วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

คนไร้บ้านผู้สร้างสิทธิให้กับตนเอง


คนไร้บ้านผู้สร้างสิทธิให้กับตนเอง

คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ผ่านพ้นไปด้วยดีกับงานเปิดตัวศูนย์พักคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธานในการเปิดป้าย “บ้านเตื่อมฝัน” หรือชื่อทางการว่า ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งประกาศถึงโมเดลการแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง  และพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาตามแนวทางนี้ต่อไป   ต่อด้วยพิธีมอบเลขที่บ้าน โดยรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับคนไร้บ้าน  ถ้าหากขาดสิ่งนี้แล้วการยืนยันความเป็นคนไทยจะเป็นความยากลำบากยิ่งนัก


           รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมเปิดศูนย์พักคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานเครือข่ายคนไร้บ้านได้ฉายภาพให้เห็นถึงการใช้โอกาสที่ได้มาเกิดประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภายในตัวศูนย์พักโดยกลุ่มคนไร้บ้านเอง  ที่แตกต่างจากศูนย์พักของรัฐที่คนไร้บ้านส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า “คุก” นอกจากการจัดการภายในตัวอาคาร  การอยู่ร่วมกันเองของคนไร้บ้านแล้ว  กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่นี้ยังคงการมองถึงอนาคตที่จะสร้างขึ้นพร้อมกับโอกาสที่ได้มา  มีการออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย  จัดตั้งกลุ่มสวัสดิการช่วยเหลือกัน   ส่วนในเรื่องอาชีพเพื่อหาราบได้มีความหลากหลาย มีทั้งกลุ่มเก็บของเก่ามารีไซเคิล และอาชีพที่แต่ละคนดำรงอยู่   เนื่องจากศูนย์ที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างมานั้นผู้อยู่อาศัยจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเองในการดูแลตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ – ค่าไฟ หรือแม้แต่หากเกิดการชำรุดทรุดโทรมในอนาคต  กลุ่มคนไร้บ้านจักต้องบริหารจัดการซ่อมแซมกันเอง   ความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ยังเน้นให้เป็นอันดับต้นๆในการใส่ใจโดยได้ทำสวนผักในชั้นบนสุดของตัวอาคาร  เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน  ที่ยังไม่นับรวมแปลงเกษตรที่อยู่นอกตัวเมืองอีกหนึ่งแปลงที่คนไร้บ้านจะผลัดเปลี่ยนเวรกันไปดูแล ช่วยกันปลูก เก็บ  มาจำหน่ายในเมือง กิจกรรมเหล่านี้ทาง องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆได้เห็นความสำคัญพร้อมจะยื่นมือเข้าร่วมสนับสนุน


แปลงเกษตรบนลานดาดฟ้า ศูนย์พักคนไร้บ้านเชียงใหม่

นี่คือตัวอย่างที่เด่นชัดในการสร้างโอกาสขึ้นมาและทำโอกาสที่ได้มาให้เกิดประโยชน์   กว่าจะได้โอกาสนั้นมาเขาเหล่านั้นต้องลงแรงมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้   เครือข่ายคนไร้บ้าน หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวผลักดันการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มาตั้งแต่ต้นการเสนอนโยบายการแก้ปัญหาคนไร้บ้านก็คือหนึ่งในข้อเรียกร้องของ ขปส. ด้วยเช่นกัน
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 คือก้าวแรกของการก่อเกิดนโยบายการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน   ในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องของ ขปส. กว่า 2,000 คน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า  แน่นอนเครือข่ายคนไร้บ้านคือหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องรวมอยู่ด้วยเช่นกัน  และตอกย้ำชัยชนะอีกครั้งในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554 ที่ตั้งกรอบงบประมาณขึ้นมาเพื่อดำเนินการนำร่องแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้านจำนวน 200 หน่วย   แต่กระนั้นกว่าจะได้ใช้งบประมาณเครือข่ายคนไร้บ้านต้องรอถึงปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง  แต่เครือข่ายคนไร้บ้านที่ต่อมาได้ยกระดับการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆมาเป็น “สมาคมคนไร้บ้าน” ขึ้นมา ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดจนมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจำนวน 118.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559
หลังจากมติ ครม. ออกมา  แผนการซื้อที่ดินตามพื้นที่เป้าหมายก็ได้เริ่มขึ้น  แปลงแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 แปลงที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แปลงที่ 3 ที่จังหวัดปทุมธานี วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561  ศูนย์พักคนไร้บ้านที่เชียงใหม่จึงเป็นแห่งแรกที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ  แต่ !!! ไม่ใช่ศูนย์แรกของเครือข่ายคนไร้บ้าน
หากจะย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2544 ที่เป็นจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มของคนไร้ที่อยู่อาศัย  ที่อาศัยหลับนอนในย่านสนามหลวง  เพราะโดนผลกระทบจากนโยบาย “ปิดสนามหลวง” เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มเพื่อนร่วมงาน และนักศึกษาจากชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ลงปูพรมสำรวจผู้อาศัยหลับนอนย่านสนามหลวงและใกล้เคียง  ที่ถือว่ามีผู้อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะเยอะที่สุดแห่งหนึ่ง  ต่อมาขยายเป็นการสำรวจปูพรมทั่วกรุงเทพมหานคร  เพื่อหาจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนมากที่สุด  ที่จะนำไปเจรจาเสนอแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


เวทีเสวนาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาคนไร้บ้านหลังนโยบายปิดสนามหลวง

หลังจากลงสำรวจ ได้พิกัดการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน การพูดคุยเพื่อให้เขาเหล่านั้นรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนไร้บ้าน” แบบหลวมๆ เริ่มพูดคุยปัญหา เริ่มเสนอความต้องการ และสิ่งแรกสำคัญที่สุดที่เขาต้องการคือการหาที่พักที่ไม่โดนเจ้าหน้าที่ตามจับ  และจุดรวมกลุ่มเพื่อจะพบปะพูดคุยกัน  กลุ่มคนไร้บ้านต่อรองกับทางกรุงเทพมหานครเพื่อจะนอนบริเวณเต็นท์พักชั่วคราวแถวศาลแม่หมู  จนกระทั่งไม่สามารถอยู่ได้และได้ความช่วยเหลือจากทางพี่น้องเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตก หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ให้ใช้บ้านในชุมชนเป็นที่พักชั่วคราวไปก่อน  และนี่คือจุดเริ่มต้นคิดในการหาศูนย์พักที่เป็นของคนไร้บ้านเอง  และได้ที่ดินแปลงหนึ่งในชุมชนตลิ่งชัน และเริ่มสร้างศูนย์พักร่วมกันเองได้ศูนย์พักชั่วคราวแห่งแรกขึ้นมา “ศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้านตลิ่งชัน” และเริ่มหาที่ดินที่มั่นคงเพื่อสร้างศูนย์พักอย่างมั่นคง จึงเข้าร่วมเรียกร้องกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านบางกอกน้อยจนได้รับการอนุมัติการเช่ามาและสร้างเป็น “ศูนย์พักคนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู” ขึ้นมา เป็นแห่งที่สอง และเจรจากับกระทรวงคมนาคมจนได้ที่ดินของการรถไฟฯอีกแปลงแถวย่าน หมอชิต มาก่อสร้าง “ศูนย์พักคนไร้บ้านหมอชิต” เป็นแห่งที่สาม  แต่ต้องถูกรื้อถอนไปเพราะต่อมาถูกโครงการก่อสร้างทางด่วน และกระทั่งได้เข้าร่วมเรียกร้องกับ ขปส. ตามข้างต้น


เครือข่ายคนไร้บ้านมิได้เรียกร้องเอางบประมาณและที่ดินอย่างเดียวเท่านั้น  แต่กว่าที่รัฐบาล หน่วยงาน จะรับฟังข้อเรียกร้องเหล่านั้น  เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมากเพราะนอกจากได้ที่ดินแล้วคนไร้บ้านบางส่วนที่พัฒนาตัวเองขึ้นมา  ได้รวมกลุ่มไปเช่าที่ดินในชุมชนย่านสถานีรถไฟพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อสร้าง “ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน” ขึ้นมา  และมีพื้นที่ส่วนกลางในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  และในแต่ละศูนย์ก็มีการรวมกลุ่มทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน   การพิสูจน์ให้รัฐได้เห็นหากคนจนเมืองกลุ่มที่จนไม่มีแม้กระทั่งหลังคากันแดดกันฝนยังลุกขึ้นมาพัฒนาได้เช่นกัน
 

สร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน

“บ้านเตื่อมฝัน” หรือ ศูนย์พักคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่  จึงไม่ใช่การได้มาแบบผู้ใหญ่ใจดีมามอบให้  แต่ผ่านการต่อสู้เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง  ควบคู่ไปกับการพัฒนาตัวเอง  พิสูจน์งานพัฒนาในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เพราะเส้นทางกว่าจะมาถึงศูนย์พักแห่งนี้ได้คนไร้บ้านเชียงใหม่ต้องโยกย้ายศูนย์พักชั่วคราวของตนเองถึงสองครั้ง  หลังจากที่พยายามเช่าอาคารร้างมาปรับปรุงเป็นที่พักให้กับกลุ่มตนเอง  นี่คือการสร้างโอกาสให้กับตัวเองขึ้นมา  และส่งผลเกิดเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่อๆไปอีกด้วย  และจากการพิสูจน์งานพัฒนานี่ทำให้มีการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือองค์กรด้านสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือองค์กรเอกชนอย่าง มูลนิธิ scg ที่ได้เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมบางส่วน
นี่ต่างหากคือโมเดลที่สร้างจากภาคประชาชนโดยแท้จริง  และเพียงรัฐบาลหันมามองให้ความสำคัญก็จะสามารถต่อยอดผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนขึ้นโดยประชาชนลุกขึ้นมาทำเอง !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...