วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วันที่อยู่อาศัยโลก สิทธิพื้นฐานที่กลายเป็นสินค้า

วันที่อยู่อาศัยโลก
สิทธิพื้นฐานที่กลายเป็นสินค้า

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก   เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย  การมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม    รวมถึงปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยากจนในทุกภูมิภาคของโลก
          สาเหตุของสภาพปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยดังกล่าว   เกิดจากแนวคิดและรูปธรรมการพัฒนาทุนนิยมแบบสุดขั้ว   การพัฒนาเมืองที่ตอบสนองต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ การเป็นเมืองที่ทันสมัย ซึ่งการพัฒนาต่างๆ  เหล่านี้สร้างความมั่งคั่งให้กับคนกลุ่มหนึ่ง  พร้อมกับการเบียดขับคนจนออกไปจากพื้นที่ คนยากจน และผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ต้องถูกแย่งชิงที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย  โดยปราศจากความรับผิดชอบใดๆ
          องค์การสหประชาชาติตระหนักถึงปัญหา และผลกระทบดังกล่าว จึงกำหนดให้มีวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้สาธารณชน และรัฐบาลนานาประเทศให้ความสำคัญ และมีมาตรการในการแก้ปัญหา  และเป็นวันที่คนจนในหลายๆ ประเทศ   จัดรณรงค์เพื่อสะท้อนปัญหา และนำเสนอมาตรการต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม
          ในประเทศไทย  จากการทำงานของเครือข่ายสลัม  4 ภาค เราพบว่า มีชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อ จำนวน 86 ชุมชน  8,100 ครอบครัว 34,000 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจร่วมกับการเคหะแห่งชาติบางส่วน และเป็นสถิติภายในพื้นที่ทำงานของเครือข่ายสลัม 4 ภาค)  อันเนื่องมาจากโครงการ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งรถไฟฟ้า  รถไฟความเร็วสูง  การขยายทางคู่  ที่มีแผนการก่อสร้างในทุกภาคของประเทศไทย เป็นการเอื้ออำนวยต่อการลงทุนทั้งทุนในประเทศ และทุนข้ามชาติ    โครงการการจัดการน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มใน 9 คลองหลัก  และในพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เป็นพื้นที่เปิดเหมาะแก่การลงทุน เช่น การสร้างคอนโดมีเนียม เป็นต้น   โครงการพัฒนาเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางรถไฟ ริมคลอง และในพื้นที่เอกชน ต้องถูกไล่รื้อ  ถูกรื้อย้ายชุมชน ถูกแย่งชิงที่ดินไปให้กับการพัฒนาที่ไม่รับผิดชอบต่อคนจน และอาจต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยในอนาคต  
          ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงชุมชนในชนบทที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จากแผนพัฒนาของรัฐ เช่น แผนแม่บทป่าไม้ – ที่ดิน การให้สัมปทานขุดเจาะทำเหมืองแร่ การสร้างโรงไฟฟ้า ที่กำลังทำให้คนในชนบทต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เป็นจำนวนมาก และเริ่มจะเห็นภาพการล่มสลายของชนบทได้อย่างชัดเจนดังที่จะพบในชุมชนแออัดจังหวัดเชียงใหม่ที่จะมีชาวพื้นเมืองเผ่าต่างๆเข้ามาอาศัยอยู่กัน



          สถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เป็นผลมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ  ทำให้คนจนต้องประสบกับสภาวะการไร้ที่อยู่อาศัย  ครอบครัว และชุมชนต้องล่มสลาย ไม่มีกลไก มาตรการ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา  และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศ และในท้องถิ่นของตนเอง          
          ในฐานะที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามกับองค์การสหประชาชาติ  เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ผู้นำประเทศกว่า 193 ชาติได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ณ กรุงนิวยอร์ค เพื่อรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ" (The Global Goals for Sustainable Development) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะกลายเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้     โดยข้อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย       คือข้อที่ 1 ข้อที่ 10 และข้อที่ 11 ในเป้าหมายของ SDGs ซึ่งปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลไทยต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง


          แต่จากสถานการณ์ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประเทศไทยในปัจจุบัน  การไล่รื้อชุมชนยังคงเห็นกันอยู่เนืองๆ อย่างที่เห็นตัวอย่างการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีภาคประชาชนหลายส่วน นักวิชาการหลายแขนง ที่ยืนยันได้ว่าการพัฒนาพื้นที่โดยไม่ต้องไล่รื้อชาวบ้านนั้นสามารถทำได้  แต่หน่วยงานกรุงเทพมหานครยังคงยืนยันที่จะต้องรื้อชุมชนนี้ให้ได้โดยอ้างหลักกฎหมายเป็นความชอบธรรมในการไล่รื้อครั้งนี้
          เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐที่ครองที่ดินไว้เยอะแต่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านสังคมนั้น  และยังคงหวงแหนที่ดินเป็นอย่างมาก  แต่การใช้เชิงพาณิชย์ของทางด้านเอกชน


ภาพการเข้ารื้อชุมชนป้อมมหากาฬ 3 กันยายน 2559

          วันที่อยู่อาศัยโลกในปีนี้  เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะร่วมกันเดินขบวนรณรงค์  เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไว้ต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ดังนี้
1.      ด้านที่อยู่อาศัย
1.1      โครงการของรัฐที่สนับสนุนการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย  รัฐบาลต้องมีนโยบายให้การประปา และการไฟฟ้า ดำเนินการต่อขยายระบบประปา และไฟฟ้า เพื่อให้บริการในพื้นที่โครงการ  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนจน
1.2      โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบในด้านที่อยู่อาศัยต่อชุมชน  รัฐบาลต้องบวกงบประมาณในการดำเนินการในส่วนนี้ เป็นต้นทุนของโครงการด้วย  เช่น โครงการพัฒนาระบบรางในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนในการแก้ปัญหาดังกล่าว
2.      การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง
2.1 รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อ ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันทางรายได้ขั้นพื้นฐาน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ยากลำบาก 
2.2 รัฐบาลต้องสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ โดยไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลปลายทาง   และต้องพัฒนาระบบสุขภาพทุกระบบให้มีคุณภาพ เท่าเทียมกัน
2.3 ระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้  โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับผู้เข้าไม่ถึงสิทธิ์ 
3.      การแก้ปัญหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย และทำกิน
3.1 ต้องจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) และเดินหน้าการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินตามนโยบายโฉนดชุมชน  โดยการส่งมอบพื้นที่นำร่องสำหรับชุมชนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนพิจารณาของ ปจช. และเร่งผลักดันร่างพรบ.สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากร
3.2 ต้องดำเนินการคุ้มครองพื้นที่พิพาทที่มีคนจนอยู่อาศัย และทำกิน ที่อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อคุ้มครองไม่ให้ถูกขับไล่ และดำเนินคดี 
3.3 ต้องเร่งจัดตั้งพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน  เพื่อให้คนจนสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกิน และอยู่อาศัย
          เนื่องในโอกาสวาระวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2559 นี้  เครือข่ายสลัม 4 ภาค ในฐานะที่เป็นขบวนการของชาวสลัม และคนไร้บ้าน ในประเทศไทย ขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ ใช้ความพยายามมากกว่านี้ในการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทย และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ  ดำเนินการพัฒนา  ที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...