วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน คือปัญหาที่รัฐบาลมองข้าม


ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน  คือปัญหาที่รัฐบาลมองข้าม

คมสันติ์  จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยเรายังคงมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย  ยังมีกลุ่มคนที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้าน เร่ร่อน  และยังมีกลุ่มชุมชนแออัดที่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง ให้เราได้เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างเนืองๆ ซึ่งจากการสำรวจคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ และตามศูนย์พักต่างๆ ของสมาคมคนไร้บ้าน ร่วมกับภาคีองค์กรภาคต่างทั้งรัฐ และเอกชน ได้ตัวเลขราว 7,000 คน และจากการสำรวจชุมชนผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 ของการเคหะแห่งชาติ ปรากฏว่า มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย ทั่วประเทศ ทั้งหมดประมาณ 1,908 ชุมชน จำนวนบ้าน 128,975 หลังคาเรือน จำนวนครัวเรือน 158,264 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 633,056 คน (ที่มา : สถานการณ์ที่อยู่อาศัย มกราคม - มิถุนายน 2561 กองยุทธศาสตร์และสารสนเทศที่อยู่อาศัย  ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ หน้า 19)




รัฐบาลพยายามแสดงตนต่อสาธารณะว่าได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเต็มที่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง เช่น นโยบายบ้านเอื้ออาทร (ที่หลายรัฐบาลมักเปลี่ยนชื่อแต่แนวทางตามเดิม ปัจจุบันเรียก โครงการบ้านเคหะประชารัฐ) นโยบายบ้านมั่นคง นโยบายปล่อยสินเชื่อต่างๆ เพื่อที่อยู่อาศัย  แต่กลับจำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือ มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่ได้หมดไป หรือลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลย  ทั้งๆที่หน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งมาระยะเวลายาวนานแล้วทั้งนั้น คือ การเคหะแห่งชาติ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบัน 46 ปี ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 ปีหน้าก็จะครบรอบ 20 ปี เกือบครึ่งศรรตวรรษ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้เลย
จนกระทั่งล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่น่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนงบประมาณในการดาวน์บ้านจำนวน 50,000 บาท  แต่หากมาดูเกณฑ์การสนับสนุนของรัฐบาลแล้วจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนคนยากจนจะได้สิทธิดังกล่าว เพราะกรอบการให้การสนับสนุนเปิดกว้างให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท หรือไม่เกินปีละ 1.2 ล้านบาท  ซึ่งถือเป็นรายได้ต่อเดือนที่สูงมาก  และต้องอยู่ในระบบฐานภาษีสรรพกร  ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวคนจนแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงได้เลย  เพราะส่วนใหญ่คนจนมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานราคาถูก ที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานภาษีสรรพกร  กลุ่ม และจะสนับสนุนเพียง 100,000 รายเท่านั้น แต่รวมงบประมาณแล้วอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท

ภาพจาก www.goolgle.com และ https://www.posttoday.com/social/local/308697

ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว  นโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยมีความจำเป็นมากเช่นกัน เพราะถ้าหากมีเงินไม่มากพอการซื้อที่ดิน หรือบ้าน ในกลางเมืองใหญ่นี่เป็นไปไม่ได้เลย  หากไม่มีการนำเอาที่ดินรัฐออกมาช่วยเหลือเพื่อเป็นสถานที่สร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนยากคนจนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินสาธารณะ ที่ดินราชพัสดุ หรือหน่วยงานต่างๆที่กันพื้นที่ไว้แต่ไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว   แต่ความเป็นจริงแล้วชุมชนต่างๆที่อยู่บนพื้นที่หน่วยงานต่างๆนั้นกลับตั้งมานานแล้วอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 10 – 20 ปี  แต่รัฐบาลพยายามจะไม่มองในประเด็นนี้ ทั้งที่มีการเรียกร้องของภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องอยู่เนืองๆ
และในช่วงนี้ รัฐบาลได้ผ่านมติ ครม. ที่จะมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน  และได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเมื่อวานนี้ ( 10 ธันวาคม 2562 ) ที่มีถึง 10 รายการ มีลักษณะไม่ต่างจากเกมส์โชว์ ใครกดได้ก่อนรับรางวัล อย่าง ชิม ช็อป ใช้ ได้จัดมาแล้ว คราวนี้มาเป็นการช่วยผ่อนเงินดาวน์บ้าน ( ที่มาจาก https://www.thairath.co.th/news/business/1717135 ) และในวันนี้ ( 11 ธันวาคม 2562 ) เป็นวันแรกในการแข่งขันลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท
เครือข่ายสลัม 4 ภาค มองเห็นว่านโยบายต่างๆในช่วงปลายปีส่วนใหญ่มักมาจากฐานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ไม่ได้มาจากฐานการอุดหนุนช่วยเหลือรากหญ้ามากนัก เป็นเพียงการยืมมือคนจนในการผ่านเงินไปยังกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา  ไม่มีการจับจ่ายใช้สอยเท่าที่เป้าตั้งไว้ได้  ซึ่งเป็นวังวนเช่นนี้มานานนับจะเกือบสิบปีแล้ว

