วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไล่สลัมให้พ้นเมือง : วิสัยทัศน์อันเรืองรองหรือมุมมองอันมืดบอด ?

ไล่สลัมให้พ้นเมือง : วิสัยทัศน์อันเรืองรองหรือมุมมองอันมืดบอด ?

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

วิสัยทัศน์เฮงซวย : ของนายกฯห่วยแตก
          ในการประชุมประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) ที่ศูนย์อิมแพค  อารีนา  เมืองทองธานี   เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551   นายสมัคร   สุนทรเวช   นายกรัฐมนตรี   ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง วิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี 2570 โดยมีเนื้อความพาดพิงถึงสลัมหรือชุมชนแออัดว่า
มีความต้องการที่จะขยับขยายหรือย้ายชุมชนที่เรียกว่า สลัม ประมาณ 1,700 แห่ง รวมถึงโรงงานขนาดเล็กที่มีอยู่ 30,000 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร  ออกไปไว้นอกเมือง   โดยรัฐบาลจะเข้าไปเจรจากับเจ้าของที่เดิม   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีเก่าเพื่อขอเช่าพื้นที่ต่อ   เพราะหากซื้อจะต้องเสียภาษีมาก   จากนั้นจะนำพื้นที่เหล่านั้นมาจัดให้เป็นสัดส่วน   ทำเป็นสวนสาธารณะหรือจุดสีเขียว   เพื่อให้ กทม.มีพื้นที่สีเขียวขึ้น   ก็จะทำให้ กทม.   เป็นเมืองที่มีความสวยงามและน่าอยู่
แนวความคิดในการย้าย สลัม ออกไปนอกเมืองเพื่อนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะรวมทั้งสร้างพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสวยงามและเมืองน่าอยู่นั้น   นำมาซึ่งปฏิกิริยาตอบโต้จากชาวสลัม   เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนแออัด   ได้ประกาศจุดยืนคัดค้านวิสัยทัศน์ของนายสมัคร   ด้วยการระดมตัวแทนกว่าร้อยคนไปยื่นจดหมายเปิดผนึกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล  โดยให้เหตุผลว่า  วิสัยทัศน์การพัฒนาด้วยการย้ายคนสลัมไปอยู่นอกเมือง   เป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของปัญหาสลัม   มองไม่เห็นคุณค่าของชุมชนและคนยากจนที่มีฐานะเป็นแรงงานในการสร้างควมเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมือง   นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี  ทบทวนวิสัยทัศน์การพัฒนาในแบบที่รื้อย้ายคนสลัมออกไปนอกเมือง
นอกจากจะส่งสาส์นถึงรัฐบาลแล้ว   ชาวสลัมกลุ่มนี้ยังเปิดเวทีสาธารณะเพื่อถกเถียงถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าวในหัวข้อ ไล่สลัมให้พ้นเมือง : วิสัยทัศน์อันเรืองรองหรือมุมมองอันมืดบอด ? ณ  อาคารศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์   วัดหนู   เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา   โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ  กรรมการสิทธิมนุษยชน   นักวิชาการ  เอ็นจีโอ  และผู้นำชุมชนเข้าร่วมพูดคุย


คนสลัม : กับตำนานแห่งการบุกเบิก
คนสลัมเป็นผู้บุกเบิก   การเกิดขึ้นของสลัมเกี่ยวพันกับทิศทางการพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมโดยละทิ้งภาคเกษตร   ทำให้พี่น้องคนจนในชนบทต้องอพยพเข้าเมือง   เมื่อมาอยู่เมืองภาครัฐก็ไม่ได้เหลียวแลในเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งๆที่พี่น้องเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง   คนจนเหล่านี้จึงต้องแสวงหาที่อยู่อาศัยกันเองทั้งในที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐและเอกชน   จนกลายเป็นชุมชนแออัดในท้ายสุด
