วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551

บทบาทของผู้หญิงในงานสลัม

บทบาทของผู้หญิงในงานสลัม

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา   ผมถือโอกาสช่วงเทศกาลปีใหม่รื้อกวาดจัดข้าวของในสำนักงาน ซึ่งอยู่ในสภาพรกรุงรังเต็มทน   เลยทำให้ไปเจอธงกระดาษแผ่นหนึ่ง  ซึ่งมีข้อความเขียนว่า  หยุดการไล่รื้อ  คือการหยุดทำร้ายผู้หญิง 
          ความในประโยคดังกล่าว   ทำให้ผมรื้อฟื้นความทรงจำและหวนรำลึกได้ถึงการเดินขบวนเนื่องในวันสตรีสากลเมื่อราว 2 ปีก่อนของกลุ่มผู้หญิงชาวสลัมที่สังกัดอยู่ใน เครือข่ายสลัม 4 ภาค   และเมื่อนึกขึ้นได้ว่าวาระ วันสตรีสากล กำลังใกล้จะมาถึงอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2551 นี้   ผมจึงอยากที่จะลองทบทวนดูบทบาทการทำงานของผู้หญิงในสลัม   ดูชีวิตและสิทธิที่พวกเธอไขว่คว้า   ผ่านประสบการณ์ที่ผมได้พบเห็นมา


