วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

นับถอยหลัง...ปิดฉากชุมชนคลองเป้ง


นับถอยหลัง...ปิดฉากชุมชนคลองเป้ง
คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          เมื่อราว 2 ปี ก่อนชาวบ้านรัมคลองเป้งประสานงานมายังทีมหยุดไล่รื้อเร่งด่วนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เนื่องด้วยชุมชนคลองเป้งถูกทางกรุงเทพมหานครดำเนินคดีตามกฎหมาย ประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 44 พ.ศ. 2502 ให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวชุมชนสามารถขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมได้  และปัญหานี่เองทำให้เราได้รู้จักกัน
          ชุมชนคลองเป้ง เป็นชุมชนขนาดกลางๆมีผู้อาศัยอยู่ราว 68 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ตามแนวลำรางสาธารณะคลองเป้ง เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร  อาศัยอยู่มายาวนานราว 30 ปี   ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำมาหากิน อยู่บริเวณชุมชนไม่ไกลนัก  เป็นแรงงานนอกระบบบ้าง ลูกจ้างตามร้านรวงในย่านทองหล่อ  เป็นแรงงานราคาถูกเพื่อเติมเต็มกลไกเมืองให้ขับเคลื่อนหมุนไปได้



สภาพที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเป้งเดิม
          การได้มาประสบพบเจอกันท่ามกลางปัญหาอันหนักอึ้งกับกฎหมายที่ยังล้าหลัง ละเมิดสิทธิมนุษยชนฉบับนี้  เป็นสิ่งที่ยากพอสมควรในการแก้ปัญหา เนื้อหาภายในตัวประกาศมีความบางส่วนว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าได้มีการปลูกสร้างอาคารหรือปลูกปักสิ่งใดๆ ลงในที่ดินในแม่น้ำลำคลอง อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือเป็นที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือรุกล้ำเข้าไปในที่ดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งจังหวัดซึ่งสถานที่นั้นตั้งอยู่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปตรวจสถานที่นั้นๆ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจแล้วเห็นว่าสถานที่ซึ่งปลูกสร้างอาคารหรือปลูกปักสิ่งใดๆ ลงเป็นที่ดินหรือแม่น้ำลำคลองอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือเป็นที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยแน่ชัดปราศจากสงสัย ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งปลูกปักนั้น ให้รื้อถอนไปให้พ้นที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ก็ให้ปิดคำสั่งนั้นไว้ ณ อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น และเมื่อครบกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่งนั้นแล้ว ยังไม่มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นออกไป ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินจัดการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ ในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขายโดยวิธีที่เห็นสมควรซึ่งทรัพย์สินที่รื้อถอนหรืออยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น และให้นำความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๗ มาใช้บังคับแก่เงินที่ขายทรัพย์สินนั้นได้โดยอนุโลม”  เห็นชัดว่าประกาศฉบับนี้ผู้ใดถูกบังคับใช้หมดสิทธิ์ขึ้นศาล หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย
  
 
ประกาศแจ้งรื้อย้ายชุมชนคลองเป้งตาม ปว.44
          กระทั่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ประสานกับทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อยืดระยะเวลาการบังคับใช้ ปว.44 กับชุมชนคลองเป้ง  จนได้กรอบระยะเวลา 18 เดือนขึ้นมา ตามแผนชาวชุมชนช่วยกันวางไว้ว่า ระยะเวลาประมาณนี้น่าจะหาที่รองรับแห่งใหม่ให้กับตัวเองได้ทัน  และยังดีกว่า 15 วันที่ทางสำนักงานเขตมาติดประกาศไว้เสียอีก
          การติดประกาศไล่รื้อคราวนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นอีกแล้วสำหรับชาวคลองเป้ง  มีหลายครั้งหลายคราที่มีข่าวแว่วๆว่าทางการจะมาไล่รื้อ  แต่ก็ผ่านพ้นมาได้นับสิบปี ดูไม่จริงจัง  คราวนี้ต่างกับทุกครั้ง มีเอกสารที่เตรียมพร้อมขับไล่พวกเขาอย่างแท้จริง   การวาดเส้นทางชีวิตใหม่ของชาวชุมชนคลองเป้งจึงต้องผนึกรวมใจกันอีกครั้ง  เพราะจะหาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครก็แสนจะยากลำบากสำหรับคนหาเช้ากินค่ำและจากจำนวนผู้อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเป้งกว่า 70 ครอบครัว เหลือเพียง 45 ครอบครัวเท่านั้นที่จะร่วมหัวจมท้ายไปสร้างชุมชนใหม่ด้วยกัน   ด้วยจำนวนคนที่น้อย และราคาที่ดินที่แพง ชาวคลองเป้งกลุ่มนี้จึงหาเพื่อที่ร่วมชะตาเดียวกันตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินแปลงใหญ่แล้วบริหารจัดการร่วมกัน
          ความต่างที่ต้องนำมาเปรียบเทียบโครงการจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้น  ได้ทำการรื้อบ้านชาวชุมชนไปหลายร้อย หลายพัน หลังคาเรือนไปไว้ที่อื่น ส่วนกลุ่มที่อยู่ที่เดิมก็ต้องรื้อสร้างใหม่จำนวนมาก   แต่เนื่องจากเป็นดครงการที่จะเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวยังพอมีงบประมาณช่วยเหลือก้อนใหญ่  และอำนวยความสะดวกด้านกฎหมายปลูกสร้างบ้านอีก  ทำให้การสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่อุปสรรคลดลง  ส่วนชุมชนคลองเป้ง เป็นการอาศัยช่วงกระแสรื้อชุมชนริมคลองลาดพร้าว  มาไล่รื้อชุมชนริมคลองย่อยต่างๆ  แต่ที่ไม่เหมือนกันคืองบประมาณที่จะช่วยเหลือชาวชุมชนเหล่านั้นกรุงเทพมหานครไม่ได้มีเหมือนกับโครงการจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าวเลย

รองผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครลงพื้นที่การย้ายชุมชนคลองเป้ง
          อุปสรรคของชาวคลองเป้งยังไม่หมดเพียงเท่านั้น  หากคำนวนเงินแล้วถ้าใช้สินเชื่อราคาถูกที่รัฐบาลจะจัดให้มานั้นด้วยวงเงินเพียง 360,000 บาทต่อครอบครัว จะไม่เพียงพอต่อการสร้างบ้านหลังใหม่หลังจากที่ได้ซื้อที่ดินไปแล้ว  หากจะเริ่มสะสมออมทรัพย์กันก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกพักใหญ่   ชาวชุมชนจึงพูดคุยกับทางประชาคมในเขตวัฒนาเอง  ซึ่งนำโดยบริษัทเบนซ์ทองหล่อ ได้จัดกิจกรรมประมูลของต่างๆขึ้นมาเพื่อเป็นทุนสมทบสร้างชุมชนใหม่ให้กับชาวคลองเป้ง  การจัดกิจกรรมคราวนั้นได้เงินระดมทุนมารวมเบ็ดเสร็จ 900,000 บาท  แต่น้ำใจคนจนก็บังเกิด  เงินจำนวนดังกล่าวชาวคลองเป้งไม่ได้เก็บไว้สำหรับแค่พวกเขา  แต่นำไปกระจายสำหรับทุกคนที่อยู่ในสหกรณ์เคหสถานภูมิใจเท่ากันทุกคน

ภาพการมอบเงินสมทบสร้างชุมชนใหม่ของชาวคลองเป้ง
          และในที่สุดความฝันของเขาก็เป็นจริงขึ้นมาได้หลังจากที่มีที่ดินเป็นของตนเองในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร  เมื่อเขาได้ลงนามซื้อขายในนามสหกรณ์ซื้อที่ดินบริเวณบึงนายพล ซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร   แน่นอนที่เดิมย่อมไกลจากที่ใหม่  ซึ่งห่างจากที่เดิมราว 40 กิโลเมตร  และอาจจะเป็นเหตุผลใหญ่ที่ชาวคลองเป้งหลายครอบครัวไม่มาร่วมการสร้างชุมชนใหม่แห่งนี้  เนื้อที่กว่า 15 ไร่ จะเป็นชุมชนใหม่ และเป็นที่ตั้งรกรากใหม่ชองลูกหลานชาวคลองเป้ง และชาวสหกรณ์เคหสถานภูมิใจ


แผนที่เส้นทางชุมชนเดิมคลองเป้งไปยังพื้นที่รองรับแห่งใหม่ย่านบึงนายพล


ภาพพิธีการตั้งศาลพระพรหมของชุมชนภูมิใจ
          วันที่ 15 ตุลาคม 2561 จะเป็นวันสุดท้ายที่เป็นเส้นตายที่ชาวคลองเป้งกับสำนักงานเขตวัฒนาว่าจะรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากแนวคลองเป้งทั้งหมดทุกหลังคาเรือน  คงเป็นวันที่ปิดตำนานเล่าขานซอกหลืบเล็กๆของสังคมเมืองอย่างเงียบๆ  ที่ไม่เป็นข่าวหน้าสื่อใดๆ   แต่อย่างน้อยพวกเขายังมีความ “ภูมิใจ” ที่ยังคงสามารถดำรงชีพในเมืองหลวงอันแสนโหดร้ายนี่ต่อไปได้ดังชื่อชุมชนใหม่ของพวกเขา “ชุมชนภูมิใจ”

