วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ร้อย สีหาพงษ์ นักสู้ของชาวสลัม


ร้อย สีหาพงษ์  นักสู้ของชาวสลัม
นายนิติรัฐ  ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้รวบรวม

นางร้อย สีหาพงษ์ หรือ ป้าร้อย ผู้นำชุมชนริมทางรถไฟท่าเรือคลองเตย ผู้นำศูนย์รวมพัฒนาชุมชน ผู้นำเครือข่ายสลัม 4 ภาค เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2477 ที่บ้านเปือย ตำบลเปือย อำเภอลืออํานาจ จังหวัดอํานาจเจริญ บิดาชื่อ เอี่ยม บุญหลง มารดา  ชื่อ เป้ บุญหลง มีพี่น้อง 10 คน เป็นบุตรคนที่ 3 ถือ  เป็นลูกสาวคนโต พี่น้องเสียชีวิตแล้ว 3 คน ป้าร้อยสมรสกับ นายพุฒ มีบุตรด้วยกัน 4 คน ได้แก่ นายชัยรัตน์ สีหาพงษ์ นางมัจฉา จำแนกทาน นายเทพา สีหาพงษ์ และนายปัญญา จำแนกทาน (บุตรคนที่ 4 เสียชีวิตแล้ว) ป้าร้อยจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4
เส้นทางชีวิตของป้าร้อย เป็นภาพสะท้อนของคนชนบทในภาคเกษตรกรรมจำนวนไม่น้อยที่อพยพครอบครัวหนีความยากจนเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง เฉกเช่นวิถีชาวสลัมคลองเตย จากยุคแรกเริ่มการเป็นแรงงานก่อสร้างท่าเรือคลองเตย แรงงานในการขนถ่ายสินค้า กระทั่งจับจองพื้นที่ประกอบอาชีพต่อเนื่องจนกลายเป็นชุมชนคลองเตย
ปี 2507 ป้าร้อยในวัย 30 ปี หอบลูกสาวคนรอง อายุ 2 ขวบ เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) ขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีหัวลำโพง โดยลุงพุฒ สามี ได้มาแผ้วถางทางไว้ล่วงหน้าที่คลองเตย โดยประกอบอาชีพขับรถเมล์ สาย 13 ซึ่งก่อนหน้านี้ลุงพุฒเคยขับรถในจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน ตามคำบอกเล่าของบุตรสาว

ป้าร้อยเริ่มต้นอาชีพในการเข้าสู่เมืองใหญ่ จากการรับจ้างทอไหม โดยรับไหมเป็นม้วนใหญ่ จากซอยแสนสบาย ถนนพระราม 4 เอามาใส่หลอด มีรายได้วันละ 4-5 บาท สองสามีภรรยาหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัว เพียงพอเป็นค่าเช่าบ้านเลี้ยงดูลูก
ครอบครัวป้าร้อยต้องเปลี่ยนบ้านเช่าหลายครั้ง เนื่องจากจ่ายค่าเช่าบ้านไม่ไหวบ้าง ถูกไล่ที่บ้าง จนมีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อจำเป็นต้องมีบ้านเลขที่เพื่อให้ลูกสาวคนรองเข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพฯ ในปี 2510 ป้าร้อยจึงตัดสินใจสร้างบ้านในพื้นที่รกร้างไม่กี่ตารางวา ริมทางรถไฟใกล้ท่าเรือคลองเตย ซึ่งคนต่างถิ่นต่างทยอยเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2503-2504 เนื่องจากรัฐบาลเริ่มจัดการกับสลัมย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยการไล่รื้อ ทำให้ชาวสลัมที่ถูกไล่รื้อพากันอพยพเข้ามายึดพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่การท่าเรือ และปลูกสร้างบ้านเรือน
ป้าร้อยนำเงินที่สะสมเดือนละ 100 บาท ได้ราว 2,000 บาท นำไปซื้อไม้อัด ลังไม้ เพื่อสร้างบ้านในยามกลางคืน เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯจะมาพบ แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลากลางวันก็ไม่พ้นสายตาเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ ป้าร้องก็ได้แต่ขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่
