วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ปฏิรูปที่ดินเมืองในพื้นที่การรถไฟฯ ประสบการณ์การต่อสู้ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ปฏิรูปที่ดินเมืองในพื้นที่การรถไฟฯ
ประสบการณ์การต่อสู้ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

1) ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย : ใจกลางของปัญหาสลัม
          สลัมหรือชุมชนแออัด   เป็นผลพวงมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล   ซึ่งเริ่มต้นมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับแรก    ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ   การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมือง   โดยละเลยการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในชนบท   ได้ทำให้ผู้คนที่ล้มละลายจากภาคการเกษตรเข้ามาแสวงหาแหล่งงานและโอกาสของชีวิตในเมือง   ทั้งในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองภูมิภาค   ผู้อพยพเหล่านี้   เมื่อไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้  เพราะที่ดินมีราคาแพง  ประกอบกับภาครัฐขาดมาตรการรองรับด้านที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียง   จึงจำเป็นต้องบุกเบิกที่ดินว่างเปล่าใกล้แหล่งงานเป็นที่อยู่อาศัย  ซึ่งได้ขยายกลายเป็นชุมชนแออัดในที่สุด
          จากฐานที่มาดังกล่าว  คนสลัมจึงเป็น ผู้บุกเบิกถิ่นฐานในเมือง   พวกเขาลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำ   แม้จะแออัดและดูไม่เป็นระเบียบ   แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอย่างมหาศาล   นอกจากนี้  การดำรงอยู่ของชาวสลัมยังเกี่ยวพันอย่างมากกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง  ภาคการผลิต  พาณิชยกรรม  การก่อสร้างและธุรกิจบริการ  ต่างต้องพึ่งพาแรงงานจากชุมชน   งานหนักและอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ เป็นต้นว่า เก็บขยะ  กวาดถนน  ขับรถเมล์ ฯลฯ ก็ล้วนแต่คนสลัมทำ  
          ปัจจุบันมีชุมชนแออัดทั่วประเทศประมาณ 3,750 ชุมชน 1.14 ล้านครอบครัว ประชากร 5.13 ล้านคน   นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ รายได้ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว  กล่าวได้ว่าปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยหรือปัญหาการไล่รื้อ   คือปัญหาหัวใจสำคัญของชาวสลัม   ตัวเลขของทางการระบุว่า   ขณะนี้มีชุมชนที่มีปัญหาเรื่องการรื้อย้าย 445 ชุมชน  กำลังอยู่ในระหว่างการไล่ที่ 180 ชุมชน  และที่มีกระแสข่าวว่าจะไล่ประมาณ 265 ชุมชน ทั้งสองส่วนมีประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อราว 2 แสนคน


2) ที่ดินชานเมืองและแฟลต : การแก้ปัญหาที่ไม่เข้าใจวิถีชุมชน
          ที่ผ่านมา  แนวทางกระแสหลักที่ภาครัฐใช้ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนมีอยู่ 2 แนวใหญ่ๆคือ การย้ายชุมชนไปอยู่นอกเมือง  และการย้ายขึ้นแฟลต   สำหรับแนวทางแรกทำได้ 2 ลักษณะ คือ การไปเช่าซื้อที่ดินแปลงโล่งขนาด 19.5 ตารางวา ของการเคหะแห่งชาติ ที่จัดโครงการรองรับไว้ตามย่านชานเมือง   แล้วชาวชุมชนปลูกบ้านเอง หรืออีกแบบหนึ่งคือ  ชุมชนอาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์  แล้วกู้ยืมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง ( ปัจจุบันพัฒนามาเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ) ไปเลือกหาซื้อที่เอง   อย่างไรก็ตามที่ดินที่ชุมชนสามารถซื้อได้ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่นอกเมือง  เพราะระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่เปิดให้มีการกักตุนและเก็งกำไรที่ดินได้ทำให้ราคาที่ดินในเมืองแพงเกินกว่ากำลังซื้อของชาวสลัม     ส่วนแนวทางที่สองคือ  การทำโครงการสร้างแฟลตโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น การเคหะฯ การท่าเรือ กรุงเทพมหานคร แล้วให้ชาวสลัมเช่าหรือเช่าซื้อ