ขอขอบคุณภาพจาก เวปไซด์ข่าวไทยรัฐ

           เราคงไม่ตื่นเต้น ดีใจ กับนโยบายเพื่อยืมมือคนจนผ่านเงินไปยังกลุ่มบริษัทค้าอสังหาริมทรัพย์ เพราะถึงแม้นเรากดใช้สิทธิ์ทัน พี่น้องคนยากจนก็คงไม่มีเครดิตที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อการผ่อนที่อยู่อาศัย พี่น้องคนยากคนจนก็คงไม่มีปัญญาผ่อนที่อยู่อาศัย ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงแบบนี้
           เครือข่ายสลัม 4 ภาคจึงไม่เห็นด้วยกับการออกนโยบายเหล่านี้ออกมาโดยเฉพาะนโยบายช่วยเงินดาวน์ซื้อบ้านรายละ 50,000 บาท ในขณะที่ยังมีคนนอนข้างถนน นอนตามศูนย์พัก มีบ้านพักในสลัม  สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้เกิดช่องห่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ.


วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ร้อย สีหาพงษ์ นักสู้ของชาวสลัม


ร้อย สีหาพงษ์  นักสู้ของชาวสลัม
นายนิติรัฐ  ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้รวบรวม

นางร้อย สีหาพงษ์ หรือ ป้าร้อย ผู้นำชุมชนริมทางรถไฟท่าเรือคลองเตย ผู้นำศูนย์รวมพัฒนาชุมชน ผู้นำเครือข่ายสลัม 4 ภาค เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2477 ที่บ้านเปือย ตำบลเปือย อำเภอลืออํานาจ จังหวัดอํานาจเจริญ บิดาชื่อ เอี่ยม บุญหลง มารดา  ชื่อ เป้ บุญหลง มีพี่น้อง 10 คน เป็นบุตรคนที่ 3 ถือ  เป็นลูกสาวคนโต พี่น้องเสียชีวิตแล้ว 3 คน ป้าร้อยสมรสกับ นายพุฒ มีบุตรด้วยกัน 4 คน ได้แก่ นายชัยรัตน์ สีหาพงษ์ นางมัจฉา จำแนกทาน นายเทพา สีหาพงษ์ และนายปัญญา จำแนกทาน (บุตรคนที่ 4 เสียชีวิตแล้ว) ป้าร้อยจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4
เส้นทางชีวิตของป้าร้อย เป็นภาพสะท้อนของคนชนบทในภาคเกษตรกรรมจำนวนไม่น้อยที่อพยพครอบครัวหนีความยากจนเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง เฉกเช่นวิถีชาวสลัมคลองเตย จากยุคแรกเริ่มการเป็นแรงงานก่อสร้างท่าเรือคลองเตย แรงงานในการขนถ่ายสินค้า กระทั่งจับจองพื้นที่ประกอบอาชีพต่อเนื่องจนกลายเป็นชุมชนคลองเตย
ปี 2507 ป้าร้อยในวัย 30 ปี หอบลูกสาวคนรอง อายุ 2 ขวบ เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) ขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีหัวลำโพง โดยลุงพุฒ สามี ได้มาแผ้วถางทางไว้ล่วงหน้าที่คลองเตย โดยประกอบอาชีพขับรถเมล์ สาย 13 ซึ่งก่อนหน้านี้ลุงพุฒเคยขับรถในจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน ตามคำบอกเล่าของบุตรสาว

