วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ธรรมาภิบาลของการรถไฟแห่งประเทศไทย


ธรรมาภิบาลของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกำลังทุ่มเทงบประมาณ และโครงการต่างๆในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา    แต่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้รายได้การดำเนินงานถึง ณ ปัจจุบันยังคงขาดทุนอยู่อย่างต่อเนื่องอย่างที่เป็นข่าว  การแก้ปัญหาจึงต้องมี 2 เป้าหมายใหญ่ๆคือ การพัฒนาระบบรางให้ดีขึ้น และ ดำเนินการไม่ให้ขาดทุนและมีกำไรขึ้นมา
รฟท. มีทรัพย์สินที่จะบริหารแล้วเกิดกำไรได้นั้นมี 2 อย่างคือ การให้บริการระบบราง ซึ่งเป็นระบบที่ถูกและเอื้อเฟื้อต่อคนจน  และเป็นการเดินทางที่หลายรัฐบาลต้องจัดสวัสดิการให้แบ่งเบาภาระของประชาชนในหลายครา  เช่น นโยบายรถไฟฟรีเพื่อประชาชน หรือปัจจุบันเอาไปบรรจุไว้สำหรับคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ รฟท. ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเยอะจึงต้องลดกลุ่มเป้าหมายลง  และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาอีก เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ หรือแม้แต่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็ว  ล้วนแล้วเป็นโครงการก่อสร้างเพื่อให้ประสิทธิภาพด้านการบริการขนส่งระบบรางให้ดีขึ้น  อีกทั้งหวังถึงจะเพิ่มผลกำไรในการขนส่งที่ดีขึ้นครั้งนี้ด้วย
ชอบคุณภาพประกอบจาก https://thaipublica.org/2015/09/thailand-railway-1/

ส่วนอีกด้านที่สร้างรายได้ให้กับ รฟท. นั้นคือ “ที่ดิน” ที่มีจำนวนมากถึง 234,976 ไร่ เป็นส่วนที่พื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ ( ข้อมูลจาก https://thaipublica.org/2015/09/thailand-railway-1/ )  จากที่เราเคยพบเจอกันจนชินตาตลอดในการเดินทางด้วยรถไฟที่ต้องข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดกัน ก็คือการมีที่พักอาศัยหนาแน่นก่อนถึงสถานีใหญ่ๆ เสมือนการแจ้งเตือนผู้โดยสารเป็นนัยๆว่าจะถึงสถานีใด สถานีหนึ่งแล้ว   บ้างดูเป็นระเบียบเรียบร้อย  บ้างระเกะระกะ  แต่ที่เหมือนกันคือเห็นมานานนมกว่า 20 ปี แล้ว  ยังไม่รวมถึงย่านที่ดิน รฟท. ดังๆ ที่ไม่มีราง เช่น ตลาดนัดจตุจักร หรือห้างดังอย่างเซ็นทรัลลาดพร้าว  ที่จะกลายเป็นธุรกิจหลักของ รฟท. แล้ว

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://thaipublica.org/2015/09/thailand-railway-1/

แต่ปัญหาของ รฟท. ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น  อย่างที่กล่าวข้างต้น กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ตามย่านสถานี หรือริมทางรถไฟสองข้างทางยังคงเป็นอีกประเด็นที่จะละเลยไม่ได้  อีกทั้งไม่ควรจะแก้ปัญหาโดยการ “ฟ้องร้องทางกฎหมาย” เพราะอะไรนั้นหรือ  เราต้องดูกันว่าพวกเขามาอยู่ที่ได้ได้อย่างไรกันก่อน  จากการสัมภาษณ์ชาวชุมชนย่านบางกอกน้อย เขาเป็นกลุ่มแรกในการเข้ามาอยู่ในชุมชนที่ดินของ รฟท. เพราะเป็นแรงงานสำคัญในการโยนฟืนเข้าหัวรถจักร  บางกลุ่มในชุมชนย่านสถานีจังหวัดตรังการเข้ามาอยู่ก็จะคล้ายๆกันคือเป็นคนงานให้กับ รฟท. พอขยายครอบครัวทางนายสถานีก็ให้อยู่อาศัย  บ้างก็เคยเช่าอย่างถูกกฎหมายแล้วก็หยุดเก็บค่าเช่าแบบไม่มีสาเหตุ   มีหลายชุมชน  จำนวนหลายแปลงที่ดินที่ถ้าหาก รฟท. ใส่ใจเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องก็จะสามารถควบคุมการเข้าอยู่ในที่ดินของตนเอง และยังได้เงินเข้าหน่วยงานจนเองอีกด้วย  อย่างที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค พยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่   ซึ่งหากชุมชนเหล่านั้นอยู่อย่างถูกต้อง  การพัฒนาที่อยูอาศัยก็จะดีตามไปด้วย  สามารถจัดระเบียบให้สวยงามเป็นสัด เป็นส่วน เป็นหน้าเป็นตาของสถานีได้เลยทีเดียว

