วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ปากท้องของคนจนและการเมืองภาคประชาชน

ปากท้องของคนจนและการเมืองภาคประชาชน

 อัพยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
1...
          เช้าวันฝนพรำในต้นเดือนพฤษภาคม   ประตูสำนักงานค่อยๆแง้มเปิดในขณะที่ผมกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์   เมื่อละสายตาจากหน้ากระดาษและเงยหน้าขึ้น   ผมจึงเห็นชายชราวัยเกือบเจ็ดสิบเดินสาวเท้าเข้ามา   ผู้มาเยือนไม่ใช่ใครอื่นไกล   หากคือ...ลุงนาค   ลือบางใหญ่   มิตรอาวุโสที่เคยร่วมงานกันมานั่นเอง
          ผมรู้จักกับลุงนาคเมื่อราว 15 ปี ที่แล้ว   ในช่วงนั้นผมเทียวมุดเข้ามุดออกอยู่ตามใต้สะพานต่างๆเพื่อทำงานมวลชนกับคนใต้สะพานที่กำลังถูกไล่รื้อจากทางกรุงเทพมหานคร   จึงทำให้เจอลุงนาคที่สะพานโกบ๊อ   จากนั้นปรากฏการณ์ลุกขึ้นสู้ของพี่น้องใต้สะพานกว่า 60 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯในนาม กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน ที่มีลุงนาคเป็นหนึ่งในแกนนำ   ก็ทำให้ทางราชการต้องหยุดการไล่รื้อและยินยอมให้ชาวบ้านเลือกพื้นที่รองรับเองโดยกระจายไปใน 3 โซน   สำหรับลุงนาคนั้น   ได้ร่วมกับชาวใต้สะพานย่านฝั่งธนฯเลือกที่ดินบริเวณประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ เป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยใหม่


