ปฎิรูปที่ดินการรถไฟฯเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน
การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (2)

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

แนวคิดการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชนไม่ได้มีเพียงในพื้นที่เขตป่า หรือภาคชนบทเท่านั้น  ในภาคเมืองแนวคิดการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชนมีส่วนร่วมก็ได้ดำเนินการมานานระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน
          ปัญหาการเข้าไม่ถึงที่ดินของคนจนเมืองโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากการพัฒนาประเทศในภาคชนบทล้มเหลวของรัฐบาล  อีกส่วนคือการรับมือต่อการพัฒนาเขตเมืองที่ต้องการแรงงานจำนวนมากไม่ได้  การเตรียมที่อยู่อาศัยรองรับสำหรับแรงงานที่จะเคลื่อนย้ายจากชนบทมาสู่เมืองจำนวนมหาศาล   ทำให้แรงงานส่วนใหญ่จะหาที่พักอาศัยกันตามที่รกร้างว่างเปล่าใกล้แหล่งทำงาน
          เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดก็คงเป็นการกระจายที่รัฐที่แต่เดิมหวงแหนไว้เพียงกลุ่มทุนได้ใช้เท่านั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีที่ดินจำนวนมากกระจายตามภูมิภาคของประเทศ  ซึ่งมีทั้งในตัวเมือง และชานเมืองชนบท    ถ้าหากสังเกตจะในการเดินทางโดยรถไฟ  ก่อนเข้าสถานีแต่ละสถานีจะเริ่มเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายข้างทางเป็นสัญญาณบอกกลายๆว่าใกล้จะถึงสถานีใดสถานีหนึ่งแล้ว

สภาพชุมชนสองข้างทางรถไฟ

การเข้ามาอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด  หากแต่เป็นความต้องการแรงงานในการขับเคลื่อนรถไฟเองที่สมัยก่อนนั้นเป็นรถไฟหัวรถจักรแบบไอน้ำ  ที่ต้องใช้แรงงานในการโยนฟืน  แรงงานในการขนฟืน ซึ่งแรงงานเหล่านั้นมักจะได้รับความอำนวยความสะดวกในเรื่องที่อยู่อาศัยจากนายสถานี  และส่วนใหญ่ชุมชนในย่านสถานีรถไฟก็มักจะเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นกลุ่มแรกๆในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ และเกิดการชักชวน ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของ “นายสถานี” ของแต่ละแห่ง
          แต่การบริหารการเดินรถของการรถไฟฯที่ต้องมุ่งเน้นบริการประชาชนเป็ฯหลักส่งผลให้ขาดทุนของตัวองค์กรเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดแนวความคิดถึงเรื่องการหยิบที่ดินที่มีอยู่มาหาแสวงหาผลกำไรให้กับองค์กรตนเองเพื่อไปชดเชยในส่วนที่ขาดทุนไป  ซึ่งเราจะเห็นตามข่าวอยู่เนืองๆเรื่องการต่อสัญญาเช่าของกลุ่มทุนรายใหญ่ของห้างสรรพสินค้าย่านลาดพร้าว หรือแม้แต่สวนจตุจักรเอง  ที่การต่อสัญญาที่ดินแต่ละครั้งต้องมีการเจรจา ต่อรอง กันอย่างหนักหน่วงในเรื่องรายละเอียดของสัญญา  แต่นั้นยังพอที่จะเข้าใจกันได้ว่าเป็นการดำเนินการในเชิงธุรกิจกัน  และไม่ส่งผลกระทบกับกลุ่มคนอื่นสักเท่าไหร่นัก   แต่การนำที่ดินของการรถไฟฯให้กลุ่มทุนได้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบการเช่าไม่ได้เป็นแบบข้างต้นทุกกรณี หากยังมีกรณีที่นำที่ดินที่มีชุมชนตั้งอยู่เดิมแล้วนำไปให้กลุ่มทุนประมูลเช่าที่ดิน  และกลุ่มทุนใดชนะการประมูลก็จะเข้าดำเนินคดีกับชาวชุมชนนั้นทันที  โดยมี “การรถไฟฯร่วมเป็นโจทก์” ด้วย
          และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่กลุ่มคนจนที่เป็นคนสร้างมูลค่าที่ดินตัวจริงคือกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่แรกๆตั้งแต่เป็นป่ารกร้าง จนสร้างเป็นชุมชนขึ้นมา  และที่ผ่านคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ไม่ได้เข้ามาอยู่ฟรีๆ  แต่เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เคยจ่ายค่าเช่าให้กับ นายสถานี แล้วทั้งนั้น  แต่ครั้นพอมีกลุ่มทุนที่จะให้เงินจำนวนมากการเช่าเหล่านั้นก็ถูกปฏิเสธลง  แปรเปลี่ยนสภาพจากผู้บุกเบิก ผู้เช่า กลายเป็นผู้บุกรุกในทันที  แสดงให้เห็นการสร้างความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน


          ปฎิบัติการเคลื่อนไหวสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เริ่มขึ้นจากปรากฎการณ์ดังกล่าว ชาวชุมชนในที่ดินของการรถไฟกว่า 3,000 คน ไปชุมนุมเรียกร้องเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาจนได้นโยบายการใช้ที่ดินการรถไฟฯเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยขึ้นมาตาม มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2543 ที่เปิดโอกาสให้คนจนได้เช่าที่ดินการรถไฟระยะยาวมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากลุ่มทุนที่มีเงิน
          การได้ที่ดินมาอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการที่ดินโดยชุมชน  ซึ่งที่ดินที่เช่ามาเป็นแปลงใหญ่  แปลงรวม การจัดสรรแบ่งแปลงกันจัดการโดยชุมชนร่วมกันออกแบบวางผังกัน  จนเกิดเป็นชุมชนที่สวยงาม เป็นระเบียบขึ้นมา  ส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินจะเป็นไปตามมติชุมชนทุกครั้งหากมีการเปลี่ยนมือจากสิทธิ์เดิมสู่ทายาท  จะไม่สามารถดำเนินการโดยปัจเจกได้ป้องกันการซื้อ-ขาย สิทธี่ดินกันตามนโยบายโฉนดชุมชนอย่างแท้จริง

  สภาพที่อยู่อาศัยเดิม ชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กทม. 
                     

สภาพที่อยู่อาศัยหลังการได้เช่าที่ดิน ชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กทม.


          อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น “โฉนดชุมชน” ไม่ได้ตอบโจทย์แค่การใช้ที่ดินแต่ยังตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  รักษาชุมชนให้คงอยู่ได้ไม่ล่มสลาย  ที่สำคัญที่ดินไม่หลุดเข้าวงจรตลาดค้าที่ดินอีกต่อไป   หากจะเป็นการดีแนวนโยบายของรัฐการจัดการที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะมีหัวใจหลักที่เหมือนกับแนวนโยบายภาคประชาชนคือโฉนดชุมชน ที่จะเสริมหนุนกันพัฒนาสร้างชุมชนให้เข้มแข็งร่วมกันต่อไป !!!
         




วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โฉนดชุมชน ชุมชนก้าวใหม่ การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (1)


โฉนดชุมชน ชุมชนก้าวใหม่
การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (1)


คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61 มีกิจกรรมการปลูกป่าตามมาตรการเร่งด่วนที่ต้องฟื้นฟูพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ สำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากมีปัญหาการคัดค้านจากประชาชน โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธาน  กิจกรรมนี้เน้นการปลูกต้นไม้ที่รอบๆ พื้นดินที่ไม่อยู่ในเขตอาคารบนพื้นที่ 23 ไร่ จำนวน 300 กล้า ส่วนจุดอื่นต้องรอการส่งมอบพื้นที่และผลสรุปจากคณะทำงานก่อนที่จะดำเนินการในระยะต่อไป  นับเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาสร้างป่ากลับมาให้คงเดิมหลังจากมีการคัดค้านโครงการก่อสร้างจากประชาชน
หลังจบกิจกรรมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (ข่าวการให้สัมภาษณ์ https://goo.gl/PAjrv8 ) สิ่งที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอุทยานฯมีนัยยะสำคัญในด้านการจัดสรร  จัดประโยชน์  ที่มีอยู่ปัจจุบันให้เกิดผลดีมากที่สุดโดยไม่เกิดผลกระทบใดๆต่อสิ่งปลูกสร้างในเขตป่า   เนื่องจากหลักการดังกล่าวภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว “คนอยู่กับป่า” ถูกปฎิเสธตลอดมา 
ปัญหาป่ารุกที่คน  หรือคนรุกที่ป่านั้น  เริ่มมีมาตั้งแต่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ปี พ.ศ. 2497 และเริ่มมีกฎหมายอุทยานฯ พ.ศ. 2504 เกิดขึ้นมา   ความพยายามขีดเส้นแนวเขตพื้นที่ต่างๆภายใต้ความไม่พร้อมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่า ในเขา หรือยากจน  ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลในช่วงเวลาดังกล่าว   ส่งผลให้การประกาศแนวเขตพื้นที่สาธารณะ  แนวเขตพื้นที่ป่าต่างๆ  ไปส่งผลกระทบของผู้ที่อยู่อาศัยไปด้วย   กลุ่มคนดังกล่าวกลายเป็นคนบุกรุกแบบไม่รู้ตัว   มารู้ตัวอีกทีคือเมื่อมีหมายเรียก หรือ หมายศาล มาแปะที่บ้านพักอาศัยของตนเอง

การผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีมากว่า 30 ปี เป็นการชูวิถีและวัฒนธรรม เพื่อปกป้องรักษาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ของตนเอง  ให้หลุดพ้นจากการรุกรานของการพัฒนาเมืองที่พยายามจะกอบโกยทรัพยากรไว้เพียงบางกลุ่มซึ่งได้ปรากฎมาแล้วคือกลุ่มทุนเอกชนรายใหญ่  และการครอบครองโดยรัฐ  การบวชป่าเพื่อปกป้องการรุกรานของการพัฒนาคนเมือง จนพัฒนามาถึงการระดมเข้ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย พรบ.ป่าชุมชน ในช่วงปี พ.ศ. 2540 หลังจากที่ได้รัฐธรรมนูญใหม่  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  ถูกหน่วยงานต่างๆเข้ามาแก้ไขเนื้อหาจนเปลี่ยนเจตนารมณ์ความตั้งใจของประชาชนออกไปจนหมดสิ้น
ในปี พ.ศ. 2551 การรวมตัวกันของผู้เดือดร้อนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยในนาม “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย” ได้ริเริ่มที่จะผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ที่เป็นแนวความคิดพัฒนามาจากการดูแลพื้นที่ชุมชนตนเองจาก  สรุปบทเรียนการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐในรูปแบบการแจกที่ดินรายปัจเจก  และเพื่อเป็นการปลดล็อกการใช้ที่รัฐมาแก้ปัญหาที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ของคนจน  เน้นการบริหารทรัพยากรโดยชุมชน  การเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้นภายใต้การประชาคมในชุมชนถึงความเหมาะสม และสอดคล้องกับกติกาหรือธรรมนูญชุมชนที่ได้ตั้งไว้
ชุมชนก้าวใหม่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่เคลื่อนไหวการปฏิรูปที่ดินให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)  ชุมชนก้าวใหม่มีสมาชิก 88 ครอบครัว เป็นชุมชนที่มาจากการรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์และจังหวัดใกล้เคียง   เข้ามาใช้ที่ดิน สปก. ที่หมดสัมปทานจากบริษัทเอกชน  มีการออกแบบจัดการทรัพยากรที่ดินตามแนวหลักคิดโฉนดชุมชน  มีกติกาชุมชนและจัดแบ่งพื้นที่ที่เท่ากันในทุกครอบครัว  มีพื้นที่ส่วนกลางที่จะต้องช่วยกันดูแล และใช้ประโยชน์ร่วมกัน  การเกษตรที่ชุมชนก้าวใหม่ เป็นเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชา  ไม่มุ่งเน้นพืชเศรษฐกิจล้วน  อยู่ร่วมกันมานานมีกติกาชุมชนหรือธรรมนูญชุมชนใช้ร่วมกัน

