วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2560

ปฎิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลือมล้ำ หรือซ้ำเติมประชาชนรากหญ้า

ปฎิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลือมล้ำ
หรือซ้ำเติมประชาชนรากหญ้า

คมสันติ์  จันทร์อ่อน   กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา  มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. เพื่อวางรากฐานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ก่อนจะขยายไปยังภาคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ประเด็นที่น่าติดตามคือ การขยายสิทธิการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี
จากความเดิม เมื่อคราวปีที่แล้ววันที่ 30 ม.ค. 59  “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลจะเอาที่ดินของรัฐไปให้เอกชนและนักธุรกิจต่างชาติเช่าเป็นเวลา 99 ปี จนถูกมองว่าเป็นการเอาที่ดินไปขายให้ต่างชาติว่า รัฐบาลยังไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ และยังไม่ได้กำหนดนโยบายใดๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว” นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเพื่อดับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ประชาชนได้ยินกระแสที่รัฐบาลจะวางแผนหานักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเพื่อเป็นรายได้อีกทางของรัฐ  โดยการให้สิทธิ์พิเศษในเรื่องการเช่าที่ดินได้ระยะยาวขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนถึง 99 ปี   แต่แล้วการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Department) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินโครงการ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิการเช่าที่ดิน สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ฯลฯ เสนอต่อ ครม.   ถัดมาอีก 4 เดือน การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ. ศ.
และล่าสุดการประชุมชนคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปแก้ไขประเด็นต่างๆ ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อนำกลับมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ถือเป็นคำ “โกหกคำโต” ของโฆษกรัฐบาลที่ออกมาแก้ตัวให้พ้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพียงเท่านั้น  ไม่กล้าที่จะออกมายอมรับในโครงการที่รัฐบาลกำลังวางแผนจะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ  โดยการมอบสิทธิพิเศษหลายอย่างให้โดยเฉพาะ “กรรมสิทธิ์ที่ดิน”  แน่นอนว่าเนื้อหาสาระสำคัญที่คณะรัฐมนตรีขอแกไข้เนื้อหาเพิ่มเติมนั้นจำต้องมุ่งเน้นอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุน  และกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้นั้นคือกลุ่มทุนจากต่างชาติ
มติ ครม. เมื่อ 11 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา  ที่มอบสิทธิ์ให้กับชาวต่างด้าวที่ทุนหนา เงินเยอะ สามารถยึดครองที่ดินประเทศได้ยาวนานถึง 99 ปี ในขณะที่สถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยเองยังมีกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศไว้   แต่ประชาชนกว่า 4.3 ล้านคน ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ฉะนั้น มติ ครม. ดังกล่าว นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงได้แล้ว  ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ดินให้มีสถานการณ์ที่หนักขึ้นอีกด้วย
แท้จริงแล้วยังมีพื้นที่ในหลายจังหวัดที่กำลังแต่งตัวรับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย และ ตาก  ภาคอีสาน จังหวดหนองคาย , นครพนม และมุกดาหาร ภาคใต้ จังหวัดสงขลา และนราธิวาส ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี และภาคตะวันออก เดิมมี จังหวัดสระแก้ว และตราด ( ข้อมูลจาก http://www.industry.go.th/industry/index.php/th/knowledge/item/10593-2016-05-23-05-01-57 ) ส่วนมติ ครม. 11 เม.ย. 60 เป็นการเห็นชอบพื้นที่เพิ่มเติม 3 จังหวัด ตะวันออกคือ จังหวัดชลบุรี , ระยอง และฉะเชิงเทรา ดังที่กล่าวข้างต้น



พื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมหลายหมู่บ้าน หลายตำบล  ราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นสูงลิ่ว เกิดการกว้านซื้อที่ดินรอบๆหรือใกล้เคียงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  ชาวบ้านที่อาศัยในที่ดินที่จะนำไปทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย   ซึ่งปัญหาข้อพิพาทเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อยุติอยู่ระหว่างการเจรจาการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับรัฐบาลค้างอยู่
สิทธิพิเศษ นอกเหนือที่เห็นปรากฏหน้าข่าวในด้านระยะเวลาการเช่าที่ดิน 99 ปี ได้นั้น ยังมีสิทธิพิเศษต่างๆที่กลุ่มทุนเหล่านั้นจะได้รับ เช่น
-          นอกจากจะได้ระยะเวลาเช่าที่ดินในระยะยาวนานแล้ว  ราคาค่าเช่านั้นยังแสนถูกมากจากข้อมูลก่อนที่จะมี มติเห็นชอบเขตเศรษฐกิจ 3 จังหวัดภาคตะวันออก เมื่อ 11 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา ทางกรมธนารักษ์ได้คิดค่าเช่าที่ดินที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราค่าเช่าราคาแพงที่สุด อยู่ในราคา 220,000 บาทต่อไร หรือคิดเป็น 550 บาทต่อตารางวา หรือเพียง 137.5 บาทต่อตารางเมตร คิดเป็นอัตราค่าเช่ารายปี  (ข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1432959904 )
-          สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 13 ปี ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด และจะได้รับการยกเว้นและหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตประกอบการเสรี
-          ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยรัฐ จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตพัฒนาพิเศษ
นี่เป็นเพียงสิทธิพิเศษบางอย่างที่กลุ่มทุนว่าจะเป็นทุนใหญ่ในประเทศ หรือกลุ่มทุนข้ามชาติ  ที่จะมาหาประโยชน์ในแผ่นดินประเทศไทย  ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ   แต่ที่น่าละอายไปกว่านั้นนโยบายการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ระยะเวลายาว 99 ปี ไม่ใช่รัฐบาลนี่เป็นผู้ต้นคิด กล่าวโดยย่อที่มาที่ไปนั้นมาจากกลุ่มทุนที่เคยมีอำนาจวางรากฐานสยายปีกตอนกลุ่มทุนเหล่านั้นเข้ามาเป็นรัฐบาลตั้งแต่สมัย ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ก็ถูกประชาชนคัดค้าน และเป็นหนึ่งในเหตุผลในการ “ขับไล่” กลุ่มทุนเหล่านั้นออกจากอำนาจจนเป็นที่มาการรัฐประหารในปัจจุบัน


