วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อนุมัติเงินกองทุนที่อยู่อาศัย 6,000 ล้านบาท : บทพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลอภิสิทธิ์

อนุมัติเงินกองทุนที่อยู่อาศัย 6,000 ล้านบาท : บทพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลอภิสิทธิ์

 อัภยุทย์  จันทรพา  ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          ภาพข่าวการลงชุมชนคลองบางบัวและการแถลงถึงการสนับสนุนงบประมาณสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยแก่ชาวชุมชนแออัดจำนวน 1,000 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น   อาจทำให้สาธารณชนทั่วไปรู้สึกได้ว่า   รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯนายกอภิสิทธิ์   มีความเห็นอกเห็นใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาชุมชนในเมือง
          แต่สำหรับขบวนการคนจนอย่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี   สิ่งที่ได้รับภายหลังการฟังถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีวันนั้น   กลับเป็นความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง  สงสัย  ไม่มั่นใจ  กระทั่งถึงกับผิดหวัง   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?


          สลัมหรือชุมชนแออัด   เป็นปัญหาเชิงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ดำรงอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน   รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างต้องการที่จะขจัดสลัมให้หมดสิ้นไป   แต่ก็ต้องประสบกับความล้มเหลว   เพราะแนวทางกระแสหลักที่เน้นการย้ายสลัมไปไว้นอกเมืองหรือให้ขึ้นแฟลตตามโครงการของการเคหะแห่งชาติ  ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในเมือง   ซึ่งต้องฝากปากท้องไว้กับแหล่งงานที่ไม่ไกลจากแหล่งพักอาศัย
          แนวทางการแก้ปัญหาที่ชุมชนแออัดอยากเห็นก็คือ   การเอื้อโอกาสให้ชาวสลัมได้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง   โดยการให้ชุมชนปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมหรือหาพื้นที่ใกล้เคียงรองรับผ่านรูปแบบการเช่าที่ดินของรัฐในระยะยาว 30 ปี
          ทิศทางดังกล่าวซึ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นหัวหอกในการผลักดันโดยมีรูปธรรมนำร่องในที่ดินการรถไฟฯ   ได้ถูกรัฐบาลทักษิณที่ว่องไวในการจับกระแสความรู้สึกของคนจนนำไปเป็นนโยบาย “บ้านมั่นคง” ในปี 2546   โดยเน้นให้ชุมชนแออัดเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยการปรับปรุงชุมชนในที่เดิม   พร้อมทั้งอนุมัติงบสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคเฉลี่ย 68,000 บาท ต่อครัวเรือน   โครงการบ้านมั่นคงตั้งเป้าหมายไว้ที่ 300,000 หน่วย ในระยะเวลา 5 ปี มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( พอช. ) เป็นผู้ดำเนินการ
          เมื่อทักษิณถูกรัฐประหาร   รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง   ก็ยังอุตส่าห์สานต่อโครงการบ้านมั่นคง   โดยอนุมัติงบประมาณด้านสาธารณูปโภคตั้งแต่ปี 2550 – 2554 อีก 13,615 ล้านบาท   สำหรับการทำโครงการที่เหลือจำนวน 200,218 หน่วย
          แม้จะได้เม็ดเงินมาพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ทำถนน ถมดิน ทำทางเท้า ทางระบายน้ำ ปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปาในชุมชน   แต่เมื่อเสาบ้านยังโย้เย้  ฝาบ้านยังปะต่อด้วยวัสดุหลากชนิด   แล้วมันจะเป็น “บ้านมั่นคง” ได้อย่างไร   ดังนั้นกองทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น
          ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา   มีการอนุมัติการทำโครงการบ้านมั่นคงไปแล้วถึง 79,464 ครัวเรือน   ในจำนวนนี้มีครัวเรือนที่จำเป็นต้องกู้ยืมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจาก พอช. 47,733 ครอบครัว   ซึ่ง พอช. ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 17,028 ครัวเรือน  โดยใช้เงินกองทุนจำนวน 2,386.15 ล้านบาท   คิดอัตราดอกเบี้ยจากชุมชนร้อยละ 4 ต่อปี   ขณะนี้ยังเหลือผู้ตกค้างที่รอกู้สินเชื่ออีก 30,705 ครอบครัว   นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายอีก 200,218 ครัวเรือน ที่ พอช. ต้องดำเนินโครงการบ้านมั่นคงให้เสร็จในปี 2554    เบ็ดเสร็จแล้วรวมกว่า 230,000 ครอบครัว   ที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อของกองทุนที่อยู่อาศัยของ พอช. 
          อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคือว่า    ความต้องการใช้สินเชื่อกับปริมาณเงินของกองทุนไม่สอดคล้องกัน   ขณะนี้เม็ดเงินของ พอช. กว่า 2,300 ล้านบาทได้หมดลงแล้ว และยอดเงินจ่ายคืนของชุมชนที่กู้ไปก็ได้กลับมาเพียงเดือนละ 150 ล้านบาท ซึ่งไม่พอต่อการหมุนเวียนสินเชื่อ   ดังนั้นถ้าไม่มีการเติมเม็ดเงินให้กับกองทุน พอช.   ก็ไม่มีทางที่ชุมชนที่รอคอยสินเชื่อจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
          พอช. หาทางแก้สถานการณ์ด้วยการต่อเชื่อมกับระบบธนาคารพาณิชย์    โดยการทำข้อตกลงกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ( ธอส. )   เพื่อให้ชุมชนไปกู้ยืมสินเชื่อจาก ธอส. แทน    แต่แนวทางดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค   เพราะเป็นการผลักไสคนจนให้ไปเข้าระบบแบงค์ที่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงถึงร้อยละ 6 ต่อปี
          สิ่งที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เสนอก็คือ   การให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่มเม็ดเงินให้กับกองทุน พอช. อีก 6,000 ล้านบาท   โดยเป็นเงินเร่งด่วนในปีนี้ 1,000 ล้านบาท  ส่วนอีก 5,000 ล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณที่จะทยอยจ่ายให้แก่ พอช. ปีละ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2553 – 2557    ทั้งนี้เพื่อให้ พอช. นำมาปล่อยกู้ให้แก่ชุมชนที่ต้องการทำโครงการบ้านมั่นคงในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี
          โดยการผลักดันวาระดังกล่าวผ่านทาง “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย”   รัฐบาลภายใต้การนำของนายกอภิสิทธิ์ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552  เห็นชอบในหลักการต่อข้อเสนอดังกล่าว   โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และพอช.  ไปจัดทำแผนงบประมาณร่วมกับกระทรวงการคลัง
          ผลการหารือของหน่วยงานดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า    กรอบการอนุมัติเงินกองทุนที่อยู่อาศัยของ พอช. จะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท    โดยรัฐบาลจะนำแผนงบประมาณเข้าโครงการกองทุนไทยเข้มแข็งวงเงิน 800,000 ล้านบาท ที่ขออนุมัติจากรัฐสภา   ทั้งนี้จะจ่ายเงิน 1,000 ล้านบาท ให้แก่ พอช. ในปี 2552 ส่วนในปี 2553 – 2554 จะจ่ายปีละ 2,000 ล้านบาท และในปี 2555 จะจ่ายให้อีก 1,000 ล้านบาท   ซึ่งเป็นไปตามกรอบการใช้เงินของกองทุนไทยเข้มแข็งที่มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 – 2555
          นี่คือสาระสำคัญของประเด็นกองทุนที่อยู่อาศัยที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานรัฐ   แต่ไฉนข้อสรุปเชิงสาระดังกล่าวจึงไม่ได้ออกจากปากท่านนายกอภิสิทธิ์ในวันที่ไปตรวจเยี่ยมชุมชนคลองบางบัว   นายกรัฐมนตรีพูดแต่เพียงว่าจะให้เงินด้านที่อยู่อาศัยแก่ชุมชนจำนวน 1,000 ล้านบาท   ซึ่งถ้อยแถลงอันนี้ได้นำไปสู่ความงุนงง  สับสน  ของชาวสลัม  รวมถึงสงสัยว่ารัฐบาลต้องการให้เงินแค่ 1,000 ล้านบาท เท่านั้นหรือไม่   ถ้าเป็นเช่นนั้นกรอบวงเงิน 6,000 ล้านบาท ที่เคยคุยร่วมกันจะถูกพับไปหรือ?
          ท่านนายกอภิสิทธิ์ที่เคารพ   รัฐบาลก่อนหน้าท่านทั้งรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลจากคณะทหาร   ต่างมีส่วนในการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจะทำให้ความฝันด้านที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองเกิดขึ้นได้จริง   ดังนั้นในยุคของฯพณฯท่าน   เมื่อการทำโครงการของชาวบ้านเกิดอุปสรรคด้านเม็ดเงินกองทุนสินเชื่อที่ไม่เพียงพอ  ก็คงต้องเป็นภาระหน้าที่ของท่านในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีคำขวัญสวยหรูว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” ที่จะต้องสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของคนจนตามที่ได้ตกลงไว้กับภาครัฐ   โดยการอนุมัติเม็ดเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท ให้กับ พอช.    เพื่อให้ชุมชนกู้ยืมไปสร้างบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
          โปรดอย่าให้คนยากคนจนเข้าใจว่า   รัฐบาลภายใต้การนำของท่านกำลังทรยศ  บิดเบือน  หรือเบี้ยว ต่อข้อตกลงที่ให้ไว้กับภาคประชาชน   เพียงเพราะเม็ดเงินก้อนนี้นักการเมืองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดซื้อจัดจ้าง   เปิดประมูล  รวมถึงล็อกสเป็ค   เหมือนกับโครงการชุมชนพอเพียงที่กำลังฉาวโฉ่วอยู่ในขณะนี้.

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...