แต่ที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดขอนแก่นได้เข้าร่วมรับฟังอภิมหาโปรเจคของ รฟท. ที่จะนำมาลงสู่จังหวัดพวกเขาบนเนื้อที่กลางเมืองของการรถไฟฯ ราว 108 ไร่  เพื่อให้สอดรับกับนโยบายสมาทซิตี้ พยายามผลักดันให้เป็นเมืองที่ทันสมัย  รวมถึงเป็นกระดูกสันหลังสำคัญของระบบรางที่จะสร้างทางแยกทางรถไฟใหม่ 2 เส้นสำคัญ ไปยังจังหวัดหนองคาย และไปยังแม่สอด  การลงทุนตามย่านสถานีก็จะตามมาเหมือนเงาติดตัว
          หากแต่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ชาวชุมชนของสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าเจรจาร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อให้เป็นที่รองรับของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง  ซึ่งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อเสนอของชาวชุมชนเพื่อนำเข้าบรรจุในแผนการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย   แต่ รฟท. กลับทำเหมือนหูทวนลม ไม่สนใจมติดังกล่าว  พร้อมทั้งพยายามเบี่ยงเบน หาเหตุผลต่างๆนานาว่าชุมชนไม่สมควรใช้พื้นที่แปลงนั้น  สุดท้ายพี่น้องชุมชนก็ได้ทราบธาตุแท้ของการรถไฟฯแล้วว่าที่ดินแปลงทองคำแปลงนั้นได้สงวนไว้ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มาลงทุน  แต่พื้นที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบกลับไม่มี
          นี่คือส่วนหนึ่งที่สะท้อนธรรมาภิบาลการบริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่กระทำกับคนจนมาโดยตลอด  ที่มุ่งเน้นผลกำไรจนละเลยการรับผิดชอบสิ่งอื่น   เวทีรับฟังความเห็น การศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเชิงความคิด ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารบ้านพักพนักงาน , อาคารที่ทำการและสนามกอล์ฟที่สถานีขอนแก่น การรถไฟแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556  ที่จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA และมีข้อสังเกตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจว่าเขาต้องการจัดเพื่ออยากรับฟังจริง  หรือว่าต้องการจัดให้เสร็จตามกระบวนการเท่านั้น  เพราะในเวทีรับฟังจัดไว้ห้องขนาดกลางๆรับคนได้ประมาณ ร้อยคนต้นๆ เอกสารเตรียมมาแจก 200 ชุด มีหลายคนมาแล้วไม่มีที่นั่ง  มีหลายคนมาแล้วไม่ได้รับเอกสาร  ทั้งๆที่โครงการนี้จะส่งผลสะเทือนไปทั้งจังหวัดขอนแก่น   อย่างที่สองด้านเนื้อหาไม่ได้สะท้อนถึงการศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง  รูปแบบการออกแบบโมเดลก็ไม่สอดคล้อง  ยกตัวอย่างเช่น เหตุผลในการการสร้างโซนสวนสนุกเพื่อจะเป็นที่ผ่อนคลายความเดรียดสำหรับผู้ที่มาใช้สถานที่ประชุม สัมมนา  ซึ่งฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย   อีกทั้งไม่ได้อธิบายกระบวนการขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร จะดำเนินการอะไรต่อ   ทั้งห้องประชุมถึงกับงุนงง
    


