วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ประชานิยม : ประชารัฐ : รัฐบริษัท

ประชานิยม : ประชารัฐ : รัฐบริษัท

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

มาเป็นแพ็คเกจ  ตามสเต็ป  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ  โดยกุนซือด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เดิมเคยอยู่กับพรรคการเมืองที่ได้แปรผันตัวมาเป็นมันสมองให้รัฐบาลเหล่าทัพแทน  แต่ที่น่าแปลกใจคือไอเดียการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกลับไม่ได้ผิดแปลกแตกต่างจากกลุ่มพวกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ที่โดนโจมตีก่อนการยึดอำนาจว่าใช้แต่นโยบายประชานิยม  อาจจะทำให้ประชาชนเคยชินกับการร้องขอ รอแจก ไม่มีความยั่งยืนแต่อย่างใด
เราสามารถพบเห็นไอเดียการแก้ปัญหาปากท้องพี่น้องคนจนได้เห็นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น “โครงการจำนำยุ้งฉาง” แค่ชื่อออกมาก็ทำเอาเรียกเสียงฮือฮาออกมาพร้อมกับคำถามว่า มันต่างจากการโครงการรับจำนำข้าว อย่างไร  การมีมติ ครม. ยืดต่ออายุบริการขนส่งมวลชน “ต่ออายุ รถเมล์ – รถไฟ ฟรี” ออกไปอีก
มาช่วงใกล้ปีใหม่นี้ล่าสุดมาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย  ก็เริ่มหยิบเอาผู้ที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจน (อันนี้ก็รูปแบบของรัฐบาลก่อนที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อเอาไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อออกนโยบายประชานิยมรูปแบบต่างๆ)  ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 19,290 ล้านบาท ซึ่งมีเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท มีจำนวน 4.6 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.5 ล้านราย คนจนในเมือง 3.1 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนวงเงิน 13,830 ล้านบาท
2. ผู้ที่มีรายได้ต่อปี ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 3.6 ล้ายราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.3 ล้ายราย คนจนในเมือง 2.3 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 1,500 บาท รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุน 5,460 ล้านบาท
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือตามมาตการนี้จะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนคนจนไว้เมื่อวันที่ 15 ก.ค. – 15 ส.ค. 2559 แล้วเท่านั้น (ตามแผนภูมิรูปภาพข้างล่าง)


          แน่นอนว่ามาตรการนี้จะส่งตรงถึงมือผู้ลงทะเบียนคนจนไว้  โดยผ่าน 3 ธนาคารของรัฐ   แต่หากจะมองย้อนสถานการณ์ช่วงเปิดให้ลงทะเบียนคนจน  ห้วงเวลาดังกล่าวเกิดคำถาม  และเบื่อหน่ายกับการที่ลงทะเบียนแล้วไม่เกิดอะไรดีขึ้น  ความกังวลใจในเรื่องเครดิตทางการเงินต่างๆที่อาจจะถูกลดชั้นไร้เครดิตไปได้  ส่งผลให้มีหลายคนที่ไม่ไปลงทะเบียน   รวมทั้งกลุ่มแรงงานอพยพมาทำงานต่างถิ่นตนเองที่ต้องเสียค่าเดินทางกลับไปลงทะเบียนในท้องถิ่นของตน
   

