วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

 



ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4ภาค

“ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำกัด ไม่สามารถงอกเงยเพิ่มเติมขึ้นมาได้ ตรงข้ามกลับมีทีท่าว่าจะหดหายไปจากสภาวะโลกร้อน ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นทุกเวลาการที่คนจนจะเข้าถึงที่ดินจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก โดยเฉพาะคนจนเมือง ที่มีอัตราการเพิ่มมูลค่าที่ดินสูงขึ้นจนน่าตกใจ



จะเห็นได้ว่าที่ดินราคามีแต่ขึ้น ไม่มีลง แต่กลับมีคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งกลับครองที่ดินกว่า 80% ไว้กับตนเอง ยิ่งส่งผลให้ราคาต้องถีบสูงขึ้นไปอีก การแย่งชิงทรัพยากรที่ดินก็เพิ่มการแข่งขันมากขึ้นไป เป็นตัวเร่งในการเพิ่มมูลค่าที่ดิน



ขบวนประชาชนที่เคลื่อนไหวในด้านที่ดิน อย่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลในหลายรัฐบาลเพื่อให้ออกมาตรการด้านภาษีเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้ปล่อยที่ดินออกจากการครอบครอง แล้วจะได้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ผ่อนการแย่งชิงทรัพยากรให้ลดลง แต่ก็ไม่พบรัฐบาลใดที่มีความกล้าในการจัดการปัญหานี้โดยใช้มาตรการภาษีนี้ แต่กลับมีการดัดแปลง “ภาษีโรงเรือน และที่ดิน” มาเป็น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ออกมาใหม่ โดยเน้นจะเก็บคนที่มีที่ดินมูลค่าสูง และหลายแปลง แต่ก็มีเพดานการจัดเก็บไม่เกิน 3% ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 7%

แต่กระนั้นนอกจากกลุ่มเจ้าของที่ดินจำนวนน้อยที่ครองที่ดินจำนวนมากเหล่านั้นจะไม่กระทบอะไรแล้ว แต่กลับมาส่งผลให้กับชาวชุมชนที่รวมกลุ่มกันซื้อที่ดินบ้าง เช่าที่ดินบ้าง แล้วแบ่งกันอยู่อาศัยด้วยกัน ตัวอย่างเช่น การเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยผ่านการเช่าช่วงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำหรับเป็นที่รองรับชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ซึ่งเป็นการช่วย รฟท. จัดระเบียบผู้อยู่อาศัยที่อยู่ในที่ดิน รฟท. ในอีกทางหนึ่ง โดยชุมชนนี้ขอเช่าที่ดิน 6,129 ตารางเมตร หรือประมาณ 3.84 ไร่ เพื่อรองรับสมาชิก 72 ครัวเรือน



โดยทั้ง 72 ครัวเรือน ได้แบ่งที่ดินขนาดเท่าๆกันไม่เกิน 50 ตารางเมตรต่อครัวเรือน หากเป็นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปกติแต่ละครัวเรือนไม่มีทางเข้าเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีเลย แต่เนื่องจากเขาจน เขาต้องรวมกลุ่มมาเช่าที่ดินจาก รฟท. เป็นแปลงรวมเขาเลยต้องจ่ายภาษี (เหรอ) นี่คือความบิดเบี้ยวของกฎหมายสุดท้ายคนรวย คนมีที่ดิน ไม่กระทบจากการจ่ายภาษีเพิ่ม แต่คนจนต้องก้มหน้าจ่ายภาษี ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่อไป

นี่คือหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต่อรัฐบาลเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ในกรณีการเก็บภาษีควรเก็บเป็นรายบุคคลที่ครอบครองจริง ไม่ควรดูจากสัญญาเช่าแผ่นเดียว หรือโฉนดฉบับเดียว ที่มาจากการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินราคาแพง

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่กระทรวง พม. หลงทิศ

                                         การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่กระทรวง พม. หลงทิศ

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค

 

จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทั่งมีสื่อนำไปโพสคำพูดระหว่างอภิปรายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ ว่า งบประมาณมีจำกัด เราอยากจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า เรามีปัญหาข้อจำกัดเรื่องหนี้สาธารณะ ดังนั้นการเคหะฯ จะนั่งรองบประมาณจากรัฐบาลเพื่อสร้างบ้านคนจนไม่ได้อีกต่อไป และได้เปลี่ยนมาทำบ้านให้คนจนเช่า ซึ่งทำแล้ว ๑๐,๐๐๐ ห้อง ราคา ๙๙๙ บาท ทั่วประเทศ พร้อมยืนยันว่า ตนอยากให้คนจนมีบ้านอยู่ ประชาชนต้องได้ประโยชน์มากขึ้น เอกชนต้องเลิกหากินเป็นเหลือบกับการเคหะฯ ซึ่งบ้านใหม่ที่สร้างเช่ามีสภาพดีกว่าบ้านเอื้ออาทร” (ข้อความจาก เพจ workpointTODAY ) ทำให้ชาวชุมชนเมืองเกิดความงุงงงขึ้นมาเป็นอย่างมาก ว่าโครงการดังกล่าวอยู่แห่งหนตำบลใด เนื้อหาการอภิปรายเรื่องทุจริต หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ที่พูดคุยกันในสภาบทความนี้ไม่ขอแสดงความเห็น แต่จะขอกล่าวถึงทิศทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหลัก

จากที่เครือข่ายสลัม ๔ ภาค ทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมากว่า ๒๐ ปี พอจะแยกกลุ่มเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑.    กลุ่มคนไร้บ้าน ที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะต่างๆ

๒.    กลุ่มชุมชนแออัด ที่สร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินผู้อื่น ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดินพร้อมจะถูกไล่รื้อทุกเมื่อ

๓.    กลุ่มชนกลางระดับล่าง ที่อาศัยเช่าห้องพัก บ้านเช่าในชุมชน ใกล้ที่ทำงาน

และหากนำเอาประโยคคำพูดข้างต้นของนายจุติ ไกรฤกษ์ มาจับคู่กับคนจนเมืองทั้ง ๓ กลุ่มแล้ว อาจจะตอบโจทย์ได้เพียงกลุ่มที่ ๓ (บางคน) เท่านั้น เพราะจะต้องดูทำเลที่ตั้งของโครงการว่าอยู่จุดใดของจังหวัดนั้นๆ ห่างจากที่ทำงานที่อยู่ในเมืองขนาดไหน มีรถโดยสารประจำทางผ่านหรือไม่ ประกอบไปด้วย เพราะนั้นคือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเลือกที่พักอาศัย แต่หลังจากที่เปิดเช็คข้อมูลโครงการปรากฎว่า !!!! ไม่มีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ( จากเวปไซด์ https://www.nha.co.th/nha-low-income/ )


ภายในเวปไซด์ได้ประชาสัมพันธ์โครงการอาคารเช่า สำหรับผู้มีรายได้น้อยในภายใต้เวปไซด์ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เอง โดยมีจังหวัดที่มีโครงการดังกล่าวคือ จังหวัดลำปาง , นครสวรรค์ , ลพบุรี , พังงา , กาญจนบุรี , มหาสารคาม , สุรินทร์ และอุบลราชธานี รวม ๘ จังหวัด จาก ๗๗ จังหวัดทั่วไทย แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ ราคา ที่นายจุติ ไกรฤกษ์ โฆษณาไว้ที่สื่อลงว่า ๑๐,๐๐๐ ห้องราคา ๙๙๙ บาท แต่ที่ลงเวปไซด์ประชาสัมพันธ์ราคาต่ำสุดอยู่ที่ ๑,๔๐๐ บาท และอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเดียวเท่านั้น ไม่ตรงตามที่ได้พูดไว้ในสภา






ภาพจากเวปไซด์ การเคหะแห่งชาติ

ส่วนคุณสมบัตินั้นเปิดกว้างสำหรับคนที่มีรายได้ที่ชัดเจนเพราะกำหนดรายได้ไว้สูงที่เพดานไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ตอกย้ำว่ากลุ่มคนจนเมืองกลุ่มที่ ๑ และ ๒ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้อย่างแน่นอน

 

  

 

และนี่คือการอภิปรายของภาคประชาชนต่อการแก้ต่าง แก้ตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการละเลยต่อการส่งเสริมให้การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยโดยประชาชน หรือชุมชน มีส่วนร่วมอย่างโครงการบ้านมั่นคง ที่งบประมาณลงไปที่ชุมชนโดยตรง ช่างก่อสร้าง ชุมชนเป็นผู้กำหนด ที่มักจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนจนเมืองกลุ่มที่ ๒ หรือ กลุ่มชุมชนแออัด กลับไม่ค่อยได้รับการส่งเสริม หรือให้ความสำคัญ เทียบเท่ากับโครงการสร้างอาคารให้ประชาชนเช่า

ส่วนกลุ่มคนจนกลุ่มที่ ๑ กลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนในที่สาธารณะนั้น ความชัดเจนในการแก้ปัญหายังไม่มีความเด่นชัดสักเท่าไหร่นัก มีความร่วมมือในระดับกรม แต่ระดับกระทรวงยังไม่คิดที่จะดำเนินการสานต่อ นี่เป็นเพียงจุดหนึ่งที่พบเห็นทางสื่อ และประสบได้เองทางสื่อออนไลน์ถึงทิศทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นี้ ไม่ได้มาถูกทางเอาเสียเลย

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

บำนาญแห่งชาติ อีกหนึ่งก้าว ที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ

                                            บำนาญแห่งชาติ อีกหนึ่งก้าว ที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

             องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้ว่าวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค.2534 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายคำว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

และในสถานกาณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่กลับกำลังมาถึงทางแยกอีกครั้งหลังจากที่มีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ครั้งแรกเมื่อปี 2535 ในเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ และได้ขยับมาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ในปี 2551 ให้สำหรับทุกคน (ที่ลงทะเบียน) ส่วนเรื่องจำนวนเบี้ยที่ให้กับผู้สูงอายุ ก็ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2535 ที่ให้จำนวน 200 บาทต่อคน ต่อมาปี 2536 ให้จำนวน 300/500 บาทต่อเดือน ปี 2551 ให้จำนวน 500 บาทเท่ากันทุกคน และในปี 2554 ถึงปัจจุบัน ให้เป็นขั้นบันไดตามอายุ จำนวน 600 – 1000 บาท ต่อคน แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีแนวความคิดที่จะปรับเกณฑ์การให้เบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น


