วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การพัฒนาประเทศ : การรับผิดชอบผลกระทบต่อคนจนของรัฐบาล (ตอนที่ 1)

การพัฒนาประเทศ : การรับผิดชอบผลกระทบต่อคนจนของรัฐบาล
(ตอนที่ 1)

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          ในช่วงเวลานี้ผู้เขียนได้ร่วมเวทีการสมัชชาใหญ่ของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน “เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น และเป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ในเวทีสมัชชาใหญ่นี้เองเป็นเวทีที่ต้องมาสรุปกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดปีของเครือข่ายเอง   พร้อมทั้งมาร่วมวางแผนการทำงานในปีถัดไป   เครือข่ายฟื้นฟูฯเองมีความพิเศษตรงที่ชุมชนสมาชิกของเครือข่ายเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 14 ชุมชน ดังนี้

ลำดับ
ชุมชน
จำนวนครอบครัว
เทศบาลตำบล
1
รอบเมือง 2
38
เมืองเก่า
2
รอบเมือง 2 โซน 2
51
เมืองเก่า
3
พัฒนาเทพารักษ์ 1
20
นครขอนแก่น
4
พัฒนาเทพารักษ์ 2
21
นครขอนแก่น
5
พัฒนาเทพารักษ์ 3
40
นครขอนแก่น
6
เทพารักษ์ 2
68
นครขอนแก่น
7
เทพารักษ์ 5
85
นครขอนแก่น
8
โนนหนองวัด 2 (ริมราง)
41
นครขอนแก่น
9
พรสวรรค์
30
นครขอนแก่น
10
หลักเมือง
70
นครขอนแก่น
11
เหล่านาดี 12
151
นครขอนแก่น
12
หนองแวงตาชู (ใหม่)
148
ศิลา
13
หลังศูนย์พัฒนาที่ดิน โซน 3
40
ศิลา
14
หลังศูนย์พัฒนาที่ดิน โซน 1
20
ศิลา


 

          จากสถานการณ์ที่มีความต้องการพัฒนาประเทศในปัจจุบันนี้เองทำให้เครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องระดมมันสมองกันอย่างเข้มข้น   เนื่องจากการพัฒนาในด้านระบบคมนาคมระบบรางกำลังเป็นที่จับตาและเป้าหมายแรกๆที่รัฐบาลจะดำเนินการก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ – ขอนแก่น หรือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางมาตรฐาน (ความเร็วสูงเดิม) จาก กรุงเทพฯ – หนองคาย ทั้ง 2 โครงการนี้เองเป็นเหคุผลที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องมาร่วมออกแรงทั้งทางความคิด และพละกำลังกาย
          หากจะย้อนเวลากลับไป เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในการผลักดันการปฏิรูปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนได้สำเร็จ   จากที่คณะกรรมการรถไฟฯได้มีมติในวันที่ 13 กันยายน 2543 ซึ่งมีเนื้อหาถึงพื้นที่การรถไฟฯที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆสามารถนำมาให้คนจนเช่าราคาถูกเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้พ้นจากความเป็นชุมชนแออัด หรือสลัมได้   โดยเครือข่ายฟื้นฟูฯ ก็ได้นำมติดังกล่าวมาขับเคลื่อนจนสามารถนำพาสมาชิกชุมชนในจังหวัดขอนแก่นและที่ไม่ใช่สมาชิกบางส่วน รวม 15 สัญญาเช่าแปลงที่ มีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 500 ครอบครัว  โดยการเช่าที่ดินชาวชุมชนจะเช่าในพื้นที่ที่วัดจากกึ่งกลางรางออกมา 20 เมตร ซึ่งเว้นไว้สำหรับการพัฒนาในอนาคต  ถัดจากพื้นที่ดังกล่าวก็จะพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง  อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป


ภาพการสมัชชาใหญ่เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น

          แต่สถานการณ์การพัฒนาระบบรางในปัจจุบันนี้เองที่ทำให้ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯต้องกลับมาอกสั่นขวัญหายกันอีกครั้ง เพราะมีข่าวจากทางการรถไฟฯถึงการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการว่า อาจจะต้องใช้เนื้อที่ที่วัดออกจากกึ่งกลางรางไปข้างละ 40 เมตร รวม 2 ข้างเป็น 80 เมตร  ส่งผลให้ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ตามสองข้างทางต้องได้รับผลกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะได้เช่าที่ดิน หรือยังไม่ได้เช่าแล้วก็ตาม