         
          และล่าสุดนโยบายของขวัญปีใหม่ “ช๊อปช่วยชาติ” ออกมาเพื่อให้ทันในช่วงปีใหม่  สร้างความหวังให้กับเหล่าร้านค้า ห้างร้าน ต่างๆ  ที่เงียบเหงาซบเซามานาน  ยังไม่นับรวมกับการขึ้นค่าแรงอันน้อยนิดของพี่น้องแรงงานในระบบ   แต่มีการเพิ่มสวัสดิการต่างๆให้กับข้าราชการอีกมากโข  
          ถึงกระนั้นก็ไม่ต่างจากประชานิยมที่ผ่านมา  คือการกระจายเงินก็มักจะได้ยินเสียงร้องเรียน คนจนจริงไม่ได้  คนไม่จนกลับได้ เนื่องจากเป็นคนจนเมืองหลวงที่มีค่าครองชีพอันสูงลิ่วทำให้ผู้คนในเมืองน้อยนักที่จะมีรายได้ต่ำกว่าแสนบาทต่อปี ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถจะใช้ชีวิตภายในเมืองได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลตามมาเช่นกัน  ดังนั้นการพิจารณาผู้ที่ควรจะได้รับหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือการแจกเงิน ๑,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ บาท นั้น บางกรณีก็ออกมาผิดฝาผิดตัวกัน อย่างเช่นตัวอย่างพี่น้องในชุมชนแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนทำงาน คนที่ทำมาหากินรายได้ต่ำได้รับพิจารณาให้ได้รับเงิน ๑,๕๐๐ บาท ส่วนคนที่ไม่ทำมาหากิน แต่ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยรายวันได้รับพิจารณาได้นับเงิน ๓,๐๐๐ บาท  ถึงแม้จะมีการเปิดโอกาสให้แก้ตัวลงทะเบียนใหม่อีกรอบ  และการช่วยแบ่งเบาคนจนเป็นการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ จำนวนถึง ๘๐% ก็คงมาดูอีกทีพี่น้องคนจนในสลัมจะมีโอกาสได้ใช้หรือไม่ เพราะสลัมส่วนใหญ่ไม่ได้มีมิตเตอร์น้ำ – ไฟ เป็นของตัวเอง แต่ใช้ต่อพวงซื้อต่อมาอีกทีหนึ่ง เหล่านี้จะทำอย่างไรที่จะคนชายขอบหลายกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงนโยบายประชารัฐได้  
และถ้าหากมองผ่านอย่างเร็วๆ ก็เสมือนว่ารัฐพยายาม ลดแหลก แจก แถม ให้กับชนทุกชั้น  แต่หากนั่งมองอย่างละเอียดว่าปลายทางงบประมาณหลายหมื่นล้านสุดท้ายจบลงที่ใคร?  วาทกรรมที่ว่า “รัฐบริษัท” จริงๆก็เคยมีผู้คนได้กล่าวไว้กับหลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน  รูปการรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจก็ไม่ต่างกัน   ล้วนแล้วทำเส้นทางการบริหารประเทศไปตามแนวทางบริษัทที่ผูกขาดภายในประเทศไม่กี่บริษัท   เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมักจะมาจากบริษัทที่ผูกขาดในประเทศเริ่มจะมียอดขายลดลง (ดูได้จากบริษัทผูกขาดด้านต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเป็นคณะกรรมการประชารัฐประกอบได้)   และหากจะดูการพัฒนาระบบคมนาคมระบบราง  ก็ได้รับการตอบรับจากบริษัทยักษ์ใหญ่  ทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการลงทุนด้านคมนาคมแต่กลับมีความอยากจะลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ซึ.พี. สนใจอยากลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายตะวันออก  หรือ ไทยเบฟ สนใจอยากจะลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายใต้ (ช่วง กทม. – หัวหิน) เพราะอะไรจึงมีแรงดึงดูดให้ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนด้านนี้  เพราะ 2 บริษัทนี้ มีโรงงาน มีสายพาน มีที่ดิน ที่อยู่ปลายเส้นทางคมนาคมนี้หรือไม่ ?
การปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้หน้าตาทีมเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนบางตำแหน่ง  แต่หัวเรือใหญ่ยังคงเดิมแทบไม่ต้องคิดถึงอนาคตเศรษฐกิจไทยในภายหน้า  เพราะคงไม่พ้นรูปแบบเดิมๆคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เหลือ อย่างที่เห็นเตรียมนำทางด่วนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยกที่ดินให้ต่างชาติในระยะเวลาที่ยาวนาน ดังที่ได้รับทราบอย่างเนืองๆในการเตรียมแต่งตัวจัดทำกฎหมายหลายฉบับเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ  แต่ก็ไม่เป็นกระแสหลักที่จะลดความชอบธรรมการบริหารของรัฐบาลนี้ไปได้   ถึงจะ “ประชารัฐ หรือ ประฃานิยม  สุดท้ายแล้วประชาชน  ยังคงเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการอยู่ต่ออายุอำนาจ” เช่นเดิม   แต่ความต่างกันคือกลับไม่มีขบวนประชาชนจำนวนมหาศาลออกมาคัดค้านนโยบายเหล่านี้  ทั้งๆที่เคยคัดค้านกันมากับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา  มีเพียงแต่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ กับกลุ่มที่รับไม่ได้กับนโยบายการบริหารประเทศเหล่านี้  ออกมาเรียกร้องคัดค้าน  นี่คงเป็นบทเรียนหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้  และนำมาศึกษากับปรากฏการณ์เหล่านี้  เพื่อจะได้นำไปสู่การกำหนดอนาคตโดยประชนเองอย่างแท้จริง
          

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...