เจ้าของความเห็นที่ตรงไปตรงมานี้คือ   ประทิน  เวคะวากยานนท์  ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค  หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อข้างต้น   ทัศนะของเธอทำให้นึกถึงภาพของสลัมคลองเตย   แหล่งชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ   เมื่อครั้งที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ   อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าทำให้รัฐบาลต้องสั่งสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างชาติ   ท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการขนถ่ายสินค้า   เมื่อไม่มีที่ซุกหัวนอนกุลีแรงงานเหล่านั้นจึงบุกเบิกถิ่นฐานการอยู่อาศัยในที่ดินของการท่าเรือฯจนกลายเป็นสลัมคลองเตย
นอกจากที่คลองเตยแล้ว   สลัมแห่งอื่นๆก็มีลักษณะของการบุกเบิกไม่ต่างกัน   จากประสบการณ์ตรงของผมในการทำงานกับสลัมในที่เอกชนย่านพระราม 3 ราว 1,000 ครอบครัว พบว่า
ชุมชนส่วนใหญ่ 5 ชุมชน  อาศัยอยู่ในที่ดินเอกชนที่มีสภาพเป็นป่าจาก   และร่องสวนเก่า  ซึ่งเจ้าของที่ปล่อยรกร้างเอาไว้  มีเพียงผู้ดูแลที่ดินที่ต่อมานำเอาที่ดินมาแบ่งแปลงออกขายด้วยการเรียกเก็บค่าหน้าดินจากชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่แปลงละ 5,000 15,000 บาท  แล้วแต่ขนาดของแปลงที่ดิน  การจ่ายค่าที่ดินไม่มีลายลักษณ์อักษรใดๆ   นอกจากคำสัญญาที่จะนำเงินไปให้เจ้าของที่   และด้วยกระบวนการเช่นนี้  ขบวนแถวของผู้ไม่มีบ้านต่างก็ทยอยกันเข้าปักหลักจับจองที่ดิน  หักร้างถางพง  ปลูกบ้านพักอาศัยและพัฒนาเป็นชุมชนในที่สุด   อีกตัวอย่างหนึ่งของการบุกเบิกที่ดินเอกชนก็คือ   ชุมชน 2 แห่ง  ที่เถ้าแก่โกดังค้าข้าวริมแม่น้ำเจ้าพระยานำเอาที่ดินของตนที่อยู่ใกล้ๆกับโกดังมาปลูกเป็นเรือนแถวให้คนงานพักอาศัย   จากนั้นการก่อตัวเป็นชุมชนก็เริ่มขึ้น   เมื่อบรรดาจับกังต่างพากันหอบเอาลูกเมีย  เครือญาติ  มาอาศัยด้วย   เพื่อช่วยกันทำมาหากินจนในท้ายสุดก็แตกขยายกลายเป็นชุมชน
สลัมในหัวเมืองก็เช่นกัน   มักมีพัฒนาการในการตั้งถิ่นฐานภายหลังการเข้ามาเป็นกำลังแรงงานในเมือง   สลัมริมทางรถไฟที่ขอนแก่นมีบรรพบุรุษรุ่นแรกเป็นคนงานตัดฟืนเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อน้ำรถไฟในสมัยที่การรถไฟฯยังใช้รถที่วิ่งด้วยหัวรถจักรไอน้ำ       นอกจากนี้สลัมในที่ดินของวัด   ที่ดินสาธารณะ   และที่ราชพัสดุตามจังหวัดต่างๆ   ก็ล้วนแต่มีที่มาที่ไปในลักษณะของการถูกบุกเบิกทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่าการบุกเบิกตั้งถิ่นฐานของชาวสลัม   เกิดจากความจำเป็นของการไม่มีที่อยู่อาศัยภายหลังอพยพเข้าสู่เมือง   นอกจากนี้การช่วยกันสร้างบ้านแปงเมือง   พัฒนาพื้นที่ทั้งทางกายภาพ  ถนนหนทาง  และการก่อเกิดขึ้นของแหล่งย่านค้าขายของชุมชน   ก็ส่งผลโดยตรงต่อความเจริญและมูลค่าของที่ดินที่ชุมชนบุกเบิกอยู่อาศัย   ดังนั้น  นี่จึงไม่ใช่การบุกรุกถือครองด้วยสภาพจิตอันละโมบที่มุ่งหวังผลประโยชน์และกำไรในทรัพย์สินของผู้อื่น   หากแต่เป็นการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าของผู้ที่ล้มละลายมาจากชนบท   เป็นการหยั่งรากฝากกายของชีวิตใหม่ในเขตเมือง

ไล่สลัมออกนอกเมือง : สารพัดเรื่องใครจะทำ
โปสเตอร์แผ่นหนึ่งถูกใส่กรอบติดไว้ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค   โดยมีข้อความเขียนว่า ไล่สลัมไปนอกเมือง  สารพัดเรื่องใครจะทำ ”   ถ้อยคำรณรงค์นี้เป็นคำขวัญที่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวสลัมอย่างแน่นอน   เพราะนอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกถิ่นฐานในเมืองแล้ว  การดำรงอยู่ของพวกเขายังเกี่ยวพันอย่างมากกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง  ภาคการผลิต  พานิชยกรรม  การก่อสร้างและธุรกิจบริการ   ต่างต้องพึ่งพาแรงงานจากชุมชน   งานหนักและอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ  เป็นต้นว่า  แบกหาม  กรรมกร  เก็บขยะ  กวาดถนน  ขับรถเมล์ ฯลฯ  ก็ล้วนแต่คนสลัมทำ 