ป้าร้อยเริ่มต้นอาชีพในการเข้าสู่เมืองใหญ่ จากการรับจ้างทอไหม โดยรับไหมเป็นม้วนใหญ่ จากซอยแสนสบาย ถนนพระราม 4 เอามาใส่หลอด มีรายได้วันละ 4-5 บาท สองสามีภรรยาหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัว เพียงพอเป็นค่าเช่าบ้านเลี้ยงดูลูก
ครอบครัวป้าร้อยต้องเปลี่ยนบ้านเช่าหลายครั้ง เนื่องจากจ่ายค่าเช่าบ้านไม่ไหวบ้าง ถูกไล่ที่บ้าง จนมีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อจำเป็นต้องมีบ้านเลขที่เพื่อให้ลูกสาวคนรองเข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพฯ ในปี 2510 ป้าร้อยจึงตัดสินใจสร้างบ้านในพื้นที่รกร้างไม่กี่ตารางวา ริมทางรถไฟใกล้ท่าเรือคลองเตย ซึ่งคนต่างถิ่นต่างทยอยเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2503-2504 เนื่องจากรัฐบาลเริ่มจัดการกับสลัมย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยการไล่รื้อ ทำให้ชาวสลัมที่ถูกไล่รื้อพากันอพยพเข้ามายึดพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่การท่าเรือ และปลูกสร้างบ้านเรือน
ป้าร้อยนำเงินที่สะสมเดือนละ 100 บาท ได้ราว 2,000 บาท นำไปซื้อไม้อัด ลังไม้ เพื่อสร้างบ้านในยามกลางคืน เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯจะมาพบ แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลากลางวันก็ไม่พ้นสายตาเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ ป้าร้องก็ได้แต่ขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่
ต่อมา ป้าร้อยทำเสื่อทอ ประกอบเสื่อทำกระเป๋า แบกเสื่อขายตามบ้าน โดยลุงพุฒขับรถซูบารุไปรับเสื่อมาจากกระทุ่มแบน จนกระทั่งมาขายลูกชิ้นย่าง ปลาหมึกย่าง หน้าบ้าน ตลาดสามย่าน โดยไปรับลูกชิ้นจากสะพานปลา ซอยหลังโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง จากนั้นได้หันยึดอาชีพแม่ค้าขายข้าวแกงหน้าบ้าน จนส่งลูกสาวจนจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง
ปี 2510 จนถึง 2513 พื้นที่คลองเตยจึงกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ การท่าเรือได้ใช้วิธีรุนแรงในการผลักดันสลัมเหล่านี้ เริ่มจากพื้นที่รอบในที่อยู่ติดกับลานและโกดังสินค้าของการท่าเรือ ขับไล่ด้วยการนำเอาเลนที่เรือขุดดูดขึ้นมาจากสันดอนมาพ่นใส่พื้นที่ตั้งสลัม จนทำให้ชาวบ้านต้องรื้อย้ายบ้านเบียดรวมเข้าไปกับสลัมใหม่หลังบ้านพักพนักงานการท่าเรือ บางส่วนย้ายหนีลงไปสมทบกับสลัมรอบ ๆ ทำให้กลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลานี้ ได้เกิดปัญหาเพลิงไหม้ชุมชนเป็นประจำทุกปี…..
ในปี 2525 มีการไล่รื้อสลัมคลองเตยครั้งใหญ่ โดยผู้อ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้มีการต่อสัญญาเช่ากับการท่าเรือฯ มาเป็นเวลานาน ป้าร้อยและชาวบ้านร่วมใจกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ในช่วงนี้ การรวมกลุ่มของชุมชนขยายตัว มีการจัดตั้งกรรมการชุมชน มีองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เป็นพลังหนุน อาทิ มูลนิธิดวงประทีป เมื่อชาวบ้านต่อสู้จนการท่าเรือให้เช่าที่ 20 ปี การเคหะฯได้จัดตั้งชุมชนใหม่ สร้างถนน น้ำประปา ไฟฟ้า อาคารพานิชย์