          หลังจากทักทายลุงนาค   เชื้อเชิญให้นั่งและชวนดื่มกาแฟแล้ว   ผมก็ไถ่ถามลุงว่า ไปไงมาไงถึงได้มานี่   ลุงนาคถอดหมวกที่เปรอะปนด้วยคราบฝุ่นออกวางแล้วตอบว่า เอาซาเล้งมาหาของเก่าแถวนี้   พอดีฝนตกเลยแวะมาหลบก่อน   ผมบอกลุงนาคว่า ทำตัวตามสบายนะลุง   นั่งเล่นหรือนอนพักก่อนก็ได้   ลุงนาคกล่าวขอบใจแล้วบอกว่า ฝนหยุดคงต้องไปแล้ว   ต้องรีบหาของ   เดี๋ยวนี้หายากคนเก็บกันเยอะ   วันหนึ่งขายได้ไม่ถึงสองร้อยเลย
          ระหว่างที่ลุงนาคเดินไปชงกาแฟ   ผมพยายามครุ่นคิดถึงสิ่งที่ลุงพูด   ในใจอดรู้สึกไม่ได้ว่า   ลุงอายุปูนนี้แล้วยังต้องใช้ชีวิตอย่างกรรมาชีพขนานแท้อยู่อีก   ดูเหมือนจะไม่มีสวัสดิการสังคมใดๆจากรัฐที่แรงงานนอกระบบอย่างลุงจะเข้าถึงได้เลย   นอกจากนี้สิ่งที่ลุงเอ่ยยังสะท้อนชัดถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนจน   ดังนั้นเพื่อให้ได้รายละเอียดมากขึ้น   ผมจึงขอให้ลุงนาคบอกเล่าถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องในชุมชน
          สิ่งที่ผู้นำสูงวัยท่านนี้เพิ่มเติมให้ฟังคือ   ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนกันมาก   ของกินของใช้แพงขึ้นทุกอย่าง   โดยเฉพาะข้าวแข็งปาเข้าไปกิโลละเกือบ 40 แล้วจากเมื่อปีก่อนแค่โลละไม่ถึง 20 บาท   ของอื่นๆก็แพงขึ้นทั้งน้ำมัน  ก๊าซ  ไข่สมัครลูกกะติ๊ดเดียวตั้ง 4 บาท   แล้วคนจนจะไปไหวหรือ   ตอนนี้ในชุมชนบางคนกินข้าวไม่ครบ 3 มื้อ   บางวันตอนเย็นไม่ได้กินข้าวนี่มีแล้วนะ
          นี่ขนาดอดข้าวเย็นเลยเหรอลุง   ผมแทรกขึ้นหลังจากฟังแล้วคิดว่าปัญหามันชักจะหนักขึ้นเรื่อยๆ   ลุงนาคตอบกลับว่า ก็ใช่น่ะสิ  เห็นชัดๆคือพวกคนแก่ที่ไม่ได้ทำงาน   อย่างเช่นยายเดือน  ยายน้อย น่ะ   บางวันลูกหลานหาเงินไม่ได้ก็ต้องอด
          แล้วชาวบ้านเขาทำยังไงกันล่ะ ผมถาม    “จะทำไง  ก็บ่นกัน โวยกัน ในชุมชนน่ะสิ ลุงนาครีบบอก
          ผมนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งหลังจากลุงนาคพูดจบ   จากนั้นก็เกิดความรู้สึกแบบว่าโชคช่วยขึ้นมา   ทั้งนี้เพราะเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามภาวะข้าวยากหมากแพง   กำลังเตรียมแผนการเดินรณรงค์เรื่องนี้ต่อรัฐบาลและสาธารณชนในวันที่ 20 พฤษภาคม   เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นขบวนการของคนยากจนในเมือง   ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย   ดังนั้นการแวะมาของอดีตผู้นำชาวใต้สะพาน   พร้อมๆกับเรื่องราวปัญหาปากท้องของชาวบ้าน   จึงทำให้ผมฉวยจังหวะชักชวนลุงนาคให้มาร่วมงาน   ด้วยการให้ลุงไปกระตุ้นมวลชนในชุมชนซึ่งกำลังเดือดร้อนในเรื่องวิกฤตสินค้าแพง  ให้ออกมารณรงค์ปัญหาร่วมกัน
          เอาไหมลุง  ผมถาม    ชวนกันมาบ่นด้วยกันที่หน้าทำเนียบดีกว่ามั้ง  เสียงบ่นของเราจะได้เป็นเสียงประชาชน   ไม่ใช่เป็นเสียงนกเสียงกาอยู่ตามชุมชน   ผมย้ำ
          จะลองดู   คิดว่าชาวบ้านคงเอา   มันเดือดร้อนกันมาก   แต่ให้คนไปช่วยด้วยแล้วกัน   ลุงนาคสรุป
          พอฝนเริ่มหยุด   ลุงนาคก็เตรียมตัวออกหาของ   ผมขอบคุณในการมาเยือนของลุง   ซึ่งนอกจากจะได้พบปะพูดคุยกันแล้วยังได้มิติเรื่องงานด้วย   และเมื่อนึกขึ้นได้ถึงความลำบากที่ลุงเล่าในตอนแรก   ผมจึงเอ่ยว่า หนังสือพิมพ์ที่นี่เดิมเตรียมไว้บริจาคให้กลุ่มขยะรีไซเคิลเพื่อขายหาเงินเข้าสลัม 4 ภาค  แต่เห็นลุงแย่ๆ   เอาไปก่อนแล้วกัน   เดี๋ยวผมช่วยขน
          ขนหนังสือพิมพ์เก่าใส่ซาเล้งเสร็จ   ลุงนาคจึงกล่าวคำลาพร้อมๆกับบอกว่า แล้วเจอกันวันที่ 20