อย่างไรก็ตามสำหรับภาครัฐแล้ว  ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปเป็นฐานคิดเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพปัญหา   หน่วยงานราชการต่างๆอาศัยแต่มุมมองทางกฏหมายมาเป็นมาตรการหลักในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด  ชุมชนถูกประทับตราว่าเป็น ผู้บุกรุก ”   และท้ายสุดก็มักไปจบลงที่การใช้กฏหมายในการรื้อย้ายชุมชน
สังวาลย์   บุญส่ง   แกนนำชุมชนบ่อนไก่   ผู้ร่วมวงเสวนาอีกคน   กล่าวยืนยันถึงความเจ็บปวดจากการไล่รื้อและขับไล่ชาวสลัมออกไปนอกเมือง เมื่อปี 2526  ชุมชนคลองบางอ้อถูกคอมมานโดไล่รื้อ   มีการจับกุม  ใช้ความรุนแรง   ผมเห็นผู้หญิงคนแก่ต้องก้มกราบตำรวจเพื่อขอไม่ให้รื้อบ้าน   ตอนนั้นผมทำงานขับรถส่งน้ำมันแวะเข้าไปดูสถานการณ์   จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากงานแล้วเข้าร่วมกับเอ็นจีโอก่อตั้งองค์กรชาวบ้านเพื่อต่อสู้ในสิทธิที่อยู่อาศัย   นอกจากนี้แนวคิดเรื่องการย้ายคนจนออกไปนอกเมืองก็มีมานานแล้ว   สมัยนั้นนายวัฒนา  อัศวเหม เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย  ก็คิดย้ายคนสลัมออกไปอยู่ปราจีนบุรี   แต่พี่น้องไม่เอาด้วย   มีการยกพลไปเจรจาคัดค้านเพราะคนจนจะต้องอยู่ในเมือง  หากินในเมือง   พวกแม่ค้าที่ย้ายไปชานเมือง   เวลายกหาบขนมจีนขึ้นรถเมล์เพื่อนำมาขาย   ก็ถูกกระเป๋ารถเมล์บ่น   ดังนั้นจึงเป็นเรื่องลำบากที่คนจนต้องไปใช้ชีวิตอยู่นอกเมือง
ประสบการณ์ในการย้ายชุมชนไปอยู่นอกเมือง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของการเคหะแห่งชาติที่กระจายอยู่ในหลายจุด อาทิเช่น มีนบุรี  หนองจอก  ลาดกระบัง  ลาดหลุมแก้ว  รังสิตคลองสาม  คลองห้า นั้น   ท้ายสุดแล้วพบว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนสลัม   การย้ายชุมชนออกนอกเมือง หากพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การพาคนไปอยู่ห่างไกลจากแหล่งงานเดิมของชาวสลัม ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบในเมือง เช่น กรรมการ ลูกจ้าง คนเก็บของเก่า แม่ค้าหาบเร่ ฯลฯ  คนที่ยึดอาชีพเหล่านี้ ครั้นจะกลับมาทำงานในเมืองที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าเดินทางที่แพงขึ้น อีกทั้งยังต้องเสียเงินผ่อนชำระค่าที่ดิน สินเชื่อปลูกบ้าน และเมื่อรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ชุมชนใหม่ไม่ได้ ก็ต้องเซ้งสิทธิ์กลับเข้ามาบุกเบิกชุมชนในเมืองอีก
ผลจากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวสลัมที่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกว่าร้อยละ 50 ทิ้งบ้านและกลับเข้ามาอยู่อาศัยในสลัม  ทั้งที่อยู่ในรูปของการกลับมาเช่าบ้าน เช่าห้อง และการเข้ามาบุกรุกที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย  เพื่อความสะดวกในการทำงาน  โดยชาวสลัมบางส่วนก็ทิ้งคนแก่และเด็กไว้ในที่อยู่อาศัยนอกเมืองและไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว
ความล้มเหลวของการย้ายชุมชนไปนอกเมือง  สอดคล้องกับทัศนะของ น.ส.สมสุข  บุญญบัญชา  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( พอช. )  ที่กล่าวในวงเสวนาว่า แนวคิดในการรื้อย้ายสลัมไปไว้นอกเมือง   เป็นแนวคิดที่หลายประเทศในเอเชียยึดเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในระหว่างช่วงปี 2515 2525   แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ   เพราะในที่สุดคนจนก็ต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิต   เข้ามาทำมาหากินในเมืองอีก   แสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้ใช้แก้ปัญหาความเป็นชุมชนแออัดในเมืองไม่ได้   ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะให้นักการเมืองมองว่าประชาชนเป็นทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา   ไม่ใช่เป็นตัวปัญหา   และควรให้ชาวบ้านเป็นศูนย์กลางในการทำโครงการที่อยู่อาศัย

ปฏิรูปที่ดินเมือง : เครื่องมือสู่สิทธิในที่อยู่อาศัย
การคัดค้านต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองของนายกรัฐมนตรี  ไม่ได้หมายความว่าชาวชุมชนแออัดเห็นด้วยกับการดำรงอยู่ของสภาพ สลัม   ในจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายสลัม 4 ภาคระบุว่า   เราขอยืนยันว่าเราอยากแก้ไขปัญหาสลัม   ไม่ต้องการอยู่กันอย่างชุมชนแออัดที่ไม่เป็นระเบียบไม่ถูกสุขลักษณะ   แต่การแก้ไขปัญหาสลัมไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีย้ายคนไปนอกเมือง   วิธีการปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมให้พ้นจากความเป็นสลัมก็สามารถกระทำได้และมีรูปธรรมตัวอย่างมาแล้วมากมาย    เครือข่ายสลัม 4 ภาคทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ โดยการทำสัญญาเช่าระยะยาว 30 ทั้งในที่ดินเดิมหรือพื้นที่รื้อย้ายใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตร   ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าชุมชนจะต้องจัดผังชุมชนใหม่เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบและไม่อยู่ในสภาพสลัม ”
นอกจากการทำโครงการปฏิรูปที่ดินเมืองในพื้นที่การรถไฟฯ   ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องไปกว่า 1,500 ครอบครัวแล้ว    ปี 2546    รัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ ซึ่งรัฐบาลสมัครเป็นนอมินีอยู่ในขณะนี้   ก็ได้อนุมัติให้ดำเนิน โครงการบ้านมั่นคง   ที่เน้นให้ชุมชนแออัดปรับปรุงชุมชนหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่   โดยมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของที่ดินเป็นต้นว่า กรมธนารักษ์   รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การรถไฟฯ   การท่าเรือฯ   จัดที่ดินให้ชุมชนเช่าปรับปรุงที่อยู่อาศัยในระยะยาว   ขณะนี้มีการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงร่วมกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และชาวชุมชนแออัดเป็นจำนวนกว่า 50,000 หลังคาเรือน  
หากไม่นับเฉพาะประเทศไทย   การแก้ไขปัญหาสลัมในแบบที่ไม่ต้องย้ายคนไปนอกเมืองยังเป็นนโยบายในระดับสากลด้วย   ทั้งนี้เพราะองค์การสหประชาชาติได้รณรงค์คำขวัญ “Cities without Slum” หรือ เมืองที่ปราศจากสลัม มาตั้งแต่ปี 2544   ซึ่งความหมายก็คือให้ประชาชาติต่างๆมีนโยบายปรับปรุงชุมชนให้พ้นจากความเป็นสลัม   มิได้หมายถึงการรื้อย้ายหรือขจัดสลัมออกไปนอกเมือง (Slum Clearance)    
แนวทางที่อยู่อาศัยระดับสากลไม่ได้ต่างไปจากความเห็นของ น.ส.อาภรณ์  วงษ์สังข์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ที่ระบุว่า การย้ายสลัมไปนอกเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องนำเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี    ที่สำคัญคือประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม   ซึ่งคุ้มครองให้พลเมืองได้มีค่าครองชีพและมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ   หากมีการละเมิดก็ต้องถูกตรวจสอบ