เปรียบเทียบเบี้ยผู้สูงอายุ

                ทางแยกนี้สำคัญยิ่งนักเพราะมาท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่สร้างความยากลำบากกับพี่น้องประชาชนอย่างถ้วนหน้า แต่รัฐบาลพยายามจะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบเฉพาะกลุ่ม โดยให้เหตุผลหลักอยู่ที่ประเด็นเป็นภาระทางงบประมาณ  ทั้งๆที่หากดูข้อเท็จจริงแล้วกลุ่มที่เป็นภาระทางงบประมาณควรจะเป็นกลุ่มข้าราชการทั้งหลาย หากจะดูอัตราสัดส่วนต่อคนต่อเดือน ที่ใช้ภาษีภาษีจ่ายไป

ข้าราชการเกษียณ                    ราว 8.7 แสนคน           ใช้งบประมาณ 310,600 ล้านบาท

ประชาชนตาดำๆอายุ 60 ปีขึ้นไป ราว 8.2 ล้านคน            ใช้งบประมาณ 68,418 ล้านบาท

 


                 นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ถูกขยายความ หากแต่การสื่อสารกลับมีเพียงมุมเดียวคือการใช้งบประมาณให้กับทางภาคประชาชนจำนวนหลายหมื่นล้านบาท หากมีบำนาญสำหรับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รัฐจำนวนเงินใกล้เคียงหรือเท่ากับข้าราชการ กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จะไม่เป็นภาระลูกหลานอีกต่อไป เพราะคนวัยทำงานสามารถออมเงินสำหรับตอนเองและครอบครัวตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวงถึงด้านพ่อแม่ตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาลูกหลานข้าราชการมีความกังวลด้านนี้น้อยมาก เพราะโดยส่วนใหญ่ข้าราชการบำนาญมีเงินหลังหมดอายุการทำงานเพียงพอในการดำรงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน


ภาพข่าวต่างๆลงพาดหัวหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

ถึงกระนั้นคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเอาเหตุผลด้านงบประมาณมาพูดเพื่อจะนำไปสู่การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุลดลง โดย นพ.วิชัยกล่าวอีกว่า โดยที่ประชุมเห็นพร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายการให้จัดสรรโดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ มีหลักการให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรต้องแสดงตัวตนและแสดงรายได้ และต้องประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับจัดสรรให้สาธารณชนรับรู้ พร้อมทั้งกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลว่า การดำเนินการจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อนหน้านี้ได้รับความเดือดร้อน คือไม่ให้ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับมาอยู่ก่อนหน้า” 

การอ้างถึงงบประมาณรัฐที่มีจำกัดจนไม่สามารถจัดสวัสดิการด้านอื่นๆได้ แท้จริงแล้วการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการให้กับประชาชนหากจัดอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมในงบประมาณที่มีอยู่ปัจจุบันสามารถทำได้ ( ดูบทความย้อนหลังการจัดสวัสดิการต่างๆได้ในลิ้ง https://frsnthai.blogspot.com/2017/10/blog-post_27.html )

เครือข่ายสลัม ภาค ที่ขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยมีหนึ่งในสวัสดิการนั้นคือ บำนาญแห่งชาติ ซึ่งได้ลงแรงรวบรวมลายมือชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน เพื่อเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นพรบ.บำนาญแห่งชาติ เนื้อหาหลักๆ คือ ทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับบำนาญ นโยบายคือสวัสดิการของรัฐมิใช่การสงเคราะห์เพราะสงสาร จำนวนเงินที่จะได้รับต่อเดือนต้องใช้หลักเกณฑ์จากเส้นความยากจนคือจำนวน 3,000 บาท ที่ กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (ราว 2,763 บาท) และคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต้องมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางนโยบาย เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติพร้อมลายมือชื่อ 13,264 คน ยื่นสู่รัฐสภาตามระบบเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อนนำเข้าพิจารณาในสภา ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมเซ็น และปล่อยให้เสียงประชาชนหมื่นกว่าคนหายไปกับสายลม จริงๆแล้วมิใช่เพียงร่างกฎหมายของภาคประชาชนเท่านั้นที่นายกรัฐมนตรีโดยนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ลงนาม แต่ร่างกฎหมายจากพรรคการเมืองอีก พรรค ที่เสนอมาก็ไม่มีการลงนามเช่นเดียวกัน ราวกับประเด็นผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ทั้งๆที่ประเทศไทยเข้าสูงสังคมสูงวัยไปแล้ว