ต่อมา ป้าร้อยทำเสื่อทอ ประกอบเสื่อทำกระเป๋า แบกเสื่อขายตามบ้าน โดยลุงพุฒขับรถซูบารุไปรับเสื่อมาจากกระทุ่มแบน จนกระทั่งมาขายลูกชิ้นย่าง ปลาหมึกย่าง หน้าบ้าน ตลาดสามย่าน โดยไปรับลูกชิ้นจากสะพานปลา ซอยหลังโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง จากนั้นได้หันยึดอาชีพแม่ค้าขายข้าวแกงหน้าบ้าน จนส่งลูกสาวจนจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง
ปี 2510 จนถึง 2513 พื้นที่คลองเตยจึงกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ การท่าเรือได้ใช้วิธีรุนแรงในการผลักดันสลัมเหล่านี้ เริ่มจากพื้นที่รอบในที่อยู่ติดกับลานและโกดังสินค้าของการท่าเรือ ขับไล่ด้วยการนำเอาเลนที่เรือขุดดูดขึ้นมาจากสันดอนมาพ่นใส่พื้นที่ตั้งสลัม จนทำให้ชาวบ้านต้องรื้อย้ายบ้านเบียดรวมเข้าไปกับสลัมใหม่หลังบ้านพักพนักงานการท่าเรือ บางส่วนย้ายหนีลงไปสมทบกับสลัมรอบ ๆ ทำให้กลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลานี้ ได้เกิดปัญหาเพลิงไหม้ชุมชนเป็นประจำทุกปี…..
ในปี 2525 มีการไล่รื้อสลัมคลองเตยครั้งใหญ่ โดยผู้อ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้มีการต่อสัญญาเช่ากับการท่าเรือฯ มาเป็นเวลานาน ป้าร้อยและชาวบ้านร่วมใจกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ในช่วงนี้ การรวมกลุ่มของชุมชนขยายตัว มีการจัดตั้งกรรมการชุมชน มีองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เป็นพลังหนุน อาทิ มูลนิธิดวงประทีป เมื่อชาวบ้านต่อสู้จนการท่าเรือให้เช่าที่ 20 ปี การเคหะฯได้จัดตั้งชุมชนใหม่ สร้างถนน น้ำประปา ไฟฟ้า อาคารพานิชย์

จากการต่อสู้ในครั้งนั้น ป้าร้อยได้เริ่มเข้ามาช่วยงานองค์กรที่ทำงานด้านสลัม เริ่มจากมูลนิธิดวงประทีป พอปี 2529 ป้าร้อยร่วมกับแกนนำชุมชนถูกไล่รื้อรุ่นแรกกับรุ่นสอง ได้แก่ ทวีศักดิ์  แสงอาทิตย์ ,  สังวาล  บุญส่ง ,  สังเวียน นุชเทียน , ไพฑูรย์ ตุวินันท์ หรือ ป้าทูน , สุปราณี แก้วเกตุ , พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม , ศิริ ชื่นบำรุง หรือลุงศิริ , วิเชียร สวัสดิสุข หรือ อ็อด , มารุต  เปรมานุพันธ์ , แม่อึ่ง , พี่วันชัย ได้ร่วมกันก่อตั้ง "ศูนย์รวมสลัม" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน” ภายหลังการเข้าไปช่วยชาวชุมชนรัชดาปิดถนนประท้วงการถูกไล่ที่ เพื่อตัดถนนรัชดาในช่วงรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ป้าร้อยและแกนนำเหล่านี้แม้มีวัยต่างกันแต่ทั้งหมดมีที่มาจากการเป็นชาวชนบทที่ล้มละลายมาจากแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งทำให้คนล้มละลายหลายทศวรรษมาอยู่ในฐานะชาวสลัมในเมืองหลวง
ย้อนกล่าวถึงสถานการณ์ชาวสลัม กระทรวงมหาดไทยต้อนรับคนชนบทล้มละลาย ด้วยการสร้างวาทกรรมสลัมว่าเป็น "แหล่งวิบัติ" “แหล่งเสื่อมโทรม” ไม่มีสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม จนน้ำครำกับสะพานไม้กลายเป็นภาพจำของสลัม การไล่รื้อสลัมด้วยประกาศคณะปฏิวัติ การเผาไล่ที่ การฟ้องขับไล่ การใช้รถลูกตุ้มเหวี่ยงทำลายชุมชนเป็นเรื่องปกติประจำวัน ทำให้เกิดการต่อสู้ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สลัมคลองเตยสู้กับการท่าเรือ ลาดบัวขาว และกลุ่มศูนย์รวมสลัม สะพานแขวน บ่อนไก่ บางนา อ่อนนุช ริมทางรถไฟ ทับแก้ว เฉลิมนุสรณ์ โรงปูน เพชรพระราม หลัง ขสมก.อินทะมะระ ฯลฯ