เมืองน่าอยู่ : วาทกรรมสวยหรูของเสรีนิยมใหม่
เมืองน่าอยู่   เมืองสีเขียว นั้น    เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่เน้นความเป็นระเบียบ  ความสวยงาม  และความทันสมัย   ที่ส่งผลครอบงำแนวทางการบริหารจัดการเมืองของหลายประเทศในเอเชีย   เมื่อ 20 ปี ที่แล้ว   กรุงโซลของเกาหลีใต้กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค   แต่เบื้องหลังของการเป็นเมืองชั้นนำนั้น   คือการกวาดล้างชาวสลัมหลายหมื่นครอบครัวออกไปนอกเมือง   และจากนั้นมาเมืองหลวงของเกาหลีใต้ก็เต็มไปด้วยโครงการรื้อย้ายสลัม / แหล่งย่านของคนจน เพื่อเปิดทางให้กับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับชนชั้นกลาง ( Urban Land Redevelopment )
ในฟิลิปปินส์   ชาวสลัมริมแม่น้ำปาสิกกลางกรุงมะนิลาราว 94,000 ครัวเรือน   กำลังถูกทางการขับไล่จากพื้นที่เดิมด้วยข้ออ้างของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมน้ำ   ขณะที่ผู้อยู่อาศัยใต้ทางด่วน ( Freeway ) ในกรุงจาการ์ตา  ประเทศอินโดนีเซีย  ประมาณ 10,000 ครอบครัว ที่อยู่ในสภาพรกหูรกตาของผู้มีอำนาจ   ก็กำลังถูกไล่รื้อเช่นกัน
สำหรับบ้านเรานั้น   มีสารพัดโครงการซึ่งสะท้อนตัวตนของการเป็น เมืองน่าอยู่ ที่ไม่สนใจคนจนและละเลยวิถีชุมชน   ชื่อเสียงเรียงนามที่พอคุ้นหูของโครงการเหล่านี้ก็เช่น  โครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชั้นใน   ที่ชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมอย่างชุมชนป้อมมหากาฬกำลังได้รับผลกระทบ   โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดวาอารามหลวง   เป็นต้นว่า วัดยานนาวา   วัดกัลยาณมิตร   ที่คณะสงฆ์ทำการขับไล่ชุมชน    โครงการเขตเศษฐกิจพิเศษพระราม 3   ที่จะเนรมิตรเมืองใหม่ริมแม่น้ำทดแทนแหล่งย่านของชุมชน   โครงการคลองเตยคอมเพล็กซ์   ที่กำลังมองข้ามหัวคนจนด้วยการเปิดรับการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติ   และโครงการฟื้นฟูเมืองใหม่ดินแดงโดยการทุบแฟลตเดิมทิ้งเพื่อสร้างอพาทร์เม้นใหม่
วิสัยทัศน์ย้ายคนจนไปนอกเมืองเพื่อสร้างเมืองสวยงาม   เมืองน่าอยู่   โดยการขจัดสลัมออกไปซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งในและต่างประเทศนั้น   ถือเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ไม่เคารพต่อคุณค่าและวิถีของชุมชน   นอกจากนี้การเป็นเมืองน่าอยู่ยังมีเป้าหมายแฝงเร้นในเชิงของการนำเอาพื้นที่ไปใช้ในการลงทุนธุรกิจและการค้าตามกรอบลัทธิเสรีนิยมใหม่   วิสัยทัศน์การย้ายคนไปนอกเมืองเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่   จึงเป็นวาทกรรมที่ใช้สำหรับสร้างสวรรค์สำหรับนักลงทุน   นักธุรกิจข้ามชาติ   ผู้ประกอบการน้อยใหญ่   รวมถึงชนชั้นกลาง   โดยไม่มีพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยและวิถีชุมชน   ดังนั้นจึงเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มีอคติ   ลำเอียง   ไม่มีวัฒนธรรม  และปราศจากมนุษยธรรม

ความเสมอภาค : รากฐานแห่งเมืองของทุกชนชั้น
ในการเสวนา   นพพรรณ   พรหมศรี   เอ็นจีโอจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย   วิพากษ์วิจารณ์นายสมัคร  สุนทรเวช ว่า เป็นนายกฯที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย   คิดอะไร  จะทำอะไร   ก็ไม่เคยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม   การพัฒนาเมืองใหญ่ที่เอาใจแต่คนรวย   โดยปิดกั้นความคิดเห็นของคนจนจะทำได้อย่างไร ”   
