วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชีวิต...ที่มีเพียงลมหายใจ


ชีวิต...ที่มีเพียงลมหายใจ
วิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครคนไร้บ้าน จ.กาญจนบุรี

การทำงานช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยหลังจากที่มีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครช่วยสำรวจแจงนับกว่า 500 คน จากองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน กว่า 80 องค์กร พบว่าทุกจังหวัดของประเทศไทย "มีคนไร้บ้าน" มากน้อยตามความหนาแน่นของประชากร

จังหวัดที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน ทำงานพัฒนาจนกระทั่งมีศูนย์พักสำหรับตั้งหลัก ตั้งตัว ของพี่น้องคนไร้บ้าน อยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์พักสุวิทย์ วัดหนู , เชียงใหม่ คือ บ้านเตื่อมฝัน , ขอนแก่น คือ บ้านโฮมแสนสุข และปทุมธานี คือ บ้านพูนสุข และในช่วงวิกฤตโควิด19 ทางมูลนิธิฯได้ขยายพื้นที่การช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้านไปยังจังหวัดต่างๆที่สามารถประสานองค์กรความร่วมมือได้ จึงได้ถือโอกาสทำงานพัฒนาด้านต่างๆกับพี่น้องคนไร้บ้านควบคู่ไปด้วย โดยเบื้องต้นตอนนี้มีทีมอาสาสมัครประจำช่วยเหลือในจังหวัดนนทบุรี , ระยอง , กาญจนบุรี และยะลา
นี่เป็นเรื่องเล่าส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครในจังหวัดกาญจนบุรีที่ทำงานช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้าน สื่อสารสภาพปัญหาให้รับรู้ และเป็นกระบอกเสียงให้กับพี่น้องคนไร้บ้าน ที่เสียงเบาบางมากในสังคม จุดเริ่มต้นจากการลงแจงนับ ขยับมาช่วยเหลือวิกฤตโควิด19 ยกระดับสร้างตัวตนให้คนไร้บ้านไม่ได้มีเพียงแค่ลมหายใจ สร้างตัวตนให้เป็นคนในเมืองกาญจน์ ในประเทศไทย


...เรื่องของตะวัน...
"นอกจากไม่มีบ้านแล้ว​ ผมยังไม่มีบัตรด้วย" ตะวันเล่าเรื่องเขาให้ฟัง​ ตะวัน​เป็นเด็กที่เติบโตมาจากแคมป์ก่อสร้าง​ต้องย้ายที่อยู่​ ไปเรื่อยๆตามผู้รับเหมาก่อสร้าง ตะวันต้องอยู่กับยายตั้งแต่เด็ก​ พ่อต้องติดคุกในคดีพรากผู้เยาว์(คือแม่ของตะวันเอง)​ พอตะวันเกิดมาไม่ถึงปีแม่ก็หนีไปมีสามีใหม่และไม่กลับมาอีกเลย​ ตะวันเลยต้องอยู่กับยายและโตมากับแคมป์ก่อสร้างตั้งแต่นั้นมา​ ด้วยเหตุที่ต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อย​ ตอนเกิดตะวันก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดและไม่มีสูติบัตร
เมื่อพ่อออกจากคุกก็ออกตามหาตะวันจนเจอ และรับตะวันมาเลี้ยงตั้งแต่​6ขวบ​ แต่ก็ยังยึดอาชีพรับเหมาก่อสร้างและพาตะวันตะลอนไปแทบทุกภาคของประเทศไทย​เหมือนเดิม ช่วงใหนไม่มีงานก่อสร้างเคย​อดข้าวทีละหลายๆวันก็มี​ ตะวันบอก
ตะวันมาอยู่กาญจนบุรีเมื่ออายุ13ปี​ โดยพ่อมารับจ้างทำแทงค์น้ำประปาของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ผู้รับเหมารับงานไว้​ วันหนึ่งช่วงพักกลางวัน​ ตะวันแอบไปนั่งดูเด็กนักเรียนที่เขาเรียนกันหนังสือในห้อง​

