ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน คือปัญหาที่รัฐบาลมองข้าม
คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยเรายังคงมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ยังมีกลุ่มคนที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ
เป็นคนไร้บ้าน เร่ร่อน และยังมีกลุ่มชุมชนแออัดที่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง
ให้เราได้เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างเนืองๆ ซึ่งจากการสำรวจคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ
และตามศูนย์พักต่างๆ ของสมาคมคนไร้บ้าน ร่วมกับภาคีองค์กรภาคต่างทั้งรัฐ และเอกชน
ได้ตัวเลขราว 7,000 คน และจากการสำรวจชุมชนผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 ของการเคหะแห่งชาติ
ปรากฏว่า มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย ทั่วประเทศ ทั้งหมดประมาณ 1,908 ชุมชน จำนวนบ้าน 128,975 หลังคาเรือน จำนวนครัวเรือน
158,264 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 633,056 คน (ที่มา : สถานการณ์ที่อยู่อาศัย มกราคม -
มิถุนายน 2561 กองยุทธศาสตร์และสารสนเทศที่อยู่อาศัย ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ
หน้า 19)
รัฐบาลพยายามแสดงตนต่อสาธารณะว่าได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเต็มที่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง
เช่น นโยบายบ้านเอื้ออาทร (ที่หลายรัฐบาลมักเปลี่ยนชื่อแต่แนวทางตามเดิม
ปัจจุบันเรียก โครงการบ้านเคหะประชารัฐ) นโยบายบ้านมั่นคง
นโยบายปล่อยสินเชื่อต่างๆ เพื่อที่อยู่อาศัย
แต่กลับจำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือ มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่ได้หมดไป
หรือลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลย
ทั้งๆที่หน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งมาระยะเวลายาวนานแล้วทั้งนั้น คือ
การเคหะแห่งชาติ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบัน 46 ปี
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 ปีหน้าก็จะครบรอบ 20 ปี เกือบครึ่งศรรตวรรษ
แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้เลย
จนกระทั่งล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน
2562 ที่น่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย
โดยการสนับสนุนงบประมาณในการดาวน์บ้านจำนวน 50,000 บาท
แต่หากมาดูเกณฑ์การสนับสนุนของรัฐบาลแล้วจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนคนยากจนจะได้สิทธิดังกล่าว
เพราะกรอบการให้การสนับสนุนเปิดกว้างให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
หรือไม่เกินปีละ 1.2 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นรายได้ต่อเดือนที่สูงมาก
และต้องอยู่ในระบบฐานภาษีสรรพกร
ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวคนจนแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงได้เลย เพราะส่วนใหญ่คนจนมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานราคาถูก
ที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานภาษีสรรพกร กลุ่ม
และจะสนับสนุนเพียง 100,000 รายเท่านั้น แต่รวมงบประมาณแล้วอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท
ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
นโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยมีความจำเป็นมากเช่นกัน
เพราะถ้าหากมีเงินไม่มากพอการซื้อที่ดิน หรือบ้าน ในกลางเมืองใหญ่นี่เป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีการนำเอาที่ดินรัฐออกมาช่วยเหลือเพื่อเป็นสถานที่สร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนยากคนจนในเมือง
ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินสาธารณะ ที่ดินราชพัสดุ หรือหน่วยงานต่างๆที่กันพื้นที่ไว้แต่ไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว
แต่ความเป็นจริงแล้วชุมชนต่างๆที่อยู่บนพื้นที่หน่วยงานต่างๆนั้นกลับตั้งมานานแล้วอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า
10 – 20 ปี
แต่รัฐบาลพยายามจะไม่มองในประเด็นนี้
ทั้งที่มีการเรียกร้องของภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องอยู่เนืองๆ
และในช่วงนี้ รัฐบาลได้ผ่านมติ ครม.
ที่จะมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
และได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเมื่อวานนี้ ( 10 ธันวาคม 2562 ) ที่มีถึง 10 รายการ มีลักษณะไม่ต่างจากเกมส์โชว์ ใครกดได้ก่อนรับรางวัล
อย่าง ชิม ช็อป ใช้ ได้จัดมาแล้ว คราวนี้มาเป็นการช่วยผ่อนเงินดาวน์บ้าน (
ที่มาจาก https://www.thairath.co.th/news/business/1717135
) และในวันนี้ ( 11 ธันวาคม 2562 ) เป็นวันแรกในการแข่งขันลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท
เครือข่ายสลัม 4 ภาค มองเห็นว่านโยบายต่างๆในช่วงปลายปีส่วนใหญ่มักมาจากฐานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มาจากฐานการอุดหนุนช่วยเหลือรากหญ้ามากนัก
เป็นเพียงการยืมมือคนจนในการผ่านเงินไปยังกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ไม่มีการจับจ่ายใช้สอยเท่าที่เป้าตั้งไว้ได้ ซึ่งเป็นวังวนเช่นนี้มานานนับจะเกือบสิบปีแล้ว
ขอขอบคุณภาพจาก
เวปไซด์ข่าวไทยรัฐ
เราคงไม่ตื่นเต้น ดีใจ
กับนโยบายเพื่อยืมมือคนจนผ่านเงินไปยังกลุ่มบริษัทค้าอสังหาริมทรัพย์
เพราะถึงแม้นเรากดใช้สิทธิ์ทัน
พี่น้องคนยากจนก็คงไม่มีเครดิตที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อการผ่อนที่อยู่อาศัย
พี่น้องคนยากคนจนก็คงไม่มีปัญญาผ่อนที่อยู่อาศัย ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงแบบนี้
เครือข่ายสลัม 4 ภาคจึงไม่เห็นด้วยกับการออกนโยบายเหล่านี้ออกมาโดยเฉพาะนโยบายช่วยเงินดาวน์ซื้อบ้านรายละ
50,000 บาท ในขณะที่ยังมีคนนอนข้างถนน นอนตามศูนย์พัก
มีบ้านพักในสลัม สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้เกิดช่องห่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น