จากการต่อสู้ในครั้งนั้น ป้าร้อยได้เริ่มเข้ามาช่วยงานองค์กรที่ทำงานด้านสลัม เริ่มจากมูลนิธิดวงประทีป พอปี 2529 ป้าร้อยร่วมกับแกนนำชุมชนถูกไล่รื้อรุ่นแรกกับรุ่นสอง ได้แก่ ทวีศักดิ์  แสงอาทิตย์ ,  สังวาล  บุญส่ง ,  สังเวียน นุชเทียน , ไพฑูรย์ ตุวินันท์ หรือ ป้าทูน , สุปราณี แก้วเกตุ , พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม , ศิริ ชื่นบำรุง หรือลุงศิริ , วิเชียร สวัสดิสุข หรือ อ็อด , มารุต  เปรมานุพันธ์ , แม่อึ่ง , พี่วันชัย ได้ร่วมกันก่อตั้ง "ศูนย์รวมสลัม" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน” ภายหลังการเข้าไปช่วยชาวชุมชนรัชดาปิดถนนประท้วงการถูกไล่ที่ เพื่อตัดถนนรัชดาในช่วงรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ป้าร้อยและแกนนำเหล่านี้แม้มีวัยต่างกันแต่ทั้งหมดมีที่มาจากการเป็นชาวชนบทที่ล้มละลายมาจากแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งทำให้คนล้มละลายหลายทศวรรษมาอยู่ในฐานะชาวสลัมในเมืองหลวง
ย้อนกล่าวถึงสถานการณ์ชาวสลัม กระทรวงมหาดไทยต้อนรับคนชนบทล้มละลาย ด้วยการสร้างวาทกรรมสลัมว่าเป็น "แหล่งวิบัติ" “แหล่งเสื่อมโทรม” ไม่มีสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม จนน้ำครำกับสะพานไม้กลายเป็นภาพจำของสลัม การไล่รื้อสลัมด้วยประกาศคณะปฏิวัติ การเผาไล่ที่ การฟ้องขับไล่ การใช้รถลูกตุ้มเหวี่ยงทำลายชุมชนเป็นเรื่องปกติประจำวัน ทำให้เกิดการต่อสู้ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สลัมคลองเตยสู้กับการท่าเรือ ลาดบัวขาว และกลุ่มศูนย์รวมสลัม สะพานแขวน บ่อนไก่ บางนา อ่อนนุช ริมทางรถไฟ ทับแก้ว เฉลิมนุสรณ์ โรงปูน เพชรพระราม หลัง ขสมก.อินทะมะระ ฯลฯ
ในนามศูนย์รวมฯ ป้าร้อยและพวกเขาได้ปฏิบัติการปิดทางเข้าพวกไล่รื้อ ปิดการบังคับคดี ปิดถนนเพื่อให้เปิดเจรจา กิจกรรมรณรงค์รับบริจาคโลหิต กิจกรรมวันเด็กสลัมหนูอยากไปโรงเรียน การเจรจา กทม. ขอทะเบียนบ้านที่ไม่สลักหลังเพื่อให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล การนำเสนอ พรบ.ชุมชนแออัด การประท้วงขับไล่ รสช. กิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยร่วมกับนักวิชาการ การรณรงค์ให้มีเปลี่ยนวาทกรรมจาก “แหล่งวิบัติ” เป็น “ชุมชนแออัด” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของสภาพัฒน์ฯ
ในช่วงปี 2534 รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ไล่รื้อสลัมแถบคลองไผ่สิงโต เพื่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ต้อนรับการประชุมธนาคารโลก รัฐบาลไล่รื้อชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนข้างโรงงานยาสูบ ชุมชนดวงพิทักษ์  เพื่อปรับภูมิทัศน์ไม่ให้นายธนาคารมองเห็นการขับไล่ชุมชน ศูนย์รวมฯ จึงใช้สัญลักษณ์ของความยากจนในการต่อสู้ธนาคารโลก จัดนิทรรศการมีชีวิตด้วยรถเข็นผลไม้ดอง คนร่อนหาของในคลอง ขยะรีไซเคิล กรรมกร  ศูนย์เด็กเล็ก นอกจากนี้ ชาวสลัมยังได้สร้างรั้วสังกะสีระบายสีเป็นกำแพงภาพโดยเด็กในชุมชน
จากการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น ทำให้ นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ลงเยี่ยมชุมชน โดยรัฐบาลรับข้อเสนอของศูนย์รวมฯที่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ การหยุดไล่รื้อคลองไผ่และให้พัฒนาคนอยู่กับคลอง และตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนแออัดสมทบกับกองทุนที่ชาวบ้านตั้งขึ้นแทนการเคหะแห่งชาติ การไล่รื้อชุมชนคลองไผ่จึงยุติลง และมีการก่อตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาชน ตามลำดับ