          อย่างไรก็ตาม   ทั้งสองแนวทางเป็นการแก้ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา   การย้ายชุมชนออกนอกเมือง  หากพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ  การพาคนไปอยู่ห่างไกลแหล่งงานเดิมของชาวสลัม   ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบในเมือง เช่น กรรมกร ลูกจ้าง คนเก็บของเก่า แม่ค้าหาบเร่ ฯลฯ   คนที่ยึดอาชีพเหล่านี้  ครั้นจะกลับมาทำงานในเมืองที่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางที่แพงขึ้น  อีกทั้งยังต้องเสียเงินผ่อนชำระค่าที่ดิน  สินเชื่อปลูกบ้าน  และเมื่อรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ชุมชนใหม่ไม่ได้  ก็ต้องเซ้งสิทธิกลับเข้ามาบุกเบิกชุมชนในเมืองอีก  
ส่วนแฟลตแม้จะเป็นที่อยู่อาศัยดูเป็นระเบียบ สวยงาม  แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนสลัมที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่บ้านเป็นที่ประกอบอาชีพด้วย   เช่น  เป็นที่ตัดเย็บเสื้อผ้าของแม่บ้านที่รับงานมาทำที่บ้าน  เป็นที่คัดแยกขยะของคนหาของเก่า   เป็นที่ประกอบอาหารของพวกแม่ค้าหาบเร่ต่างๆ   นอกจากนี้ลักษณะครอบครัวแบบกึ่งชนบทของชาวสลัม   ที่เป็นครอบครัวขยายมีคนในครอบครัวมากทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องแคบๆแบบแฟลตที่มีเนื้อที่ขนาด 24 ตารางเมตร ได้   รูปแบบการอยู่อาศัยในอาคารสูงแบบแฟลตจึงเหมาะสมกับวิถีชีวิตคนชั้นกลาง และครอบครัวรายได้น้อยทั่วไป   ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและใช้พื้นที่บ้านเพียงที่อยู่อาศัยอย่างเดียวมากกว่า

3) ปรับปรุงชุมชน  ให้สิทธิในที่ดิน : ยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยของชาวสลัม
          แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ตรงกับความต้องการของชาวสลัม คือ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  หรือหากในกรณีที่จำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนจริงๆ ก็ต้องจัดหาพื้นที่รองรับในละแวกใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่เดิม   เพื่อให้คนสลัมมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและสามารถดำรงชีวิตในฐานะแรงงานของเมืองได้อย่างยั่งยืน  
แนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยดังกล่าวสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับคำประกาศของสหประชาชาติเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2544 ที่กล่าวว่า เมืองต้องปราศจากสลัม / Cities without Slum” คำประกาศนี้ไม่ได้หมายความว่าให้กำจัดสลัมโดยการรื้อย้ายชุมชนไปนอกเมือง ( Slum Clearance ) หากแต่เป็นการเรียกร้องต่อประชาชาติต่างๆว่าต้องมีแผนปรับปรุงสภาพชุมชนให้พ้นความเป็นสลัม  ต้องแก้ไขปัญหาชุมชนบุกรุกด้วยการปรับเปลี่ยนสถานภาพให้ถูกต้องมั่นคง   และที่สำคัญต้องให้หลักประกันในสิทธิที่อยู่อาศัยระยะยาวแก่ชุมชน