ภาพโครงการบ้านมั่นคงชุมชนหลักเมือง จ.ขอนแก่น หลักจากเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ

          ที่ผ่านมาเครือข่ายฟื้นฟูฯและเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เจรจาถึงแนวทางการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัฐบาลที่แล้ว  ซึ่งได้ข้อยุติเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายคือ ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมในระยะที่ห่างออกมาจากกึ่งกลางราง 20 เมตร ได้ หากมีบ้านเรือนที่ล้ำไปในเขต 20 เมตรแรกก็จะทำการรื้อขยับปรับเข้ามาอยู่ในเขต 20 เมตรหลัง ทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น สามารถดำเนินการไปต่อได้  โดยรูปแบบการก่อสร้างที่จะมีการยกระดับรางขึ้นในช่วงที่เข้าตัวเมืองขอนแก่น  ต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะสร้างในรูปแบบเลียบบนดินตามรางเดิมไปอีก 2,000 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถือว่าเยอะเกินไปหากจะต้องมีการขับไล่ชาวบ้านให้ไปอยู่ที่ใหม่ที่ไกลออกไปจากตัวเมืองกว่า 2,000 ครอบครัว ถ้าหากต้องดูจากด้านต่างๆที่ชาวบ้านต้องสูญเสียไป และรัฐต้องอุดหนุนช่วยเหลือทดแทนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาที่ดินแห่งใหม่ , ระบบคมนาคมในพื้นที่แห่งใหม่ , การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ หรือการลงทุนระบบสาธารณูปโภคในที่ดินแห่งใหม่ด้วยนั้น อีกทั้งยังต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟหลายจุดอีกด้วย ยังไม่รวมผลที่จะเกิดตามมาของชาวบ้านที่จะต้อง หางานใหม่ , หาที่เรียนให้ลูกใหม่ , ต้องเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ใหม่ หากดูผลกระทบที่ตามมาเหล่านี้ จำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากการก่อสร้างที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนเดิมนั้นจึงถือว่ารัฐบาลคุ้มมากนัก
          สิ่งที่ตรงกันเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะขัดขวางการพัฒนาของประเทศ หรือจังหวัดขอนแก่น แต่อย่างใด   เพราะที่ผ่านมาการรับผิดชอบต่อผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐส่วนมากคนจนที่เป็นผู้เสียสละให้กับคนกลุ่มต่างๆ  กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อน  จะดูได้จากงบประมาณโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ในหลายโครงการส่วนใหญ่จะไม่มีงบประมาณในด้านที่ช่วยเหลือ ทดแทน ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หรือถ้ามีก็ไม่เคยที่จะจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ
แต่นั้นก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในจังหวัดขอนแก่นเพราะโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่จะก่อสร้างด้านฝั่งขวามือเท่านั้น (หันหน้าไปทางหนองคาย) ส่วนฝั่งซ้ายยังคงสงวนไว้สำหรับการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานซึ่งรูปแบบการก่อสร้างยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้พื้นที่การก่อสร้างขนาดไหน นี่คือจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจะต้องระดมสมองในการหาแนวทางการแก้ปัญหากันอีกครั้ง
โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร ซึ่งจะนำรถไฟความเร็วระหว่าง ๑๖๐-๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) มาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ส่วนอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถนำรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ที่มีความเร็วกว่า ๒๕๐ กิโลเมตรมาวิ่งในรางรถไฟได้เช่นกัน 