ป้าร้อยเป็นผู้นำชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย เมื่อครั้งที่กรมธนารักษ์ฟ้องร้องชาวบ้านบุกรุกที่ ซึ่งสุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้องให้ชาวบ้านเป็นผู้ชนะ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของการท่าเรือฯ ป้าร้อยและชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟจึงอยู่อาศัยบนที่ดินของการท่าเรือฯ ตลอดมา รวมทั้ง การเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยจดทะเบียนบ้านสำหรับชาวสลัม เพราะการไม่มีเลขที่บ้าน นอกจากไร้หลักประกันในเรื่องที่อยู่อาศัย และการได้รับบริการสาธารณูปโภคจากรัฐ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ หลังตลาดปีนัง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร บ้านต้นเพลิงเป็นบ้านนายทหารเกษียณราชการ ลามไปยังบ้านเรือนประชาชน 22 หลังคาเรือน 58 ครอบครัว รวมทั้งโรงงานประกอบกิจการผลิตยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในย่านนั้น ส่วนป้าร้อยเองก็มีอาการเสียงแหบในช่วงนั้น
หลังจากนั้นไม่นาน ป้าร้อยตัดสินใจสร้างบ้านใหม่ให้แข็งแรงถาวร โดยใช้เงินเก็บประมาณ 100,000 บาท บวกกับเงินบริจาคและสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนบางส่วน สร้างบ้านตึกปูน 2 ชั้น ตามแบบของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.
ในความคิดป้าร้อย การจัดการบ้านในชุมชน คนที่มีพื้นที่มากต้องยอมเสียสละให้คนมีที่น้อย แบ่งปันพื้นที่ให้กันไม่เอารัดเอาเปรียบกัน” “ฉันมองว่าคนเรา ไม่มีใครเกิดขึ้นมา เป็นเจ้าของที่ดินคนเดียวไม่มีใครเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างเราเป็นมนุษย์ด้วยกันทุกคน คนรวยต้องดูแลคนจนมันถึงจะถูก” “ใครบอกไม่ดี ฉันบอกดี เสียเงินแสนสองหมื่นบาท เราได้อยู่บ้านชั่วลูกชั่วหลาน มั่นคง เราตั้งอกตั้งใจทำมาหากินผ่อนไปก็ไม่แพง เดือนละพันกว่าบาท แค่ 5 ปี”
ป้าร้อยเป็นประธานชุมชนมานับสิบปี ป้าร้อยเป็นนักต่อสู้ที่มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมพัฒนาของชุมชนริมทางรถไฟ เป็นแบบอย่างของคนจนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะมีบ้านสักหลังบ้านที่มั่นคงในชุมชนที่ยั่งยืน
ป้าร้อยเป็นแกนนำที่ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะมีการประชุม การสัมมนาที่ไหน ป้าร้อยมักจะเข้าร่วมด้วยเสมอ การชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาขนกลุ่มต่างๆ ก็จะเห็นป้าร้อยเข้าร่วมด้วยเสมอเช่นกัน ทั้งในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฯลฯ
ป้าร้อยมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานกลุ่มออมทรัพย์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งป้าร้อยก็ได้นำประสบการณ์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนนำมาพัฒนาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านศูนย์รวมพัฒนาชุมชน  ได้ในปี 2532 ให้สมาชิกได้มีเงินหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
จากความกระฉับกระเฉงในการสั่งสมความรู้ ทำให้ป้าร้อยเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญด้วย คำถามวิทยากรก็ได้สะท้อนคำตอบของคนสลัมไปด้วยในตัว จนสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เชิญไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง
ในปี 2550 ป้าร้อย สีหาพงษ์ ได้รับรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง และองค์กรพันธมิตร โดยถือว่าเป็นผู้มีบทบาทและผลงานดีเด่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่น เสียสละเพื่อการงานที่มีคุณค่า ต่อสังคม แม้จะต้องประสบกับความยากลำบาก หรือเสี่ยงอันตราย นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
"แม้บ้านเมืองดูเหมือนพัฒนาขึ้น แต่ปัญหาของชาวสลัมก็ยังเหมือนเดิม ป้ายังไม่เห็นมีใครเข้ามาช่วยจริงๆ จังๆ เลย เขาคงไม่อยากให้ชาวบ้านฉลาด"
แม้ป้าร้อยจะมีอายุมากขึ้นตามสังขาร แต่ยังคงเข้าร่วมในกิจกรรมของเครือข่ายสลัมอย่างสม่ำเสมอ แม้ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน ป้าร้อยยังกล่าวกับลูกสาวถึงการสำรวจข้อมูลชุมชนคลองเตยของหน่วยงานภาครัฐ