2...
          สายๆของวันที่ 20 พฤษภาคม 2551   ผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน รวมตัวกันอยู่บริเวณด้านข้างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย   ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นพี่น้องชาวสลัม  ซึ่งรวมถึงชาวบ้านเกือบ 40 คน ที่ลุงนาคพามาตามสัญญา   ที่เหลือเป็นมวลชนภายใต้การนำของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย อันประกอบด้วย  สหภาพแรงงาน  พนักงานรัฐวิสาหกิจ   รวมถึงผู้ใช้แรงงานนอกระบบ   ที่ทนไม่ได้แล้วกับภาวะค่าครองชีพสูงและสินค้าราคาแพง
          ในระหว่างจัดทัพปรับขบวนก่อนออกรณรงค์   ผมเดินดูบรรยากาศรอบๆ   เห็นป้ายคำขวัญ ข้าวเปลือกถูก  ข้าวสารแพง  ค่าแรงต่ำ   ประชาชนตาย เด่นสะดุดตา   ผู้ประท้วงหลายคนนำเอาหม้อเอากระทะมาชูแกว่งไกวอยู่หน้าขบวน   ขณะที่โฆษกบนรถเวทีย้ำประกาศว่า หม้อกระทะที่พี่น้องนำมานี้ไม่ได้เอามาโชว์เพื่อประกอบรายการชิมไปบ่นไป   แต่เอามาเพื่อให้นายกดูว่าคนจนนั้นไม่มีอะไรจะให้กรอกหม้ออยู่แล้ว
          ข้อมูลของเครือข่ายประชาชนที่รวบรวมสำรวจราคาสินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวัน 5 อย่าง อันได้แก่   ข้าวสาร  น้ำตาล  น้ำมันพืช  ไข่ไก่  และก๊าซหุงต้ม   พบว่าในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าที่จำเป็นเหล่านี้ได้พุ่งสูงขึ้น 80 100 เปอร์เซ็นต์   ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น   ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบเท่าตัว   การณ์กลับปรากฏว่าค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานถูกปรับขึ้นเพียง 2 11 บาท ต่อวัน   ซึ่งไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้ขยับขึ้นไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์แล้ว

          นอกจากนี้มาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องอาหารแพง   ก็เข้าไม่ถึงคนจนอย่างแท้จริงและเป็นเพียงการสร้างภาพดังแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนที่ระบุว่า ดังที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้า 3 แสนถุง 1,500,000 กิโลกรัม  เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนที่อยู่ในเส้นความยากจนจำนวน 9.55 เปอร์เซ็นต์ หรือ 6.06 ล้านคน ก็จะได้รับเพียง 250 กรัม หรือ 2 ขีดครึ่งต่อคน   หรือหากจะเปรียบเทียบกับประชากรทั้งประเทศก็จะได้รับเพียง 23 กรัมต่อคน   ซึ่งจะเท่ากับข้าวสุกไม่ถึงหนึ่งถ้วย
          ภาวะข้าวยากหมากแพงดังกล่าว   พิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวของหลักการค้าแบบ เศรษฐกิจเสรี   ซึ่งท้ายสุดแล้วก็เป็นแค่วาทกรรมของผู้กดขี่   ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่ได้   ตรงกันข้ามสิ่งที่เราได้เห็นภายใต้ระบบการค้าเสรีที่ชอบอ้างกลไกราคาตามตลาด  ก็คือการบิดเบือนราคา  ดังตัวอย่างเรื่องข้าวที่ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นด้วยเหตุหลายปัจจัย   แต่ชาวนาผู้ผลิตข้าวในประเทศไทยกลับถูกกดราคารับซื้อข้าวเปลือก   ขายข้าวได้ในราคาต่ำจนต้องปิดถนนประท้วงกัน   กลไกราคาข้าวเปลือกที่ถูกบิดเบือนให้ต่ำลง   ได้ถูกแปลงไปเป็นกำไรอันมหาศาลที่กลุ่มพ่อค้าคนกลางได้รับจากการขายข้าวสารราคาแพงให้กับผู้บริโภค
          ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่านี้   คือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเดินขบวนของเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆไปยังทำเนียบรัฐบาล   เพื่อแถลงต่อสื่อมวลชนและยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้นำประเทศในประเด็นปัญหา ข้าวยากหมากแพง