เหตุการณ์เหล่านี้สั่งสมมายาวนานรัฐพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กับภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันรัฐสวัสดิการ พยายามส่งเสียงร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆจะหลั่งไหลไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อคัดค้านแนวความคิดการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบเฉพาะกลุ่ม ไม่ถ้วนหน้า และผลักดันนโยบายบำนาญแห่งชาติกับรัฐบาลโดยผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ออกมารับจดหมายประชาชนเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติรับเอาแนวความคิดการเลือกให้เบี้ยผู้สูงอายุนอกจากรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯต้องรับผลที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกันเพราะถือเป็นหนึ่งในกลไกให้เกิดนโยบายที่ถอยหลังลงคลองย้อนหลังไปเกือบ 30 ปี

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ระบบรัฐราชการที่ล้าหลัง พาประชาชนทยอยตาย

 

ระบบรัฐราชการที่ล้าหลัง พาประชาชนทยอยตาย

โดย คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค

                     ในวันที่ ๒๑ - ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ชนบท ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายชาวบ้าน ร่วมกันตั้งจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด ๑๙ เชิงรุกตามจุดต่างๆในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งได้รับความมือจากภาคีต่างๆเป็นอย่างดี อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัม๔ภาค และกลุ่มต่างๆที่ไม่ได้เอ่ยถึงอีกมาก เพราะได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีความต้องการตรวจเชื้อให้กับตนเองและครอบครัวจำนวนมาก เนื่องจากหากต้องไปตรวจเองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

 



  

 

การปฏิบัติการพิเศษ 3 วัน มี 16 ทีมของแพทย์ชนบทและร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆจากต่างจังหวัด ลงมือ swab ผู้คนด้วย Rapid Ag Test เมื่อผลเป็นบวกจะได้ทำ rtPCR ให้ทันที และนำเข้าระบบ Home Isolation โดยเข้าถึงชุมชนทั้งสิ้น 40 จุด ตรวจได้จำนวน 31,518 ราย ผลพบว่า เจอผู้ติดเชื้อโควิดถึง 5,086 คน หรือมีผลบวกถึง 16.14% ถือว่าสูงมาก อัตราการทำ rtPCR เกิน 100% เพราะบางรายมีผล rapid test แล้วหาที่ทำ rtPCR ไม่ได้ เลยต้องมาขอต่อคิวทำ rtPCR ในการปฏิบัติการครั้งนี้ (ข้อมูลจาก แฟนเพจ : ชมรมแพทย์ชนบท)




 ขอขอบคุณภาพจากแฟนเพจ ชมรมแพทย์ชนบท

แน่นอนกระบวนการหน้าบ้านคือบุกเชิงรุกเข้าตามจุดชุมชนต่างๆ และยังมีหลังบ้านคือกลุ่มแพทย์ พยาบาล อาสา ที่คอยรับผู้ป่วยที่อยู่ในระดับขั้นสีเหลือง สีแดง ที่จะให้คำปรึกษาการปฏิบัติตัว หรือแม้กระทั่งวินิจฉัยจ่ายยาให้ตามอาการอีกด้วยในระบบออนไลน์ที่เชื่อมประสานกันระหว่าง หน้าบ้าน ถึงหลังบ้าน โดยอาสาสมัครแพทย์ พยาบาล จะติดต่อไปพูดคุยสอบถามอาการหลังจากทราบผลไม่เกิน ๑ ชั่วโมง แล้วจะนำข้อมูลอาการผู้ติดเชื้อไปหารือต่อกับแพทย์ โดยกระบวนท้ายสุดนี้อาจจะต้องใช้เวลาเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนแพทย์อาสามีจำกัด ซึ่งจะตอบกลับอีกราว ๑ - ๒ ชั่วโมง เพื่อแจ้งต่อผู้ติดเชื้อว่าต้องกินยาแบบไหน หรือไม่จำเป็นต้องกินยา สามารถกลับบ้านไปกักตัวได้เลยในระบบ Home Isolation ได้ทันที เพราะมีอาสาสมัครหน้างานคอยกรอกข้อมูลให้ทันทีที่ทราบผล

ความพยายามข้างต้นที่เล่าถึงมาแสดงให้เห็นน้ำจิต น้ำใจ อันมากล้นของประชาชนคนไทยที่หลั่งไหลมาช่วยเหลือกันในยามสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ แต่หากมองไปอีกมุมที่กลับกันเหตุการณ์นี้ทำไมต้องมาเกิดในสังคมไทย ภาพผู้คนดิ้นรนหาที่ตรวจเชื้อ ภาพผู้คนนอนป่วยไร้คนดูแล จนกระทั่งถึงภาพผู้คนที่เสียชีวิตข้างถนนไร้คนเหลียวแล ซึ่งสังคมได้ตัดสินไปแล้วว่ามันเกิดมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ประมาทต่อการโรคระบาดครั้งนี้ นิ่งนอนใจไม่ตัดสินใจสั่งวัคซีนที่มีคุณภาพเข้าประเทศตั้งแต่แรก รวมไปถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่ก้ำกึ่งเพราะเกรงว่าจะต้องจ่ายเงินเยียวยาประชาชน

