วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โฉนดชุมชน ปฎิรูปที่ดินการรถไฟฯเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (2)


โฉนดชุมชน ปฎิรูปที่ดินการรถไฟฯเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน
การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง (2)

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

แนวคิดการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชนไม่ได้มีเพียงในพื้นที่เขตป่า หรือภาคชนบทเท่านั้น  ในภาคเมืองแนวคิดการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชนมีส่วนร่วมก็ได้ดำเนินการมานานระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน
          ปัญหาการเข้าไม่ถึงที่ดินของคนจนเมืองโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากการพัฒนาประเทศในภาคชนบทล้มเหลวของรัฐบาล  อีกส่วนคือการรับมือต่อการพัฒนาเขตเมืองที่ต้องการแรงงานจำนวนมากไม่ได้  การเตรียมที่อยู่อาศัยรองรับสำหรับแรงงานที่จะเคลื่อนย้ายจากชนบทมาสู่เมืองจำนวนมหาศาล   ทำให้แรงงานส่วนใหญ่จะหาที่พักอาศัยกันตามที่รกร้างว่างเปล่าใกล้แหล่งทำงาน
          เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดก็คงเป็นการกระจายที่รัฐที่แต่เดิมหวงแหนไว้เพียงกลุ่มทุนได้ใช้เท่านั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีที่ดินจำนวนมากกระจายตามภูมิภาคของประเทศ  ซึ่งมีทั้งในตัวเมือง และชานเมืองชนบท    ถ้าหากสังเกตจะในการเดินทางโดยรถไฟ  ก่อนเข้าสถานีแต่ละสถานีจะเริ่มเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายข้างทางเป็นสัญญาณบอกกลายๆว่าใกล้จะถึงสถานีใดสถานีหนึ่งแล้ว

สภาพชุมชนสองข้างทางรถไฟ

การเข้ามาอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด  หากแต่เป็นความต้องการแรงงานในการขับเคลื่อนรถไฟเองที่สมัยก่อนนั้นเป็นรถไฟหัวรถจักรแบบไอน้ำ  ที่ต้องใช้แรงงานในการโยนฟืน  แรงงานในการขนฟืน ซึ่งแรงงานเหล่านั้นมักจะได้รับความอำนวยความสะดวกในเรื่องที่อยู่อาศัยจากนายสถานี  และส่วนใหญ่ชุมชนในย่านสถานีรถไฟก็มักจะเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นกลุ่มแรกๆในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ และเกิดการชักชวน ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของ “นายสถานี” ของแต่ละแห่ง
          แต่การบริหารการเดินรถของการรถไฟฯที่ต้องมุ่งเน้นบริการประชาชนเป็ฯหลักส่งผลให้ขาดทุนของตัวองค์กรเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดแนวความคิดถึงเรื่องการหยิบที่ดินที่มีอยู่มาหาแสวงหาผลกำไรให้กับองค์กรตนเองเพื่อไปชดเชยในส่วนที่ขาดทุนไป  ซึ่งเราจะเห็นตามข่าวอยู่เนืองๆเรื่องการต่อสัญญาเช่าของกลุ่มทุนรายใหญ่ของห้างสรรพสินค้าย่านลาดพร้าว หรือแม้แต่สวนจตุจักรเอง  ที่การต่อสัญญาที่ดินแต่ละครั้งต้องมีการเจรจา ต่อรอง กันอย่างหนักหน่วงในเรื่องรายละเอียดของสัญญา  แต่นั้นยังพอที่จะเข้าใจกันได้ว่าเป็นการดำเนินการในเชิงธุรกิจกัน  และไม่ส่งผลกระทบกับกลุ่มคนอื่นสักเท่าไหร่นัก   แต่การนำที่ดินของการรถไฟฯให้กลุ่มทุนได้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบการเช่าไม่ได้เป็นแบบข้างต้นทุกกรณี หากยังมีกรณีที่นำที่ดินที่มีชุมชนตั้งอยู่เดิมแล้วนำไปให้กลุ่มทุนประมูลเช่าที่ดิน  และกลุ่มทุนใดชนะการประมูลก็จะเข้าดำเนินคดีกับชาวชุมชนนั้นทันที  โดยมี “การรถไฟฯร่วมเป็นโจทก์” ด้วย
          และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่กลุ่มคนจนที่เป็นคนสร้างมูลค่าที่ดินตัวจริงคือกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่แรกๆตั้งแต่เป็นป่ารกร้าง จนสร้างเป็นชุมชนขึ้นมา  และที่ผ่านคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ไม่ได้เข้ามาอยู่ฟรีๆ  แต่เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เคยจ่ายค่าเช่าให้กับ นายสถานี แล้วทั้งนั้น  แต่ครั้นพอมีกลุ่มทุนที่จะให้เงินจำนวนมากการเช่าเหล่านั้นก็ถูกปฏิเสธลง  แปรเปลี่ยนสภาพจากผู้บุกเบิก ผู้เช่า กลายเป็นผู้บุกรุกในทันที  แสดงให้เห็นการสร้างความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน


          ปฎิบัติการเคลื่อนไหวสร้างความเป็นธรรมทางสังคมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เริ่มขึ้นจากปรากฎการณ์ดังกล่าว ชาวชุมชนในที่ดินของการรถไฟกว่า 3,000 คน ไปชุมนุมเรียกร้องเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาจนได้นโยบายการใช้ที่ดินการรถไฟฯเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยขึ้นมาตาม มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2543 ที่เปิดโอกาสให้คนจนได้เช่าที่ดินการรถไฟระยะยาวมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากลุ่มทุนที่มีเงิน
          การได้ที่ดินมาอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการที่ดินโดยชุมชน  ซึ่งที่ดินที่เช่ามาเป็นแปลงใหญ่  แปลงรวม การจัดสรรแบ่งแปลงกันจัดการโดยชุมชนร่วมกันออกแบบวางผังกัน  จนเกิดเป็นชุมชนที่สวยงาม เป็นระเบียบขึ้นมา  ส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินจะเป็นไปตามมติชุมชนทุกครั้งหากมีการเปลี่ยนมือจากสิทธิ์เดิมสู่ทายาท  จะไม่สามารถดำเนินการโดยปัจเจกได้ป้องกันการซื้อ-ขาย สิทธี่ดินกันตามนโยบายโฉนดชุมชนอย่างแท้จริง

  สภาพที่อยู่อาศัยเดิม ชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กทม. 
                     

สภาพที่อยู่อาศัยหลังการได้เช่าที่ดิน ชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กทม.


          อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น “โฉนดชุมชน” ไม่ได้ตอบโจทย์แค่การใช้ที่ดินแต่ยังตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  รักษาชุมชนให้คงอยู่ได้ไม่ล่มสลาย  ที่สำคัญที่ดินไม่หลุดเข้าวงจรตลาดค้าที่ดินอีกต่อไป   หากจะเป็นการดีแนวนโยบายของรัฐการจัดการที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะมีหัวใจหลักที่เหมือนกับแนวนโยบายภาคประชาชนคือโฉนดชุมชน ที่จะเสริมหนุนกันพัฒนาสร้างชุมชนให้เข้มแข็งร่วมกันต่อไป !!!
         




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...