3...
          ข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนครอบคลุมตั้งแต่   การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นอาทิ ข้าวสาร  ไข่ไก่  น้ำมันพืช  น้ำตาล  ก๊าซหุงต้ม  การกระจายสินค้าราคาต่ำให้ถึงมือคนจนทุกกลุ่มโดยผ่านช่องทางและกลไกขององค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สหกรณ์  ร้านค้าของกลุ่มองค์กรชุมชน   การปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งควรจะปรับเท่ากันทั่วประเทศ   การคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและเข้าถึงสวัสดิการสังคม   รวมถึงการดูแลภาคการผลิตของเกษตรกรด้วยการประกันราคาข้าวเปลือกและผลผลิตการเกษตรทุกชนิด
          อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า   ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้จะไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล   ทั้งนี้เพราะบรรดานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง   มักอ้างตนว่ามาจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่   เป็นต้นว่า 19 ล้านเสียงบ้าง  16 ล้านเสียงบ้าง  ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตามข้อเสนอเชิงโครงสร้างของเครือข่ายประชาชนที่มีมวลชนจำนวนเพียงหยิบมือ   แม้ว่าข้อเสนอเหล่านั้นจะมีตรรกะเหตุผล  มีความชอบธรรมเพียงใดก็ตาม   ในท้ายสุดเมื่อไม่มีผู้แทนรัฐบาลในระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกมารับหนังสือ   จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่คนยากคนจนจะกระตุ้นสำนึกของรัฐบาลด้วยการปาหม้อ  ปากระทะ  พร้อมทั้งจดหมายข้อเรียกร้องเข้าไปในทำเนียบ
          เมื่อรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ   แล้วอะไรล่ะที่เป็นความน่าสนใจของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้   ในทัศนะของผม  คำตอบน่าจะอยู่ที่การขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนในแนวนอน   การนำเสนอเรื่องราวปัญหาเศรษฐกิจพร้อมข้อเสนอต่อสาธารณชนผ่านสื่อสารมวลชน  ประสบความสำเร็จพอสมควร   หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับลงตีพิมพ์ข่าวนี้   ไม่นับทีวีหลายช่องที่ออกอากาศฉากที่ทั้งหม้อและกระทะลอยเข้าไปในทำเนียบ   นอกจากนี้แล้วการหันหน้าเข้าหากันของเครือข่ายคนจนกลุ่มต่างๆเพื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน   ออกแบบการทำงานร่วมกัน   เชื่อมสายสัมพันธ์และมีปฏิบัติการทางสังคมร่วมกัน   ก็ถือเป็นคุณูปการสำคัญอีกอย่างของการเมืองในแนวนอน
          คนสลัมที่รับงานมาทำที่บ้าน   เริ่มรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนกว่า 23 ล้านคน    ซึ่งเครือข่ายคนงานนอกระบบกำลังผลักดันให้คนเหล่านี้เข้าถึงการประกันสังคม   ชาวนาในภาคเกษตรกำลังศึกษาถึงต้นทุนในการค้าขายทางตรงกับผู้บริโภคในเมือง   เป็นไปได้ว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้า   จะมีการนำข้าวสารจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินในพื้นที่อีสานมาจำหน่ายตรงแก่ชาวสลัมและกรรมกร   โดยอาจประสานกับสหภาพการรถไฟฯเพื่อใช้ขบวนรถไฟในการลดต้นทุนการขนส่ง   นอกจากข้าวแล้วก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆอีก เช่น น้ำตาลอ้อย ยาสูบ พริกแห้ง  ถ่านหุงข้าว  
ถ้าหากจะพูดในเชิงความสมานฉันท์แล้ว   การต่อสู้ในครั้งนี้ก็ทำให้พี่น้องสลัม กรรมกร และชาวนาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น    ผู้นำจากแต่ละเครือข่ายมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น   อีกทั้งมีการวางแผนติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมกัน   ตั้งแต่  การขยายฐานมวลชนผู้เข้าร่วม    กิจกรรมรณรงค์ปัญหาสินค้าแพง    การจัดเวทีวิชาการ   ไปจนถึงการทวงถามการแก้ปัญหาของรัฐบาลในวันที่ 24 มิถุนายน 2551
ผมคิดว่าการเมืองภาคประชาชนแบบนี้แหละ    ที่น่าจะเป็นความหวังและทางออกของคนยากจน   ทั้งในแง่ของการเชื่อมประสานถักทอพลัง   การค้นคว้าออกแบบทางเลือกทางเศรษฐกิจของคนจน รวมถึงการหล่อหลอมสำนึกในความเป็นชนชั้นผู้เสียเปรียบร่วมกัน

การเมืองภาคประชาชน   จะต้องเป็นการเมืองที่เอาวาระของผู้ยากไร้เป็นตัวตั้งและมีปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระยะยาว   ไม่ใช่การเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจที่กำลังเผชิญหน้ากันในปัจจุบัน   ซึ่งท้ายสุดแล้วมวลชนผู้เข้าร่วมก็เป็นได้แค่ไพร่พลในการปกปักรักษาสถานะและอำนาจของชนชั้นนำทั้งของกลุ่มทุนเก่าและทุนใหม่  ที่กำลังแตกหักขัดแย้งกันเอง.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...