เรียบเรียงจาก
1. ความสุขของ"ป้าร้อย" กับโลกแห่งการเรียนรู้ ของ Paskorn Jumlongrach
2. ป้าร้อย สีหาพงษ์ คือ ความหวังบ้านมั่นคงแห่งชุมชนริมทางรถไฟ วันที่ 25 มิถุนายน 2546 หนังสือพิมพ์มติชน
3. ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน รางวัลแด่ผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อสังคม เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ.2550 January 25th, 2013
4. ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน "รำลึกถึงป้าร้อย จดจำบทเรียนยุค ศูนย์รวมสลัม" จำนงค์ จิตนิรัตน์
5. สัมภาษณ์ คุณมัจฉา จำแนกทาน
6. ข้อมูลเพิ่มเติม คุณนพพรรณ  พรหมศรี

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนไทยยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง


วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนไทยยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง
นายคมสันติ์  จันทร์อ่อน  กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          องค์การสหประชาชาติประกาศเอาไว้ว่าให้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี  เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก ( World Habitat Day ) เพื่อที่จะให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัยที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติ  แต่กลับมีประชากรโลกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต  มีคนไร้บ้าน ( Homeless ) อยู่ในทุกประเทศทั่วโลก   ที่ดินจากทรัพยากรที่มนุษยชาติควรจะได้ใช้ร่วมกันแต่กลับถูกนำมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว
          ประเทศไทยเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน  และจะรุนแรงหนักขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งจากการรายงานข่าวเมื่อ ปลายปี 2561 ประเทศไทยได้ครองแชมป์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 1 ของโลก  แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ว่านั้นรวมถึง “ที่ดิน” อยู่ด้วย  มหาเศรษฐีและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในประเทศไทยครองที่ดินกว่าครึ่งไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว  ยังไม่นับรวมกลุ่มทุนต่างประเทศที่มีผู้แทนในการเป็นเจ้าของที่ดินอีกจำนวนไม่น้อย   สถานการณ์คนไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจึงถือว่าเป็นขั้นวิกฤตรุนแรงไม่น้อย
          แต่กระนั้นเองรัฐบาลไทยยังคงเหมือนทองไม่รู้ร้อน  ยังคงออกนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor หรือ EEC ) เพื่อผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินได้อย่างน้อย ๆ 99 ปี  มีกฎหมายพิเศษยกเว้นให้นักลงทุนในขอบเจตพื้นที่ดังกล่าว  แต่ยังไม่วายที่จะอ้างเพื่อประโยชน์คนจนย่านนั้นจะมีงานทำไม่ขาดสาย   มันก็คงจะจริงถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวสงวนไว้เพียงเฉพาะคนไทย   แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น   นอกจากจะไม่สงวนแล้วรัฐบาลยังคงส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถจ้างงานชาวต่างชาติมาทำงานได้อย่างเต็มที่  อีกทั้งผ่อนปรนกับแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นดีกว่านอกพื้นที่ EEC เสียอีก   ดังนั้นประเด็นการสร้างงานให้คนไทยในย่านนั้นปิดไปได้เลย