พอดีกับที่ภารโรงเดินมาเห็น​และถามตะวันว่า​อยากเรียนไหม? ตะวันก็ตอบว่า​"อยากเรียน" ภารโรงเลยพาไปคุยกับ​ ผอ.โรงเรียน​ และผอ.ก็อนุญาตให้เรียนได้​ และตะวันก็ได้มาเรียนกับเพื่อนทุกวัน​ แต่ก็ต้องเริ่มเรียน​ ป.1​ตอนอายุ13ปี​ และใส่ชุดธรรมดามาโรงเรียนเพราะตะวันไม่มีชุดนักเรียนเหมือนเพื่อน
  งานก่อสร้างเสร็จแล้ว​ พ่อต้องย้ายไปที่อื่น​แต่ตะวันอยากเรียนต่อ​ ผอ.เลยมาคุยกับพ่อตะวันว่าให้ตะวันอยู่ที่นี่ก็ได้เดี๋ยวจะช่วยดูแลให้​ พอดีมีบ้านพักครูว่างอยู่หลังหนึ่งให้เขาพักที่นี่ก็ได้​ พ่อตะวันจึงยอมให้ตะวันได้อยู่เรียนต่อ​
ตะวันต้องอยู่เมืองกาญจน์คนเดียวโดยไม่มีพ่อ​ โดยผอ.กับกำนันในพื้นที่คอยอุปการะ​ ตะวันก็รับจ้างทั่วไป​ ใครมีอะไรให้ทำก็ทำหมด​ ตะวันตั้งใจเรียนพร้อมกับรับจ้างทำงานไปด้วยจนจบ ป.6​ ตอนอายุ19ปี​แต่ถึงแม้ตะวันจะเรียนจบ​ป.6แล้วแต่ทางโรงเรียนก็ไม่สามารถออกวุฒิบัตรให้ได้เพราะตะวันไม่มีบัตรประชาชน​ไม่มีเลข13หลัก
ด้วยความอยากมีบัตร​ อยากเป็นคนไทย​ อยากได้วุฒิบัตรเพื่อไปเรียนต่อ​ หรืออย่างน้อยจะได้สมัครงานได้​ ตะวันจึงตัดสินใจเดินทางเพื่อตามหาพ่ออีกครั้ง​ พ่อซึ่งไม่ได้ติดต่อมาหลายปีแล้ว ตะวันสืบจนรู้ว่าพ่ออยู่ที่เชียงใหม่​ สิ่งที่ตะวันต้องการคือ​ ต้องการ​ตรวจDNA.เพื่อยืนยันว่าเขากับพ่อของเขาเป็นพ่อลูกกันจริงๆ​ เพื่อที่จะเอาหลักฐานนี้ไปทำบัตรประชาชน

อย่าว่าแต่จะจ่ายค่าตรวจ DNA.ที่ต้องจ่ายคนละ8,000บาทเลย​ แม้แต่ค่ารถที่จะไปเชียงใหม่ก็ยังไม่มีเลย​ ตะวันเล่าความรู้สึกตอนนั้นให้ฟัง​ แต่โชคดีที่ได้การประสานงานจาก​ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
โครงการคนไทยไร้สิทธิ​และการช่วยเหลือของคุณณัฐพงศ์​ เหมือนรุ่ง​ ทำให้ตะวันได้เจอพ่ออีกครั้ง​และสามารถตรวจDNAโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผลการตรวจDNAก็ยืนว่าทั้ง2คนเป็นพ่อลูกกันจริงๆ
ตะวันนำผลการตรวจDNA.จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มายื่นที่​อำเภอเมืองกาญจนบุรี​ จนถึงตอนนี้เวลาผ่านไป4เดือนเศษแล้ว​ตะวันก็ยังไม่ได้บัตรประชาชน ทางอำเภอบอกว่าต้องสอบปากคำคนเพิ่มอีกหลายปาก​ ตั้งแต่ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ตะวันอยู่​ กำนัน​ ภารโรง​ ผอ.โรงเรียน​ซึ่งตอนนี้ก็สอบไปหมดแล้ว​ ทางอำเภอพึ่งมาบอกว่าต้องสอบพ่อของตะวันอีกครั้ง​ ที่หน้าเศร้าคือพ่อของตะวันไม่ได้อยู่ในเมืองกาญจน์​ รู้ล่าสุดว่าอยู่แถวลาดกระบัง​ แต่ก็มาไม่ได้เพราะไม่มีเงิน​ และหัวหน้างานไม่ให้มาด้วย​ ตะวันเลยต้องรอต่อไป​ เพียงหวังในใจว่าอย่าเพิ่งให้ไซด์งานก่อสร้างของพ่อย้ายไปที่ใกลๆ​ ณ.ตอนนี้เลย
ตะวันมานั่งบ่นให้ฟังเมื่อเย็นวันหนึ่งว่า​ทำไมการทำบัตรประชาชนมันถึงยากอย่างนี้​ ทั้งที่หลักฐานก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นคนไทยจริงๆ​
นี่ถ้าผมไปทำอะไรผิดก็ไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นใคร​ทำไมไม่ทำให้ผมถูกกฏหมาย
มีเด็กเหมือนผมอีกหลายคนที่ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้​ จนหลายคนไม่อยากทำบัตรประชาชน​ จะไปทำงานอะไรก็ไม่ได้​ สิทธิอะไรก็ไม่มี​ ชีวิตเขาก็ลำบาก​ และหลายคนก็เลือกที่จะเดินทางสายมืดเพราะออกมาที่สว่างไม่ได้​ และเมื่อเด็กเหล่านี้ทำผิดแล้ว​ ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเพราะไม่มีฐานข้อมูลอะไรเลย​ ตะวันทิ้งท้ายตอนจบว่า​ ทำไมเราไม่คิดช่วยเด็กเหล่านี้ให้เขาเข้าสู่ระบบหากเขาเป็นคนไทยจริงๆ​ หากปล่อยให้เขาเดินเรื่องเองไม่มีวันเลยที่เด็กอย่างเขาจะมีบัตรประชาชนได้

ปล. เจ้าตัว "ตะวัน" อนุญาตให้เล่าเรื่องราวของเขาให้คนอื่นฟังได้​ โดยเขาบอกว่าอยากให้เรื่องของเขาเป็นบทเรียนเพื่อที่จะให้หน่วยงานต่างๆได้หามาตราการแก้ปัญหาเพื่อที่จะให้เด็กๆแบบเขาได้มีโอกาสเข้าถึงการมีบัตรประชาชนได้ง่ายกว่านี้ เครดิตจาก : วิชาญ อุ่นอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...