วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า อีกหนึ่งย่างก้าว ของชาวชุมชน


เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า
อีกหนึ่งย่างก้าว  ของชาวชุมชน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

การไล่รื้อชุมชนแออัด หรือ สลัม มีมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี  บทเรียนต่างๆเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสขับไล่คนจนออกนอกเมือง   ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้ฉุกคิดถึงนโยบาย หรือกฎหมาย ที่จะมาช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น  จึงมีการรณรงค์ผลักดัน “พรบ.ชุมชนแออัด” ขึ้นมา  การช่วยเหลือกันยามลำบากตอนถูกไล่รื้อ “เพื่อนช่วยเพื่อน”  คอยวนเวียนไปเยี่ยมเยียน หรือไปเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อหยุดยั้งการไล่รื้ออันโหดร้ายในยุคนั้น  จนก่อเกิดเครือข่ายชาวบ้านขึ้นมาในนาม “ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน” ที่เป็นต้นแบบในการหนุนช่วยกันระหว่างผู้ถูกไล่รื้อด้วยกันเอง  และขยายตัวรวมกลุ่มจนเป็นหนึ่งในเครือข่ายในการก่อตั้งสร้างเครือข่ายสลัม 4 ภาค ขึ้นมา
ในช่วงหลังรัฐประหาร  ปัญหาการไล่รื้อชุมชนแออัดก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด ( จากบทความ สมการสังคมไทย รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน) ชุมชนเสรีไทย 57 เขตบึงกุ่ม กทม. ที่ถูกไล่รื้อจากอำนาจเถื่อน   ที่รู้จุดอ่อนคนจน  และช่องว่างทางกฎหมาย  โดยการใช้กำลังและเครื่องจักรเข้าทำลายบ้านเรือนโดยไม่มีคำสั่งศาลใดๆ  และชุมชนโรงช้าง เขตบางกะปิ กทม. ที่ถูกไล่รื้อจากกลุ่มทุน  ที่ยังสร้างความเคลือบแคลงใจของชาวบ้านว่า  ที่ที่ชุมชนตั้งอยู่ควรจะเป็นที่สาธารณะของหน่วยงานรัฐ  แต่กลับกลายมาเป็นที่ดินเอกชน  เป็น 2 ชุมชนที่อยู่ในที่ดินเอกชนแล้วถูกไล่รื้อในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
หลังจากเจอปัญหามาพร้อมๆกันการรวมมือ จับมือกันมาเป็นสหกรณ์เคหะสถาน เพื่อหาที่ดินรองรับแห่งใหม่ก็เกิดขึ้น   ทั้งสองชุมชนได้ไปซื้อที่ดินแห่งใหม่บริเวณบึงนายพล ซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร   แม้จะห่างจากที่เดิมที่เคยอยู่อาศัยไปกว่า 20 กิโลเมตร แต่ระบบขนส่งในปัจจุบันยังพอที่จะบรรเทาให้เขาเหล่านั้นยังสามารถดำรงชีพในเมืองหลวงแห่งนี้ต่อไปได้อย่างมั่นคง  แต่กระนั้นยังส่งผลให้สมาชิกออมทรัพย์เดิมหลายคนต้องขอแยกทางกันไปเพราะความที่ไกลจากแหล่งงานเดิม จากเดิมสองชุมชนรวมกันกว่า ๑๐๐ ครอบครัว คงเหลือเพียง ๓๗ ครอบครัว
  


ภาพการไล่รื้อชุมชนเสรีไท ๕๗ และชุมชนโรงช้าง
ส่วนชุมชนในที่อยู่ในที่ดินสาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแลก็ถูกดำเนินการขับไล่ให้ย้ายออกจากที่ดินเดิมที่เคยอยู่กันมาอย่างยาวนาน มี 4 พื้นที่ คือ ชุมชนแบนตาโพ  เขตคลองสามวา , ชุมชนคลองเป้ง  เขตวัฒนา , ชุมชนราษฎร์บัวขาว  เขตสะพานสูง และชุมชนอยู่เย็น  เขตลาดพร้าว
ล้วนถูกกรุงเทพมหานคร แจ้งให้รื้อย้ายในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนลำดับที่ 1 – 2 นั้น ที่ถูกไล่รื้อจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม นั้นคือ ปว.44 ที่ประกาศใช้จากคณะปฎิวัติมาตั้งแต่เมื่อปี 2502  ซึ่งเป็นกฎหมายไร้ความยุติธรรม  ไม่เปิดโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  แต่ให้โอกาสหน่วยงานรัฐสามารถรื้อถอนบ้านเรือนได้ตามอำเภอใจ  กฎหมายล้าหลังเช่นนี้ยังคงอยู่และใช้อยู่กับคนจนอยู่เนืองๆ  กระทั่งการเข้ามาให้คำปรึกษาช่วยเหลือจัดตั้งกลุ่มในแต่ละพื้นที่ชุมชน  ขับเคลื่อนเรียกร้องเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร  กระทั่งได้ข้อสรุปคือ ทั้ง 4 ชุมชนสมาชิก รวมเป็นหนึ่งสหกรณ์ เพื่อหาที่รองรับแห่งใหม่  ได้ความช่วยเหลือประสานงานจากชุมชนโรงช้าง  ที่ได้ย้ายมาอยู่ก่อนพักใหญ่แนะนำที่ดินข้างเคียงราคาถูกให้  ทั้ง 4 ชุมชนตกลงกันจะเอาที่ดินแปลงดังกล่าวราว 12 ไร่ รองรับ 145 ครอบครัว มาในนาม ชุมชนภูมิใจ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ในผืนแผ่นดินใหม่   ในซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา  เยื้องๆกับที่รองรับชุมชนโรงช้าง
 


