วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ย่างก้าวการต่อสู้ เพื่อที่อยู่อาศัย .... เครือข่ายสงขลาสามัคคี

ย่างก้าวการต่อสู้ เพื่อที่อยู่อาศัย .... เครือข่ายสงขลาสามัคคี

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ในระหว่างการลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดตรัง และสงขลาซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย   แต่เดิมส่วนใหญ่มาบุกเบิกสองข้างทางรางรถไฟเป็นที่พักอาศัยเพื่อจะหางานทำในเมือง เป็นแรงงานราคาถูก  สำหรับการพัฒนาเมืองให้ใหญ่โตโดยเฉพาะในปัจจุบันการจะขยายตัวในกรุงเทพมหานครที่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว ขยายตัวไม่ค่อยจะออก  สังเกตได้จากการจัดทำหมู่บ้านจัดสรร ที่เริ่มก่อสร้างในพื้นที่ชานเมืองหรือไม่ก็เป็นจังหวัดปริมณฑล   ทิศทางการขยายเมืองเริ่มที่จะกระจายไปยังหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา , ขอนแก่น , อุดรธานี , อุบลราชธานี , เชียงใหม่ , สงขลา , ภูเก็ต , ชลบุรี เป็นต้น   เมืองเหล่านี้กำลังจะจำลองกรุงเทพมหานครมาไว้ที่จังหวัดของตัวเอง   และแน่นอนการจะทำให้เมืองเหล่านี้เติบโตขึ้นมาได้จำเป็นที่จะต้องมีแรงงานในทุกภาคส่วนมาช่วยกันก่อร่างสร้างเมือง   ซึ่งแรงงานราคาถูกหรือแรงงานนอกระบบ....แต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มศักยภาพในการสร้างความเจริญของเมืองได้
หากจะย้อนไปสัก 10 – 20 ปี ที่แล้ว เมืองสงขลายังเป็นเมืองที่เงียบๆไม่มีความรุ่งเรืองทางวัตถุมากนัก มีการยกเลิกการเดินรถไฟในเส้นทางหาดใหญ่ ไปสู่ เมืองสงขลา ในปี 2521 ด้วยเหตุผลไม่คุ้มทุนกับการเดินรถเพราะยังมีประชาชนอาศัยอยู่น้อย    หากจะมีความครึกครื้นกันบ้างในเขตอำเภอหาดใหญ่   แต่ก็ไม่ถึงกับคึกคักมากมาย   แต่ก็เริ่มมีวี่แววความเจริญที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง   ดูได้จากการอพยพแรงงานเข้ามาหางานทำในตัวหาดใหญ่   การสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้นในตัวเมืองสงขลา   ที่ดินถูกจับจองมีเจ้าของเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินโฉนด หรือจะเป็นการจองที่ดินรัฐ   ที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์กัน   ที่เห็นเป็นจุดใหญ่สุดคือที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่ยกเลิกการเดินรถในเส้นทางหาดใหญ่ – สงขลา ได้มีประชาชนที่อพยพมาทำมาหากินเข้าจับจอง บุกเบิก บ้างไปขอเช่า บ้างเข้าไปอยู่เลย  บ้างต้องไปเสียค่าหน้าดินให้กับผู้จับจองก่อน   และในปัจจุบันก็กลายเป็นชุมชนเมืองขึ้นมาหลายจุดตามแนวรางรถไฟเดิมที่ไม่ได้ใช้งานในตัวเมืองหาดใหญ่และสงขลา กว่า 5,000 หลังคาเรือน


จังหวัดสงขลาในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีความเจริญมากและมีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น   ทั้งนี้เพราะเมืองสงขลาเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว  เขตชายแดนการค้าระหว่างประเทศ จึงทำให้ผู้คนจากภูมิภาคทางใต้หรือจากภูมิภาคอื่น อพยพโยกย้ายเข้ามาหางานทำในเมืองสงขลาใครที่มีทุนก็สามารถที่จะซื้อที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยได้ หากทุนน้อยหน่อยก็เช่าที่พักตามอพาทเม้นที่มีอยู่กลาดเกลื่อน (ซึ่งหาห้องว่างเริ่มยากแล้วในปัจจุบัน) หากใครไม่มีทุนในการหาที่อยู่อาศัยก็จะมาบุกเบิกถางพงในที่ดินรกร้างว่างเปล่าในที่ดิน เช่นที่ดินการรถไฟฯอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น
หากจะมามองในมุมของขบวนการประชาชนที่เมืองสงขลาเองก็มีองค์ชาวบ้านอยู่หลากหลาย   มีหลายกลุ่มองค์กร   แต่ถ้าหากในเรื่องด้านสิทธิที่ดินที่อยู่อาศัยแล้วอยากจะขอกล่าวถึง “เครือข่ายสงขลาสามัคคี” ที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนในการผลักดันการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค กันมา
เครือข่ายสงขลาสามัคคี เป็นองค์กรชาวบ้านที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้ที่มีความเดือดร้อนในด้านที่ดินที่อยู่อาศัยในเมือง   มีความเป็นอยู่ราวกับเป็นพลเมืองชั้นสองของจังหวัดสงขลา   เพราะยังคงมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถขอทะเบียนบ้านถาวรได้   ซึ่งจะนำไปสู่การขอประปา – ไฟฟ้า แบบถาวรไม่ได้เช่นกัน   ยกตัวอย่างที่ได้พบเห็นคือชุมชนเขารูปช้าง 2 มีท่อประปาของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา  วางแนวท่อผ่านหน้าบ้านที่เป็นที่ดินของการรถไฟฯแต่ชาวชุมชนไม่สามารถที่จะขออนุญาตติดตั้งมิตเตอร์ได้ เพราะการประปาฯอ้างว่าบุกรุกที่ดินรถไฟฯไม่สามารถดำเนินการให้ได้   ทั้งๆที่การประปาฯเองก็เป็นผู้บุกรุกการรถไฟฯเช่นเดียวกันในการวางท่อประปาเพื่อที่จะไปต่อให้กับบ้านที่อยู่ด้านหลังของชุมชนเขารูปช้าง 2  ที่เป็นที่ดินเอกชน  ทำให้ชาวชุมชนเขารูปช้าง 2 ต้องไปขอต่อพ่วงซื้อน้ำกับบ้านในที่ดินเอกชนราคาแพง (หน่วยละ 20 – 30 บาท)   นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่หน่วยงานรัฐปฏิบัติชาวชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟฯในยุคเก่าก่อน
สมาชิกของเครือข่ายอาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  เป็นสมาชิกของเครือข่ายสิทธิชุมชนใต้ และเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในปี 2552 ได้ร่วมผลักดันเชิงนโยบายที่จะแก้ปัญหาที่ดินรูปธรรมความสำเร็จคือ มีมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ดังนี้
1.                  กรณีชุมชนที่อาศัยในพื้นที่การรถไฟในบริเวณที่ห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร  และที่ดินที่การรถไฟฯเลิกให้ในกิจการเดินรถ และยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี โดยให้การรถไฟฯ และชาวชุมชนร่วมกันจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีการทำสัญญาเช่า
2.                  กรณีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทางรถไฟในรัศมี 40 เมตร จากศูนย์กลางรางรถไฟ   ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นระยะเวลาครั้งละ 3 ปี เมื่อครบอายุสัญญาให้ต่อสัญญาเช่าได้อีกครั้งละ 3 ปี จนกว่าการรถไฟฯจะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ   ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนแล้วจึงไม่ต่อสัญญา และการรถไฟฯจะหาที่รองรับที่อยู่ห่างจากเดิมภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร
          ในระหว่างการเช่า การรถไฟฯจะอนุญาตให้หน่วยงานเข้าบริการและพัฒนาชุมชนได้ เช่น การไฟฟ้าและการประปาสามารถปักเสาพาดสายและวางท่อเข้าชุมชนได้   ให้การเคหะแห่งชาติ หรือ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนได้เข้าปรับปรุงชุมชนได้  ทั้งนี้ชุมชนต้องร่วมมือกับการรถไฟฯ  ในการจัดการพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
3.                  กรณีชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่การรถไฟฯที่มีรัศมี 20 เมตร ถ้าการรถไฟฯเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยในระยะยาว  ให้การรถไฟฯจัดหาที่รองรับให้เช่าภายในรัศมี 5 กิโลเมตร  จากที่อยู่อาศัยเดิม   โดยมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการจัดพื้นที่รองรับ
4.                  ให้ตัวแทน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่วมกับการรถไฟฯในการยกร่างสัญญาเช่าที่ดินและพิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและเป็นธรรม
มติดังกล่าวไม่ใช่เพียงแต่เป็นการตกลงกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เท่านั้น หากยังแต่มีกระทรวงคมนาคม ผู้แทนรัฐบาลรับรู้ในข้อตกลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน   จากมติบอร์ดดังกล่าวได้เป็นใบเบิกทางการเข้าถึงที่ดินในเมืองของชาวเครือข่ายสงขลาสามัคคี   ในปัจจุบันสมาชิกของเครือข่ายสงขลาสามัคคีได้ทำการเซ็นสัญญาเช่ากับทางการรถไฟฯแล้วจำนวน 10 ชุมชน คือ ชุมชนเกาะเสือ 1 , ชุมชนเขารูปช้าง 1 , ชุมชนเขารูปช้าง 2 , ชุมชนเขารูปช้างอิสระ , ชุมชนศาลาเหลือง , ชุมชนสมหวัง , ชุมชนกุโบร์ , ชุมชนศาลาหัวยาง , ชุมชนหัวป้อม 3 โซน 6 และชุมชนร่วมใจพัฒนา   โดยส่วนใหญ่ได้สัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี เพราะเป็นเนื้อที่ที่การรถไฟฯยกเลิกการเดินรถไปแล้ว สมาชิกราว 2,000 ครอบครัว ทุกชุมชนกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค จัดสร้างปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ ให้ดีขึ้น   อีกทั้งยังมีแผนงานข้างหน้าในงานเชิงพัฒนาคุณภาพชีวิต
ในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในที่ประชุม   ซึ่งเป็นอนุกรรมการที่ตั้งมาจากคณะกรรมการชุดใหญ่ “คณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ที่มีเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นคณะกรรมการด้วยเช่นกัน   หนึ่งในวาระการหารืออนุกรรมการฯวันนั้นได้มีการหยิบยกเรื่องการฟื้นการเดินรถไฟเส้นทางหาดใหญ่ สู่ เมืองสงขลา อีกครั้ง เป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณราว 5,000 ล้านบาท  ด้วยเหตุผลจากทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การคมนาคมจากหาดใหญ่ไปเมืองสงขลาเกิดปัญหาการจราจรทางถนนติดขัดมากในชั่วโมงเร่งด่วน   จึงจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นระบบรางมาแก้ปัญหาดังกล่าว   อีกทั้งทางท้องถิ่นจังหวัดสงขลาเองก็มีความประสงค์ต้องการเช่นเดียวกันเพราะจะต้องรับมือการเป็นประเทศในประชาคมอาเซียน (AEC) ที่เมืองหาดใหญ่ หรือจังหวัดสงขลา ถือเป็นประตูต้อนรับในส่วนของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคด้านทิศใต้ของไทย   โครงการฟื้นระบบการเดินรถไฟชานเมืองหาดใหญ่ – สงขลา จึงใกล้ความเป็นจริงที่จะกลับมาเดินรถใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ชาวเครือข่ายสงขลาสามัคคี ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากโครงการฟื้นการเดินรถไฟหาดใหญ่ – สงขลา   แต่ก็ไม่ได้จะคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวเพราะเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาการจราจรของเมืองสงขลา   หากแต่จะนำเสนอการแก้ปัญหาทางเลือกของการดำเนินโครงการดังกล่าวคือในเบื้องต้นจะต้องมีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน และเปิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดรูปแบบการก่อสร้าง  ขอบเขตการก่อสร้าง  อันที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน   อีกทั้งข้อสังเกตต่างๆในโครงการนี้ที่จะมาสร้างสถานีใหม่บริเวณชุมชนศาลาหัวยาง แต่จะไม่ไปต่อจนถึงสถานีเดิมเพราะเหตุว่ามีโรงแรมใหญ่มาบุกรุกเขตทางขวางไว้อยู่หรือไม่  หรือว่าเป็นเพราะสถานีในปัจจุบันได้ให้นายทุนใหญ่ได้เช่าบริหารที่ดินกำลังได้กำไรงดงาม   ทางการรถไฟฯและจังหวัดสงขลาจึงไม่กล้าที่จะทำการเดินรถไปถึงที่ทำการสถานีเดิม