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิที่รัฐบาลไทยยังละเลย


สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิที่รัฐบาลไทยยังละเลย

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

อีกราว 1 เดือน ก็จะถึงวันสำคัญอีกหนึ่งคือ วันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้เพื่อให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่จะขาดมิได้  หรือมองอีกนัยหนึ่งคือสิทธิที่อยู่อาศัยถูกละเมิด ถูกละเลย จากสังคมโลกมาอย่างยาวนาน  และเกิดความรุนแรงมากขึ้นทุกปี  ดังที่เห็นประเด็นการพิพาทด้านที่ดินทั้งคนจนเมือง และคนจนชนบท
การเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนไหวรณรงค์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันกับทุกรัฐบาล  นำเสนอโมเดลการแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนเพื่อให้คนจนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย  โดยเฉพาะ “สิทธิการอยู่อาศัยในเมืองของคนจน”  ซึ่งในทุกรัฐบาลจะหวงแหนพื้นที่ในเมืองสงวนไว้เพื่อกลุ่มชนชั้นนำเพียงเท่านั้น  แต่นอกจากรัฐบาลจะละเลยไม่ใส่ใจแล้ว  ยังซ้ำเติมกระหน่ำปัญหามายังคนจนอีก  กฎหมาย , ระเบียบ หลายอย่างที่จะผลักไสคนจนออกจากเมืองไป เช่น กฎหมายผังเมือง , นโยบายการจัดระเบียบ street food หรือแม่ค้าแผงลอยต่างๆ ยังไม่นับรวมกับนโยบายต่างๆเดิมที่คงไว้ เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้มีโอกาสกว้านซื้อ กักตุน ที่ดิน ไว้เก็งกำไร


การรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค

และที่อยู่อาศัยนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต มันจึงมีความสำคัญต่อคนจนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ไม่มีพื้นที่ในการทำมาหากิน  ปัจจัยการผลิตจำเป็นต้องใช้กลไกทางสังคมเมืองในการดำรงชีวิตเพื่อให้อยู่รอด   หากแต่เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงนั้นก็หมายความว่าคนเหล่านั้นจะไม่มี ทะเบียนบ้าน จะไม่สามารถขอน้ำประปา ติดตั้งไฟฟ้า ได้  และที่สำคัญจะไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้  ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆก็ตามมา  ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาพยาบาล , สิทธิการได้รับสวัสดิการต่างๆจากรัฐ  ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมผลักดันกับเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสร้างนโยบายให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน  แก้ปัญหาพิพาทเดิมที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  มีประชาชนถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากด้วยเหตุ “จน ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน”  ซึ่งหลายคนไม่รู้ชะตากรรมตัวเองหลังจากหลุดการคุมขังจะไปทำมาหากินที่ไหน  พักอาศัยยังไง  สุ่มเสี่ยงเป็น “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ขึ้นมา
นโยบายของภาคประชาชนที่นำเสนอต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ร่วมกันรณรงค์อย่างหนักในสโลแกน “4 Law for Poor” ภายใต้กฎหมาย 4 ฉบับ คือ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า , กฎหมายธนาคารที่ดิน , กฎหมายโฉนดชุมชน และ กฎหมายกองทุนยุติธรรม กลับถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ไป  จนไม่สามารถนำมาแก้ปัญหาได้จริง  มาดูนโยบายต่างๆที่รัฐบาลล้วนรับปากจะสานต่อแต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นดังคำกล่าวอ้าง

กฎหมาย
เจตนารมณ์ภาคประชาชน
แนวทางของรัฐบาล
กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
เพื่อต้องการให้ออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินในรูปแบบขั้นบันได สำหรับคนที่กักตุนที่ดินจำนวนมากปล่อยที่ดินออกมา ลดราคาที่ดินในตลาดลง  ที่ดินกระจายไปอยู่กับผู้ที่ใช้ประโยชน์ในการทำกินอย่างแท้จริง

