วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ปฏิบัติการเชิงเดี่ยว

ปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนริมคลอง ปฏิบัติการเชิงเดี่ยว

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ในช่วงรอบหลายเดือนที่ผ่านมา   ข่าวการปรับปรุงริมคูคลองในกรุงเทพมหานครเป็นประเด็นที่น่าติดตามเพราะนี่ไม่ใช่เป็นนโยบายระดับท้องถิ่น   แต่เป็นนโยบายระดับชาติที่จะนำไปสู่การจัดระบบจัดการน้ำทั้งระบบ นายกรัฐมนตรีจึงเป็นผู้สั่งดำเนินการ โดยตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองนี้ขึ้นมา มี รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย , กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขาการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งย่อยการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน  คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย  คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์
โครงการนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 9 คลองหลักทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่

สายคลองหลัก
ระยะทาง(กม.)
หลังคาเรือน
ครัวเรือน
ประชากร(คน)
1.คลองลาดพร้าวและคลองสอง
24.50
6,365
9,548
37,524
2.คลองเปรมประชากร
24.72
4,334
6,501
25,549
3.คลองบางเขน
11.26
63
-
307
4.คลองสามวา
12.36
177
37
520
5.คลองลาดบัวขาว
9.55
85
8
258
6.คลองบางซื่อ
8.00
726
486
2,556
7.คลองประเวศบุรีรมย์
13.71
223
234
1,124
8.คลองพระโขนง
10.56
26
15
75
9.คลองพระยาราชมนตรี
13.71
38
52
174
รวม
128.37
12,037
16,881
68,087

โดยจะนำร่องดำเนินการเริ่มต้นจาก ลำดับที่ 1 – 2 ในปี 2558 – 2560 นี้ก่อน  ใช้งบประมาณในสองช่วงนี้รวม 2,598 ล้านบาท มาเป็นงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าชดเชย , ค่าทำสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับใหม่ หากคิดกันหยาบๆก็ตกเฉลี่ยครอบครัวละ 272,000 บาท สำหรับการเตรียมตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่
ข้อสังเกตว่านี่คือโครงการรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก   แต่กระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ส่วนร่วมในการออกความเห็น การออกแบบ ในการดำเนินโครงการนี้ กลับไม่มีเลย มีเพียงเวทีเล็กๆตามเขต ตามพื้นที่ชุมชน ที่ให้ประชาชนมา “รับฟัง” การดำเนินโครงการ เท่านั้น   แล้วก็เข้าสู่โหมดกระบวนการโครงการบ้านมั่นคง ที่มีกรอบใหญ่ของโครงการที่กรอบไว้   ผลสรุปคือ การทำให้ระบบระบายน้ำมีปัญหา หรือถ้าจะมองย้อนหลังไปอีก น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ใน กทม. สาเหตุมาจากชุมชนที่อยู่ริมคูคลองนั้นเอง
การที่หน่วยงานรัฐจะเอาขนาดคลองกว้าง 38 เมตร เท่ากันทั่ว กทม. นั้น มีความจำเป็นขนาดไหน และโดยแท้จริงพื้นคลองดั้งเดิมมีขนาดไหนกันแน่  หากขนาดคลองเดิมมีขนาดไม่ถึง 38 เมตร จะต้องเวนคืนหรือเปล่า  เป็นบทสรุปใช่หรือไม่ว่าชุมชนริมคูคลอง เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาหลัก ในการระบายน้ำ  หรือยังมีเรื่องการจัดระบบประตูระบายน้ำ  การก่อสร้างถนนเส้นทางต่างที่ไปตัดเส้นทางน้ำ   หรือแม้แต่ผังเมืองที่เปลี่ยนไปทำพื้นที่คลองสาธารณะย่อยกลายเป็นที่ดินปลูกสร้างอาคาร  ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีเวทีการอธิบายและเปลี่ยนข้อมูลกัน
รัฐบาลนี้เข้าใจว่าต้องการความรวบรัด  รวดเร็ว  ในการดำเนินการ  จึงได้ข้ามขั้นตอนการรับฟังความเห็นต่างๆ  จึงเห็นเป็นการสั่งการจากระดับบนมายังการปฏิบัติการระดับล่าง  หน่วยงานช่วงท้ายจึงเป็นไปได้แค่ทำตามการสั่งการมาเท่านั้น   หากเป็นสถานการณ์ปกติคงมีการชุมนุมกันเพื่อประกาศความเดือดร้อนของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนกัน  ให้สาธารณชนได้รับรู้ ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลส่วนกลางอย่างเป็นแน่ โครงการนี้จึงเป็นการคิด และดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว
การแก้ปัญหาจากต้นตอคือต้องมาถกจากสาเหตุปัญหาการระบายน้ำอย่างทั่วทุกด้าน   เปลี่ยนมุมมองชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคูคลองที่เป็นปัญหา ให้เป็นทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากชุมชนเหล่านี้ได้  ในการดูแลรักษาริมคูคลอง  ที่มีตัวอย่างให้เห็นกันหลายชุมชน เช่น ชุมชนเพชรคลองจั่น ที่มีกระบวนการรักษาระบบนิเวศทางน้ำโดยการเทน้ำชีวภาพลงคูคลอง  กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเชิงบวกที่ชาวชุมชนริมคลองพยายามที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ “คนกับคลอง  อยู่ร่วมกันได้”