ภาพการยกศาลพระพรหมในพื้นที่รองรับแห่งใหม่ของชุมชนภูมิใจ
นอกจากนั้นยังมีชุมชนตลาดบ่อบัว ที่อยู่กลางเมืองแปดริ้ว  ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ซึ่งโดนกลไกการตลาดค้าที่ดินส่งผลกระทบมายังชุมชน  เดิมทีชุมชนนี้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯมาหลายสิบปี  แต่ต่อมาหยุดให้เช่าไม่กี่เดือนถัดไปก็รู้ถึงสาเหตุที่ไม่ให้เช่าต่อ  เพราะเนื่องจากมีกลุ่มทุนเสนอราคาค่าเช่าที่แพงกว่านั้นเอง  ส่งผลให้ชุมชนนี้กลายเป็นกลุ่มคนอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายทันที
  

ภาพการไล่รื้อชุมชนตลาดบ่อบัว
จึงเกิดการคัดค้าน  เรียกร้องความเป็นธรรมกันใช้เวลากว่า 4 ปี ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค บทสรุปการเรียกร้องและเจรจาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีมติคณะกรรมการรถไฟอนุมัติหลักการเช่าให้กับชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  โดยการรถไฟฯได้แบ่งที่ดินประมาณ 6 ไร่ ให้กับชาวชุมชน 99 ครอบครัว เช่าเป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินในที่บริเวณเดิม
ชุมชนเหล่านี้ประสบปัญหาถูกไล่รื้อชุมชนเหมือนกัน  เป็นคนจนที่มีหัวอกเดียวกัน  เข้าใจถึงปัญหา  เข้าใจถึงความรู้สึก  สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้กลุ่มชุมชนดังกล่าวได้มารวมตัวกัน  ในปี 2560 ในวันสมัชาใหญ่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เขาเหล่านั้นร่วมกันประกาศการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในนาม “เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า”  และได้กลายเป็นเครือข่ายสมาชิกที่ 9 ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค
 



ภาพการประชุมจัดตั้งเครือข่ายชุมชนก้าวหน้า
เครือข่ายชุมชนก้าวหน้าประกอบไปด้วยชุมชนสมาชิกที่มาจาก 7 ชุมชน ดังนี้
1.        ชุมชนเสรีไท เขตบึงกุ่ม
2.        ชุมชนโรงช้าง  เขตบางกะปิ
3.        ชุมชนแบนตาโพ  เขตคลองสามวา
4.        ชุมชนคลองเป้ง  เขตวัฒนา
5.        ชุมชนอยู่เย็น  เขตลาดพร้าว
6.        ชุมชนราษฎร์บัวขาว  เขตสะพานสูง
7.        ชุมชนตลาดบ่อบัว  อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
เป็นความต่างที่เหมือนกัน....ทั้ง 7 ชุมชน ไม่ได้มีรายละเอียดการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน  เนื่องจากที่ตั้งชุมชนเจ้าของที่ดินไม่ได้มีความคล้ายกัน ลำดับที่ 1-2 เจ้าของที่ดินเอกชนไล่รื้อ  ลำดับที่ 3-6 กรุงเทพมหานครเป็นผู้ไล่รื้อ ลำดับที่ 7 การรถไฟฯกับกลุ่มทุนไล่รื้อ  ความเหมือนกันก็คือเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  เขาเหล่านั้นถูกกระทำราวกับเป็นอาชญากร เพียงแค่จนไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้นเอง
การรวมตัวเป็นเครือชุมชนก้าวหน้าไม่ได้เป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อทำความรู้จักกันเท่านั้น  แต่เป็นการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันในทุกด้าน   ที่ผ่านมาการไล่รื้อชุมชนแต่ละครั้ง  สมาชิกในเครือข่ายชุมชนก้าวหน้าก็หมุนเวียนกำลังกันช่วยเหลือ  แลกเปลี่ยนประกสบการณ์กัน เป็นทะแนะ ทนาย ช่วยกันในเครือข่ายชาวบ้าน  โดยใช้ประสบการณ์จริงในการส่งต่อความรู้
และนั้นคือสิ่งที่ท้าทายในอนาคต  หลังจากที่เขาเหล่านั้นได้ที่ดินที่มั่นคง  ได้บ้านที่มั่นคง  ไม่ถูกไล่รื้อ ไม่ถูกรุกรานจากลุ่มทุนแล้ว  การดำรงอยู่ต่อไปข้างหน้าของเครือข่ายจะยังสามารถยกระดับต่อไปในอนาคตได้หรือไม่  นี่คือสิ่งที่ท้าทายกว่าการต่อต้านการไล่รื้อเสียอีก  ดังคำกล่าวของ “สุวิทย์  วัดหนู” นักสู้ของคนจนเคยได้กล่าวไว้ว่า “การต้านการไล่รื้อเป็นเรื่องที่ยากลำบาก  แต่การรักษาที่ดิน รักษาชุมชนที่ได้มาลำบากยิ่งกว่า” 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...