          ยังไม่นับรวมการเตรียมแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ( Transit-Oriented Development หรือ TOD ) ที่หมายถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะมี 170 สถานีทั่วประเทศนำร่องใช้ก่อน   และส่วนใหญ่พื้นที่ที่จำ TOD ก็มักจะมีชุมชนคนจนอยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย  อย่างเช่นย่านสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น  ทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษา TOD ออกมาแจ้งเองว่ามีชุมชนกว่าพันหลังคาเรือนอยู่ในย่านที่จะปรับทำ TOD ซึ่งเป็นเรื่องลำบากหากการปรับลักษณะการอยู่อาศัยให้ทุกคนปรับที่อยู่อาศัยเป็นแนวดิ่งทั้งหมดได้


          การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยแล้วถือว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแล้วไม่ได้  เพราะการดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ   หากคนเมืองที่เป็นแรงงานนอกระบบ เก็บของเก่า ขายอาหารข้างถนน รับงานมาทำที่บ้าน อาชีพเหล่านี้ที่ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินงาน  ส่วนคนชนบทยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากพวกเขาเหล่านั้นจะมีที่ดินเพียงแค่ปลูกสร้างบ้าน  แต่ไม่มีที่ดินสำหรับการทำการเกษตรในการดำรงชีพ  ขณะนี้สภาพการณ์คนจนเมืองถูกขับออกไม่ให้อาศัยอยู่ในเมือง  ใจกลางเมืองถูกสงวนไว้สำหรับกลุ่มคนมีเงิน หรือกลุ่มทำงานออฟฟิศที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัยมากนัก  ส่วนคนจนชนบทกำลังถูกไล่บีบให้ออกจากป่า  หน่วยงานรัฐประกาศเขตป่าคลุมที่อยู่ ที่ทำกินชาวบ้าน  บางส่วนมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับกลุ่มทุน หรือยกเว้นการคลอบครองที่ดินของกลุ่มทุน
          นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นของกลุ่มคนจน และกลุ่มคนจนชนบท ที่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  ต่างวนเวียนอยู่กับคดีความ ถูกฟ้องดำเนินคดีขับไล่  ซึ่งยังเป็นคำถามกันอยู่ว่าหากจับกลุ่มคนเหล่านั้นไปหลายหมื่นคนจะมีที่ใดพอกุมขังพวกเขาไว้ได้บ้าง   กลุ่มคนเหล่านี้นอกจากมีคดีความ  การอยู่อาศัยยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แต่อย่างใดได้  บ้างต้องพ่วงน้ำ พ่วงไฟ จากเอกชนในราคาที่แพงกว่าปกติเป็นเท่าตัว ส่วนสวัสดิการต่าง ๆของรัฐก็เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก
          หากยังมาดูกลุ่มที่ไม่มีแม้แต่หลังคาหลบแดดหลบฝนคือกลุ่มคนไร้บ้าน  จากการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กับภาคีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ 87 องค์กร เมื่อช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านอยู่ราว 7,000 คนทั่วประเทศ ( ทั้งอาศัยอยู่ในศูนย์ต่างๆ และอาศัยนอนตามที่สาธารณะต่างๆ )  แน่นอนกลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆของรัฐแน่ๆ ลำพังแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  คนไร้บ้านเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำพาตัวเองไปรับบัตรดังกล่าวได้ เพราะเงื่อนไขหลายๆอย่างไม่ได้เอื้อให้กับพวกเขาเหล่านั้น
          ยังไม่นับนโยบายร้อนแรงในช่วงนี้ “ชิมช้อปใช้” นโยบายที่เอาเงินภาษีจากคนทั้งประเทศมาให้ตัวแทน 10 ล้านคนมาใช้เงิน “หนึ่งหมื่นล้านบาท”  มีเกณฑ์ง่ายๆในการได้สิทธิ์ใช้เงินนี้คือ  ใครลงทะเบียนได้ก่อนคนนั้นได้ใช้เงิน อันนี้ไม่ต้องคิดซับซ้อน ประชาชนไม่มีแรงในการ “ซื้อ” ของตามห้างร้าง  รัฐเลยขอแทรกแซงช่วยอุ้มกระตุ้นเศรษฐกิจให้โดยผ่านประชาชน  โดยไม่ได้เน้นว่าเป็นกลุ่มใด ใครก็ได้เอาเงินภาษีไปซื้อของกิน ของใช้ เที่ยวเตร่ ได้หมด  แน่นอนกลุ่มคนจนผู้ที่เข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตลำบากก็จะไม่ทันกลับกลุ่มคนที่คลุกคลีกับอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว   ดังนั้นนโยบายนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนจนแต่อย่างใด  แต่เป็นการช่วยเหลือตลาดการค้าที่กลุ่มทุนบ่นอุบว่ามันเงียบ ซบเซามานาน

          นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่กลุ่มคนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงถูกละเลยจากรัฐบาล  แม้นว่ารัฐบาลได้คลอดแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ออกมาแล้ว  แต่ในทางปฎิบัติไม่สามารถทำได้จริงตามที่ได้เขียนไว้
ในวันที่อยู่อาศัยโลกเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล  และนัดหมายรอฟังคำตอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.       ด้านที่อยู่อาศัย
1.1    ให้คณะรัฐมนตรีมีมติอุดหนุนงบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า - ประปา ส่วนต่อขยายในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยของรัฐ
1.2    ให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่นกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หาดใหญ่ - สงขลา โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย  เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การรถไฟแห่งประเทศไทย  กระทรวงคมนาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น
1.3    ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีนโยบายให้กรมกิจการผู้สูงอายุ สนับสนุนการปรับปรุงบ้านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตผู้สูงอายุสำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านมั่นคง
2.       ด้านที่ดิน
2.1    รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อคนจน ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้คนจนเข้าถึงการช่วยเหลือเพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
2.2    รัฐบาลต้องมีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ที่ชัดเจน  การนำที่ดินรัฐมาจัดทำที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น พรบ.สิทธิชุมชน , พรบ.ธนาคารที่ดิน และ พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ที่ภาคประชาชนได้นำเสนอไว้ และให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนมาตรการหรือนโยบาย มติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินโดยเร่งด่วน
2.3    ให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานเจ้าของที่ดิน เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า ป่าชายเลน  และที่ดินรัฐอื่น ๆ ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยเดิม สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง หรือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ของรัฐได้ และเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของรัฐได้ เพื่อให้คนจนสามารถมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงได้
3.       ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.1    ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงสิทธิรักษาสำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์คนไร้สัญชาติ  และผู้ไม่มีสถานะ
3.2    รัฐบาลต้องจัดให้เปิดลงทะเบียนคนไทยตกหล่นและให้มีระเบียบปฏิบัติเดียวกัน
3.3    รัฐบาลต้องสร้างระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นกฎหมาย
3.4    รัฐบาลต้องเปลี่ยนสวัสดิการแบบสงเคราะห์เป็นรัฐสวัสดิการที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า

สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 2,000 คน จะไปติดตามนโยบายทั้ง 3 ด้าน ของภาคประชาชนที่ได้ยื่นไว้กับทางรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562  และคาดหวังว่ารัฐบาลจะหยิบมาผลักดันให้บรรลุผล  อย่างน้อยการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ถูกละเลยมาโดยตลอดจะถูกบรรเทาลงไปได้  และหากรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชน  ความเหลื่อมล้ำ  ช่องว่าง ความจน ความรวย ภายในประเทศก็จะถ่างลดน้อยลงไป

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม

  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภัยเงียบของกลุ่มคนจนที่ดินแปลงรวม คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลาขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค “ที่ดิน” ทรัพยากรอันมีจำก...