( เครดิตภาพจาก นิตยสาร WAY)

จะว่าไปเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผลักดันการปฎิรูปที่ดินเมืองเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนใช้ระยะเวลายาวนานไม่ว่าจะเป็นที่ดินรัฐ หรือเอกชน และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด  เครือข่ายสลัม 4 ภาค พยายามเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายจนเกิดรูปธรรมกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นคือ มติคณะกรรมการรถไฟฯเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2543 ที่ชุมชนสามารถเช่าที่ดินการรถไฟฯได้เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  ทั้งนี้ระยะสัญญาที่ชาวชุมชนสามารถเช่าได้ยาวนานที่สุดอยู่ที่ 30 ปี ซึ่งก็ไม่แน่ใจด้วยว่าจบ 30 ปีแล้ว จะสามารถเช่าต่อได้หรือไม่  ยังคงเป็นคำถามของชาวชุมชนอยู่



ภาพการชุมนุมเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่หน้ากระทรวงคมนาคม

กระนั้นเองชุมชนริมทางรถไฟหลังวัดช่องลม-หลังฉาง เช่าที่ดินการรถไฟฯอายุสัญญาเช่า 30 ปี ซึ่งผ่านมาแล้ว 10 ปี กระทรวงคมนาคมมีความประสงค์ต้องการใช้ที่ดินย่านนั้น 270 ไร่ ที่เป็นที่ดินของการรถไฟฯ และส่วนหนึ่งนั้นคือพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟหลังวัดช่องลมฯด้วยนั้นเอง  การใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นโครงการหารายได้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟฯเอง และหารายได้เข้ารัฐที่อยู่สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก โดยให้เอกชนมาลงทุนและสร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษย่านสถานีแม่น้ำ เขตยานนาวา กทม. และพยายามส่งบริษัทที่ปรึกษาโครงการมาเพื่อเจรจาให้ชาวชุมชนในการยกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ให้ปรับการใช้พื้นที่ให้ลดลง และนั้นเองคำตอบที่ได้จากชุมชนคือจะไม่ยอมยกลิกสัญญาเช่า หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่เช่าใดๆทั้งสิ้น   แน่นอนโครงการระดับอภิมหาโปรเจคนี่เองก็คาดหวังจะได้นักลงทุนจากต่างประเทศนั้นเอง 
ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงไม่เห็นด้วยในทุกประการทั้งปวงในการผ่อนปรนให้กลุ่มทุนต่างๆสามารถเป็นผู้ครอบครองที่ดินรัฐได้อย่างยาวนาน  ขณะที่คนจนอีกหลายล้านชีวิตยังขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย   อีกทั้งข้อเสนอของภาคประชาชน “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ในการขอสิทธิ์ในการจัดการที่ดินรัฐในรูปแบบแปลงรวมโดยชุมชนจัดการตนเอง  กลับไม่ได้รับการตอบสนอง
นโยบายที่ประกาศไว้หลังจากการเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศที่จะ “ปฏิรูปประเทศ” ในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมที่มีอยู่ในตอนนั้น   แต่ปรากฏการณ์ตอนนี้ที่เห็นอยู่ยังไม่มีนโยบายใดที่ตอบโจทย์ดังกล่าวได้เลย   ตรงกันข้าม นโยบายที่ออกมากลับซ้ำเติมประชาชนกลุ่มคนชั้นล่างมากเป็นอย่างยิ่ง เช่น การทวงคืนผืนป่ากับกลุ่มคนจนที่อาศัยอยู่ในป่ามาอย่างยาวนาน   ความพยายามที่จะลดการสนับสนุนการศึกษาลง  หรือความพยายามที่จะไม่สนับสนุนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้า  ส่วนข้อเสนอของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นกฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า , นโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน , นโยบายธนาคารที่ดิน ยังคงไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานและรัฐบาล
ลำพังการผูกขาดการถือครองที่ดินโดยกลุ่มทุนในประเทศก็แทบจะไม่เหลือที่ดินไว้สำหรับทำกินและอยู่อาศัยของคนยากจนแล้ว  แต่รัฐบาลนี้กลับเปิดช่องการสร้างปัญหาแย่งชิงทรัพยากรที่ดินข้ามชาติขึ้นมา  หากไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาโดยการรัฐประหาร  อาจจะถูกตราหน้าเป็น “รัฐบาลขายชาติ” และถูกเดินขบวนขับไล่ไปเสียแล้วก็ได้ !!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...