การยื่นหนังสือคัดการการศึกษาต่อผู้แทน NIDA

          ชัดเจนแล้วว่าโครงการนี้ได้ละเลยผลกระทบต่อชีวิต  และความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งที่มีมติการพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้ว  แต่เรื่องผลประโยชน์ขององค์กรตัวเองกลับมาก่อนผลกระทบประชาชน  แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก  ยังมีอีกหลายกรณีอย่างที่เคยบอกกล่าวไว้แล้วคือ กรณีการอยู่อาศัยของชาวชุมชนตลาดบ่อบัวที่เคยเช่าที่ดินกับ รฟท. แล้วหยุดให้เช่ากลับให้เอกชนมาประมูลทับที่อยู่อาศัยแทน
หรือแม้แต่กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วง ศิริราช – ตลิ่งชัน ที่ชาวบ้านเช่าที่ดินกับ รฟท. แล้ว กำลังปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง  แต่กลับมาแจ้งให้ยุติการพัฒนาเนื่องจากมีโครงการ  ต้องใช้เวลาการเจรจากว่าปีถึงจัดหาที่รองรับให้ใหม่  จากวันนั้นจนถึงวันนี้กว่า 5 ปี ชาวบ้านจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. แต่กลับไม่สามารถเข้าพื้นที่รองรับดังกล่าวได้  เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลอาศัยอยู่ไม่กี่หลังครองที่ดินไว้จำนวนมาก  เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้  ตรงข้ามกับชาวบ้านที่ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทุกวัน  หนำซ้ำพื้นที่รองรับที่ชาวบ้านได้ทำสัญญาเช่าใหม่ 30 ปี รฟท. กลับไปทำสัญญาทับซ้ำซ้อนผ่ากลางชุมชนใหม่เพื่อใช้เป็นทางเข้า – ออก ในการประกอบกิจการของเอกชน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในการบริหารแบบไร้ธรรมาภิบาลของ รฟท. ที่เล็งเห็นแต่ประโยชน์กำไรที่เป็นเม็ดเงินด้านเดียวเท่านั้น  แต่กลับละเลยผลกระทบที่หน่วยงานตนเองสร้างขึ้นมาเอง   พอจะเข้าใจและเห็นด้วยกับการพัฒนาในหลายด้านให้ดีขึ้นเพื่อประสิทธิภาพ  และแก้ปัญหาด้านการเงิน   แต่การพัฒนาจะต้องไม่ละเลยข้อเท็จจริงที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบด้วย   การแบ่งปัน  การพูดคุย  ล้วนแล้วจะนำสู่ทางออกที่ดีไม่กระทบกระทั่งกัน  ไม่จำเป็นต้องข่มขู่ด้วยอำนาจกฎหมายที่ฝ่ายประชาชนเป็นรองอยู่ตลอด  เพียงใช้ธรรมาภิบาล  เปลี่ยนมุมมอง  ประชาชนไม่ใช่ศัตรู  เพียงเท่านี้ก็สามารถหาทางออกร่วมกันได้


    
สภาพชุมชนข้างทางรถไฟที่ได้รับการปรับปรุงหลังได้เช่าที่ดินถูกต้องแล้ว

ผ่านมากว่า 4 ปี ของรัฐบาลนี้อนุกรรมการฯชุดต่างๆที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคลี่คลายปัญหากลับไม่ได้รับการใส่ใจของหน่วยงานปฏิบัติ  ชี้ให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้ตกลงพูดคุยกับประชาชนได้ หรือรัฐบาลตั้งใจจะซื้อเวลาการแก้ปัญหาโดยใช้อนุกรรมการแล้วท้ายสุดก็ส่งมอบที่ดินไปยังกลุ่มทุนเหมือนอย่างที่เคยทำกันมา   ผลงานรูปธรรมเท่านั้นถึงเป็นตัวชี้วัดให้สังคมเห็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...