วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โฉนดชุมชน ชุมชนก้าวใหม่ การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (1)


โฉนดชุมชน ชุมชนก้าวใหม่
การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (1)


คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61 มีกิจกรรมการปลูกป่าตามมาตรการเร่งด่วนที่ต้องฟื้นฟูพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ สำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากมีปัญหาการคัดค้านจากประชาชน โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธาน  กิจกรรมนี้เน้นการปลูกต้นไม้ที่รอบๆ พื้นดินที่ไม่อยู่ในเขตอาคารบนพื้นที่ 23 ไร่ จำนวน 300 กล้า ส่วนจุดอื่นต้องรอการส่งมอบพื้นที่และผลสรุปจากคณะทำงานก่อนที่จะดำเนินการในระยะต่อไป  นับเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาสร้างป่ากลับมาให้คงเดิมหลังจากมีการคัดค้านโครงการก่อสร้างจากประชาชน
หลังจบกิจกรรมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (ข่าวการให้สัมภาษณ์ https://goo.gl/PAjrv8 ) สิ่งที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอุทยานฯมีนัยยะสำคัญในด้านการจัดสรร  จัดประโยชน์  ที่มีอยู่ปัจจุบันให้เกิดผลดีมากที่สุดโดยไม่เกิดผลกระทบใดๆต่อสิ่งปลูกสร้างในเขตป่า   เนื่องจากหลักการดังกล่าวภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว “คนอยู่กับป่า” ถูกปฎิเสธตลอดมา 
ปัญหาป่ารุกที่คน  หรือคนรุกที่ป่านั้น  เริ่มมีมาตั้งแต่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ปี พ.ศ. 2497 และเริ่มมีกฎหมายอุทยานฯ พ.ศ. 2504 เกิดขึ้นมา   ความพยายามขีดเส้นแนวเขตพื้นที่ต่างๆภายใต้ความไม่พร้อมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่า ในเขา หรือยากจน  ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลในช่วงเวลาดังกล่าว   ส่งผลให้การประกาศแนวเขตพื้นที่สาธารณะ  แนวเขตพื้นที่ป่าต่างๆ  ไปส่งผลกระทบของผู้ที่อยู่อาศัยไปด้วย   กลุ่มคนดังกล่าวกลายเป็นคนบุกรุกแบบไม่รู้ตัว   มารู้ตัวอีกทีคือเมื่อมีหมายเรียก หรือ หมายศาล มาแปะที่บ้านพักอาศัยของตนเอง

การผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีมากว่า 30 ปี เป็นการชูวิถีและวัฒนธรรม เพื่อปกป้องรักษาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ของตนเอง  ให้หลุดพ้นจากการรุกรานของการพัฒนาเมืองที่พยายามจะกอบโกยทรัพยากรไว้เพียงบางกลุ่มซึ่งได้ปรากฎมาแล้วคือกลุ่มทุนเอกชนรายใหญ่  และการครอบครองโดยรัฐ  การบวชป่าเพื่อปกป้องการรุกรานของการพัฒนาคนเมือง จนพัฒนามาถึงการระดมเข้ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย พรบ.ป่าชุมชน ในช่วงปี พ.ศ. 2540 หลังจากที่ได้รัฐธรรมนูญใหม่  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  ถูกหน่วยงานต่างๆเข้ามาแก้ไขเนื้อหาจนเปลี่ยนเจตนารมณ์ความตั้งใจของประชาชนออกไปจนหมดสิ้น
ในปี พ.ศ. 2551 การรวมตัวกันของผู้เดือดร้อนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยในนาม “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย” ได้ริเริ่มที่จะผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ที่เป็นแนวความคิดพัฒนามาจากการดูแลพื้นที่ชุมชนตนเองจาก  สรุปบทเรียนการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐในรูปแบบการแจกที่ดินรายปัจเจก  และเพื่อเป็นการปลดล็อกการใช้ที่รัฐมาแก้ปัญหาที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ของคนจน  เน้นการบริหารทรัพยากรโดยชุมชน  การเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้นภายใต้การประชาคมในชุมชนถึงความเหมาะสม และสอดคล้องกับกติกาหรือธรรมนูญชุมชนที่ได้ตั้งไว้
ชุมชนก้าวใหม่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่เคลื่อนไหวการปฏิรูปที่ดินให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)  ชุมชนก้าวใหม่มีสมาชิก 88 ครอบครัว เป็นชุมชนที่มาจากการรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์และจังหวัดใกล้เคียง   เข้ามาใช้ที่ดิน สปก. ที่หมดสัมปทานจากบริษัทเอกชน  มีการออกแบบจัดการทรัพยากรที่ดินตามแนวหลักคิดโฉนดชุมชน  มีกติกาชุมชนและจัดแบ่งพื้นที่ที่เท่ากันในทุกครอบครัว  มีพื้นที่ส่วนกลางที่จะต้องช่วยกันดูแล และใช้ประโยชน์ร่วมกัน  การเกษตรที่ชุมชนก้าวใหม่ เป็นเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชา  ไม่มุ่งเน้นพืชเศรษฐกิจล้วน  อยู่ร่วมกันมานานมีกติกาชุมชนหรือธรรมนูญชุมชนใช้ร่วมกัน