กระทั่งระบบการรับตัวคนผู้ป่วยติดเชื้อยังเป็นระบบราชการที่ล้าหลัง ไม่ทันต่อสถานการณ์ ถึงแม้ประชาชนรู้ตัวเองว่าติดเชื้อโควิด๑๙ จากการตรวจแบบ Rapid Ag Test แล้วมีอาการไม่สู้ดีอยู่ในกลุ่มสีแดง แพทย์ลงความเห็นว่าต้องรีบนำเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยด่วนก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจาก “ระบบ” ที่วางไว้ว่าประชาชนจะต้องมีผลตรวจด้วยวิธีการ rtPCR เท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้ผลจะออกมาได้ต้องใช้เวลาประมาณ ๔๘ ชั่วโมง ดังเช่นเคสกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งค่าออกซิเจนในเลือดเหลือเพียง ๖๕ (โดยปกติแล้วต่ำกว่า ๙๕ ให้ถือว่าเริ่มผิดปกติ) เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวันไปถึงบ้านแต่ไม่สามารถรับตัวไปส่งต่อโรงพยาบาลได้เพราะแจ้งว่าไม่มีผลแลป rtPCR ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับ และได้ติดต่อไปยังกองควบคุมโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร ก็ได้คำตอบที่เป็นคำถามเช่นเดิมคือผู้ป่วยมีผลแลป rtPCR หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยท่านนี้ได้เข้ารับการตรวจ Rapid Ag Test และทางแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าอยู่กลุ่มสีเหลือง สั่งจ่ายยาไปเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แต่อาการมาป่วยหนักในวันถัดมา เขาไม่สามารถใช้ผลตรวจแบบ Rapid Ag Test เพื่อนำตัวเองไปรักษาในโรงพยาบาลได้เลย โดยอ้างว่า “ผู้ใหญ่ให้นโยบายมาแบบนี้ไม่สามารถช่วยเหลือได้จริงๆ”


ภาพผู้ป่วยที่รอการเข้ารักษาแต่ไม่มีผลแลป rtPCR

หากรัฐบาลยังคงทำตัวทองไม่รู้ร้อน เห็นการเสียชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องปกติ ถือว่าเป็นการ “สมรู้” ในการสูญเสียครั้งใหญ่นี้ของประเทศไทย หากแม้ความสามารถการนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพต่อสถานการณ์ปัจจุบันยังทำได้ด้วยความล่าช้า แต่ปัญหาเฉพาะหน้าควรจะมีวิสัยทัศน์แก้ปัญหาที่ต้องมองข้ามระเบียบ ระบบ ราชการที่ล้าหลังออกไปด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลนี้จะมีเพียงความกระสันอยากมีแต่อำนาจ แต่ไม่มีกึ๋นที่จะบริหารอำนาจที่มีให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขได้ ก็คงรอเพียงเวลาที่ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ถูกรัฐบาลกระทำลุกขึ้นมาทวงอำนาจกลับคืน

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

๒๐ ปี การเคลื่อนไหวเพื่อปฎิรูปที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

 ๒๐ ปี การเคลื่อนไหวเพื่อปฎิรูปที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดย คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค

 

เครือข่ายสลัม ๔ ภาค มีสมาชิกชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวนมาก สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนแออัดในที่ดินของการรถไฟฯ จะมีลักษณะไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นที่ฐาน ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า รวมถึงการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆตามนโยบายของรัฐบาล คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ถือได้ว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมได้เลย

 



 

สภาพที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯ

 

ในปี ๒๕๔๑ เครือข่ายสลัม ๔ ภาค เริ่มขยับขบวนใหญ่เพื่อให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ในที่ดินของ รฟท. เริ่มลงสำรวจ ทำความเข้าใจ และชักชวน เพื่อพ้องน้องพี่ ชุมชนต่างๆมาเข้าร่วมผลักดันในรูปแบบการ “เช่าที่ดิน” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามระเบียบของการรถไฟฯ จนสามารถรวบรวมชุมชนเบื้องต้นได้ ๖๑ ชุมชน เป็นบัญชีรายชื่อชุมชนที่ยื่นต่อกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขอเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

กระทั่งในปี ๒๕๔๓ เครือข่ายสลัม ๔ ภาค ชุมนุมใหญ่หน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อรอฟังผลมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นมติประวัติศาสตร์ของ รฟท. เปิดโอกาสให้ชุมชนแออัดในที่ดินของ รฟท. สามารถเช่าที่ดินเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยได้



 

จากชุมชนแออัดหลังจากได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ สามารถปรับที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนเมืองที่น่าอยู่

ภาพชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

 

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ผ่านไป ๒๐ ปี การเดินหน้าเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ ยังคงขับเคลื่อนไปไม่มีหยุดแม้แต่ปีเดียว  หากแต่ว่า “ทัศนคติ” ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติ ของการรถไฟฯ กลับยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงไม่มีแนวนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนต่างๆที่นอกเหนือ ๖๑ ชุมชน ให้ได้มีการเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ยังคงปล่อยให้เอกชนประมูลทับที่ดินที่เป็นที่ตั้งของชุมชน ยังคงมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แต่คนรับผิดชอบผู้ได้รับผลกระทบกลับกลายเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลงานมาเป็นคู่พิพาทกับชาวบ้าน ทำให้เครือข่ายสลัม ๔ ภาค จะต้องใช้ประสบการณ์ ๒๐ ปีผ่าน มาใช้ช่วยเหลือพี่น้องชุมชน

วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก อีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้เครือข่ายสลัม ๔ ภาค และชาวชุมชนต่างๆจะประสานใจกันออกมาเดินรณรงค์ครั้งใหญ่กว่าหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลเองไม่ได้ใส่ใจการแก้ปัญหาของคนยากคนจน สถานการณ์รัฐราชการที่ยังปฎิบัติตัวเป็นนายประชาชน ดำเนินคดีชาวบ้านรายวัน จากสถานการณ์เหล่านี้เองจะส่งผลให้มีชาวชุมชนออกมาร่วมเดินรณรงค์ พร้อมข้อเรียกร้องที่รัฐจะต้องออกมาแก้ปัญหา

แน่นอนว่าวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ หนึ่งในสถานที่ที่ขบวนรณรงค์จะไปหยุดนั้นคือ กระทรวงคมนาคม พี่น้องชาวชุมชนแออัดในที่ดินของ รฟท. จะพร้อมใจกันเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ใช้แนวทางตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓ มาใช้กับชุมชนอื่นๆด้วย อย่างน้อยมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ คือ

๑.     โครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วง ตลิ่งชัน - ศิริราช

๒.     โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง หาดใหญ่ - สงขลา

๓.     โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วง นครราชสีมา - หนองคาย

๔.     โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม ๓ สนามบิน

๕.     โครงการก่อสร้างแก้มลิง ริมบึงมักกะสัน

๖.     โครงการพัฒนาที่ดินย่านพหลโยธิน

๗.     โครงการพัฒนาที่ดินย่าน กม. ๑๑

๘.     โครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน

และรวมถึงชาวชุมชนที่ยังเดือดร้อนจากการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ การบุกจับกุม คุมขัง ชาวบ้าน เป็นภาพที่น่าสังเวชใจยิ่งนัก การจับกุมหน้าที่ทำงานต่อหน้าเพื่อร่วมงาน การจับกุมขณะนั่งสอบในห้องเรียนต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในห้วง ๕ - ๖ ปี ให้หลัง ประสบการณ์การแก้ปัญหาร่วมกันไม่ได้ถูกนำมาใช้ แม้ว่าชุมชนที่ได้รับการเช่าที่ดินจะอยู่ห่างจากชุมชนที่ถูกดำเนินคดีไม่กี่ร้อยเมตรก็ตาม รวมๆแล้วในทุกกรณีที่พิพาทกับการรถไฟฯ ร่วมแสนครอบครัว

จากการที่เครือข่ายสลัม ๔ ภาค ได้นำผู้เดือดร้อนจากโครงการต่างๆไปเจรจากับผู้ว่าการรถไฟฯคนใหม่ นายนิรุต มณีพันธ์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มชุมชนแออัดในที่ดินของการรถไฟฯพื้นที่ต่างๆ ร้องขอให้การรถไฟฯอย่าได้นำการดำเนินคดีเป็นเครื่องมือในการกำจัดคนไร้ที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ และได้เสียงตอบรับจากผู้ว่าการรถไฟฯ ถึงแนวปฎิบัติที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือขุมชนสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯได้อย่างถูกกฎหมาย และการรถไฟฯนำที่ดินกลับมาใช้ประโยชน์ขององค์กรตัวเองได้ด้วย (Win Win)

ภาพการประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายสลัม ๔ ภาค และ ผู้ว่าการรถไฟฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓

 

หากแต่แนวทางที่กล่าวโดยผู้ว่าการรถไฟฯจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง จะต้องนำไปสู่การปฎิบัติได้ และเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ เครือข่ายสลัม ๔ ภาค และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพิพาทกับการรถไฟฯจะไปจัดกิจกรรมหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อให้ผู้ว่าการรถไฟฯมาลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ถึงแนวทางที่ได้กล่าวเอาไว้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อนข้างต้น เป็นสัญญาประชาชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

๒๐ ปี ผ่าน กระบวนการแก้ปัญหาของภาคประชาชนยังคงไม่หยุดนิ่ง เป็นเพราะกลไกรัฐเองไม่เคลื่อนไหวต่อหากพลังมวลชนอ่อนล้า หรือนิ่งเฉยต่อปัญหาไป ในวันที่ ๕ ตุลาคม ที่จะถึงนี้ จึงถือเป็นการเปิดตัวการแก้ปัญหาอย่างเป็นทางการกับผู้ว่าการรถไฟฯ ในช่วงหลายปีที่ไม่มีผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นการวัดใจ ความจริงใจ การรถไฟฯจะมีเพียงลมปาก หรือ พร้อมที่จะร่วมผลักดันแนวทางการแก้ปัญหากับประชาชนไปด้วยกัน

 

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชีวิต...ที่มีเพียงลมหายใจ


ชีวิต...ที่มีเพียงลมหายใจ
วิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครคนไร้บ้าน จ.กาญจนบุรี

การทำงานช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยหลังจากที่มีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครช่วยสำรวจแจงนับกว่า 500 คน จากองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน กว่า 80 องค์กร พบว่าทุกจังหวัดของประเทศไทย "มีคนไร้บ้าน" มากน้อยตามความหนาแน่นของประชากร