          แนวทางแก้ไขปัญหาที่เน้นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  เคยนำมาปฏิบัติใช้กับชุมชนเซ่งกี่  ในปี 2529 2530 โดยชาวชุมชนซึ่งในขณะนั้นประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย   เจรจาขอซื้อที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์  ในลักษณะของการแบ่งปันที่ดิน ( LAND SHARING ) ซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างเจ้าของที่ดินกับชุมชน กล่าวคือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ยินยอมขายที่ดินบางส่วนให้กับชาวชุมชนผ่อนซื้อในราคาต่ำกว่าท้องตลาด  เพื่อนำมาจัดผังที่อยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบ   โดยลดขนาดที่อยู่อาศัยเหลือแปลงละ 5.4 ตารางวา และ 10 ตารางวา ผังชุมชนที่จัดใหม่ทำให้เหลือพื้นที่ส่วนหนึ่งคืนให้กับเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจพาณิชย์ได้   
นอกจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนเซ่งกี่แล้ว  ชุมชนแออัดที่ใช้แนวทางการแบ่งปันที่ดินมาพัฒนาที่อยู่อาศัยยุคนั้น ก็เช่น ชุมชนวัดลาดบัวขาว ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา  และชุมชน 70 ไร่ คลองเตย   ชุมชนวัดลาดบัวขาวใช้วิธีขอซื้อที่ดินบางส่วนจากเจ้าของที่ดินเอกชน   ส่วนชุมชนหลังบ้านมนังฯ และชุมชน 70 ไร่ เนื่องจากอยู่ในที่ดินของหน่วยงานราชการ คือ กรมธนารักษ์ และการท่าเรือ จึงใช้วิธีขอเช่าที่จากหน่วยงานเจ้าของที่
          อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่โครงการตัวอย่างเหล่านี้  ซึ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  เพื่อให้คนสลัมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเมือง   ไม่สามารถขยายผลไปเป็นกระแสหลักในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดได้  ทั้งนี้เพราะอุปสรรคเรื่องที่ดิน   หน่วยงานรัฐต่างๆไม่อยากแบ่งปันที่ดินของตนให้ชาวชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว   เนื่องจากต้องการนำที่ดินไปใช้เชิงธุรกิจรวมทั้งพัฒนาโครงการต่างๆ   ภาคเอกชนก็เช่นกัน ผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ คือแรงจูงใจสำคัญในการเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาแบบรื้อย้ายชุมชน

4) ปฏิรูปที่ดินเมืองในพื้นที่การรถไฟฯ : การสานต่อยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยของคนจน
          เพื่อสานต่อยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยของชาวสลัม   ด้วยการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม  เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงทำการรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง   โดยผลักดันการเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
          การรถไฟฯ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม   ที่ครอบครองที่ดินไว้กว่า 200,000 ไร่  ในจำนวนนี้มีที่ดินในเขตเมืองที่สามารถจัดหาประโยชน์ถึง 50,000 ไร่   อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ มักนำเอาที่ดินที่จัดหาประโยชน์ได้ไปให้ภาคธุรกิจเอกชนเช่าทำโครงการแสวงหากำไร อาทิ ศูนย์การค้า  โรงแรม  สถานบันเทิง   ส่งผลให้เกิดการขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นชาวสลัมในที่ดินของการรถไฟฯอยู่เสมอ 
          นอกจากการเอาที่ดินให้คนรวยเช่าแล้ว  การรถไฟฯยังนำที่ดินออกเปิดประมูลให้นักลงทุนข้ามชาติเข้ามาสัมปทาน   ดังกรณีการให้บริษัทโฮปเวลล์จากฮ่องกง  ทำโครงการรถไฟฟ้าและพัฒนาที่ดินบริเวณ 2 ข้างทางรถไฟในปี 2538  แม้ในท้ายสุดโครงการจะล้มละลายแต่ก็ทำให้ชาวสลัมเกือบ 3,000 ครอบครัว   ต้องถูกขับไล่ไปอยู่ในที่ดินของการเคหะฯที่อยู่ห่างจากพื้นที่เดิมของชุมชนถึง 40 กิโลเมตร