ในนามศูนย์รวมฯ ป้าร้อยและพวกเขาได้ปฏิบัติการปิดทางเข้าพวกไล่รื้อ ปิดการบังคับคดี ปิดถนนเพื่อให้เปิดเจรจา กิจกรรมรณรงค์รับบริจาคโลหิต กิจกรรมวันเด็กสลัมหนูอยากไปโรงเรียน การเจรจา กทม. ขอทะเบียนบ้านที่ไม่สลักหลังเพื่อให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล การนำเสนอ พรบ.ชุมชนแออัด การประท้วงขับไล่ รสช. กิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยร่วมกับนักวิชาการ การรณรงค์ให้มีเปลี่ยนวาทกรรมจาก “แหล่งวิบัติ” เป็น “ชุมชนแออัด” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของสภาพัฒน์ฯ
ในช่วงปี 2534 รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ไล่รื้อสลัมแถบคลองไผ่สิงโต เพื่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ต้อนรับการประชุมธนาคารโลก รัฐบาลไล่รื้อชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนข้างโรงงานยาสูบ ชุมชนดวงพิทักษ์  เพื่อปรับภูมิทัศน์ไม่ให้นายธนาคารมองเห็นการขับไล่ชุมชน ศูนย์รวมฯ จึงใช้สัญลักษณ์ของความยากจนในการต่อสู้ธนาคารโลก จัดนิทรรศการมีชีวิตด้วยรถเข็นผลไม้ดอง คนร่อนหาของในคลอง ขยะรีไซเคิล กรรมกร  ศูนย์เด็กเล็ก นอกจากนี้ ชาวสลัมยังได้สร้างรั้วสังกะสีระบายสีเป็นกำแพงภาพโดยเด็กในชุมชน
จากการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น ทำให้ นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ลงเยี่ยมชุมชน โดยรัฐบาลรับข้อเสนอของศูนย์รวมฯที่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ การหยุดไล่รื้อคลองไผ่และให้พัฒนาคนอยู่กับคลอง และตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนแออัดสมทบกับกองทุนที่ชาวบ้านตั้งขึ้นแทนการเคหะแห่งชาติ การไล่รื้อชุมชนคลองไผ่จึงยุติลง และมีการก่อตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาชน ตามลำดับ
ป้าร้อยเป็นผู้นำชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย เมื่อครั้งที่กรมธนารักษ์ฟ้องร้องชาวบ้านบุกรุกที่ ซึ่งสุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้องให้ชาวบ้านเป็นผู้ชนะ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของการท่าเรือฯ ป้าร้อยและชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟจึงอยู่อาศัยบนที่ดินของการท่าเรือฯ ตลอดมา รวมทั้ง การเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยจดทะเบียนบ้านสำหรับชาวสลัม เพราะการไม่มีเลขที่บ้าน นอกจากไร้หลักประกันในเรื่องที่อยู่อาศัย และการได้รับบริการสาธารณูปโภคจากรัฐ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ หลังตลาดปีนัง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร บ้านต้นเพลิงเป็นบ้านนายทหารเกษียณราชการ ลามไปยังบ้านเรือนประชาชน 22 หลังคาเรือน 58 ครอบครัว รวมทั้งโรงงานประกอบกิจการผลิตยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในย่านนั้น ส่วนป้าร้อยเองก็มีอาการเสียงแหบในช่วงนั้น
หลังจากนั้นไม่นาน ป้าร้อยตัดสินใจสร้างบ้านใหม่ให้แข็งแรงถาวร โดยใช้เงินเก็บประมาณ 100,000 บาท บวกกับเงินบริจาคและสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนบางส่วน สร้างบ้านตึกปูน 2 ชั้น ตามแบบของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.
