วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

เส้นทางการปฏิรูปที่ดินการรถไฟฯ เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจน


เส้นทางการปฏิรูปที่ดินการรถไฟฯ เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจน
คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม4ภาค

          เสร็จสิ้นพิธีการมอบสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  และมอบงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง แก่ชุมชนตลาดบ่อบัว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นผู้มอบ  เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องชุมชนตลาดบ่อบัวหลังจากพิพาทกับกลุ่มทุนใหญ่ที่พยายามจะฮุบเอาที่ดินของการรถไฟฯทั้งโซนตลาดบ่อบัว  แต่กลุ่มชาวตลาดบ่อบัวไม่ได้ยอมจำนนการต่อสู้เรียกร้องจึงเกิดขึ้น และเกิดผลสำเร็จได้ที่ดินกว่า 6 ไร่ มาเป็นที่อยู่อาศัยได้



 
ภาพพิธีมอบสัญญาเช่าที่ดิน และ มอบงบประมาณการพัฒนาชุมชนตลาดบ่อบัว

          เวทีในงานนี้เองไม่ได้มีแค่การมอบสัญญาจากผู้แทนรัฐบาลเท่านั้น  แต่ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกันที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกด้วย  การพัฒนาชุมชนตลาดบ่อบัวด้านที่อยู่อาศัยถึงแม้จะเห็นเส้นทาง แนวทางการเดินไปข้างแล้ว  แต่การพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะตามมาเพื่อให้เท่าทันการเติบโตของเมืองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล้วนแล้วเป็นสิ่งกระตุ้น  ยั่วยุ ให้เกิดการค้าที่ดินเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ เช่น  การลงนามแสดงให้เห็นถึงการสร้างความร่วมมือการพัฒนาชุมชนในทุกด้านของชุมชนตลาดบ่อบัว  เพราะมีทั้งเจ้าของที่ดินคือการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานที่จะคอยสนับสนุนในพื้นที่ท้องถิ่นคือทางจังหวัดและเทศบาล   ในอนาคตหลังจากที่ชุมชนมีที่ดินที่มั่นคงแล้ว  ต้องวางแผนชุมชนในระยะยาวเพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้ให้ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
 


ภาพเวทีสาธารณะพูดคุยการพัฒนาชุมชนในอนาคต และการลงนาม MOU การพัฒนาชุมชนร่วมกัน

          แต่เส้นทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด  ยังคงเหลืออีกหลายชุมชนที่ยังรอการแก้ปัญหาอยู่   ถึงแม้นว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2543 เกือบ 20 ปี บัญชีรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนไว้ 61 ชุมชน ที่ครอบคลุมในการสำรวจเพื่อจะเสนอเช่าในช่วงเวลานั้นชุมชนตลาดบ่อบัวน่าจะเป็นชุมชนสุดท้ายที่ได้รับการเช่าภายใต้มติดังกล่าว  แต่การผลักดันการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังไม่สิ้นสุดตาม   เพราะล่าสุดการประชุมบอร์ดการรถไฟฯเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวที่น่ายินดีของพี่น้องชุมชนหนองยวน 2 จังหวัดตรัง และชุมชนรอบเมือง 1 โซน 2 จังหวัดขอนแก่น  ที่บอร์ดการรถไฟฯมีมติอนุมัติหลักการเช่าให้กับชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้ เหลือติดตามการทำสัญญาเช่าเท่านั้นเอง

 



ภาพการประชุมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินกับกระทรวงคมนาคม

          ส่วนชุมชนอื่นๆที่ยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็ได้เจรจากับทางอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเริ่มมีการสำรวจพื้นที่ชุมชนร่วมกัน   โดยนำร่องจะเริ่มต้นที่จังหวัดตรัง  ที่กำลังประสบปัญหาที่เจ้าหน้าที่ รฟท. ปิดประกาศเตรียมจะดำเนินคดีในหลายพื้นที่ชุมชน การแบ่งปันที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์  ( Land Sharing ) มันจึงเป็นรูปแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ ดังที่ชุมชนตลาดบ่อบัวได้ทำมา

และในช่วงเวลานี้จะเห็นข่าวการใช้พื้นที่ 2 ข้างทางรางรถไฟไปใช้ในเชิงพาณิชย์  รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั่วประเทศ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในสองข้างทางริมทางรถไฟ  ที่ยังพิพาทไม่จบและเริ่มที่จะมีแนวโน้มการไล่รื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็เห็นได้จากรณีชุมชนย่านสถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 1,000 หลังคาเรือน ที่ยังไม่รู้ชะตาชีวิตว่าถ้าหากถูกฟ้องร้องขับไล่แล้วตนเองจะไปอยู่ตรงไหนของผืนแผ่นดินไทย


  
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.newtv.co.th/news/13645

การนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ  เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับประชาชน  เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนที่ได้บริหารทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน   ที่มิใช่การสงเคราะห์แจกจ่ายเป็นรายปัจเจก

การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการปฎิรูปที่ดินในประเทศไทยของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปและไม่ใช่เพียงแค่ที่ดินของการรถไฟฯเท่านั้น  แต่ต้องเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นรูปธรรมและได้ผลจริง  อย่างที่ได้ร่วมรณรงค์ขึ้นมา   อาจจะเป็นเรื่องใหญ่และลำบากที่จะให้เปลี่ยนทัศนคติ “ที่ดินต้องไม่ใช่สินค้า”  ที่ดินต้องนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน  ทุกคนจะต้องมีที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่ากัน   เราจึงยืนยันที่จะเสนอนโยบายเหล่านี้ต่อไปเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  และให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าที่ไม่ใช่เพียงเพื่อเก็งกำไร ค้าขาย
1.        นโยบายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
2.        นโยบายภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า
3.        นโยบายสถาบันธนาคารที่ดิน
4.        นโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน (โฉนดชุมชน)
5.        นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินรัฐเพื่อประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ทั้งนี้หากคนจนสามารถเข้าถึงที่ดินแล้ว  การเขาถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย  หรือแม้แต่ทุนการประกอบอาชีพ  เพื่อดำรงชีพต่อไป  สิ่งเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปด้วยเช่นกัน  รวมถึงสวัสดิการด้านต่างๆที่จะช่วยลดภาระประชาชนลงได้

การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้  เราจะได้เห็นวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรคการเมือง  ที่มองมาต่อประชาชนเป็นลักษณะแบบไหน อย่างไร  การแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ลดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นลักษณะแบบใด  ประชาชนคงต้องใช้การวิเคราะห์ แยกแยะ สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนี้อย่างรอบคอบ  แต่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป  ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...