          การแสวงประโยชน์จากมรดกที่ดินไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น   ปี 2541 การรถไฟฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนมาเช่าที่   โดยอ้างว่าประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องถึง 40,000 ล้านบาท  ดังนั้นจึงต้องหาเงินชดเชยจาการเปิดให้เช่าที่ดิน   นโยบายเปิดประมูลที่ดินในครั้งนั้นได้สร้างความหวั่นวิตกแก่ชาวสลัมในพื้นที่การรถไฟฯซึ่งมีอยู่ราว 110 ชุมชน ประชากรกว่า 17,000 ครัวเรือน   ทั้งนี้เพราะอีกนัยหนึ่ง  การเปิดซองประมูลโดยนายทุน   ก็คือการขับไล่ชุมชนนั่นเอง  เพราะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน  ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่ชาวสลัมบุกเบิกเป็นถิ่นอาศัย
          เพื่อเป็นการตอบโต้กับสถานการณ์ไล่รื้อดังกล่าว   เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงประสานงานชุมชนในที่ดินการรถไฟฯมาหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาเชิงรุก   กล่าวคือชุมชนต้องชิงทำสัญญาเช่าที่ดินในพื้นที่อยู่อาศัยเดิมก่อนไม่ต้องรอให้นายทุนมาประมูลเช่าที่แล้วขับไล่ชุมชนดังอดีต   โดยมีชุมชนเข้าร่วมการต่อสู้ภายใต้การนำของเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวม 61 ชุมชน 9,139 ครอบครัว
          กระบวนการเจรจาต่อรองกับการรถไฟฯในประเด็นการขอเช่าที่ดินเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยใช้เวลาถึง 22 เดือน   ครอบคลุมยุทธวิธีตั้งแต่  การเปิดเวทีสาธารณะร่วมกับนักวิชาการ และสื่อมวลชน   เพื่อวิพากษ์ถึงนโยบายการใช้ที่ดินของการรถไฟฯที่เอื้อต่อประโยชน์เฉพาะนายทุน   การส่งผู้แทนเข้าเจรจากับ รมต.คมนาคม   เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา   การสำรวจข้อมูลชุมชนร่วมกับการรถไฟฯ  การประสานกับสหภาพแรงงานรถไฟให้ช่วยล็อบบี้ฝ่ายบริหาร   ไปจนถึงการใช้วิธีขั้นเด็ดขาดเพื่อชี้ขาดชัยชนะของคนจน   ซึ่งก็คือการชุมนุมกดดันที่หน้ากระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 7 8 มิถุนายน  2543  ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน จนได้ข้อยุติในเชิงนโยบายการใช้เช่าที่ดินร่วมกับการรถไฟฯ


          อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีมติจากคณะกรรมการรถไฟฯออกมารับรอง    เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงต้องชุมนุมกดดันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 กันยายน  2543  จนทำให้คณะกรรมการรถไฟฯต้องมีมติบอร์ดออกมารองรับการเช่าที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด 4 ประการดังนี้
          1. กรณีชุมชนที่อาศัยในพื้นที่การรถไฟในบริเวณที่ห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร  และที่ดินที่การรถไฟฯเลิกให้ในกิจการเดินรถ และยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี โดยให้การรถไฟฯ และชาวชุมชนร่วมกันจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีการทำสัญญาเช่า
          2. กรณีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทางรถไฟในรัศมี 40 เมตร จากศูนย์กลางรางรถไฟ   ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นระยะเวลาครั้งละ 3 ปี เมื่อครบอายุสัญญาให้ต่อสัญญาเช่าได้อีกครั้งละ 3 ปี จนกว่าการรถไฟฯจะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ   ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนแล้วจึงไม่ต่อสัญญา และการรถไฟฯจะหาที่รองรับที่อยู่ห่างจากเดิมภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร
          ในระหว่างการเช่า การรถไฟฯจะอนุญาตให้หน่วยงานเข้าบริการและพัฒนาชุมชนได้ เช่น การไฟฟ้าและการประปาสามารถปักเสาพาดสายและวางท่อเข้าชุมชนได้   ให้การเคหะแห่งชาติ หรือ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนได้เข้าปรับปรุงชุมชนได้  ทั้งนี้ชุมชนต้องร่วมมือกับการรถไฟฯ  ในการจัดการพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
          3. กรณีชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่การรถไฟฯที่มีรัศมี 20 เมตร ถ้าการรถไฟฯเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยในระยะยาว  ให้การรถไฟฯจัดหาที่รองรับให้เช่าภายในรัศมี 5 กิโลเมตร  จากที่อยู่อาศัยเดิม   โดยมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการจัดพื้นที่รองรับ
          4. ให้ตัวแทน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่วมกับการรถไฟฯในการยกร่างสัญญาเช่าที่ดินและพิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและเป็นธรรม
          แม้จะมีมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2543 เป็นใบเบิกทางในการเช่าที่ดิน   แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายดังคิด   เพราะถึงที่สุดแล้ว   การได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยของชุมชนในที่เดิม  หาใช่อะไรอื่นหากแต่คือ การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน โดยมีประเด็นที่ดินในเมืองเป็นเดิมพัน   ดังนั้นในทางปฏิบัติ  ผืนดินที่ชาวสลัมได้เช่าจึงต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองกับการรถไฟฯ  ด้วยกระบวนการที่เหมือนๆกับเมื่อครั้งที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เจรจากับกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ได้นโยบายการเช่าที่ดินในปี 2543
          ปัจจุบัน (ปี 2543) มีชุมชนในที่ดินการรถไฟฯที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ประสบความสำเร็จในการเช่าที่ดินแล้ว 24 ชุมชน โดยเป็นการเช่าระยะยาว 30 ปี 11 ชุมชน   ส่วนที่เหลือเป็นการเช่าในอายุสัญญาครั้งละ 3 ปี    เมื่อชุมชนมีสัญญาเช่าก็สามารถนำสิทธิในสัญญาไปขอการสนับสนุนงบประมาณในการทำโครงการที่อยู่อาศัยจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  ซึ่งเป็นงบอุดหนุนในการจัดทำสาธารณูปโภคฟรี  ขณะนี้ชุมชนที่เช่าที่ดินการรถไฟฯแล้วได้งบสนับสนุนจากรัฐบาลรวมเป็นเงิน 87,941,096 บาท และชุมชนกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำสาธารณูปโภค  ปรับปรุง  รวมถึงก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่

5) ผลสะเทือนจากการต่อสู้
          การเคลื่อนไหวผลักดันนโยบายการเช่าที่ดินการรถไฟฯ   เพื่อให้ชุมชนปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม   ดังที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ดำเนินการมานั้น  ถือเป็นการต่อสู้ซึ่งส่งผลสะเทือนในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายประชาชนในหลายประการ
          ประการแรก   ยุทธศาสตร์ผลักดันการเช่าที่ดินการรถไฟฯ   เป็นการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นโยบายการใช้ที่ดินในเมืองของรัฐ   ที่แต่เดิมใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจแต่ถ่ายเดียว   มาเป็นนโยบายการใช้ที่ดินที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมด้วย   ซึ่งในกรณีการรถไฟฯ   ก็คือการนำที่ดินมาแก้ปัญหาสลัมตามนโยบายให้ชุมชนเช่าที่ดินระยะยาวเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม โดยไม่ต้องรื้อย้ายไปนอกเมืองหรือขึ้นแฟลต   นอกจากนี้ยังก่อผลสะเทือนทางสังคมในแง่ที่ทำให้ชาวสลัมที่อาศัยอยู่ในที่ดินของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น ราชพัสดุ  การท่าเรือ  กรมการศาสนา  รวมถึงที่สาธารณะของ กทม.     หันมาเรียกร้องให้หน่วยงานเหล่านั้นมีนโยบายให้ชุมชนเช่าที่ดินระยะยาวเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม
          ประการที่สอง   ยุทธศาสตร์ผลักดันการเช่าที่ดินการรถไฟฯ   ถือเป็นยุทธวิธีใหม่ในการต่อต้านการไล่รื้อ   คือเป็นการขจัดการไล่รื้อสลัมจากต้นตอ   เพราะการเจรจากับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯจนมีมติบอร์ดเมื่อปี 2543 นั้น   ทำให้ชุมชนสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ทั้ง 61 ชุมชน   ถูกขึ้นทะเบียนในฐานะชุมชนที่การรถไฟฯจะต้องแก้ไขปัญหาโดยการให้เช่าที่ดิน   ดังนั้นการรถไฟฯจึงไม่สามารถเปิดให้ภาคธุรกิจเข้ามาประมูลเช่าที่ในพื้นที่ของชุมชนทั้ง 61 ชุมชนได้   ซึ่งต่างจากในอดีตที่ชาวสลัมมักถูกขับไล่โดยนายทุนที่มาประมูลหรือได้สัมปทานในที่ดินการรถไฟฯแล้วฟ้องขับไล่ชุมชน
          ประการที่สาม   ยุทธศาสตร์ผลักดันการเช่าที่ดินการรถไฟฯ   เป็นเงื่อนไขที่ใช้ในการจัดรูปองค์กรและขยายงานชุมชน   ทั้งนี้เพราะการเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว   ทำให้เครือข่ายสลัม 4 ภาค ต้องเชื่อมประสานและจัดระบบชุมชนสมาชิกที่กระจายอยู่ในพื้นที่การรถไฟฯทั้ง 4 ภูมิภาค   ครอบคลุม 29 จังหวัด   โดยมีกระบวนการตั้งแต่สำรวจข้อมูลชุมชน ทำงานจัดตั้ง   ฝึกอบรมแกนนำ   เจรจาต่อรอง   รวมถึงชุมนุมกดดันทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับนโยบาย   เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์การเช่าที่ดินดังกล่าว
          ประการสุดท้าย   ยุทธศาสตร์ผลักดันการเช่าที่ดินการรถไฟฯ   ทำให้เครือข่ายสลัม 4 ภาค ต้องทำงานในมิติการสร้างพื้นที่สาธารณะมากขึ้น   เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้ที่ดินในเมืองของรัฐให้มาเอื้อต่อประโยชน์ของคนจน   ต้องอาศัยความเข้าใจจากภาคประชาสังคมเป็นแรงหนุนช่วย   มีการจัดเวทีสาธารณะ   ประสานสื่อมวลชน   รวมถึงการคิดค้นกิจกรรมรณรงค์ วันที่อยู่อาศัยสากล ขึ้นในปี  2544  ทั้งนี้เพื่อให้กระแสงานสากล   ช่วยยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นการเช่าที่ดินการรถไฟฯ

          แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มีความสำเร็จและผลสะเทือนค่อนข้างสูง   แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำการโดยง่ายที่ใครๆก็สามารถจะทำได้   ทั้งนี้เพราะความสำเร็จดังกล่าว   เกิดจากการใช้กระบวนยุทธ์ของ ภาคประชาชน โดยแท้   ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เข้าร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพราะขลาดกลัวต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของภาคประชาชน   ล้วนแล้วแต่ยังไม่ได้สิทธิในสัญญาเช่าจากการรถไฟฯ     ชุมชนเหล่านั้นซึ่งคงเส้นคงวาอยู่กับแนวคิด ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยประสานงานให้   แม้ว่าจะอาศัยบุญบารมีของหน่วยงานรัฐอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( พอช. ) เป็นใบเบิกทางในการขอเช่า   แต่ชะตากรรมของพวกเขาก็ยังหนีไม่พ้นสถานะของการเป็น ผู้เฝ้ารอสัญญาเช่า   ก็เพราะอย่างที่บอกไว้   การต่อสู้เรื่องที่ดินในเมืองเป็นประเด็นในทางชนชั้น   ที่ชาวสลัมจะต้องสร้างดุลย์อำนาจขึ้นมาต่อรองกับฝ่ายเจ้าที่ดิน   หามีทางลัดอื่นใดไม่   หากคนจนจะต้องการทั้งที่ดินและศักดิ์ศรีในเวลาเดียวกัน.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...