วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิที่รัฐบาลไทยยังละเลย


สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิที่รัฐบาลไทยยังละเลย

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

อีกราว 1 เดือน ก็จะถึงวันสำคัญอีกหนึ่งคือ วันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้เพื่อให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่จะขาดมิได้  หรือมองอีกนัยหนึ่งคือสิทธิที่อยู่อาศัยถูกละเมิด ถูกละเลย จากสังคมโลกมาอย่างยาวนาน  และเกิดความรุนแรงมากขึ้นทุกปี  ดังที่เห็นประเด็นการพิพาทด้านที่ดินทั้งคนจนเมือง และคนจนชนบท
การเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนไหวรณรงค์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันกับทุกรัฐบาล  นำเสนอโมเดลการแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนเพื่อให้คนจนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย  โดยเฉพาะ “สิทธิการอยู่อาศัยในเมืองของคนจน”  ซึ่งในทุกรัฐบาลจะหวงแหนพื้นที่ในเมืองสงวนไว้เพื่อกลุ่มชนชั้นนำเพียงเท่านั้น  แต่นอกจากรัฐบาลจะละเลยไม่ใส่ใจแล้ว  ยังซ้ำเติมกระหน่ำปัญหามายังคนจนอีก  กฎหมาย , ระเบียบ หลายอย่างที่จะผลักไสคนจนออกจากเมืองไป เช่น กฎหมายผังเมือง , นโยบายการจัดระเบียบ street food หรือแม่ค้าแผงลอยต่างๆ ยังไม่นับรวมกับนโยบายต่างๆเดิมที่คงไว้ เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้มีโอกาสกว้านซื้อ กักตุน ที่ดิน ไว้เก็งกำไร


การรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค

และที่อยู่อาศัยนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต มันจึงมีความสำคัญต่อคนจนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ไม่มีพื้นที่ในการทำมาหากิน  ปัจจัยการผลิตจำเป็นต้องใช้กลไกทางสังคมเมืองในการดำรงชีวิตเพื่อให้อยู่รอด   หากแต่เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงนั้นก็หมายความว่าคนเหล่านั้นจะไม่มี ทะเบียนบ้าน จะไม่สามารถขอน้ำประปา ติดตั้งไฟฟ้า ได้  และที่สำคัญจะไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้  ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆก็ตามมา  ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาพยาบาล , สิทธิการได้รับสวัสดิการต่างๆจากรัฐ  ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมผลักดันกับเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสร้างนโยบายให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน  แก้ปัญหาพิพาทเดิมที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  มีประชาชนถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากด้วยเหตุ “จน ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน”  ซึ่งหลายคนไม่รู้ชะตากรรมตัวเองหลังจากหลุดการคุมขังจะไปทำมาหากินที่ไหน  พักอาศัยยังไง  สุ่มเสี่ยงเป็น “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ขึ้นมา
นโยบายของภาคประชาชนที่นำเสนอต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ร่วมกันรณรงค์อย่างหนักในสโลแกน “4 Law for Poor” ภายใต้กฎหมาย 4 ฉบับ คือ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า , กฎหมายธนาคารที่ดิน , กฎหมายโฉนดชุมชน และ กฎหมายกองทุนยุติธรรม กลับถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ไป  จนไม่สามารถนำมาแก้ปัญหาได้จริง  มาดูนโยบายต่างๆที่รัฐบาลล้วนรับปากจะสานต่อแต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นดังคำกล่าวอ้าง

กฎหมาย
เจตนารมณ์ภาคประชาชน
แนวทางของรัฐบาล
กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
เพื่อต้องการให้ออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินในรูปแบบขั้นบันได สำหรับคนที่กักตุนที่ดินจำนวนมากปล่อยที่ดินออกมา ลดราคาที่ดินในตลาดลง  ที่ดินกระจายไปอยู่กับผู้ที่ใช้ประโยชน์ในการทำกินอย่างแท้จริง

-          เพิ่มเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  แล้วอ้างว่าคือหนึ่งในแนวนโยบายการกระจายการครองที่ดิน ซึ่งไม่สามารถจะส่งผลต่อผู้ที่ครองที่ดินเยอะแต่อย่างใด
กฎหมายธนาคารที่ดิน
นำที่ดินต่างๆที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาไว้ธนาคารแล้วจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ ที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินในการดำรงชีพในรูปแบบ โฉนดชุมชน
-          เตรียมเสนอจัดตั้งเป็นกองทุนชุมชนแล้วไปใช้สินเชื่อกับ ธกส. รูปแบบการบริหารคล้าย กองทุนเงิน SIF
กฎหมายโฉนดชุมชน
เพื่อให้สิทธิการบริหารที่ดินเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง และร่วมกันบริหารเป็นกลุ่มไม่ใช่เชิงปัจเจก  แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเป็นของรัฐ
-          เกิดกระบวนการล้มล้างนโยบายโฉนดชุมชน
-          เสนอนโยบาย คทช. การแก้ปัญหาที่ดินโดยรัฐแทน
กฎหมายกองทุนยุติธรรม
เพื่อให้คนจนได้มีโอกาสสู้คดีนอกคุก  ช่วงระหว่างโดนดำเนินคดีถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวยังมีโอกาสได้หารายได้จุนเจือครอบครัว
-          ต้องติดคุกก่อน ค่อยมาเดินเรื่องขอกองทุน
-          คดีพิพาทกับรัฐ กองทุนตั้งตัวเป็นผู้พิพากษาเองว่าไม่มีทางชนะ ไม่ให้ใช้กองทุน