จังหวัดที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน ทำงานพัฒนาจนกระทั่งมีศูนย์พักสำหรับตั้งหลัก ตั้งตัว ของพี่น้องคนไร้บ้าน อยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์พักสุวิทย์ วัดหนู , เชียงใหม่ คือ บ้านเตื่อมฝัน , ขอนแก่น คือ บ้านโฮมแสนสุข และปทุมธานี คือ บ้านพูนสุข และในช่วงวิกฤตโควิด19 ทางมูลนิธิฯได้ขยายพื้นที่การช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านไปยังจังหวัดต่างๆที่สามารถประสานองค์กรความร่วมมือได้ จึงได้ถือโอกาสทำงานพัฒนาด้านต่างๆกับพี่น้องคนไร้บ้านควบคู่ไปด้วย โดยเบื้องต้นตอนนี้มีทีมอาสาสมัครประจำช่วยเหลือในจังหวัดนนทบุรี , ระยอง , กาญจนบุรี และยะลา
นี่เป็นเรื่องเล่าส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครในจังหวัดกาญจนบุรีที่ทำงานช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้าน สื่อสารสภาพปัญหาให้รับรู้ และเป็นกระบอกเสียงให้กับพี่น้องคนไร้บ้าน ที่เสียงเบาบางมากในสังคม จุดเริ่มต้นจากการลงแจงนับ ขยับมาช่วยเหลือวิกฤตโควิด19 ยกระดับสร้างตัวตนให้คนไร้บ้านไม่ได้มีเพียงแค่ลมหายใจ สร้างตัวตนให้เป็นคนในเมืองกาญจน์ ในประเทศไทย


...เรื่องของตะวัน...
"นอกจากไม่มีบ้านแล้ว​ ผมยังไม่มีบัตรด้วย" ตะวันเล่าเรื่องเขาให้ฟัง​ ตะวัน​เป็นเด็กที่เติบโตมาจากแคมป์ก่อสร้าง​ต้องย้ายที่อยู่​ ไปเรื่อยๆตามผู้รับเหมาก่อสร้าง ตะวันต้องอยู่กับยายตั้งแต่เด็ก​ พ่อต้องติดคุกในคดีพรากผู้เยาว์(คือแม่ของตะวันเอง)​ พอตะวันเกิดมาไม่ถึงปีแม่ก็หนีไปมีสามีใหม่และไม่กลับมาอีกเลย​ ตะวันเลยต้องอยู่กับยายและโตมากับแคมป์ก่อสร้างตั้งแต่นั้นมา​ ด้วยเหตุที่ต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อย​ ตอนเกิดตะวันก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดและไม่มีสูติบัตร
เมื่อพ่อออกจากคุกก็ออกตามหาตะวันจนเจอ และรับตะวันมาเลี้ยงตั้งแต่​6ขวบ​ แต่ก็ยังยึดอาชีพรับเหมาก่อสร้างและพาตะวันตะลอนไปแทบทุกภาคของประเทศไทย​เหมือนเดิม ช่วงใหนไม่มีงานก่อสร้างเคย​อดข้าวทีละหลายๆวันก็มี​ ตะวันบอก
ตะวันมาอยู่กาญจนบุรีเมื่ออายุ13ปี​ โดยพ่อมารับจ้างทำแทงค์น้ำประปาของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ผู้รับเหมารับงานไว้​ วันหนึ่งช่วงพักกลางวัน​ ตะวันแอบไปนั่งดูเด็กนักเรียนที่เขาเรียนกันหนังสือในห้อง​

พอดีกับที่ภารโรงเดินมาเห็น​และถามตะวันว่า​อยากเรียนไหม? ตะวันก็ตอบว่า​"อยากเรียน" ภารโรงเลยพาไปคุยกับ​ ผอ.โรงเรียน​ และผอ.ก็อนุญาตให้เรียนได้​ และตะวันก็ได้มาเรียนกับเพื่อนทุกวัน​ แต่ก็ต้องเริ่มเรียน​ ป.1​ตอนอายุ13ปี​ และใส่ชุดธรรมดามาโรงเรียนเพราะตะวันไม่มีชุดนักเรียนเหมือนเพื่อน
  งานก่อสร้างเสร็จแล้ว​ พ่อต้องย้ายไปที่อื่น​แต่ตะวันอยากเรียนต่อ​ ผอ.เลยมาคุยกับพ่อตะวันว่าให้ตะวันอยู่ที่นี่ก็ได้เดี๋ยวจะช่วยดูแลให้​ พอดีมีบ้านพักครูว่างอยู่หลังหนึ่งให้เขาพักที่นี่ก็ได้​ พ่อตะวันจึงยอมให้ตะวันได้อยู่เรียนต่อ​
ตะวันต้องอยู่เมืองกาญจน์คนเดียวโดยไม่มีพ่อ​ โดยผอ.กับกำนันในพื้นที่คอยอุปการะ​ ตะวันก็รับจ้างทั่วไป​ ใครมีอะไรให้ทำก็ทำหมด​ ตะวันตั้งใจเรียนพร้อมกับรับจ้างทำงานไปด้วยจนจบ ป.6​ ตอนอายุ19ปี​แต่ถึงแม้ตะวันจะเรียนจบ​ป.6แล้วแต่ทางโรงเรียนก็ไม่สามารถออกวุฒิบัตรให้ได้เพราะตะวันไม่มีบัตรประชาชน​ไม่มีเลข13หลัก
ด้วยความอยากมีบัตร​ อยากเป็นคนไทย​ อยากได้วุฒิบัตรเพื่อไปเรียนต่อ​ หรืออย่างน้อยจะได้สมัครงานได้​ ตะวันจึงตัดสินใจเดินทางเพื่อตามหาพ่ออีกครั้ง​ พ่อซึ่งไม่ได้ติดต่อมาหลายปีแล้ว ตะวันสืบจนรู้ว่าพ่ออยู่ที่เชียงใหม่​ สิ่งที่ตะวันต้องการคือ​ ต้องการ​ตรวจDNA.เพื่อยืนยันว่าเขากับพ่อของเขาเป็นพ่อลูกกันจริงๆ​ เพื่อที่จะเอาหลักฐานนี้ไปทำบัตรประชาชน