-          เพิ่มเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  แล้วอ้างว่าคือหนึ่งในแนวนโยบายการกระจายการครองที่ดิน ซึ่งไม่สามารถจะส่งผลต่อผู้ที่ครองที่ดินเยอะแต่อย่างใด
กฎหมายธนาคารที่ดิน
นำที่ดินต่างๆที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาไว้ธนาคารแล้วจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ ที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินในการดำรงชีพในรูปแบบ โฉนดชุมชน
-          เตรียมเสนอจัดตั้งเป็นกองทุนชุมชนแล้วไปใช้สินเชื่อกับ ธกส. รูปแบบการบริหารคล้าย กองทุนเงิน SIF
กฎหมายโฉนดชุมชน
เพื่อให้สิทธิการบริหารที่ดินเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง และร่วมกันบริหารเป็นกลุ่มไม่ใช่เชิงปัจเจก  แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเป็นของรัฐ
-          เกิดกระบวนการล้มล้างนโยบายโฉนดชุมชน
-          เสนอนโยบาย คทช. การแก้ปัญหาที่ดินโดยรัฐแทน
กฎหมายกองทุนยุติธรรม
เพื่อให้คนจนได้มีโอกาสสู้คดีนอกคุก  ช่วงระหว่างโดนดำเนินคดีถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวยังมีโอกาสได้หารายได้จุนเจือครอบครัว
-          ต้องติดคุกก่อน ค่อยมาเดินเรื่องขอกองทุน
-          คดีพิพาทกับรัฐ กองทุนตั้งตัวเป็นผู้พิพากษาเองว่าไม่มีทางชนะ ไม่ให้ใช้กองทุน

จากการชุมนุมยืดเยื้อ 10 วัน ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เกิดบันทึกความร่วมมือกับหลายกระทรวง  และที่สำคัญบันทึกฉบับสำคัญ ฉบับท้ายสุดของการชุมนุมคราวนั้นที่ผู้แทน ขปส. ได้ลงลายมือชื่อกับตัวแทนรัฐบาล โดยนายทหารใหญ่พลเอกณัฐพล  นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กขป.5 (คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5) ที่เตรียมตัวจะขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ในเนื้อหาบันทึกนั้นเกี่ยวกับนโยบายข้างต้นที่ ขปส. ได้ขับเคลื่อนมา  จากวันนั้น 12 พ.ค. 61 จนถึงวันนี้ เดือนกันยายน 2561 ไม่มีผลการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมสักกรณีเดียว   นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด  ซ้ำร้ายกับเป็นกลไกที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ต่างหาก
 
 


บันทึกระหว่าง ขปส. กับ รัฐบาล

หลังเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา  และรัฐบาลไทยร่วมลงนามที่จะเป็นหนึ่งในประเทศในการขับตามเป้าหมายเช่นเดียวกันกับประชาคมโลกด้วยเช่นกัน  สุดท้ายเป็นเพียงน้ำหมึกที่ลงนามในกระดาษเท่านั้น   นอกจากยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง   ยกตัวอย่างเช่น แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น  ได้กล่าวไว้ถึงกลยุทธ์การสร้างโอกาสการมีที่อยู่อาศัยไว้ว่า “นำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานรัฐมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ก็พบว่าทุกหน่วยงานต่างหวงแหนที่ดินของตนเองไม่ยอมที่จะนำมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  ทั้งๆที่ที่ดินดังกล่าวก็มีผู้อยู่อาศัยมานานแล้วก็ตาม  ดังเช่นที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีผู้อาศัยอยู่สองข้างรางรถไฟตามแนวไปช่วงตั้งแต่กำลังที่จะเข้าเมืองไปจนถึงสถานี  แต่ก็ไม่มีมาตรการให้ประชาชนอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้  มีเพียงแต่มาตรการทางกฎหมายที่ขับไล่ไปให้พ้นที่ดินตนเอง



ในปีนี้เองเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงต้องขับเคลื่อนรณรงค์สิทธิที่อยู่อาศัยกันต่อไปเช่นเดิมเหมือนทุกปี   และแน่นอนนอกจากสิทธิที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงแล้วนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆยังคงเรียกร้องต่อรัฐบาลในเรื่องคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ  ที่เป็นสวัสดิการของประชาชน ดังต่อไปนี้
1.       ด้านที่อยู่อาศัย
1.1    เพิ่มงบสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงจาก 80,000 บาทต่อครอบครัว เป็น 100,000 บาทต่อครอบครัว  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
1.2    สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้า-ประปา ส่วนต่อขยาย และภายในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐ
1.3    สนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมระบบราง , การพัฒนาการจัดการน้ำในพื้นที่คลอง
2.       ด้านที่ดิน
2.1    รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนนำที่ดินรัฐมาจัดทำที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย
3.       ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.1    การเข้าถึงสิทธิรักษาสำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์
3.2    ให้เปิดลงทะเบียนคนไทยตกหล่นและให้มีระเบียบปฏิบัติเดียวกัน

นี่คือนโยบายแห่งความหวังของประชาชนคนรากหญ้า  ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในการปฎิบัติ  เหลือเพียงการตอบสนองจากทางรัฐบาลที่จะเห็นความสำคัญต่อสิทธิด้านที่อยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...