จากการชุมนุมยืดเยื้อ 10 วัน ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เกิดบันทึกความร่วมมือกับหลายกระทรวง  และที่สำคัญบันทึกฉบับสำคัญ ฉบับท้ายสุดของการชุมนุมคราวนั้นที่ผู้แทน ขปส. ได้ลงลายมือชื่อกับตัวแทนรัฐบาล โดยนายทหารใหญ่พลเอกณัฐพล  นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กขป.5 (คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5) ที่เตรียมตัวจะขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ในเนื้อหาบันทึกนั้นเกี่ยวกับนโยบายข้างต้นที่ ขปส. ได้ขับเคลื่อนมา  จากวันนั้น 12 พ.ค. 61 จนถึงวันนี้ เดือนกันยายน 2561 ไม่มีผลการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมสักกรณีเดียว   นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด  ซ้ำร้ายกับเป็นกลไกที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ต่างหาก
 
 


บันทึกระหว่าง ขปส. กับ รัฐบาล

หลังเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา  และรัฐบาลไทยร่วมลงนามที่จะเป็นหนึ่งในประเทศในการขับตามเป้าหมายเช่นเดียวกันกับประชาคมโลกด้วยเช่นกัน  สุดท้ายเป็นเพียงน้ำหมึกที่ลงนามในกระดาษเท่านั้น   นอกจากยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง   ยกตัวอย่างเช่น แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น  ได้กล่าวไว้ถึงกลยุทธ์การสร้างโอกาสการมีที่อยู่อาศัยไว้ว่า “นำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานรัฐมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ก็พบว่าทุกหน่วยงานต่างหวงแหนที่ดินของตนเองไม่ยอมที่จะนำมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  ทั้งๆที่ที่ดินดังกล่าวก็มีผู้อยู่อาศัยมานานแล้วก็ตาม  ดังเช่นที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีผู้อาศัยอยู่สองข้างรางรถไฟตามแนวไปช่วงตั้งแต่กำลังที่จะเข้าเมืองไปจนถึงสถานี  แต่ก็ไม่มีมาตรการให้ประชาชนอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้  มีเพียงแต่มาตรการทางกฎหมายที่ขับไล่ไปให้พ้นที่ดินตนเอง



ในปีนี้เองเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงต้องขับเคลื่อนรณรงค์สิทธิที่อยู่อาศัยกันต่อไปเช่นเดิมเหมือนทุกปี   และแน่นอนนอกจากสิทธิที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงแล้วนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค กับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆยังคงเรียกร้องต่อรัฐบาลในเรื่องคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ  ที่เป็นสวัสดิการของประชาชน ดังต่อไปนี้
1.       ด้านที่อยู่อาศัย
1.1    เพิ่มงบสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงจาก 80,000 บาทต่อครอบครัว เป็น 100,000 บาทต่อครอบครัว  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
1.2    สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้า-ประปา ส่วนต่อขยาย และภายในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐ
1.3    สนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมระบบราง , การพัฒนาการจัดการน้ำในพื้นที่คลอง
2.       ด้านที่ดิน
2.1    รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนนำที่ดินรัฐมาจัดทำที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย
3.       ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.1    การเข้าถึงสิทธิรักษาสำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์
3.2    ให้เปิดลงทะเบียนคนไทยตกหล่นและให้มีระเบียบปฏิบัติเดียวกัน

นี่คือนโยบายแห่งความหวังของประชาชนคนรากหญ้า  ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในการปฎิบัติ  เหลือเพียงการตอบสนองจากทางรัฐบาลที่จะเห็นความสำคัญต่อสิทธิด้านที่อยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด.

1 ความคิดเห็น:

  1. JW Marriott Casino Resort Spa Announces $250 Million
    JW Marriott Casino Resort Spa Announces $250 Million Expansion 청주 출장마사지 is 안양 출장샵 one of the largest 인천광역 출장샵 hotels and resorts in 강원도 출장안마 the world and 태백 출장마사지 the largest independent

    ตอบลบ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...