อย่าว่าแต่จะจ่ายค่าตรวจ DNA.ที่ต้องจ่ายคนละ8,000บาทเลย​ แม้แต่ค่ารถที่จะไปเชียงใหม่ก็ยังไม่มีเลย​ ตะวันเล่าความรู้สึกตอนนั้นให้ฟัง​ แต่โชคดีที่ได้การประสานงานจาก​ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
โครงการคนไทยไร้สิทธิ​และการช่วยเหลือของคุณณัฐพงศ์​ เหมือนรุ่ง​ ทำให้ตะวันได้เจอพ่ออีกครั้ง​และสามารถตรวจDNAโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผลการตรวจDNAก็ยืนว่าทั้ง2คนเป็นพ่อลูกกันจริงๆ
ตะวันนำผลการตรวจDNA.จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มายื่นที่​อำเภอเมืองกาญจนบุรี​ จนถึงตอนนี้เวลาผ่านไป4เดือนเศษแล้ว​ตะวันก็ยังไม่ได้บัตรประชาชน ทางอำเภอบอกว่าต้องสอบปากคำคนเพิ่มอีกหลายปาก​ ตั้งแต่ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ตะวันอยู่​ กำนัน​ ภารโรง​ ผอ.โรงเรียน​ซึ่งตอนนี้ก็สอบไปหมดแล้ว​ ทางอำเภอพึ่งมาบอกว่าต้องสอบพ่อของตะวันอีกครั้ง​ ที่หน้าเศร้าคือพ่อของตะวันไม่ได้อยู่ในเมืองกาญจน์​ รู้ล่าสุดว่าอยู่แถวลาดกระบัง​ แต่ก็มาไม่ได้เพราะไม่มีเงิน​ และหัวหน้างานไม่ให้มาด้วย​ ตะวันเลยต้องรอต่อไป​ เพียงหวังในใจว่าอย่าเพิ่งให้ไซด์งานก่อสร้างของพ่อย้ายไปที่ใกลๆ​ ณ.ตอนนี้เลย
ตะวันมานั่งบ่นให้ฟังเมื่อเย็นวันหนึ่งว่า​ทำไมการทำบัตรประชาชนมันถึงยากอย่างนี้​ ทั้งที่หลักฐานก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นคนไทยจริงๆ​
นี่ถ้าผมไปทำอะไรผิดก็ไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นใคร​ทำไมไม่ทำให้ผมถูกกฏหมาย
มีเด็กเหมือนผมอีกหลายคนที่ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้​ จนหลายคนไม่อยากทำบัตรประชาชน​ จะไปทำงานอะไรก็ไม่ได้​ สิทธิอะไรก็ไม่มี​ ชีวิตเขาก็ลำบาก​ และหลายคนก็เลือกที่จะเดินทางสายมืดเพราะออกมาที่สว่างไม่ได้​ และเมื่อเด็กเหล่านี้ทำผิดแล้ว​ ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเพราะไม่มีฐานข้อมูลอะไรเลย​ ตะวันทิ้งท้ายตอนจบว่า​ ทำไมเราไม่คิดช่วยเด็กเหล่านี้ให้เขาเข้าสู่ระบบหากเขาเป็นคนไทยจริงๆ​ หากปล่อยให้เขาเดินเรื่องเองไม่มีวันเลยที่เด็กอย่างเขาจะมีบัตรประชาชนได้

ปล. เจ้าตัว "ตะวัน" อนุญาตให้เล่าเรื่องราวของเขาให้คนอื่นฟังได้​ โดยเขาบอกว่าอยากให้เรื่องของเขาเป็นบทเรียนเพื่อที่จะให้หน่วยงานต่างๆได้หามาตราการแก้ปัญหาเพื่อที่จะให้เด็กๆแบบเขาได้มีโอกาสเข้าถึงการมีบัตรประชาชนได้ง่ายกว่านี้ เครดิตจาก : วิชาญ อุ่นอก

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...