ความคิดเห็นนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการสร้างเมืองที่ไม่เท่าเทียม  เมืองที่ไม่เสมอภาคของรัฐบาล   ซึ่งตรงกันข้ามกับประสบการณ์การพัฒนาในญี่ปุ่นที่   บุญเลิศ   วิเศษปรีชา   นักวิชาการจากคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ในญี่ปุ่นมีชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่าพวก  บุรากุ  คนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเลือกปฏิบัติ  ถูกกีดกันในหลายเรื่อง   ทั้งในด้านสถานะทางสังคม   การศึกษา  อาชีพ  การสมรส   รวมถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย   แต่แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะรังเกียจเดียจฉันท์คนกลุ่มนี้ขนาดไหน   ในท้ายสุดรัฐบาลก็ยังต้องยินยอมให้พวกบุรากุพัฒนาถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของพวกเขาเองได้   ให้พวกเขาได้ปรับปรุงชุมชน   ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น  โดยไม่ขับไล่หรือรื้อย้ายออกไป
เรื่องราวของชาวบุรากุ   จึงเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองที่เน้นการมีส่วนร่วม   ยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมของผู้คน   เฉกเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวเพื่อเมืองที่เสมอภาคและเอื้ออาทรในกรุงมะนิลา เมื่อปี 2540   ที่ชาวสลัม  เอ็นจีโอ  และภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์   พยายามขับเคลื่อนนโยบายต่อต้านการไล่รื้อรวมทั้งตรวจสอบการละเมิดสิทธิที่อยู่อาศัยของรัฐบาล   กิจกรรมดังกล่าวมีการเชิญ   มาร์ติน  ชีน  ดาราดังแห่งฮอลลีวู้ดมาเข้าร่วมการรณรงค์ด้วย
แนวความคิดเรื่องเมืองแห่งความเสมอภาค   จึงเป็นแนวคิดที่ไปด้วยกันได้กับข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ที่บ่งบอกไว้ในจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลว่า
การคัดค้านวิสัยทัศน์ที่จะย้ายสลัมไปนอกเมือง   ไม่ได้หมายความว่าเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่เห็นด้วยกับการสร้างพื้นที่สีเขียว  การสร้างเมืองน่าอยู่   ตรงกันข้ามเราเห็นด้วยกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยในเมือง   แต่ความเป็นเมืองน่าอยู่จะต้องมีที่ทางให้กับคนจนและวิถีชุมชนด้วย   รูปธรรมแนวคิดเช่นนี้ก็เช่น การพยายามปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนป้อมมหากาฬ   ที่มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมของชุมชนไปพร้อมๆกัน   ตัวอย่างของชุมชนป้อมมหากาฬสามารถนำไปขยายผลยังพื้นที่ชุมชนแออัดอื่นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องย้ายชุมชนออกไปแล้วสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นแทน   นอกจากนี้หากรัฐบาลต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างสวนสาธารณะ   ก็สามารถเวนคืนพื้นที่ที่ไม่มีประโยชน์ทางสังคม อาทิ พื้นที่ท่องเที่ยวบันเทิงยามราตรีที่เป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุขอันเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชนที่มีอยู่หลายแห่งในกรุงเทพฯมาสร้างเป็นสวนสาธารณะได้
ความเห็นของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต่อการพัฒนาเมือง    จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่อยากเห็นเมืองที่เสมอภาค   เมืองที่มีพื้นที่และโอกาสที่เท่าเทียมในการใช้ชีวิต   และเป็นเมืองสำหรับผู้คนทุกชนชั้น   ไม่ใช่เมืองที่คอยผลักไสไล่ส่งคนยากคนจน   เพราะดังที่ผู้นำสลัมท่านหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้อย่างลึกซึ้งว่า...เมืองจะเจริญไม่ได้   ถ้าปราศจากคนจน .


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...