วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สมการสังคมไทย รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน

สมการสังคมไทย
รัฐ บวก ทุน เท่ากับ ลืมคนจน

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
         
ในห้วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์บทความนี้  เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนจนเมืองอยู่ในภาวะต้องดิ้นรนรักษาที่อยู่อาศัยในเมืองของพวกเขาไว้ให้ได้  นั้นคือช่วงนี้เริ่มมีการไล่ที่ชุมชนแออัด หรือ สลัม หลายพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชน หรือแม้แต่ที่ดินของพระสงฆ์ ที่คนใจบุญบริจาคทานให้เพื่อทำประโยชน์แก่ศาสนา ก็ไม่วายที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ถูกไล่เช่นกัน
          ดังที่จะเห็นจากที่มีชุมชนต่างๆเข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา เพื่อหาแนวทาง วิธีการ ต่างๆในการหยุดการไล่รื้อช่วงนี้กับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบข้อมูลและได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมทำงานหยุดการไล่รื้อเร่งด่วนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบเห็นชุมชนที่ประสบปัญหาไล่ที่ คือ
          - ชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท  ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ทั้งที่มีมติบอร์ดรถไฟปี47 ให้มีการแบ่งปันที่ดินกัน และต้องไม่มีการดำเนินคดีความใดๆ
- ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง กทม. ชุมชนกำลังรับมอบโฉนดชุมชน แต่รัฐร่วมกับเจ้าของที่ข้างเคียงมารังวัดที่ใหม่ทำที่สาธารณะหายไป เตรียมจะสร้างแนวกำแพงและรื้อบ้านชาวบ้านที่อ้างว่ารุกล้ำที่ดิน   ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นก่อนมาอยู่คือที่ดินลำรางสาธารณะ
- ชุมชนวัดใต้ เขตสวนหลวง กทม. เจ้าอาวาสวัดใต้ให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินที่มีบ้านผู้อยู่อาศัยรอบๆวัด ไปทำธุรกิจคอนโด   ขณะนี้เตรียมที่จะฟ้องขับไล่ชาวชุมชน
- ชุมชนบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี กทม. กำลังจะได้รับผลกระทบสร้างสวนสาธารณะ แต่พร้อมจะขับไล่คนที่มาอยู่ก่อนหลายชั่วอายุคน
- ชุมชนหลังหมู่บ้านสหกรณ์ เขตบึงกุ่ม กทม. ถูกอำนาจเถื่อนของนายทุน ไถบ้านพังเสียหาย สำนักงานเขตรับลูกต่อพร้อมจะไข่ลับอีกทอดห้ามพักชั่วคราวในที่สาธารณะ เคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง

 
ภาพการปักป้ายไล่รื้อชุมชนเสีรีไทย 57

นี่เป็นเพียงกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ราว 350 หลังคาเรือน ที่มาขอความช่วยเหลือกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค แต่ยังคงมีอีกหลายชุมชนที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้อยู่อีกจำนวนมากที่กำลังจะไร้ที่ดินที่จะอยู่อาศัย ไร้ที่ทำมาหากิน
จากภาพเหตุการณ์ดังข้อมูลข้างต้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสที่จะเข้าไปเจรจาเพื่อแก้ปัญหาชุมชนตลาดบ่อบัว ชุมชนนี้อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นชุมชนเก่าแก่อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายของสดเปรียบเสมือนเป็นโรงครัวของเมืองแปดริ้วก็ว่าได้ บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ เคยเสียค่าเช่ากับการรถไฟฯมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ ย่า แต่มารุ่นปัจจุบันไม่ได้มีการเก็บค่าเช่า ได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งอยู่ในกระบวนการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับรัฐบาล  เป็นชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในการแก้ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ 13 กันยายน 2543 ที่จะมีการแบ่งปันที่ดินของการรถไฟฯ ให้กับชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ได้เช่าที่ดิน แล้วพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล  จนกระทั่งเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกลุ่มทุนใหญ่ในท้องถิ่น  ซึ่งพอจะลำดับเหตุการณ์คราวๆได้ดังนี้
ปี 2539 บริษัททำสัญญาปลูกสร้าง 5 ปี สัญญา ปี 2539 – 2544 ท่ามกลางการคัดค้านของชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  ซึ่งเคยปิดรางรถไฟให้หยุดการเดินรถมาแล้วเพื่อขอเจรจาเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชน
ปี 2541 บริษัทเริ่มฟ้องร้องชาวชุมชน
ปี 2544 การรถไฟฯบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญาจะหมด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือความเห็นของสำนักราชเลขาธิการ ที่ทางชุมชนตลาดบ่อบัวได้ร้องขอความเป็นธรรม
ปี 2547 บริษัทฟ้องศาลขอความเป็นธรรมขอทำสัญญาใหม่กับการรถไฟฯ
ปี 2547 มีมติบอร์ดการรถไฟฯให้บริษัททำสัญญาต่อได้แต่ต้องถอนฟ้องชาวบ้าน และแบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ให้บริษัท ส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สอง ให้เป็นที่อยู่อาศัยชุมชน ส่วนที่สาม ให้จัดทำเป็นตลาดของชุมชน ซึ่งในส่วนที่ สอง และ สาม จะดำเนินการโดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
ปี 2550 มีการทำสัญญากับทางบริษัทใหม่อีกครั้ง  แต่บริษัทผิดสัญญา การรถไฟฯจึงฟ้องเพื่อยกเลิกสัญญา
ปี 2553 ไกล่เกลี่ยกันที่ศาล ตกลงกัน 2 ฝ่าย คือ การรถไฟฯกับบริษัท
ปี 2557 ทำสัญญาเช่า เพื่อปลูกสร้าง 1 เม.ย. 57 – 31 มี.ค. 62 และสัญญาเพื่อทำประโยชน์ ปี 2562 – 2592 และคดีความข้อพิพาทกับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวยังคงอยู่
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นสิ่งที่หายไปก็คือ “หัวคนจน” ทั้งๆที่ข้อพิพาทเป็นการพิพาทโดยชาวชุมชนตลาดบ่อบัว กับ บริษัทนายทุน ระหว่างผู้อยู่มาก่อนแต่ดั่งเดิม กับ ผู้มีเงินมหาศาล ต้องการที่ดินไปทำธุรกิจ   แต่การรถไฟฯกลับกระทำในสิ่งที่หน่วยงานรัฐที่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงของคนจนกลับกลายเป็นเห็นใจ อย่างฉ้อฉล โดยการทำข้อตกลงกันใหม่ละทิ้งมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 ที่เจตนาจะยุติคดีความข้อพิพาท และแบ่งปันที่ดินกัน    จากการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทนายทุนได้สิทธิ์ในการเช่าเต็มพื้นที่ บริเวณสถานีรถไฟแปดริ้ว  ส่งให้ชุมชนตลาดบ่อบัว  ชาวบ้านจำนวนกว่า 300 ครอบครัว กลายเป็นผู้บุกรุกโดยทันที และดำเนินการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหาย จากชาวบ้าน จำนวน 11 ราย
ตลอดระยะเวลา 10 ปี  ตั้งแต่ ปี 25472557  ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราเองก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆเพื่อจัดทำที่อยู่อาศัย และตลาด จนกลายเป็นโอกาสของกลุ่มนายทุนฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน เกิดการข่มขู่ คุกคาม จากนักเลง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านและเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงร้องเรียนไปยังกระทรวงคมนาคม และ ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงฯในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556  โดยมี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน  ซึ่งผลการของประชุม เฉพาะหน้า ให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นโจทย์ ร่วม กับ บริษัท ให้ชะลอการบังคับคดี ทั้งหมด และให้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่าง ผู้แทนชาวบ้าน การรถไฟ ห้างหุ้นส่วน เทศบาล เพื่อหาทางออกและแนวทางแก้ไข ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558  กระทั่งเช้าในวันถัดมา กรมบังคับดีพร้อมด้วยคนงานของบริษัท เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ  เข้าทำการรื้อถอน บ้านเรือนชุมชนตลาดบ่อบัว โดยไม่ฟังคำทักท้วงของชาวบ้าน   หลังจากทราบว่าเข้ารื้อทำลายผิดหลังจากคำสั่งศาล จึงได้ยุติการรื้อแล้วกลับไปไร้ความรับผิดชอบใดๆ



ภาพการเข้ารื้อบ้านผิดหลังในการบังคับคดี ชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา 
กรณีข้อพิพาทของชุมชนตลาดบ่อบัวเห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน ระหว่างหน่วยงานรัฐ (หลายหน่วยงาน) และบริษัทกลุ่มทุนท้องถิ่น ร่วมไม้ร่วมมือสอดประสานรับลูกต้อนคนจนให้จนมุม  ไมว่าจะเป็นการรถไฟฯ เพิกเฉยต่อมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2543 ที่จะต้องจัดที่ดินอยู่อาศัยให้กับชุมชนตลาดบ่อบัวโดยให้เช่าที่ระยะยาว อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 คือบริษัทยังไม่ถอนฟ้องคดีความชาวบ้าน แต่กลับซ้ำยังทำสัญญาฉบับใหม่ให้กับบริษัท เทศบาลเมืองฉะเชิงเทราที่ต้องดำเนินการจัดที่อยู่อาศัยและตลาดให้ชาวชุมชนก็ทำนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ   ข้อเรียกร้องของชาวชุมชนดูไร้เหตุผลหากถูกตัดตอนความเป็นมา เพราะสิทธิ์การเช่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไปอยู่ในมือนายทุนหมดเสียแล้ว
การต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องคนจนเมืองเหล่านี้ยังคงไม่จบลงเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน  หากหยุด ยุติ การเรียกร้อง เสมือนกับว่าพวกเขาพร้อมจะเป็นคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย อาจจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ บางคนอาจต้องหาที่อยู่ใหม่นอกเมือง ต้องหางานใหม่  บางคนไม่มีทุนก็คงต้องปรับสภาพมาใช้ที่สาธารณะมาเป็นที่หลับนอน  ผันตัวเองเป็นคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน  สิ่งที่เคยสะสมมาในอดีตอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย
โจทย์ปัญหาเหล่านี้คงไม่จบได้ด้วยระเบียบ กฎหมาย ที่ตราขึ้นมาโดยไร้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ยังคงมีอีกหลายชุมชน หลายกรณี ที่กำลังปะทุความเดือดร้อนขึ้นมาในห้วงรัฐบาลทหารที่เปรย จั่วหัว การปกครองถึง “การคืนความสุข” ให้กับคนไทย  พยายาม “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม สุดท้ายกลุ่มคนจนเองยังคงต้องรวมกลุ่ม  รวมตัวกันเพื่อสร้างความสุข “ด้วยตัวเอง” เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงยึดมั่นในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในแนวทางขบวนการภาคประชาชน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...