ภาพการพัฒนาชุมชนเพชรคลองจั่น เทน้ำชีวภาพลงคลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ

การลงทุนขนาดใหญ่ในการแก้ปัญหาหนึ่งคือการแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำ ไปสร้างปัญหาใหม่อีกที่หนึ่ง คือปัญหาคุณภาพชีวิตคนจนในที่รองรับใหม่ที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ หางานใหม่ หาโรงเรียนให้ลูกหลานใหม่ หากจะต้องกลับมาทำงาน มาเรียนที่เดิม ค่าเดินทางที่สูงขึ้น จะคุ้มกันหรือไม่   เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการเอ่ยถึง   เพราะยังไม่รู้ว่าจะย้ายชาวชุมชนไปอยู่แห่งไหน  จำนวนเท่าไหร่


 แผนการจัดระเบียบชุมชนริมคลองทั้ง 9 สายคลอง

กระบวนการที่ส่งหน่วยงานลงชุมชนไปเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ก็แยกการทำงานอย่างชัดเจน  ไม่ได้มีความเชื่อมร้อยประสานถึงการทำงานร่วมกันสักเท่าไหร่นัก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่มีหน้าที่จัดกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงให้กับชาวบ้านก็ออกแบบกระบวนการ  วางผัง แบบบ้าน ของชุมชนไป  ไม่มีการแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือในส่วนต่างๆ เช่น ค่ารื้อย้าย ค่าชดเชย ที่ชาวบ้านควรจะได้มาเพื่อจะนำมาเพิ่มเติมการสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่  แต่ก็ไม่มีการกล่าวถึง  ส่งผลให้ชาวบ้านต้องนึกถึงแต่เรื่องที่ต้องรื้อบ้านตัวเองแล้วสร้างใหม่ เกิดหนี้ใหม่ บางหลังเพิ่งทำการสร้างบ้านใหม่ต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดอาการต่อต้านโครงการบ้านมั่นคงอย่างชัดเจน
ส่วนกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่ต้องย้ายชาวบ้านตามอำนาจในการดูแลที่ดินเป็นหลัก แม้จะมีการโต้แย้งเบื้องต้นระหว่างกรมธนารักษ์ หรือ กทม. จะเป็นหน่วยงานดำเนินการโยกย้ายดำเนินการตามกฎหมายกับชุมชน ก็ดำเนินการแปะหมายแจ้งย้าย  บางรายถึงกับโดนจับกุมคุมขัง จ่ายค่าปรับคนละ 20,000 – 40,000 บาท ถึงจะออกจากห้องขังได้ ทำให้บางรายต้องรื้อบ้านย้ายหนีไปก่อนที่จะโดนหมายเพราะไม่อยากจะต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล มีปัญหากับราชการ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากการลงสำรวจชุมชนร่วมกันระหว่างเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับ การเคหะแห่งแห่งชาติ
นี่อาจจะเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้ส่งความสุขให้กับชาวชุมชนสักเท่าไหร่นัก ชาวบ้านกว่า 68,000 คน ที่กำลังเคว้งคว้างอยู่ในทิศทางที่ขุ่นมัวไม่เห็นจุดหมายที่ชัดเจน   ยังคงต้องต่อสู้อย่างเงียบๆ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวย  ช่วงนี้จึงเป็นบทที่หน่วยงานกระทำกับชุมชนเพียงทางเดียว   ส่วนจะโต้กลับไปอย่างไรนั้นคงต้องจับตาสถานการณ์ต่อไปจากนี้   หากสร้างแรงกดดันให้กับชาวชุมชนมากเท่าไหร่  การเกิดคลื่นกระแสต่อต้านก็อาจจะโต้กลับรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...