          บทบาทหนึ่งที่ผู้หญิงในสลัมยืนเคียงข้างผู้ชาย   กระทั่งล้ำหน้ากว่าฝ่ายชายในงานพัฒนาชุมชน   ก็คือบทบาทในการปกป้องบ้านและต่อต้านการไล่รื้อ   ในชุมชนแออัดที่อยู่ในสภาวะถูกไล่ที่นั้น   ผมมักจะเห็นพลังของผู้หญิงถูกขับออกมาเพื่อเผชิญกับการไล่รื้อ   เวลาประชุมเรื่องไล่ที่  ผู้เข้าร่วมเกินกว่าครึ่งคือผู้หญิง   สีหน้าจริงจังและแววตาที่ครุ่นคิด   ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของพวกเธอ   และภารกิจหลังประชุมก็มักตกอยู่กับความรับผิดชอบของเธอ   ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจข้อมูลชุมชน  การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย   การเก็บเงินออม
          ในยามประจันหน้ากับเจ้าของที่ดิน ทนาย และตำรวจ   ปากเสียงและถ้อยคำของแถวผู้หญิงที่ยืนเรียงหน้า   คือกำแพงที่ช่วยปกป้องบ้านและชุมชน    แม้ว่าบางครั้งเรื่องราวอาจจะจบลงด้วยหยาดน้ำตา   แต่ก็จำเป็นเพราะมันเป็นทางเลือกสุดท้ายของฝ่ายคนจนที่นำมาใช้เพื่อเปิดโต๊ะเจรจา  ชะลอการรื้อย้าย   รวมทั้งให้ชุมชนมีโอกาสเตรียมตัวแสวงหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย   และหากการพูดคุยบรรลุผล   เมื่อถึงคราวที่ต้องฝันถึงการยกเสาเอกบ้านหลังใหม่   ก็พวกผู้หญิงอีกนั่นแหละที่มักจะเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องแบบบ้านและขนาดแปลงที่ดินที่พอเหมาะพอสมกับกำลังเงินออม เงินกู้ของตนเอง
          ตามข้อสันนิษฐานของผม   เหตุที่ผู้หญิงในสลัมเข้าร่วมต่อสู้ในเรื่องไล่รื้อในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย   น่าจะเป็นเพราะความผูกพันที่พวกเธอมีต่อ บ้าน   แน่นอนว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งมีเวลามากกว่าผู้ชาย   เพราะว่างงานหรือทำงานอยู่ที่บ้านจึงมีส่วนร่วมได้ง่าย   แต่ก็มีไม่น้อยที่ทำงานนอกบ้าน  ทั้งงานในระบบตามบริษัท ห้างร้าน โรงงาน   หรืองานแบบไม่เป็นทางการ  อาทิ  ค้าขาย หาบเร่แผงลอย  รับซื้อของเก่า   และหลังจากเลิกงาน  การมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านที่อยู่อาศัยของพวกเธอก็ยังเหนือกว่าผู้ชายอยู่ดี   ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นเพราะผู้หญิงมีความเป็นห่วงบ้านมากกว่า   คุ้นชินกับพื้นที่บ้านมากกว่า   เนื่องจากพวกเธอเข้าครัวทุกวัน   ซักล้างเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  ข้าวของเครื่องใช้  รวมทั้งเก็บกวาดบ้านเรือนมากกว่าผู้ชาย
          อีกอย่างคือ   ผู้หญิงอยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆมากกว่า   ทำให้เธอกังวลต่ออนาคตทางการศึกษาของบุตรหลานในสภาวการณ์ไล่รื้อ   ที่ผมได้ยินพวกเธอไต่ถามฝ่ายเจ้าของที่อยู่บ่อยๆก็คือประโยคในทำนอง ให้ย้ายตอนนี้แล้วเด็กๆจะไปเรียนที่ไหน  นี่มันกลางเทอมนะ   โรงเรียนยังไม่ปิดเลย   ในทัศนะของพวกเธอ   บ้านในสลัมไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่พักอาศัย   หากยังหมายถึงการค้ำจุนวิถีชีวิตของครอบครัวในแง่ของการอยู่ใกล้แหล่งทำมาหากินและสถานศึกษาของลูกหลาน    ดังนั้นการไล่รื้อ  การย้ายถิ่นฐานโดยกะทันหัน   จึงกระทบต่อวิถีชีวิตโดยรวมของพวกเธอ
          ทั้งหมดที่กล่าวมา   จึงน่าจะเป็นมูลเหตุและแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงในสลัมมีบทบาทอย่างสูงในการปกป้องบ้านและชุมชนจากปัญหาการไล่รื้อ
          นอกจากเรื่องไล่รื้อ   งานด้านสวัสดิการสังคม  ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้หญิงในสลัมมีบทบาทสำคัญ   ซึ่งเผยโฉมให้เห็นได้ตั้งแต่   การเคลื่อนไหวในเรื่องการศึกษาฟรี   การทำงานด้านสุขภาพ   รวมถึงการจัดสวัสดิการในชุมชน
          ในประเด็นเรื่องการศึกษาฟรี   กลุ่มผู้หญิงในชื่อ กลุ่มแม่บ้านศูนย์รวมพัฒนาชุมชน   หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ได้ทำการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ในปี 2542 สมัยที่นายพิจิตร   รัตตกุล   เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนในสังกัด กทม. จำนวน 436 โรงเรียน ทำตามนโยบายของผู้บริหารที่ประกาศว่าเด็กนักเรียนใน กทม. นั้นต้องเรียนฟรีตามคำขวัญ มาตัวเปล่าเข้าเรียนได้เลย   แปลความก็คือ  ทางโรงเรียนจะไม่เก็บค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นใดอีก   แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่า   นอกจากค่าเทอมที่โรงเรียนไม่เก็บแล้ว   ผู้ปกครองกลับต้องเสียค่าโน่นค่านี่จิปาถะ   ทั้งค่าชุดนักเรียน  ค่าอาหารกลางวัน  ค่าอุปกรณ์การเรียน  ค่าคอมพิวเตอร์   และรวมถึงค่าบำรุงสมาคมในบางโรงเรียน   ซึ่งรวมๆกันแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้จะมากกว่าค่าเล่าเรียนเสียด้วยซ้ำ
          กลุ่มแม่บ้านศูนย์รวมฯในฐานะแกนนำการเคลื่อนไหวครั้งนั้น  จึงรณรงค์ให้การจัดการศึกษาต้องฟรีจริง   โดยเริ่มจากการเปลี่ยนสโลแกนเสียใหม่เป็น   มาตัวเปล่ากลับบ้านได้เลย   จากนั้นก็พาลูกหลานหยุดโรงเรียนแล้วยกพลไปเจรจากับท่านผู้ว่าฯที่หน้าศาลาว่าการ   ทำให้ในท้ายสุดกรุงเทพมหานครต้องสั่งการให้โรงเรียนในสังกัดแจกชุดนักเรียนฟรี  จัดอาหารกลางวันให้ฟรี  และไม่เก็บค่าอุปกรณ์การเรียนกับเด็กนักเรียน
          อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงยุคผู้ว่าฯสมัคร  สุนทรเวช   มีกระแสว่ากรุงเทพมหานครจะตัดงบสนับสนุนด้านการศึกษาลง  แต่กระแสนั้นก็ต้องเงียบไปภายหลังการเดินขบวนซ้ำอีกครั้งของกลุ่มแม่บ้านในสลัม    จากเรี่ยวแรงของผู้หญิงกลางถิ่นน้ำครำที่เคลื่อนไหวตรวจสอบนโยบายการเรียนฟรี   ส่งผลให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนของกรุงเทพมหานครทุกแห่งที่ไม่ใช่แค่เด็กสลัม   ได้รับสวัสดิการทางการศึกษาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
          ส่วนการทำงานด้านสุขภาพนั้น   เครือข่ายสลัม 4 ภาค มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน  องค์กรสมาชิกที่ในขณะนี้ได้ที่ดินและจัดที่อยู่อาศัยในชุมชนใหม่โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาการไล่รื้ออีกมาเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน   แต่ในท้ายสุดภารกิจด้านนี้ก็หนีไม่พ้นน้ำมือของผู้หญิง
          มีการจัดตั้งศูนย์สิทธิและส่งเสริมสุขภาพ   โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สป.สช. )  ขึ้นในพื้นที่ชุมชนใหม่ใต้สะพาน   เพื่อให้เป็นศูนย์นำร่องในการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องหลักประกันสุขภาพ   การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ   ตลอดจนติดตามตรวจสอบการบริการของโรงพยาบาลว่าละเมิดต่อสิทธิของประชาชนหรือไม่
          ขอบข่ายงานดังกล่าว   ทำให้แกนผู้หญิงจากกลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน   ต้องตระเวนจัดฝึกอบรมไปตามฐานชุมชนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   และสิ่งที่ทำให้พวกเธอภาคภูมิใจคืออะไรเล่าถ้าไม่ใช่   การช่วยคนตกหล่นด้านทะเบียนราษฎร์ให้มีบัตรหลักประกันสุขภาพ   การประสานให้คนป่วยได้รับสิทธิ์ในการรักษาฉุกเฉิน    รวมถึงการได้เถียงคอเป็นเอ็นกับหมอและพยาบาลที่ไม่ค่อยใส่ใจต่อชีวิตของคนจน
          สำหรับการจัดกลุ่มสวัสดิการชุมชนนั้น   ถือเป็นงานถนัดของกลุ่มผู้หญิง   วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค    นอกจากจะเพื่อต่อสู้ในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัยและเคลื่อนไหวในเชิงความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว   การสร้างแบบแผนทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสลัม   ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการก่อเกิดขบวนการคนจนในเมืองกลุ่มนี้   ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงกำหนดให้มีฝ่ายงานทางเลือกขึ้นเพื่อค้นคว้ารวมทั้งปฏิบัติการงานพัฒนาด้านต่างๆที่นอกเหนือจากเรื่องที่อยู่อาศัย  
หน่ออ่อนของงานด้านนี้ที่พอจะเห็นได้ก็เช่น  กองทุนกู้ยืมฉุกเฉินของกลุ่มแม่บ้านในสลัมซึ่งมียอดเงินหมุนเวียนอยู่กว่า 2 ล้านบาท   สหกรณ์ขยะรีไซเคิลที่รับแลกสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยขยะและของเก่า   กลุ่มประกันชีวิตและสุขภาพโดยนำขยะมาส่งเป็นเบี้ยประกันเดือนละ 30 บาท   รวมทั้งร้านค้าสวัสดิการชุมชนที่ปันผลกำไรครึ่งหนึ่งคืนแก่สมาชิก   ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะถูกแปรไปเป็นเงินกองทุนการเคลื่อนไหวของผู้นำชุมชน   อย่างหลังนี้ผมมักจะไปใช้บริการอยู่บ่อยๆโดยเฉพาะเวลาที่ลงชุมชนแล้วเปรี้ยวปากอยากกินเหล้า   นัยว่าเพื่อช่วยสมทบส่วนให้กับกองทุนผู้นำ
กิจกรรมเชิงสวัสดิการเหล่านี้   แม้บางอย่างจะถูกริเริ่มมาจากผู้ชาย   แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเชิงของการเป็น มือบริหารจัดการ ในเรื่องของเงิน  การบัญชี  และค้าขายนั้น  กลุ่มผู้หญิงมีความจัดเจนกว่าอย่างแน่นอน
ตามความรู้สึกของผม   หากไม่นับพลังกายใจ ที่ผู้หญิงสมทบให้กับงานพัฒนาชุมชนแล้ว   เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของพวกเธอก็คือ   ความเป็นผู้หญิงในทางวัฒนธรรม   ผู้หญิงในสลัมมีฝีไม้ลายมือทางกับข้าวกับปลา   ยามเย็นในชุมชนจึงมักเป็นบรรยากาศที่ควันไฟในครัวลอยปะปนไปกับเสียงตำครกโขลกน้ำพริก   เสียงตะหลิวกระทบน้ำมันร้อนฉ่าในกระทะ   วันไหนที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ลงชุมชน   สิ่งที่ตามมาภายหลังการพบปะสมาชิก   จะไม่มีทางเป็นอย่างอื่นนอกจากน้ำใจของหญิงเจ้าบ้านที่มาในรูปของมื้อเย็นรสเด็ด  เป็นต้นว่า  แกงส้ม  แกงเผ็ด  ปลาร้า  ปลาแจ่ว  แล้วก็น้ำพริก  ผักต้ม

วันสตรีสากลกำลังจะมาถึงอีกครั้ง   สำหรับสังคมไทย  ผู้หญิงจากทุกภาคส่วนคงจะมีข้อเรียกร้องในเชิงสิทธิ   ผมไม่รู้ว่าปีนี้ผู้หญิงชาวสลัมจะเดินขบวนกันหรือเปล่า   แต่ที่แน่ๆผมรู้อยู่เสมอว่า   พวกเธอกำลังไถ่ถามและปฏิบัติการทวงสิทธิของตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน   เป็นสิทธิของผู้หญิงที่ไม่ได้มีความหมายแค่ประโยชน์เชิงปัจเจก   หากแต่เกี่ยวพันแน่นแฟ้นอยู่กับสิทธิในเชิงถิ่นฐานที่อยู่   สิทธิของลูกหลาน   รวมไปถึงสิทธิของชุมชนที่จะมีความมั่นคงทางสังคม.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...