ผลผลิตของพืชพันธุ์ต่างๆที่เพาะปลูกในชุมชนก้าวใหม่

 แต่หลังจากที่ส.ป.ก.  เริ่มดำเนินการจัดที่ดินในรูปแบบของ คทช. ซึ่งมีการดำเนินการปรับแผนผังชุมชนใหม่ และได้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้นมา การนำที่ดินของ สปก. มาจัดให้กับประชาชนตามแนว คทช. ซึ่งความต่างกันคือ โฉนดชุมชนเน้นการบริหารทรัพยากรโดยชุมชนร่วมกัน  แต่ คทช. พยายามจะเน้นเจกเป็นรายปัจเจก  อีกทั้งในการจัดที่ดินบนที่ตั้งของชุมชนก้าวใหม่ คทช. จังหวัดสุราษฎร์ฯ  เริ่มดำเนินการรังวัดที่ดินใหม่  เตรียมพื้นที่สำหรับทำถนนซอย และยังมีการตัดพืชผลทางการเกษตรที่สมาชิกในชุมชนปลูกสร้างไว้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน  ทั้งๆที่ชุมชนก้าวใหม่มีการจัดสรรแบ่งแปลงตามกติกา  หากแต่หน่วยงานรัฐยังยืนกรานที่จะต้องปรับผัง-แบ่งแปลงที่ดินตามที่พวกเขาออกแบบเท่านั้น


ย้อนกลับถ้านำเอาหลักคิด หลักการ ของอธิบดีกรมอุทธยานฯมาใช้   นอกจากพืชผล ต้นไม้ บ้านเรือน ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำลายสิ่งเหล่านั้นที่ชุมชนได้คิดค้น ปฎิบัติกันมาจนเป็นระเบียบเรียบร้อย   ที่สำคัญพื้นที่ สปก. ที่ชุมชนตั้งอยู่นั้น  หากไม่มีกลุ่มประชาชนเหล่านี้เข้าไปทำประโยชน์ที่ดินยังคงตกเป็นของกลุ่มนายทุนที่หมดสัมปทาน  แต่ไม่ยอมคืนพื้นที่ให้กับ สปก. และยังคงทำประโยชน์ไปเรื่อยๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆให้กับรัฐ   จนกระทั่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้  ได้ทราบข้อมูลเหล่านั้นประกอบกับมีประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจึงได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อให้เกิดกระบวนการ “คืนพื้นที่ให้กับ สปก.” เพื่อประชาชนที่ไร้ที่ดินจะสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้
สิ่งเหล่านี้เองเป็นบทพิสูจน์ถึงการใช้ที่ดินโดยไม่ได้คำนึงถึงการเก็งกำไรค้าที่ดิน  แต่มองเห็นที่ดินเป็นสิ่งสำคัญในปัจจัยการผลิต  ที่คู่ควรแก่ผู้ผลิตตัวจริงที่ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเต็มที่   ดังนั้นโฉนดชุมชน หรือ การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน  จึงสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาได้  และไม่ควรยึดติดกับการแก้ปัญหาที่จะต้องมีรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับบางพื้นที่ได้  ส่งผลให้เกิดกรณีปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกอย่างเช่นโครงการเก่าๆในอดีตที่ผ่านมา เช่น โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ในปี พ.ศ. 2533 ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด  แบบไหน  หากไม่มองเห็นถึงข้อเสนอภาคประชาชนที่มีความจริงใจในการพัฒนาร่วมกันแล้ว  การแก้ปัญหาที่จะให้ตรงจุดและสำเร็จย่อมจะทำได้ลำบาก  หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้   โมเดลที่ประชาชนสร้างขึ้นมา  พิสูจน์ให้เห็นแล้วอย่างกรณีชุมชนก้าวใหม่ จังหวัดสุราษณ์ธานี จึงเป็นกรณีศึกษา  และนำมาทดลองใช้ในอีกหลายพื้นที่ที่สามารถใช้ตามโมเดลนี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...