แผนผังภาพรวมชุมชนในที่ดินการรถไฟฯในจังหวัดขอนแก่น

ในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยเสนอรูปแบบการก่อสร้างไว้เป็นโมเดลเดิม  ซึ่งมีการคัดค้านในหลายภาคส่วน  ในหลายความเห็นที่ยังไม่พร้อมจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของศาลระหว่างการสืบคดีการขอกู้งบประมาณในการก่อสร้างที่ว่า ควรจะดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมด้านอื่นให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยมาสร้างระบบความเร็วสูงนี้  หรือกลุ่มองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆที่สะท้อนถึงความไม่คุ้มในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในช่วงนั้น
โครงการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานในครั้งนี้ จึงจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่ารัฐมีความใส่ใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด   ในช่วงเวลาที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาการก่อสร้างโครงการนี้  การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกส่วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบยิ่งควรจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้มีพื้นที่ในการแสดงความเห็น และเสนอแนวทางเลือกอื่นๆด้วย
แต่ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลราว 200 ล้านบาท ที่จะต้องสร้างกระบวนการเหล่านี้กลับไม่ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมจากทุกส่วน จะเห็นได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา การสื่อสารบอกกล่าวถึงการจัดเวทีประชาชนในจังหวัดขอนแก่นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการติดต่อให้ร่วมเวทีแต่อย่างใด เครือข่ายฟื้นฟูฯหลังจากที่ได้ทราบข่าวการจัดเวทีดังกล่าวก่อนล่วงหน้า 1 วัน จึงเร่งรีบประสานผู้แทนชุมชนต่างๆไปเข้าร่วมเวทีนั้นเพื่อแสดงจุดยืนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ฉะนั้นความจริงใจที่จะเปิดโอกาสรับฟังความเห็นอย่างเป็นกลาง และเป็นธรรม ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงที่ศึกษา   ไม่เช่นนั้นแล้วความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างก็เป็นได้
การพัฒนาที่มีความจริงใจและโปร่งใส  พร้อมที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี   หากแต่การพัฒนาโครงการใดๆที่ไม่มีความจริงใจและไม่โปร่งใสก็ย่อมที่จะเห็นประชาชนออกมาสร้างเวทีแสดงความเห็นของตนเอง   นี่คืออีกหนึ่งบททดสอบความจริงใจของรัฐที่มีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดกับประชาชน ............


วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สมการสังคมไทย รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน

สมการสังคมไทย
รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
         
ในห้วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์บทความนี้  เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนจนเมืองอยู่ในภาวะต้องดิ้นรนรักษาที่อยู่อาศัยในเมืองของพวกเขาไว้ให้ได้  นั้นคือช่วงนี้เริ่มมีการไล่ที่ชุมชนแออัด หรือ สลัม หลายพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชน หรือแม้แต่ที่ดินของพระสงฆ์ ที่คนใจบุญบริจาคทานให้เพื่อทำประโยชน์แก่ศาสนา ก็ไม่วายที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ถูกไล่เช่นกัน
          ดังที่จะเห็นจากที่มีชุมชนต่างๆเข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา เพื่อหาแนวทาง วิธีการ ต่างๆในการหยุดการไล่รื้อช่วงนี้กับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบข้อมูลและได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมทำงานหยุดการไล่รื้อเร่งด่วนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบเห็นชุมชนที่ประสบปัญหาไล่ที่ คือ
          - ชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท  ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ทั้งที่มีมติบอร์ดรถไฟปี47 ให้มีการแบ่งปันที่ดินกัน และต้องไม่มีการดำเนินคดีความใดๆ
- ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง กทม. ชุมชนกำลังรับมอบโฉนดชุมชน แต่รัฐร่วมกับเจ้าของที่ข้างเคียงมารังวัดที่ใหม่ทำที่สาธารณะหายไป เตรียมจะสร้างแนวกำแพงและรื้อบ้านชาวบ้านที่อ้างว่ารุกล้ำที่ดิน   ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นก่อนมาอยู่คือที่ดินลำรางสาธารณะ
- ชุมชนวัดใต้ เขตสวนหลวง กทม. เจ้าอาวาสวัดใต้ให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินที่มีบ้านผู้อยู่อาศัยรอบๆวัด ไปทำธุรกิจคอนโด   ขณะนี้เตรียมที่จะฟ้องขับไล่ชาวชุมชน
- ชุมชนบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี กทม. กำลังจะได้รับผลกระทบสร้างสวนสาธารณะ แต่พร้อมจะขับไล่คนที่มาอยู่ก่อนหลายชั่วอายุคน
- ชุมชนหลังหมู่บ้านสหกรณ์ เขตบึงกุ่ม กทม. ถูกอำนาจเถื่อนของนายทุน ไถบ้านพังเสียหาย สำนักงานเขตรับลูกต่อพร้อมจะไข่ลับอีกทอดห้ามพักชั่วคราวในที่สาธารณะ เคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง

 
ภาพการปักป้ายไล่รื้อชุมชนเสีรีไทย 57

นี่เป็นเพียงกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ราว 350 หลังคาเรือน ที่มาขอความช่วยเหลือกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค แต่ยังคงมีอีกหลายชุมชนที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้อยู่อีกจำนวนมากที่กำลังจะไร้ที่ดินที่จะอยู่อาศัย ไร้ที่ทำมาหากิน
จากภาพเหตุการณ์ดังข้อมูลข้างต้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสที่จะเข้าไปเจรจาเพื่อแก้ปัญหาชุมชนตลาดบ่อบัว ชุมชนนี้อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นชุมชนเก่าแก่อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายของสดเปรียบเสมือนเป็นโรงครัวของเมืองแปดริ้วก็ว่าได้ บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เคยเสียค่าเช่ากับการรถไฟฯมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ ย่า แต่มารุ่นปัจจุบันไม่ได้มีการเก็บค่าเช่า ได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งอยู่ในกระบวนการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับรัฐบาล  เป็นชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในการแก้ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ 13 กันยายน 2543 ที่จะมีการแบ่งปันที่ดินของการรถไฟฯ ให้กับชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ได้เช่าที่ดิน แล้วพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล  จนกระทั่งเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกลุ่มทุนใหญ่ในท้องถิ่น  ซึ่งพอจะลำดับเหตุการณ์คราวๆได้ดังนี้
ปี 2539 บริษัททำสัญญาปลูกสร้าง 5 ปี สัญญา ปี 2539 – 2544 ท่ามกลางการคัดค้านของชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  ซึ่งเคยปิดรางรถไฟให้หยุดการเดินรถมาแล้วเพื่อขอเจรจาเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชน
ปี 2541 บริษัทเริ่มฟ้องร้องชาวชุมชน
ปี 2544 การรถไฟฯบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญาจะหมด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือความเห็นของสำนักราชเลขาธิการ ที่ทางชุมชนตลาดบ่อบัวได้ร้องขอความเป็นธรรม
ปี 2547 บริษัทฟ้องศาลขอความเป็นธรรมขอทำสัญญาใหม่กับการรถไฟฯ
ปี 2547 มีมติบอร์ดการรถไฟฯให้บริษัททำสัญญาต่อได้แต่ต้องถอนฟ้องชาวบ้าน และแบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ให้บริษัท ส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สอง ให้เป็นที่อยู่อาศัยชุมชน ส่วนที่สาม ให้จัดทำเป็นตลาดของชุมชน ซึ่งในส่วนที่ สอง และ สาม จะดำเนินการโดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
ปี 2550 มีการทำสัญญากับทางบริษัทใหม่อีกครั้ง  แต่บริษัทผิดสัญญา การรถไฟฯจึงฟ้องเพื่อยกเลิกสัญญา
ปี 2553 ไกล่เกลี่ยกันที่ศาล ตกลงกัน 2 ฝ่าย คือ การรถไฟฯกับบริษัท
ปี 2557 ทำสัญญาเช่า เพื่อปลูกสร้าง 1 เม.ย. 57 – 31 มี.ค. 62 และสัญญาเพื่อทำประโยชน์ ปี 2562 – 2592 และคดีความข้อพิพาทกับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวยังคงอยู่
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นสิ่งที่หายไปก็คือ “หัวคนจน” ทั้งๆที่ข้อพิพาทเป็นการพิพาทโดยชาวชุมชนตลาดบ่อบัว กับ บริษัทนายทุน ระหว่างผู้อยู่มาก่อนแต่ดั่งเดิม กับ ผู้มีเงินมหาศาล ต้องการที่ดินไปทำธุรกิจ   แต่การรถไฟฯกลับกระทำในสิ่งที่หน่วยงานรัฐที่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงของคนจนกลับกลายเป็นเห็นใจ อย่างฉ้อฉล โดยการทำข้อตกลงกันใหม่ละทิ้งมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 ที่เจตนาจะยุติคดีความข้อพิพาท และแบ่งปันที่ดินกัน    จากการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทนายทุนได้สิทธิ์ในการเช่าเต็มพื้นที่ บริเวณสถานีรถไฟแปดริ้ว  ส่งให้ชุมชนตลาดบ่อบัว  ชาวบ้านจำนวนกว่า 300 ครอบครัว กลายเป็นผู้บุกรุกโดยทันที และดำเนินการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหาย จากชาวบ้าน จำนวน 11 ราย
ตลอดระยะเวลา 10 ปี  ตั้งแต่ ปี 25472557  ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราเองก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆเพื่อจัดทำที่อยู่อาศัย และตลาด จนกลายเป็นโอกาสของกลุ่มนายทุนฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน เกิดการข่มขู่ คุกคาม จากนักเลง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านและเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงร้องเรียนไปยังกระทรวงคมนาคม และ ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงฯในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556  โดยมี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน  ซึ่งผลการของประชุม เฉพาะหน้า ให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นโจทย์ ร่วม กับ บริษัท ให้ชะลอการบังคับคดี ทั้งหมด และให้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่าง ผู้แทนชาวบ้าน การรถไฟ ห้างหุ้นส่วน เทศบาล เพื่อหาทางออกและแนวทางแก้ไข ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558  กระทั่งเช้าในวันถัดมา กรมบังคับดีพร้อมด้วยคนงานของบริษัท เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ  เข้าทำการรื้อถอน บ้านเรือนชุมชนตลาดบ่อบัว โดยไม่ฟังคำทักท้วงของชาวบ้าน   หลังจากทราบว่าเข้ารื้อทำลายผิดหลังจากคำสั่งศาล จึงได้ยุติการรื้อแล้วกลับไปไร้ความรับผิดชอบใดๆ



