วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ระบบหลักประกันสุขภาพ ก้าวสำคัญสู่รัฐสวัสดิการ

ระบบหลักประกันสุขภาพ ก้าวสำคัญสู่รัฐสวัสดิการ

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค

จากปรากฎการณ์ที่มีขบวนภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มเคลื่อนไหวการคัดค้านการแก้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ......  เนื่องจากมีความกังวลต่อเนื้อหาหัวใจหลักสำคัญของเดิมจะถูกเปลี่ยนแปลงไป   และที่สำคัญเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นที่ผ่านมานั้นไม่ได้คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง   เห็นได้จากการจัดเวทีเพียง 5 ครั้ง ในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภูมิภาค   แล้วที่เหลือให้ถือการรับฟังความเห็นทางช่องทางอินเตอร์เน็ตเป็นที่รับรู้กันนั้น  เป็นการดำเนินการที่ไม่ให้ความสำคัญกลุ่มคนราว ๔๘ ล้านคน ที่บางส่วนไม่มีความสามารถในการเดินทางไปยังเวที  หรือบางส่วนไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงทางระบบอินเตอร์เน็ต  เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

การแสดงความเห็นการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ที่จังหวัดขอนแก่น

นั้นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนไม่มีความจริงใจต่อการรับฟังเสียงประชาชน  อีกทั้งเนื้อหาที่จะแก้ไขซึ่งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในระบบการรักษาสุขภาพของประชาชนไทย  คือ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง  (ขอเรียกคำนี้แทนคำว่าร่วมจ่ายซึ่งทำให้สับสนและดูดีเกินจริง)  นี่เองคือประเด็นที่ใหญ่โตที่สุดในการคัดค้านการแก้เนื้อหากฎหมายสุขภาพครั้งนี้   ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นกลุ่มประชาชนที่มาจากคนจนเมือง  รายได้เข้าเกณฑ์ในการลงทะเบียนคนจนบ้าง ไม่เข้าเกณฑ์บ้าง  เพราะกรอบรายได้ในเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีคนจนเมืองสักเท่าไหร่นัก  เพราะแม้นรายได้คนจนเมืองจะสูงเกินเกณฑ์ที่ทางรัฐบาลตั้งไว้  แต่รายจ่ายที่รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงนั้นก็สูงเป็นเงาตามตัวมาด้วยเช่นกัน   ดังนั้นหากแนวโน้มการช่วยเหลืออุดหนุนการรักษาพยาบาลฟรีจะมีเพียงคนที่ผ่านเกณฑ์การลวทะเบียนคนจนเท่านั้น  จึงเป็นสิ่งที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งมาก
ไม่เพียงแต่กลุ่มคนจนรากหญ้าที่กังวลเท่านั้น   กลุ่มชนชั้นกลางเองหากประสบปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง  หรือต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการรักษา  ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเพิ่มขึ้นสามารถก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นมา หรืออาจจะถึงขั้นเป็นบุคคลล้มละลายจากการรักษาพยาบาลตัวเองก็เป็นได้
เราต้องชื่นชมว่านโยบายหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา   ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งองค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ธนาคารโลก ยกย่องให้ไทยเป็นต้นแบบการสร้างหลักประกันสุขภาพของโลก   ผลสำเร็จของไทยพิสูจน์ว่า  การทำให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยขจัดความยากจนได้  ไม่เกิดการล้มละลาย  ขายที่ขายนา เพื่อรักษาพยาบาล  อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลายๆ ประเทศ ขณะที่ในระดับประเทศนั้น การบริหารกองทุนได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกระทรวงการคลังทุกปี มาตั้งแต่ปี 2551 และได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศในปี 2556 และ 2559
อีกทั้ง ณ ขณะนี้เราได้มีรัฐธรรมนูญใหม่  อยู่ในห้วงเวลาที่รัฐบาลที่ควรต้องจดจ่อในการออกกฎหมายเลือกตั้ง  เพื่อให้เกิดความโปร่งใส  เป็นธรรมมากที่สุด  และเตรียมกระบวนการเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแมฟที่รัฐบาลได้วางไว้  ส่วนกฎหมายอื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มควรจะชะลอออกไปก่อน  และเมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงค่อยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนั้นจัดกระบวนการรับฟังอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง  จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า
โดยแท้จริงแล้วเรื่องงบประมาณการสนับสนุนด้านสุขภาพนั้นถูกขีดเส้นแบ่งทางชนชั้นมาอย่างยาวนานแล้ว ถ้าจะแบ่งกลุ่มใหญ่ๆจะมี ๓ กลุ่ม ดังนี้คือ
กลุ่มแรกคือกลุ่มข้าราชการ มีกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ในกลุ่มนี้ครอบคลุมข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน ใช้งบประมาณจากภาษี มีค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 14,123.01 บาทต่อหัว ใช้งบประมาณรวม 618,44.27 ล้านบาทต่อปี
กองทุนประกันสังคม มีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นผู้ดูแล ครอบคลุมลูกจ้างบริษัทเอกชนจำนวนประมาณ 9.9 ล้านคน โดยแหล่งเงินมาจากการสมทบของ 3 ฝ่ายคือ นายจ้าง 5% ลูกจ้าง 5% และรัฐบาล 2.5% ใช้การจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวโดยไม่มีการปรับอัตราเหมาจ่ายตามความเสี่ยง และให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาหลักได้อย่างเสรี มีค่าใช้จ่ายต่อหัวแบบเหมาที่ 2,504 บาทต่อหัว ใช้งบประมาณ 24,476.28 ล้านบาท
กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ครอบคลุมประชากรราว 48 ล้านคน โดยมีแหล่งที่มาของเงินค่ารักษาพยาบาลจากภาษี มีค่าใช้จ่ายรายหัวอยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว มีการใช้งบประมาณไป 101,057.91 ล้านบาท
จะเห็นว่ากลุ่มคนประมาณ ๕ ล้านคน ใช้งบประมาณด้านสุขภาพต่อหัวเฉลี่ยมากกว่าคน ๕๘ ล้านคน ถึงเกือบ ๕ เท่าตัว “ความเท่าเทียม” อยู่ตรงไหน ? นี่คือคำถามคำโตๆ ตะโกนดังๆ หากดูตัดตอนมาหลังจากมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๔๕ ความต่างทางสังคมที่มีอยู่แล้วเริ่มเห็นชุดเจนขึ้นเมื่อมองผ่านการอุดหนุนช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนแต่ละกลุ่ม