ผลผลิตของพืชพันธุ์ต่างๆที่เพาะปลูกในชุมชนก้าวใหม่

 แต่หลังจากที่ส.ป.ก.  เริ่มดำเนินการจัดที่ดินในรูปแบบของ คทช. ซึ่งมีการดำเนินการปรับแผนผังชุมชนใหม่ และได้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้นมา การนำที่ดินของ สปก. มาจัดให้กับประชาชนตามแนว คทช. ซึ่งความต่างกันคือ โฉนดชุมชนเน้นการบริหารทรัพยากรโดยชุมชนร่วมกัน  แต่ คทช. พยายามจะเน้นเจกเป็นรายปัจเจก  อีกทั้งในการจัดที่ดินบนที่ตั้งของชุมชนก้าวใหม่ คทช. จังหวัดสุราษฎร์ฯ  เริ่มดำเนินการรังวัดที่ดินใหม่  เตรียมพื้นที่สำหรับทำถนนซอย และยังมีการตัดพืชผลทางการเกษตรที่สมาชิกในชุมชนปลูกสร้างไว้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน  ทั้งๆที่ชุมชนก้าวใหม่มีการจัดสรรแบ่งแปลงตามกติกา  หากแต่หน่วยงานรัฐยังยืนกรานที่จะต้องปรับผัง-แบ่งแปลงที่ดินตามที่พวกเขาออกแบบเท่านั้น


ย้อนกลับถ้านำเอาหลักคิด หลักการ ของอธิบดีกรมอุทธยานฯมาใช้   นอกจากพืชผล ต้นไม้ บ้านเรือน ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำลายสิ่งเหล่านั้นที่ชุมชนได้คิดค้น ปฎิบัติกันมาจนเป็นระเบียบเรียบร้อย   ที่สำคัญพื้นที่ สปก. ที่ชุมชนตั้งอยู่นั้น  หากไม่มีกลุ่มประชาชนเหล่านี้เข้าไปทำประโยชน์ที่ดินยังคงตกเป็นของกลุ่มนายทุนที่หมดสัมปทาน  แต่ไม่ยอมคืนพื้นที่ให้กับ สปก. และยังคงทำประโยชน์ไปเรื่อยๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆให้กับรัฐ   จนกระทั่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้  ได้ทราบข้อมูลเหล่านั้นประกอบกับมีประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจึงได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อให้เกิดกระบวนการ “คืนพื้นที่ให้กับ สปก.” เพื่อประชาชนที่ไร้ที่ดินจะสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้
สิ่งเหล่านี้เองเป็นบทพิสูจน์ถึงการใช้ที่ดินโดยไม่ได้คำนึงถึงการเก็งกำไรค้าที่ดิน  แต่มองเห็นที่ดินเป็นสิ่งสำคัญในปัจจัยการผลิต  ที่คู่ควรแก่ผู้ผลิตตัวจริงที่ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเต็มที่   ดังนั้นโฉนดชุมชน หรือ การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน  จึงสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาได้  และไม่ควรยึดติดกับการแก้ปัญหาที่จะต้องมีรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับบางพื้นที่ได้  ส่งผลให้เกิดกรณีปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกอย่างเช่นโครงการเก่าๆในอดีตที่ผ่านมา เช่น โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ในปี พ.ศ. 2533 ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด  แบบไหน  หากไม่มองเห็นถึงข้อเสนอภาคประชาชนที่มีความจริงใจในการพัฒนาร่วมกันแล้ว  การแก้ปัญหาที่จะให้ตรงจุดและสำเร็จย่อมจะทำได้ลำบาก  หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้   โมเดลที่ประชาชนสร้างขึ้นมา  พิสูจน์ให้เห็นแล้วอย่างกรณีชุมชนก้าวใหม่ จังหวัดสุราษณ์ธานี จึงเป็นกรณีศึกษา  และนำมาทดลองใช้ในอีกหลายพื้นที่ที่สามารถใช้ตามโมเดลนี้ได้

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...