ภาพการเข้ารื้อบ้านผิดหลังในการบังคับคดี ชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา 
กรณีข้อพิพาทของชุมชนตลาดบ่อบัวเห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน ระหว่างหน่วยงานรัฐ (หลายหน่วยงาน) และบริษัทกลุ่มทุนท้องถิ่น ร่วมไม้ร่วมมือสอดประสานรับลูกต้อนคนจนให้จนมุม  ไมว่าจะเป็นการรถไฟฯ เพิกเฉยต่อมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2543 ที่จะต้องจัดที่ดินอยู่อาศัยให้กับชุมชนตลาดบ่อบัวโดยให้เช่าที่ระยะยาว อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 คือบริษัทยังไม่ถอนฟ้องคดีความชาวบ้าน แต่กลับซ้ำยังทำสัญญาฉบับใหม่ให้กับบริษัท เทศบาลเมืองฉะเชิงเทราที่ต้องดำเนินการจัดที่อยู่อาศัยและตลาดให้ชาวชุมชนก็ทำนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ   ข้อเรียกร้องของชาวชุมชนดูไร้เหตุผลหากถูกตัดตอนความเป็นมา เพราะสิทธิ์การเช่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไปอยู่ในมือนายทุนหมดเสียแล้ว
การต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องคนจนเมืองเหล่านี้ยังคงไม่จบลงเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน  หากหยุด ยุติ การเรียกร้อง เสมือนกับว่าพวกเขาพร้อมจะเป็นคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย อาจจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ บางคนอาจต้องหาที่อยู่ใหม่นอกเมือง ต้องหางานใหม่  บางคนไม่มีทุนก็คงต้องปรับสภาพมาใช้ที่สาธารณะมาเป็นที่หลับนอน  ผันตัวเองเป็นคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน  สิ่งที่เคยสะสมมาในอดีตอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย
โจทย์ปัญหาเหล่านี้คงไม่จบได้ด้วยระเบียบ กฎหมาย ที่ตราขึ้นมาโดยไร้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ยังคงมีอีกหลายชุมชน หลายกรณี ที่กำลังปะทุความเดือดร้อนขึ้นมาในห้วงรัฐบาลทหารที่เปรย จั่วหัว การปกครองถึง “การคืนความสุข” ให้กับคนไทย  พยายาม “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม สุดท้ายกลุ่มคนจนเองยังคงต้องรวมกลุ่ม  รวมตัวกันเพื่อสร้างความสุข “ด้วยตัวเอง” เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงยึดมั่นในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในแนวทางขบวนการภาคประชาชน  

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...