แต่สิ่งที่น่าผิดหวังคือคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อของผู้แทนรัฐบาลแต่ละท่านเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนกลับเสมือนว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาล   พยายามโยงการแก้ปัญหาชาวเกษตรกรรมที่พืชผลราคาตกต่ำที่แก้ปัญหาไม่ได้  มาจากงบประมาณส่วนหนึ่งต้องมาอุดหนุนให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน  หรือแม้แต่การไม่รักษาสุขภาพของประชาชนที่ดื่มเหล้า  สูบบุหรี่  ไม่ออกกำลังกาย มาเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมารักษาพยาบาลจำนวนมาก  ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ใช้สิทธิบัตรทอง  แต่มันเป็นพฤติกรรมของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการ หรือนักการเมือง 
และหากกล่าวถึงงบประมาณทางทหารที่รัฐบาลใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การรบไปกว่า ๔๓,๐๐๐ ล้านบาท นั้นกลับใช้จ่ายโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นก่อนหลังการขับเคลื่อนประเทศ  ยังไม่รวมถึงงบประมาณกว่าแสนล้านที่จะเตรียมสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ไม่มีความจำเป็นที่จะรีบเร่งในการก่อสร้างในช่วงนี้  ความด่วนรีบใช้งบประมาณเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจสักเท่าไหร่นัก  เนื่องจากยังมีอีกหลายกลุ่มที่สำคัญที่ยังขาดงบประมาณในการแก้ไข และขับเคลื่อน เช่น การแก้ปัญหาราคาข้าว ราคายางพารา  การใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นที่ผ่านมาของรัฐบาลนี่เองที่เป็นการสร้าง “ความไม่ชอบธรรม” ในการจัดสรรงบประมาณ
นอกเหนือจากงบประมาณที่รอการจัดสรรอย่างพอเหมาะ พอเพียง กับการดำเนินการของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ  อีกอย่างที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นจุดเด่นนั้นคือ  การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีพื้นที่การแสดงความคิดเห็น กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงาน  พร้อมทั้งเสนอแนวทางต่างๆสร้างความเท่าเทียม ในเวทีคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีสัดส่วนของภาคประชาชน ประชาสังคม ถึงแม้ปัจจุบันสัดส่วนยังดูน้อย  แต่หากถ้ามีการปรับแก้ไขใหม่จนทำให้สัดส่วนของภาคประชาชนที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วจะกลายเป็นไร้ค่าในเวทีนั้นไปโดยปริยาย
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดระบบการรักษาพยาบาลควรจะก้าวหน้าไปกว่าเดิม มิใช่ถดถอยหลัง  ล้าหลังไปกว่าเก่าที่มีมา จึงจะถือว่าเกิดการปฎิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพอย่างแท้จริง   ดังนั้นเครือข่ายสลัม ๔ ภาค เห็นว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะสร้างความเท่าเทียมทางสังคม  โดยเฉพาะในด้านสุขภาพนั้น  แนวความคิดที่จะต้องให้ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกควรไม่มีอีกต่อไป   และสำคัญอย่างยิ่งหากจะให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยมีความสง่างามเท่าเทียมถ้วนหน้า   ประชาชนทุกคนควรที่จะได้รับการบริการ   ได้รับการสนับสนุน  จากรัฐบาลที่เท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานในระบบ  กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือแม้แต่ข้าราชการ  นักการเมือง ทั้งหมดนี้ควรจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม เช่นเดียวกัน 

อย่างน้อยความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในประเทศไทยก็จะหายไป  นี่คืออีกหนึ่งเสียงที่พยายามบอกถึงทิศทางในการปรับปรุงระบบการรักษาสุขภาพที่ดีของประเทศไทย จะเป็นหนึ่งก้าวที่สำคัญที่ไทยเราจะมีสวัสดิการด้านสุขภาพโดยรัฐ หรือรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ อย่างยั่งยืน  แก้แล้วแย่อย่าแก้ดีกว่านะครับ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...