ในความคิดป้าร้อย การจัดการบ้านในชุมชน คนที่มีพื้นที่มากต้องยอมเสียสละให้คนมีที่น้อย แบ่งปันพื้นที่ให้กันไม่เอารัดเอาเปรียบกัน” “ฉันมองว่าคนเรา ไม่มีใครเกิดขึ้นมา เป็นเจ้าของที่ดินคนเดียวไม่มีใครเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างเราเป็นมนุษย์ด้วยกันทุกคน คนรวยต้องดูแลคนจนมันถึงจะถูก” “ใครบอกไม่ดี ฉันบอกดี เสียเงินแสนสองหมื่นบาท เราได้อยู่บ้านชั่วลูกชั่วหลาน มั่นคง เราตั้งอกตั้งใจทำมาหากินผ่อนไปก็ไม่แพง เดือนละพันกว่าบาท แค่ 5 ปี”
ป้าร้อยเป็นประธานชุมชนมานับสิบปี ป้าร้อยเป็นนักต่อสู้ที่มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมพัฒนาของชุมชนริมทางรถไฟ เป็นแบบอย่างของคนจนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะมีบ้านสักหลังบ้านที่มั่นคงในชุมชนที่ยั่งยืน
ป้าร้อยเป็นแกนนำที่ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะมีการประชุม การสัมมนาที่ไหน ป้าร้อยมักจะเข้าร่วมด้วยเสมอ การชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาขนกลุ่มต่างๆ ก็จะเห็นป้าร้อยเข้าร่วมด้วยเสมอเช่นกัน ทั้งในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฯลฯ
ป้าร้อยมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานกลุ่มออมทรัพย์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งป้าร้อยก็ได้นำประสบการณ์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนนำมาพัฒนาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านศูนย์รวมพัฒนาชุมชน  ได้ในปี 2532 ให้สมาชิกได้มีเงินหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
จากความกระฉับกระเฉงในการสั่งสมความรู้ ทำให้ป้าร้อยเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญด้วย คำถามวิทยากรก็ได้สะท้อนคำตอบของคนสลัมไปด้วยในตัว จนสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เชิญไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง
ในปี 2550 ป้าร้อย สีหาพงษ์ ได้รับรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง และองค์กรพันธมิตร โดยถือว่าเป็นผู้มีบทบาทและผลงานดีเด่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่น เสียสละเพื่อการงานที่มีคุณค่า ต่อสังคม แม้จะต้องประสบกับความยากลำบาก หรือเสี่ยงอันตราย นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
"แม้บ้านเมืองดูเหมือนพัฒนาขึ้น แต่ปัญหาของชาวสลัมก็ยังเหมือนเดิม ป้ายังไม่เห็นมีใครเข้ามาช่วยจริงๆ จังๆ เลย เขาคงไม่อยากให้ชาวบ้านฉลาด"
แม้ป้าร้อยจะมีอายุมากขึ้นตามสังขาร แต่ยังคงเข้าร่วมในกิจกรรมของเครือข่ายสลัมอย่างสม่ำเสมอ แม้ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน ป้าร้อยยังกล่าวกับลูกสาวถึงการสำรวจข้อมูลชุมชนคลองเตยของหน่วยงานภาครัฐ


เรียบเรียงจาก
1. ความสุขของ"ป้าร้อย" กับโลกแห่งการเรียนรู้ ของ Paskorn Jumlongrach
2. ป้าร้อย สีหาพงษ์ คือ ความหวังบ้านมั่นคงแห่งชุมชนริมทางรถไฟ วันที่ 25 มิถุนายน 2546 หนังสือพิมพ์มติชน
3. ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน รางวัลแด่ผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อสังคม เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ.2550 January 25th, 2013
4. ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน "รำลึกถึงป้าร้อย จดจำบทเรียนยุค ศูนย์รวมสลัม" จำนงค์ จิตนิรัตน์
5. สัมภาษณ์ คุณมัจฉา จำแนกทาน
6. ข้อมูลเพิ่มเติม คุณนพพรรณ  พรหมศรี

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...