สิ่งก่อสร้างของโรงแรมชื่อดังในสงขลารุกล้ำที่การรถไฟ

ส่วนการหาทางออกนั้นจะต้องมีทางออกที่ชุมชนรับได้ ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอทางออกทางเลือก   โดยที่ไม่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยออกนอกเมือง   เพราะในตัวเมืองสงขลาเองมีที่ว่างเปล่ารกร้างอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐ หรือที่เอกชน ก็ตาม   แต่ข้อเสนอในเบื้องต้นของภาครัฐไม่ว่าทางจังหวัดสงขลาเอง หรือการรถไฟฯเอง   ที่มีพยายามจะโยกย้ายชาวชุมชนไปนอกเมืองไม่ว่าจะเอาไปไว้ที่บ้านคลองแห หรือบ้านฉลุง  ที่อยู่นอกตัวเมืองสงขลาหลายสิบกิโล
นี่คือบทพิสูจน์ของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล   จากงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะผ่านสภาผู้แทนราษฎร   และคาดการณ์ว่าจะเป็นงบประมาณที่จะมาดำเนินงานโครงการรื้อฟื้นการเดินรถไฟหาดใหญ่ – สงขลา  ยังคงมีคำถามสำคัญอีกหลายคำถามที่จำเป็นต้องตอบสังคมก่อน   ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินกู้นั้นจะเป็นที่ไหน  และมีเงื่อนไขในการกู้อย่างไร เพราะเนื่องจากเป็นการกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศเท่าที่เคยกู้มา   เพราะเพียงแค่กู้ IMF จำนวนน้อยกว่านี้มากนักยังได้รับเงื่อนไขที่จะต้องถีบส่งคนจนออกจากการดูแลของรัฐบาลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำมหาลัยออกนอกระบบ , การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น นโยบายผลักภาระให้กับประชาชนจะมีหรือไม่กับการกู้เงินก้อนยักษ์ครั้งนี้ 
ที่สำคัญการนำงบประมาณมาดำเนินโครงการจะมีการกล่าวถึงผลกระทบด้านชุมชนที่ได้กล่าวมาข้างต้นด้วยหรือไม่   การคุ้มทุนในการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นมองรอบด้านเพียงใด ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล


เครือข่ายสงขลาสามัคคี เครือข่ายสิทธิชุมชนภาคใต้ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงติดตามการดำเนินโครงการนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมขอแสดงความเห็นที่เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล   เพื่อจะให้คนจนเมืองมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยในเมือง   ดังที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมืองกันมาตั้งแต่ในอดีต


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...