วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

บำนาญแห่งชาติ อีกหนึ่งก้าว ที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ

                                            บำนาญแห่งชาติ อีกหนึ่งก้าว ที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

             องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้ว่าวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค.2534 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายคำว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

และในสถานกาณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่กลับกำลังมาถึงทางแยกอีกครั้งหลังจากที่มีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ครั้งแรกเมื่อปี 2535 ในเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ และได้ขยับมาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ในปี 2551 ให้สำหรับทุกคน (ที่ลงทะเบียน) ส่วนเรื่องจำนวนเบี้ยที่ให้กับผู้สูงอายุ ก็ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2535 ที่ให้จำนวน 200 บาทต่อคน ต่อมาปี 2536 ให้จำนวน 300/500 บาทต่อเดือน ปี 2551 ให้จำนวน 500 บาทเท่ากันทุกคน และในปี 2554 ถึงปัจจุบัน ให้เป็นขั้นบันไดตามอายุ จำนวน 600 – 1000 บาท ต่อคน แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีแนวความคิดที่จะปรับเกณฑ์การให้เบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น


เปรียบเทียบเบี้ยผู้สูงอายุ

                ทางแยกนี้สำคัญยิ่งนักเพราะมาท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่สร้างความยากลำบากกับพี่น้องประชาชนอย่างถ้วนหน้า แต่รัฐบาลพยายามจะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบเฉพาะกลุ่ม โดยให้เหตุผลหลักอยู่ที่ประเด็นเป็นภาระทางงบประมาณ  ทั้งๆที่หากดูข้อเท็จจริงแล้วกลุ่มที่เป็นภาระทางงบประมาณควรจะเป็นกลุ่มข้าราชการทั้งหลาย หากจะดูอัตราสัดส่วนต่อคนต่อเดือน ที่ใช้ภาษีภาษีจ่ายไป

ข้าราชการเกษียณ                    ราว 8.7 แสนคน           ใช้งบประมาณ 310,600 ล้านบาท

ประชาชนตาดำๆอายุ 60 ปีขึ้นไป ราว 8.2 ล้านคน            ใช้งบประมาณ 68,418 ล้านบาท

 


                 นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ถูกขยายความ หากแต่การสื่อสารกลับมีเพียงมุมเดียวคือการใช้งบประมาณให้กับทางภาคประชาชนจำนวนหลายหมื่นล้านบาท หากมีบำนาญสำหรับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รัฐจำนวนเงินใกล้เคียงหรือเท่ากับข้าราชการ กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จะไม่เป็นภาระลูกหลานอีกต่อไป เพราะคนวัยทำงานสามารถออมเงินสำหรับตอนเองและครอบครัวตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวงถึงด้านพ่อแม่ตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาลูกหลานข้าราชการมีความกังวลด้านนี้น้อยมาก เพราะโดยส่วนใหญ่ข้าราชการบำนาญมีเงินหลังหมดอายุการทำงานเพียงพอในการดำรงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน


ภาพข่าวต่างๆลงพาดหัวหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

ถึงกระนั้นคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเอาเหตุผลด้านงบประมาณมาพูดเพื่อจะนำไปสู่การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุลดลง โดย นพ.วิชัยกล่าวอีกว่า โดยที่ประชุมเห็นพร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายการให้จัดสรรโดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ มีหลักการให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรต้องแสดงตัวตนและแสดงรายได้ และต้องประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับจัดสรรให้สาธารณชนรับรู้ พร้อมทั้งกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลว่า การดำเนินการจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อนหน้านี้ได้รับความเดือดร้อน คือไม่ให้ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับมาอยู่ก่อนหน้า” 

การอ้างถึงงบประมาณรัฐที่มีจำกัดจนไม่สามารถจัดสวัสดิการด้านอื่นๆได้ แท้จริงแล้วการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการให้กับประชาชนหากจัดอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมในงบประมาณที่มีอยู่ปัจจุบันสามารถทำได้ ( ดูบทความย้อนหลังการจัดสวัสดิการต่างๆได้ในลิ้ง https://frsnthai.blogspot.com/2017/10/blog-post_27.html )

เครือข่ายสลัม ภาค ที่ขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยมีหนึ่งในสวัสดิการนั้นคือ บำนาญแห่งชาติ ซึ่งได้ลงแรงรวบรวมลายมือชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน เพื่อเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นพรบ.บำนาญแห่งชาติ เนื้อหาหลักๆ คือ ทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับบำนาญ นโยบายคือสวัสดิการของรัฐมิใช่การสงเคราะห์เพราะสงสาร จำนวนเงินที่จะได้รับต่อเดือนต้องใช้หลักเกณฑ์จากเส้นความยากจนคือจำนวน 3,000 บาท ที่ กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (ราว 2,763 บาท) และคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต้องมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางนโยบาย เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติพร้อมลายมือชื่อ 13,264 คน ยื่นสู่รัฐสภาตามระบบเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อนนำเข้าพิจารณาในสภา ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมเซ็น และปล่อยให้เสียงประชาชนหมื่นกว่าคนหายไปกับสายลม จริงๆแล้วมิใช่เพียงร่างกฎหมายของภาคประชาชนเท่านั้นที่นายกรัฐมนตรีโดยนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ลงนาม แต่ร่างกฎหมายจากพรรคการเมืองอีก พรรค ที่เสนอมาก็ไม่มีการลงนามเช่นเดียวกัน ราวกับประเด็นผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ทั้งๆที่ประเทศไทยเข้าสูงสังคมสูงวัยไปแล้ว

เหตุการณ์เหล่านี้สั่งสมมายาวนานรัฐพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กับภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันรัฐสวัสดิการ พยายามส่งเสียงร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆจะหลั่งไหลไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อคัดค้านแนวความคิดการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบเฉพาะกลุ่ม ไม่ถ้วนหน้า และผลักดันนโยบายบำนาญแห่งชาติกับรัฐบาลโดยผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ออกมารับจดหมายประชาชนเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติรับเอาแนวความคิดการเลือกให้เบี้ยผู้สูงอายุนอกจากรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯต้องรับผลที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกันเพราะถือเป็นหนึ่งในกลไกให้เกิดนโยบายที่ถอยหลังลงคลองย้อนหลังไปเกือบ 30 ปี

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...